TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistการบินไทย ... การบินใคร อุ้มจนปีกครูดพื้น

การบินไทย … การบินใคร อุ้มจนปีกครูดพื้น

นับว่าดวงชะตาการบินไทย ยังไม่ถึงฆาต เมื่อเจ้าหนี้การบินไทย 91.56% จาก 13,333 ราย โหวตให้การบินไทยได้ไปต่อ เดินหน้าเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการของศาลล้มละลายกลางภายใต้บทบัญญัติของพ.ร.บ.ล้มละลาย นัดไต่สวนเพื่อพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการในวันที่ 28 พ.ค.นี้

หากจำกันได้ ผลประกอบการการบินไทย ณ สิ้นปี 2563 มีผลดำเนินงานขาดทุนสะสม 141,180 ล้านบาท ส่วนทุนติดลบ 128,742 ล้านบาท และมีหนี้สิน 337,456 ล้านบาท มากกว่าทรัพย์สินที่มีอยู่ 208,791 ล้าน เท่ากับส่วนทุนก็ติดลบ และหนี้สินก็มีมากกว่าทรัพย์สินถึง 128,665 ล้านบาท มีโอกาสในการกอบกู้ธุรกิจให้ดำเนินต่อไปนั้นยากมาก แต่แผนฟื้นฟูก็ผ่านฉลุย

การผ่านแผนฟื้นฟูของเจ้าหนี้ในครั้งนี้ ไม่เกินจากการคาดการณ์ของคนในวงการธุรกิจ เพราะปกติการทำแผนการฟื้นฟู ต้องมีการปรับโครงสร้างทางการเงินก่อน ทั้งการลดทุน เพิ่มทุน และแปลงหนี้เป็นทุนตามสูตร แล้วมีการเพิ่มทุนใหม่ แต่การฟื้นฟูการบินไทยไม่มีการแฮร์คัต หรือการลดหนี้ ดังนั้น เจ้าหนี้ยังมีตัวเลขชหนี้ครบถ้วนทุกบาท ทุกสตางค์ หนำซ้ำไม่ต้องบันทึกกำไรขาดทุนในงบดุลตัวเอง  

ที่สำคัญเจ้าหนี้ทุกรายเชื่อว่ารัฐบาลไม่ปล่อยให้การบินไทยล้มอย่างแน่นอน เพราะทุกวันนี้ รัฐเป็นผู้ถือหุ้นการบินไทย ผ่านกระทรวงการคลัง กองทุนวายุภักษ์ ธนาคารออมสิน ประมาณ 60%

รัฐเป็นเจ้าหนี้การบินไทย โดยกระทรวงการคลัง 12,000 ล้าน ธนาคารกรุงไทยจำนวน 6,966.98 ล้านบาทธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจำนวน 1,565.94 ล้านบาท

รัฐยังเป็นผู้กำกับดูแลการบินไทยอีกด้วย

หลังจากผ่านแผนฟื้นฟูในครั้งนี้ จำเป็นต้องหาเงินมาบริหารการบินไทยต่อไป แต่เป็นที่รู้กันว่า ธุรกิจสายการบินทั่วโลกได้รับผลกระทบจากโควิด -19 ไม่มีนักธุรกิจคนไหนที่จะนำเงินมาลงทุน 50,000 ล้านบาทกับสายการบินที่มีหนี้สินล้นพ้นตัวเป็นแสนล้าน และขาดทุนต่อเนื่อง 5 ปี จากการบริหารงานก่อนที่จะเกิดการแพร่ระบาดของโควิด–19  ด้วยซ้ำ นอกเหนือจากรัฐบาลต้องเป็นผู้ค้ำประกันเงินนั้น ซึ่งแปลว่าในที่สุดการบินไทยต้องกลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจ มิเช่นนั้นรัฐบาลจะค้ำประกันให้ไม่ได้

จากการให้สัมภาษณ์ของผู้บริหารการบินไทย เงิน 50,000 ล้านบาทจะถูกแบ่งเป็น 2 ก้อน 

ก้อนที่ 1 สินเชื่อใหม่ 25,000 ล้านบาท ที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐหรือบุคลใดที่ภาครัฐและผู้บริหารแผนร่วมจัดหาซึ่งอาจอยู่ในรูปเงินกู้ยืม และหรือการค้ำประกัน เท่ากับว่าการบินไทยต้องกลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจอีกครั้ง และหากแผนฟื้นฟูไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ เงินจำนวนนี้ต้องใช้ภาษีของประชาชนทั้งประเทศจ่าย

ก้อนที่ 2 สินเชื่อใหม่ 25,000 ล้านบาท ที่ได้รับจากการสนับสนุนจากภาคเอกชน โดยระยะเวลาของสินเชื่อใหม่ไม่เกิน 6 ปี เริ่มชำระคืนเงินต้นตั้งแต่ปีที่ 3 นับจากวันที่เบิกใช้สินเชื่อใหม่ครั้งแรก โดยชำระเป็นรายปี ซึ่งตรงส่วนนี้ภาคเอกชนจะให้กู้ยิมก็จำเป็นต้องมีรัฐเป็นคนค้ำประกัน

ก่อนหน้าที่เจ้าหนี้ทั้งหลายจะโหวตแผน ฟื้นฟู มีเรื่องน่าแปลกใจไม่น้อยที่บริษัท การบินไทย ซึ่งมีหนี้สินล้นพ้นตัว แต่กลับมีราคาหุ้นพุ่งถึง  3.32 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขายหนาแน่น 413.3 ล้านบาท (ข้อมูลเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2564) ทั้งที่บริษัท ติดเครื่องหมาย NC – Non-Compliance บริษัทเข้าข่าย ถูกเพิกถอนออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ และเครื่องหมาย NP-Notice Pending บริษัทจดทะเบียนมีข้อมูลที่ต้องรายงาน และตลาดหลักทรัพย์อยู่ระหว่างรอข้อมูลจากบริษัท

มีความเป็นไปได้ว่า หุ้นการบินไทยอาจจะถูกพักการซื้อขายตลอดกาล หากการฟื้นฟูไม่ประสบความสำเร็จ แต่หลือเชื่อ มีคนอยากลงทุนอนาคตที่ไม่แน่นอนของการบินไทยด้วย

นอกจากนั้น ภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการฯ ได้มีการจัดทำประมาณการทางการเงินของบริษัทการบินไทย ระหว่างปี 2564-2579 โดยคาดว่าบริษัทฯ จะกลับมามีกำไรตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป โดยปี 2566 คาดว่า บริษัทฯจะมีรายได้ 100,080 ล้านบาท และมีกำไร 4,912 ล้านบาท และปี 2567 คาดว่าจะมีรายได้ 119,029 ล้านบาท และมีกำไร 21,177 ล้านบาท มีกำไรติดต่อกัน 13 ปี นับตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2566-2578 ทำให้การบินไทยสามารถทำให้ยอดขาดทุนสะสมหมดไป

ก็ไม่ทราบว่าตอนทำแผนฟื้นฟูการบินไทยกันอยู่นั้น ได้มีการประเมิน ความเสี่ยง หรือภาวะวิกฤติ ที่อาจคาดไม่ถึงกันไว้หรือไม่ เพราะถ้าทุกสิ่งที่เขียนไว้ในแผนฟื้นฟู ไม่ได้สดใสตามนั้น การบินไทยอาจต้องเข้ากระบวนการฟื้นฟูกิจการซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพราะเป็นการตัดสินใจอุ้มสายการบินแห่งชาตินี้ ด้วยเงินภาษีประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับการกระทำครั้งนี้

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ