TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistเกิดอะไรขึ้นกับ LUNA? แล้วผู้พัฒนาจะทำอย่างไรต่อ มาดูกัน!

เกิดอะไรขึ้นกับ LUNA? แล้วผู้พัฒนาจะทำอย่างไรต่อ มาดูกัน!

หนึ่งในเหตุการณ์สำคัญสำหรับวงการคริปโทเคอร์เรนซีที่เกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้ และมีแนวโน้มจะกลายเป็นหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ที่วงการต้องจดจำไปอีกนานก็คือความล้มเหลวของเครือข่าย Terra หรือเหรียญ LUNA ที่มีมูลค่าลดลงถึง 99.99% ภายในเวลาเพียงแค่ 7 วัน!

LUNA (Terra) คืออะไร มีจุดเด่นอย่างไร ทำไมจึงล้มเหลว แล้วทางผู้พัฒนาจะทำอย่างไรต่อ เราสรุปมาให้แล้วในบทความนี้

Terra คือเครือข่ายที่ให้ความสำคัญกับ Stablecoin

Terra คือเครือข่ายบล็อกเชนที่รองรับ Smart contract โดยมีเหรียญประจำเครือข่ายก็คือ LUNA ที่ใช้จ่ายเป็นค่าธรรมเนียมเครือข่าย (Gas fee) และใช้เป็นสินทรัพย์ค้ำประกัน (Staking) แลกกับสิทธิ์ร่วมเป็นโหนดของเครือข่าย คล้าย ๆ กับเหรียญ ETH ของ Ethereum หรือ SOL ของ Solana 

แต่จุดเด่นของ Terra คือการเป็นเครือข่ายที่สนับสนุน Stablecoin โดยเฉพาะ ซึ่งถือเป็นจุดขายหลักของ Terra เลยก็ว่าได้

โดยเหรียญ Stablecoin หลักของ Terra ก็คือเหรียญที่ชื่อว่า Terra USD (UST) แต่แทนที่ Terra จะทำให้ UST มีมูลค่าคงที่ผ่านการนำไปผูกกับเงินดอลลาร์เหมือนอย่าง USDT ทาง Terra สร้าง UST ให้เป็น Algorithmic Stablecoin ที่อาศัย Smart Contract คอยควบคุมอุปทาน เพื่อทำให้ราคาใกล้เคียงกับ 1 ดอลลาร์ โดยทำงานควบคู่ไปกับเหรียญ LUNA

กลไกรักษามูลค่า UST ทำงานอย่างไร?

ในขณะที่ LUNA จะมีราคาผันผวนไปตามความต้องการตลาด แต่ UST จะมีมูลค่าคงที่ โดย UST กับ LUNA ต่างทำหน้าที่ถ่วงสมดุลให้กันและกัน คือการจะสร้าง (Mint) UST ขึ้นมา ผู้ใช้ต้องทำลาย (Burn) เหรียญ LUNA และอย่างที่สองคือการเทรดคู่เหรียญ LUNA/UST ยังมีส่วนช่วยทำให้มูลค่าของ UST ใกล้เคียงมูลค่า 1 ดอลลาร์มากที่สุด

ยกตัวอย่าง ในกรณีที่ตลาดมีความต้องการ UST สูง ส่งผลให้มูลค่าสูงขึ้นมาที่ 1.002 ดอลลาร์ ผู้ใช้สามารถแลก (Swap) เหรียญ LUNA มูลค่า 1 ดอลลาร์กับ UST 1 เหรียญ กระบวนการนี้ทำให้ LUNA มูลค่า 1 ดอลลาร์ที่ใช้แลกถูกทำลาย ในขณะที่ UST ถูกสร้างเพิ่มมาอีก 1 เหรียญ ทำให้อุปทานของ UST เพิ่มสูงขึ้น และเนื่องจาก UST กำลังมีมูลค่าที่ 1.002 ดอลลาร์ ผู้ใช้ก็สามารถทำกำไรไปได้ 0.002 ดอลลาร์

ในทางตรงกันข้าม กรณีที่มีความต้องการ UST ต่ำ และมูลค่าตกลงมาที่ 0.998 ดอลลาร์ ผู้ใช้สามารถซื้อ UST ได้ที่ราคา 0.998 ดอลลาร์ และแลก 1 UST กับ LUNA มูลค่า 1 ดอลลาร์ ทำให้ UST 1 เหรียญถูกทำลาย และสร้างเหรียญ LUNA มูลค่า 1 ดอลลาร์ขึ้นมา ทำให้ผู้ใช้ทำกำไรไปได้ 0.002 ดอลลาร์

เกิดอะไรขึ้นกับ LUNA ทำไมมูลค่าร่วงเกือบ 100%

เมื่อเข้าใจพื้นฐานของเครือข่าย Terra และการทำงานของเหรียญ LUNA กับ UST แล้ว เรามาย้อนดูกันว่าเหตุการณ์ที่นำมาซึ่งการล่มสลายของ LUNA มีที่มาที่ไปอย่างไรบ้าง

มีนาคม 2022 – ทางกองทุน Luna Foundation Guard (LFG) ซึ่งเป็นกองทุนที่ถือสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อนำมาใช้เป็นทุนสำรองในการตรึงมูลค่าของ UST ได้เข้าซื้อ Bitcoin เพิ่ม 40,000 BTC เนื่องจากตลาดคริปโทเคอร์เรนซีเริ่มเข้าสู่ภาวะขาลง ทาง LFG จึงมองว่าอาจมีสภาพคล่องไม่พอช่วยพยุงราคา UST ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริงกองทุนก็สามารถขาย Bitcoin เป็น UST ผ่าน Anchor ที่เป็น DEX (Decentralized Exchange) ของเครือข่ายเพื่อพยุงราคาได้ 

ต้นเดือนพฤษภาคม 2022 – ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.5% เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ส่งผลให้นักลงทุนพากันเทขายสินทรัพย์เสี่ยง รวมถึงคริปโทเคอร์เรนซีอย่าง Bitcoin และ LUNA ทำให้มูลค่าตลาดลดลงอย่างรุนแรง

10 พฤษภาคม 2022 – มีแรงเทขาย UST จำนวนมหาศาล ทำให้มูลค่าของ UST ลดลงมาแถว 0.65 ดอลลาร์ แม้จะฟื้นกลับขึ้นมาแถว 0.9 ดอลลาร์ได้ แต่วันต่อมาก็มีแรงเทขายเข้ามาอีกและกดราคา UST ลดลงลึกไปถึง 0.01 ดอลลาร์ แม้ทางกองทุน LFG จะนำ Bitcoin ไปขายเพื่อพยุงราคา แต่นักลงทุนได้สูญเสียความเชื่อมั่นทั้งใน UST และ LUNA ไปแล้ว จึงพากันเทขายจนราคา LUNA ลดลงไปเกือบ 100%

เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ อาจเกิดคำถามว่า แล้วแรงเทขาย UST ในตอนแรกมาจากไหน? 

ปัจจุบัน ประเด็นนี้ก็ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันว่าเป็นฝีมือใครกันแน่ แต่เสียงส่วนใหญ่เชื่อว่านี่เป็นการโจมตีจุดบอดเครือข่าย Terra เพื่อบังคับให้กองทุน LFG ขาย Bitcoin ที่ถือไว้เพื่อพยายามตรึงราคา UST ขณะที่คนโจมตีก็ทำกำไรจากการเปิดสถานะ Short (การเก็งกำไรขาลง) กับ Bitcoin ได้ โดยเริ่มจากคนโจมตีไปกู้ยืม UST มาเป็นมูลค่ามหาศาล จากนั้นก็เทขายลงสู่ตลาดส่งผลให้ราคา UST เริ่มลดลง ประกอบกับตลาดที่อยู่ในภาวะขาลงอยู่แล้ว จึงใช้เวลาไม่นานเลยที่จะทำให้นักลงทุนคนอื่น ๆ เริ่มตื่นตระหนกและพากันขาย UST ตามมา เมื่อเห็นท่าไม่ดี ทางกองทุน LFG จึงขาย Bitcoin ที่ถือไว้กว่า 40,000 BTC เพื่อพยายามตรึงราคา แต่ก็ไม่สำเร็จ แถมการขายบิตคอยน์ที่เป็นพี่ใหญ่ของตลาดคริปโทฯ ยังไปฉุดให้ทั้งตลาดร่วงตามกันไปด้วย

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็น “ปฏิกิริยาลูกโซ่” ที่มีตัวจุดชนวนมาจากการเทขาย UST 

โดยเมื่อราคา UST ลดลง ระบบของเครือข่ายจะสร้าง LUNA ออกมาเพิ่ม แต่ด้วยภาวะที่ตลาดอยู่ในขาลงอยู่แล้ว ประกอบกับนักลงทุนที่เสียความเชื่อมั่น แรงเทขายจึงเข้ามาอย่างต่อเนื่องและรุนแรง แม้เครือข่าย Terra จะพยายามสร้าง LUNA ออกมาเพื่อพยุง UST ไว้เท่าไหร่ก็ตามก็ไม่สามารถสู้แรงเทขายจากนักลงทุนได้ ส่งผลให้ LUNA ถูกสร้างออกมาจนล้นตลาด จากเดิมที่ LUNA มีจำนวนเหรียญ (Supply) ที่ราว ๆ 350 ล้าน LUNA แต่ในช่วงที่เกิดเหตุขึ้น จำนวน LUNA เพิ่มขึ้นไปถึง 6 ล้านล้าน LUNA หรือคิดเป็น 1,837,935% !? จึงยิ่งตอกย้ำให้มูลค่าของ LUNA ลดลงตามกลไกอุปสงค์-อุปทาน

อนาคตของ LUNA จะเป็นอย่างไรต่อไป?

จากเดิมที่ LUNA เคยติดอันดับ Top 10 คริปโทเคอร์เรนซีที่มีมูลค่ารวมสูงที่สุดในโลก บัดนี้มูลค่าของ LUNA ลดลงไปแล้วเกือบ 100% จากเดิมที่ประมาณ 3,000 บาท/LUNA ลดลงต่ำกว่า 0.01 บาท สร้างความเสียหายอันหนักหน่วงให้กับนักลงทุนทั่วโลก แต่ทางแม่ทัพของ LUNA อย่าง Do Kwon ก็ได้ออกมาเสนอมาตรการฟื้นฟูเครือข่าย ซึ่งก็คือการ Hard Fork สร้างเครือข่าย Terra ใหม่

โดยการ Hard Fork ครั้งนี้ เครือข่ายใหม่ที่เกิดขึ้นจะไม่เกี่ยวข้องกับ Stablecoin อย่าง UST อีกต่อไป และจะ Airdrop เหรียญของเครือข่ายใหม่ให้กับผู้ถือ LUNA และ UST ในขณะที่เกิดเหตุ ส่วนเครือข่ายเก่าก็จะยังคงอยู่แต่เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น Luna Classic (LUNC)

ล่าสุด ข้อเสนอของ Do Kwon ได้รับการโหวตสนับสนุนจากผู้ถือ LUNA กว่า 87% แต่ยังมีผู้ถือกว่า 65% ที่ยังไม่ได้โหวต โดยการโหวตจะสิ้นสุดภายในวันที่ 25 พฤษภาคม 2022 นี้ หากเสียงส่วนใหญ่เห็นด้วย เครือข่ายใหม่ก็อาจเริ่มทำงานอย่างเร็วที่สุดภายในวันที่ 27 พฤษภาคม 2022 ซึ่งก็ต้องจับตากันต่อไปว่าเครือข่าย Terra ใหม่ที่ไม่มี UST แล้วจะเป็นอย่างไร

อ้างอิง AltcoinBuzz, Business Insider, Crypto Briefing

เปิดบัญชีและเริ่มลงทุนคริปโทเคอร์เรนซีกับ Bitkub Exchange เลย: https://www.bitkub.com/signup

*การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยงสูง ควรศึกษาและทำความเข้าใจก่อนลงทุน

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ