TH | EN
TH | EN
หน้าแรกStartupกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ร่วมมือ เดลต้า ลุยปั้นสตาร์ตอัพไทย ผ่านกองทุนนางฟ้า

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ร่วมมือ เดลต้า ลุยปั้นสตาร์ตอัพไทย ผ่านกองทุนนางฟ้า

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (ดีพร้อม) ร่วมกับ เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) เดินหน้าสานต่อโครงการกองทุนนางฟ้า (Angel Fund) ประจำปี 2565 โดยมีเป้าหมายลุยปั้นสตาร์ตอัพไทย ให้เพียบพร้อมครบเครื่องทั้งในเชิงตัวสินค้านวัตกรรมและการวางแผนธุรกิจการตลาดและการบริหาร เพื่อให้สตาร์ตอัพไทยสามารถแจ้งเกิดแข่งขันบนเวทีโลกและเติบโตได้อย่างยั่งยืนต่อไป ซึ่งในปีนี้ ดีพร้อมและเดลต้าได้ขยายเครือข่ายพันธมิตร ดึงเอสซีจี, ฮับบา และมีเดียแท็งค์ ติวเข้มทักษะทางธุรกิจที่จำเป็นสำหรับผู้ประกอบการ

เดลต้า อีเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า โครงการกองทุนนางฟ้าเป็นโครงการริเริ่มของบริษัทที่ต้องการให้เป็นกำลังใจสำคัญสำหรับสตาร์ตอัพไทยในการตั้งต้นสร้างธุรกิจใหม่ ๆ ของตนเองขึ้นมา โดยปีนี้ถือว่าดำเนินมาต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 แล้ว อีกทั้งยังพิเศษกว่าทุกปี เพราะสามารถดึงพันธมิตรจากหลายแวดวงธุรกิจเข้าร่วม ไม่ว่าจะเป็น บริษัทเอสซีจี ซีเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด, บริษัท ฮับบา จำกัด และบริษัทมีเดียแท็งก์จำกัด ทำให้นอกจากจะสามารถระดมทุนช่วยเหลือเหล่าสตาร์ตอัพไทยได้มากขึ้นแล้ว ยังสามารถจัดกิจกรรมบ่มเพาะทักษะทางธุรกิจ (Business Camp) ให้แก่สตาร์ตอัพที่ผ่านรอบคัดเลือกทั้งหมดรวม 50 ทีม ซึ่งจะมุ่งเน้นที่การถ่ายทอด 6 ทักษะทางธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการ เพื่อให้ผู้ประกอบการเหล่านี้ได้เตรียมความพร้อมก่อนนำเสนอโมเดลธุรกิจต่อนักลงทุนหรือบริษัทเอกชนรายใหญ่ที่่พร้อมให้เงินทุนสนับสนุนพอที่จะต่อยอดเริ่มต้นเป็นธุรกิจ หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดในเชิงพาณิชย์ได้

ดร. ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (ดีพร้อม) กล่าวว่า ประเทศไทยมีสตาร์ตอัพที่มีความโดดเด่นไม่แพ้ชาติใดในโลก โดยเฉพาะในเรื่องของตัวสินค้าและบริการที่มีนวัตกรรมเทคโนโลยีที่สามารถนำมาเป็นโซลูชันซึ่งช่วยให้การดำรงชีวิตอยู่ในสังคมในแต่ละวันมีคุณภาพที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้จะดีมากมายเพียงใด แต่จากประสบการณ์ที่ได้มีโอกาสสัมผัสสตาร์ตอัพไทยมานับไม่ถ้วน พบว่า สตาร์ตอัพไทยส่วนใหญ่มักสะดุดเสียท่าหรือไม่ได้ไปต่อ เพราะไม่สามารถออกแบบแผนธุรกิจที่รอบคอบและรัดกุมพอให้นักลงทุนเชื่อมั่นได้

ดังนั้น โครงการกองทุนนางฟ้าในปีนี้ จึงตอบโจทย์ความต้องการสนับสนุนสตาร์ตอัพไทยของดีพร้อมที่นอกจากจะมีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ ยังมีทักษะองค์ความรู้ไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการให้ตอบโจทย์ความต้องการในทุกมิติ และสอดรับกับบริบทในเชิงเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ตามนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรมที่ต้องการปรับโครงสร้างระบบเศรษฐกิจของไทยให้ก้าวสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม และ สตาร์ตอัพก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้ไทยก้าวไปสู่เป้าหมายดังกล่าวได้อย่างลุล่วง

“ช่วง 6 ปีที่ผ่านมา โครงการกองทุนนางฟ้าที่ร่วมมือกับทางเดลต้า (Delta x DIProm Angel Fund) ในการสนับสนุนทุนให้เปล่าแก่สตาร์ตอัพไปแล้วจำนวน 183 ทีม และสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้สูงถึง 650 ล้านบาท เพื่อพัฒนาส่งเสริมสตาร์ตอัพให้มีขีดความสามารถที่สูงขึ้นและสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลกด้วยการใช้นวัตกรรมหรือองค์ความรู้ในอุตสาหกรรม”

สำหรับในส่วนของ “กิจกรรมบ่มเพาะทักษะทางธุรกิจอย่างเข้มข้น” (Business Camp) ที่มุ่งถ่ายทอด 6 ทักษะจำเป็นต่อผู้ประกอบการนี้ประกอบด้วย ทักษะการวางองค์ประกอบและโมเดลธุรกิจ (Business Model Blueprint) ทักษะการออกแบบนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ (Value Proposition & Customer Canvas) ทักษะการออกแบบการสร้างรายได้แบบต่าง ๆ (Revenue Model) ทักษะวิเคราะห์การวางแผนด้านการเงิน (Financial Feasibility Canvas) การทดสอบตลาด (Market Validation) และทักษะการสื่อสารและการนำเสนอผลงานเพื่อให้เกิดการตัดสินใจร่วมลงทุน (Pitch Deck Creation & Perfect Your Pitch) โดยการอบรมจะเป็นรูปแบบไฮบริดที่มีทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ใช้เวลา 7 วัน

ขณะเดียวกัน โครงการกองทุนนางฟ้าปีนี้ยังจัดให้มีการฝึกทักษะการแก้โจทย์ให้กับภาคอุตสาหกรรมผ่านกิจกรรมแฮ็กคาทอน (Hackathon) อีก 3 วัน ภายใต้ความร่วมมือจากเอสซีจีน และ ฮับบา ร่วมเป็นที่ปรึกษาในการช่วยเพิ่มพูนองค์ความรู้ และทักษะต่าง ๆ ที่จำเป็นสำหรับการเริ่มต้นธุรกิจให้กับสตาร์ตอัพก่อนการนำเสนอโมเดลธุรกิจต่อแหล่งทุนในกิจกรรมพิทชิ่ง เดย์ (Pitching Day) อีกทั้งยังมีความร่วมมือกับทางมีเดียแท็งค์ หรือ ชาร์คแทงค์ ไทยแลนด์ (Shark Tank Thailand) เพื่อส่งต่อสตาร์ตอัพเข้าร่วมรายการให้สามารถสร้างโอกาสในการเชื่อมโยงกับธุรกิจขนาดใหญ่หรือนักลงทุนรายอื่น ๆ ได้เพิ่มขึ้น

“ในส่วนของเกณฑ์การคัดเลือกสตาร์ตอัพในปีนี้ จะเน้นสตาร์ตอัพที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล นั่นคือ เน้นโมเดลเศรษฐกิจแบบ BCG  (เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว) เพื่อให้การพัฒนาเป็นไปได้อย่างยั่งยืน อีกทั้ง สินค้าหรือบริการของสตาร์ตอัพนั้น ๆ ต้องเป็นโซลูชันที่สอดคล้องหรือตอบโจทย์ความต้องการของนักลงทุน แสดงให้เห็นศักยภาพที่จะเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง” อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมกล่าว

ด้าน จางช่ายซิง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เพราะเข้าใจเป็นอย่างดีว่าการก่อร่างสร้างธุรกิจขึ้นมาใหม่เป็นเรื่องที่ยากลำบาก และหนึ่งในอุปสรรคสำคัญก็คือการขาดแคลนเงินทุน ดังนั้น เดลต้า จึงต้องการเป็นอีกหนึ่งแรงผลักดันที่จะช่วยให้สตาร์ตอัพไทยแจ้งเกิดขึ้นได้ โดย 6 ปีที่ผ่านมา เดลต้าฯได้ให้การสนับสนุนทุนไปเปล่าไปแล้วกว่า 19.16 ล้านบาท ขณะที่ปี 2565 ซึ่งเป็นปีที่ 7 นี้ ทางบริษัทฯ ได้จัดสรรเงินทั้งหมด 4 ล้านบาท สนับสนุนเงินให้เปล่าแก่สตาร์ตอัพไทยที่มีแนวคิด หรือสิ่งประดิษฐ์เชิงนวัตกรรมมีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนและต่อยอดการเริ่มต้นธุรกิจ หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์สู่เชิงพาณิชย์

“ในฐานะผู้ให้การสนับสนุนด้านเงินทุนกับสตาร์ตอัพ โจทย์ใหญ่ของสตาร์ตอัพไทยปีนี้คือการเร่งคิดค้นนวัตกรรมหรือเทคโนโลยี เพื่อแก้ไขปัญหาของโลกในบริบทต่าง ๆ เช่น การมาถึงของเทคโนโลยี 5G การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ (Climate Change), ความปลอดภัยด้านสภาพแวดล้อม และการดูแลเอาใจใส่สุขภาพ (Healthcare) ซึ่งที่ผ่านมาเรามีสตาร์ตอัพที่ประสบความสำเร็จและได้รับเงินทุนสนับสนุนจากโครงการกองทุนนางฟ้าได้ใช้เทคโนโลยี AI และ IoT เพื่อช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วม เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานภายในอาคาร พัฒนาซอฟท์แวร์สำหรับการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าซึ่งเป็นพลังงานสะอาด และกาพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อทำให้การศึกษาเข้าถึงได้ง่ายสำหรับทุกคน ทุกที่และทุกเวลา” จางช่ายซิง กล่าว

ขณะที่ ดร.เมธินี เทียบรัตน์ หัวหน้าสำนักงานบริหารนวัตกรรม เอสซีจี กล่าวว่า รู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยผลักดันทักษะของสตาร์ตอัพไทยให้มีความสามารถที่พร้อมสำหรับการแข่งขัน ซึ่งสตาร์ตอัพทั้งหมดที่เข้ารอบนี้ ล้วนผ่านการคัดเลือกมาแล้วอย่างเข้มข้น คือตรงตามหลักเกณฑ์ที่ตอบโจทย์ต่อธุรกิจขนาดใหญ่ที่จะเป็นผู้ให้ทุนสนับสนุน และล้วนเป็นสตาร์ตอัพที่มุ่งเน้นที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม

ส่วน ชาล เจริญพันธ์ ผู้บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ฮับบา จำกัด กล่าวว่า การอบรมทักษะในปีนี้ ยังมีเป้าหมายถึงการบ่มเพาะเพื่อปรับทัศนคติและแนวคิดของการเป็นผู้ประกอบการว่าไม่ใช่แค่เส้นทางอาชีพ แต่เป็นแนวทางการดำรงชีวิตที่ต้องใช้ความมุ่งมั่น ความเด็ดเดี่ยว และความเข้มแข็งในการแบกรับและเผชิญหน้ากับสิ่งต่าง ๆ เพราะการเป็นสร้างสตาร์ตอัพขึ้นมาเป็นการทำงานระยะยาวที่ใช้เวลาหลายปีกว่าเห็นผลเป็นรูปเป็นร่าง

นอกจากนี้ ทาง ดร. ณัฐพล ได้ฝากถึงสตาร์ตอัพที่ผ่านเข้ารอบให้ตั้งใจเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในการเข้าร่วมนี้ให้มากที่สุด และคิดวางแผนด้วยการคำนึงถึงโจทย์ความต้องการของตลาดเป็นหลัก และอยากให้สตาร์ตอัพมองตนเองเป็นนักธุรกิจไม่ใช่นักนวัตกรรม ที่จะต้องสร้างธุรกิจให้บริการแก่ลูกค้า

สำหรับจางช่ายซิง หรือ แจ็คกี้ จาง ประธานกรรมการบริหารเดลต้าแนะว่า อย่างแรกที่ต้องพิจารณาก่อนตัดสินใจปั้นสตาร์ตอัพคือการถามตัวเองให้ดีว่า ตั้งใจเป็นสตาร์ตอัพจริงจังแค่ไหน เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะเหมาะกับการเป็นเจ้าของธุรกิจ แต่ถ้ามั่นใจและตั้งใจที่จะเป็นสตาร์ตอัพแน่นอนแล้ว และเชื่อว่าสตาร์ตอัพของตนเองตอบโจทย์ไปได้ ก็ให้สู้จนสุด อย่ายอมแพ้ เพราะการปั้นสตาร์ตอัพกว่าจะสำเร็จอาจจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 10 ปี นอกจากความตั้งใจอย่างเด็ดเดี่ยวแล้ว อย่าลืมแสวงหาทีมงานที่ดีและลงทุนในบุคลากรในทีมให้มีความสามารถ เพื่อช่วยให้สตาร์ตอัพสามารถเติบโตได้อย่างระยะยาว

“กองทุนนางฟ้ากำลังเติบโตขึ้น พร้อมด้วยพันธมิตรใหม่ที่เข้ามาเสริมความแข็งแกร่ง จึงอยากกระตุ้นให้สตาร์ตอัพทุกคนใช้ประโยชน์จากโอกาสเหล่านี้ เพื่อเรียนรู้จากผู้นำธุรกิจชั้นนำในประเทศไทย และสร้างความมั่นใจ โดยการเปิดรับสิ่งใหม่ และตระหนักว่าชีวิตคือการเปลี่ยนแปลงและความก้าวหน้า ซึ่งหวังว่าทุกคนจะสนุกกับความท้าทายเหล่านี้ พร้อมกับนำความคิดไปต่อยอดพัฒนาธุรกิจไปสู่อีกระดับต่อไป” แจ็คกี้ จาง กล่าว

ทั้งนี้ ในระยะต่อไปสิ่งที่ทางดีพร้อมจะช่วยส่งเสริมให้เกิดสตาร์ตอัพเพิ่มเติม คือ แนวทางการสร้างระบบนิเวศผ่านแซนด์บ็อกซ์ บ่มเพาะสตาร์ตอัพ โดยใช้ทั้งหน่วยงานภายในดีพร้อมและธุรกิจเครือข่ายเปิดพื้นที่ให้สตาร์ตอัพได้มีโอกาสทดลองหรือจัดตั้งธุรกิจจริง สร้างพื้นที่แห่งการเรียนรู้ทั้งระบบออนไลน์ – ออฟไลน์ พร้อมสำรวจปัญหาของภาคอุตสาหกรรมเพื่อเฟ้นหาโซลูชันจากสตาร์ตอัพเข้าไปช่วยยกระดับการดำเนินงานให้ดีขึ้น และพัฒนาธุรกิจและเทคโนโลยีให้ทัดเทียมกับต่างชาติได้ ผ่านการดำเนินโครงการเชื่อมโยงตลาดสำหรับสตาร์ตอัพอย่างดีพร้อม หรือ DIProm Startup Connect ที่กำลังจะเกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

หลักทรัพย์บัวหลวง ให้บริการเปิดบัญชี-ซื้อขายกองทุนรวม ผ่านช่องทางออนไลน์ ‘Omnibus’

เนคเทค-สวทช.-สภากาชาดไทย นำระบบยืนยันตัวตนด้วยภาพใบหน้า แก่กลุ่มแรงงานต่างด้าว ที่ตลาดกลางกุ้ง ตลาดทะเลไทย

 

 

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ