TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistมาตรวัดความยั่งยืน: จาก ESG Rating สู่ ESG Premium

มาตรวัดความยั่งยืน: จาก ESG Rating สู่ ESG Premium

ปัจจุบัน การประเมินข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance) หรือ ESG Rating ของกิจการ ได้กลายเป็นชุดข้อมูลที่จำเป็นสำหรับผู้ลงทุน นอกเหนือจากข้อมูลทางการเงิน ในการใช้ประกอบการพิจารณาตัดสินใจลงทุน

ในรายงาน Rate the Raters 2023: ESG Ratings at a Crossroads ที่จัดทำโดย SustainAbility Institute ระบุว่า แหล่งข้อมูล ESG จำนวน 6 แหล่ง ที่นิยมใช้ในการตัดสินใจลงทุน เมื่อเปรียบเทียบผลสำรวจระหว่างปี ค.ศ. 2018/19 กับ ค.ศ. 2022 มีแหล่งข้อมูลเดียว คือ In-house Research ที่มีอัตราเพิ่มขึ้นจาก 41% เป็น 53% ขณะที่การใช้ข้อมูลจากแหล่งอื่นอีก 5 แหล่ง มีอัตราลดลงทั้งหมด

สาเหตุหลักเนื่องมาจากแต่ละสำนักประเมินต่างก็มีระเบียบวิธีที่ใช้ประเมินเป็นของตนเอง ทำให้ผลประเมินที่ได้ มีความแตกต่างหลากหลาย ไม่ได้มีสหสัมพันธ์ระหว่างกัน ขณะที่การเปิดเผยข้อมูลโดยกิจการผ่านทางรายงานแห่งความยั่งยืนก็มีความน่าเชื่อที่ลดลง ทำให้ผู้ลงทุนสถาบันไว้วางใจในผลการจัดระดับ (Ratings) และการจัดอันดับ (Rankings) โดยสำนักประเมิน รวมทั้งการเปิดเผยข้อมูล (Disclosures) โดยกิจการ ลดน้อยถอยลง

จึงเป็นที่มาว่า ผู้ลงทุนเริ่มหันมาพึ่งพาแหล่งข้อมูลภายในจาก In-house Research ในอัตราที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ด้วยเหตุที่การประเมิน ESG แทบทั้งหมดที่มีอยู่ในปัจจุบัน ใช้การวิเคราะห์ข้อมูลในเชิงคุณภาพ (Qualitative) เพื่อให้คะแนน (Scoring) และจัดระดับ (Rating) ตามระเบียบวิธีที่กำหนดขึ้น ซึ่งมีการให้น้ำหนักคะแนนที่มีความเอนเอียงตามการออกแบบระบบประเมิน หรือต้องอาศัยดุลพินิจของผู้ที่ทำการประเมินและมีโอกาสเบี่ยงเบนไปตามความรู้สึก (Subjective) ของผู้ประเมิน

เพื่อช่วยลดข้อจำกัดของระเบียบวิธีที่ใช้ประเมิน และความเบี่ยงเบนในผลการประเมิน การพัฒนาระบบประเมิน ESG โดยใช้ข้อมูลเชิงปริมาณ (Quantitative) เสริมการวิเคราะห์ข้อมูลในเชิงคุณภาพ ด้วยวิธีการคำนวณและเปรียบเทียบข้อมูลที่เป็นตัวเลขทางการเงินโดยตรงตามที่ปรากฏ จะให้ผลลัพธ์เดียวกันตามวัตถุประสงค์ (Objective) โดยไม่มีโอกาสผันแปร แม้จะเปลี่ยนผู้ที่ทำการประเมิน

เครื่องมือ ESG Premium ได้ถูกพัฒนาขึ้น สำหรับใช้วัดมูลค่าความยั่งยืนของกิจการในเชิงปริมาณ เพื่อเป็นข้อมูลในกระบวนการวิเคราะห์และคัดเลือกหลักทรัพย์สำหรับการลงทุนที่คำนึงถึงปัจจัยด้าน ESG โดยในการคำนวณ ESG Premium จะใช้ข้อมูล ESG Score ที่ได้จากการวิเคราะห์เชิงคุณภาพ มาดำเนินการทางคณิตศาสตร์กับข้อมูล ESG Portion ที่ได้จากการวิเคราะห์เชิงปริมาณ เพื่อหาส่วนล้ำทางมูลค่า (Premium) ในผลตอบแทนจากการลงทุนของแต่ละหลักทรัพย์ ทำให้ผู้ลงทุนสามารถใช้ค่า ESG Premium ในการเปรียบเทียบผลลัพธ์ที่เกิดจากปัจจัย ESG ในรูปของตัวเลขทางการเงินระหว่างกิจการที่ไปลงทุนได้

ตัวอย่างเช่น บริษัท A มีตัวเลข ESG Premium อยู่ที่ 6% และบริษัท B มีตัวเลข ESG Premium อยู่ที่ 4% หมายความว่า ในมูลค่าการลงทุน 100 บาท บริษัท A และบริษัท B มีส่วนล้ำทางมูลค่าจากปัจจัย ESG อยู่จำนวน 6 บาท และ 4 บาทตามลำดับ ทำให้ผู้ลงทุนที่มีนโยบายการลงทุนที่ยั่งยืน สามารถใช้ตัวเลข ESG Premium พิจารณาเลือกลงทุนในหุ้น A มากกว่าหุ้น B เนื่องจากผลการดำเนินงานด้าน ESG ที่สะท้อนในผลตอบแทนจากการลงทุนของบริษัท A มีมูลค่าที่สูงกว่าบริษัท B

บริษัทจัดการกองทุนรวมที่มีการดูแลบริหารกองทุนรวมเพื่อความยั่งยืน สามารถนำเครื่องมือ ESG Premium ไปใช้เป็นตัวช่วยในการติดตามตรวจสอบการลงทุน เพื่อให้มั่นใจว่าการลงทุนของกองทุนรวมเพื่อความยั่งยืนสอดคล้องกับหลักการด้านความยั่งยืนตามที่สากลยอมรับ รวมทั้งใช้เป็นเครื่องมือเปรียบเทียบผลการดำเนินงานของกองทุนรวมที่ให้ภาพเชิงลึกกว่าการอ้างอิงดัชนีชี้วัดที่มีองค์ประกอบเป็นหลักทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน

พัฒนาการของการประเมิน ESG ได้ยกระดับไปอีกขั้น จากเครื่องมือ ESG Rating หรือการจัดระดับความยั่งยืนด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ มาสู่การใช้เครื่องมือ ESG Premium หรือการคำนวณมูลค่าความยั่งยืนด้วยการวิเคราะห์เชิงปริมาณที่เสริมการวิเคราะห์เชิงคุณภาพ เพื่อเพิ่มมิติข้อมูลแก่ผู้ลงทุนที่ใช้ปัจจัยด้าน ESG สำหรับประกอบการพิจารณาตัดสินใจลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นกว่าเดิม

บทความอื่น ๆ ของผู้เขียน

เหรียญ 2 ด้านของความยั่งยืน

เพิ่มแต้มต่อในธุรกิจ ด้วยการเปิดเผยข้อมูล ESG

การฟอกเขียวในกลุ่มธนาคารกำลังขยายวง

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ