TH | EN
TH | EN
หน้าแรกTechnologyไบโอเทค สวทช. ถ่ายทอดข้าวเหนียว “พันธุ์หอมนาคา”

ไบโอเทค สวทช. ถ่ายทอดข้าวเหนียว “พันธุ์หอมนาคา”

ไบโอเทค และพันธมิตร พัฒนาพันธุ์ข้าวเหนียว “หอมนาคา” ขยายผลสู่เกษตรกร ในพื้นที่ อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี เพื่อเพิ่มผลผลิตข้าว ลดต้นทุนการผลิต ตลอดจนเสริมสร้างศักยภาพการผลิตข้าวคุณภาพตรงตามพันธุ์

ไบโอเทค สวทช. และพันธมิตร ถ่ายทอดการผลิตเพื่อกระจายเมล็ดพันธุ์ให้แก่เกษตรกร โดยสหกรณ์การเกษตรห้างฉัตร จำกัด นำเมล็ดพันธุ์จำนวน 400 กิโลกรัม แจกจ่ายแก่เกษตรกรผู้สนใจในพื้นที่อ.ห้างฉัตร นำพันธุ์ข้าวเหนียวหอมนาคาไปปลูกจนสามารถเก็บเกี่ยวได้เป็นฤดูกาลแรก

ดร.วรรณพ วิเศษสงวน ผู้อำนวยการไบโอเทค สวทช. เปิดเผยว่า ข้าวเหนียวหอมนาคา เป็นพันธุ์ข้าวเหนียวใหม่ ที่มีคุณสมบัติพิเศษเหนือข้าวเหนียวชนิดไม่ไวต่อช่วงแสงในปัจจุบัน เช่น ทนต่อน้ำท่วม ทนแล้ง ต้านทานโรคไหม้และขอบใบแห้ง มีความหอมและนิ่ม เป็นต้น

นอกจากนี้ ไบโอเทค สวทช. ยังได้ทำงานร่วมมือทั้งกับหน่วยงานภาครัฐ และมหาวิทยาลัยต่าง ๆ รวมทั้งทำงานร่วมกับชุมชนในแง่ของการให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการเลือกสายพันธุ์ที่เหมาะสมเอง และการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนในแง่ของการผลิตเมล็ดพันธุ์คุณภาพดีไว้ใช้เองอีกด้วย

ปัจจุบันไบโอเทค สวทช. เป็นเลิศทางด้านนวัตกรรมการปรับปรุงพันธุ์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะการปรับปรุงพันธุ์แนวอณูวิธี (molecular breeding) กับพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้าว ซึ่งเน้นพัฒนาพันธุ์ข้าวตามความต้องการของผู้ผลิต ผู้บริโภค และความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ และเน้นพันธุ์ข้าวที่มีคุณสมบัติโภชนาการที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพของผู้บริโภค

ดร.ธีรยุทธ ตู้จินดา หัวหน้าทีมพัฒนาพันธุ์ข้าวของ ไบโอเทค กล่าวว่า ไบโอเทค สวทช. นำความเชี่ยวชาญทางด้านจีโนมและเครื่องหมายโมเลกุลมาใช้ในกระบวนการคัดเลือก (Marker- Assisted Selection, MAS) เพื่อปรับปรุงพันธุ์ข้าวให้รวดเร็วและมีลักษณะตามความต้องการที่เกื้อกูลการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

การพัฒนาพันธุ์ข้าวเหนียวของประเทศ เน้นไปที่ผู้บริโภคและเกษตรกรผู้ผลิตเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหารแก่พื้นที่ที่บริโภคข้าวเหนียวเป็นอาหารหลัก และพัฒนาพันธุ์ข้าวเหนียวนาปีหลายสายพันธุ์ที่ตอบโจทย์เกษตรกร

ล่าสุดทีมวิจัยพัฒนาข้าวเหนียวที่สามารถปลูกได้ตลอดปี (นาปี และนาปรัง) คือ ข้าวเหนียวสายพันธุ์ใหม่ “หอมนาคา” เป็นข้าวไม่ไวแสง มีระยะเวลาในการปลูกประมาณ 130–140 วัน ให้ผลผลิตสูง โดยผลจากการทดลองปลูกพบว่า ในพื้นที่ภาคเหนือได้ผลผลิต 800–900 กิโลกรัมต่อไร่ และภาคอีสานได้ผลผลิตสูงถึง 700–800 กิโลกรัมต่อไร่ มีคุณสมบัติทนทานต่อภาวะน้ำท่วมฉับพลัน ทนแล้ง และต้านทานต่อโรคไหม้ โรคขอบใบแห้ง

นอกจากนี้ยังมีลำต้นแข็งแรง ไม่หักล้มง่าย ขนาดต้นสูงปานกลาง ทำให้เก็บเกี่ยวได้ง่าย สอดรับกับการทำนาสมัยใหม่และแนวโน้มการทำนาในอนาคตที่เครื่องจักรจะเข้ามาแทนที่

นอกจากนี้ ข้าวเหนียวพันธุ์หอมนาคา ยังมีคุณสมบัติเมื่อนำไปหุงสุกจะนุ่มเหนียวและมีกลิ่นหอม โดยทาง ไบโอเทค สวทช. ได้ยื่นขอหนังสือรับรองพันธุ์พืช ขึ้นทะเบียนตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 และได้รับการขึ้นทะเบียนพันธุ์จากกรมวิชาการเกษตรเรียบร้อยแล้ว

ธีรภัทร์ คำสม  ผู้จัดการ สหกรณ์การเกษตรห้างฉัตร จำกัด กล่าวว่า สหกรณ์ได้นำเมล็ดพันธุ์ข้าวเหนียวหอมนาคาจากไบโอเทค สวทช. กว่า 400 กิโลกรัม มาปลูกในพื้นที่อำเภอห้างฉัตร รวมจำนวนกว่า 58 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ของสหกรณ์ห้างฉัตรฯ 8 ไร่ และกลุ่มเกษตรกรที่เป็นสมาชิกสหกรณ์ฯ รวม 50 ไร่

โดยผลผลิตที่เก็บเกี่ยวในฤดูกาลแรกคาดว่าจะได้เป็นเมล็ดพันธ์ุข้าวคุณภาพดี 10-15 ตัน เพื่อปลูกในฤดูถัดไป และข้าวเปลือก 20-25 ตัน ซึ่งถือว่าเป็นปริมาณที่สูงเมื่อเทียบกับข้าวเหนียวพันธุ์ กข6 ที่เป็นพันธุ์ดั้งเดิมมีเกษตรกรในพื้นที่ปลูกกันอยู่แล้ว

ข้าวเหนียวพันธุ์ กข6 มีข้อเสีย คือ มีความไวต่อแสง ลำต้นสูงหักล้มง่าย และปลูกได้เพียงครั้งเดียวต่อปีเท่านั้น

ข้าวเหนียวหอมนาคา มีลักษณะเด่นของพันธุ์ คือ ลำต้นเตี้ยแข็งแรง ไม่หักล้มง่าย ทำให้เก็บเกี่ยวได้ง่ายขึ้น ลดค่าแรงคนในการเก็บเกี่ยว และปลูกได้ 2 ครั้งต่อปี ทนต่อโรคได้ดี

ที่สำคัญจากการทดลองนำข้าวเหนียวพันธุ์หอมนาคาที่เก็บเกี่ยวได้จากแปลงทดลองมาลองหุงกิน ยืนยันได้ถึงคุณภาพของข้าว เพราะหุงสุกแล้วมีความนุ่มหอมไม่ต่างจากพันธุ์ กข6 ที่มีจุดเด่นเรื่องความหอมและนุ่มนาน”

ธีรภัทร์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้มีเกษตรกรในพื้นที่ให้ความสนใจสอบถามถึงพันธุ์ข้าวหอมนาคาจำนวนมาก ทำให้สหกรณ์ฯ เตรียมวางแผนขยายผลโดยจะถ่ายทอดให้ความรู้เกษตรกรในพื้นที่ตั้งแต่การผลิตเมล็ดพันธุ์ที่ได้รับถ่ายทอดการผลิตจากทีมวิจัย สวทช. และเครือข่าย เพื่อกระจายเมล็ดพันธุ์ให้แก่เกษตรกรที่สนใจนำพันธุ์ข้าวเหนียวหอมนาคาไปปลูก

เมื่อได้ผลผลิตแล้วมีแผนวางจำหน่ายข้าวสารบรรจุถุง ซึ่งเกษตรกรที่เป็นสมาชิกจำนวนหนึ่งสามารถนำข้าวมาสีที่โรงสีของสหกรณ์ฯ เพื่อจำหน่ายได้เลย โดยในเบื้องต้นวางจำหน่ายข้าวเปลือกราคา 30 บาทต่อกิโลกรัม และข้าวสาร 35 บาทต่อกิโลกรัม

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ