TH | EN
TH | EN
หน้าแรกSustainabilityภาคธุรกิจดิจิทัลให้คุณค่า "ความยั่งยืน" "รับผิดชอบสิ่งแวดล้อม" โลกอนาคต

ภาคธุรกิจดิจิทัลให้คุณค่า “ความยั่งยืน” “รับผิดชอบสิ่งแวดล้อม” โลกอนาคต

ปัญหาโลกร้อน ภาวะเรือนกระจก ได้ถูกกระตุ้นให้ทั่วโลกตระหนัก และตื่นตัวมาระยะหนึ่ง ซึ่งภาคธุรกิจต่างให้ความใส่ใจนำสู่นโยบายความยั่งยืน (Sustainability) รวมถึงองค์กรธุรกิจด้านเทคโนโลยีดิจิทัลที่เป็นกำลังหลักของการขับเคลื่อนธุรกิจของโลกยุคใหม่

การจัดการความยั่งยืนของธุรกิจเทคโนโลยีดิจิทัล ไม่เพียงเพื่อตัวองค์กรเอง แต่ยังคำนึงถึงองค์กรของลูกค้า เพราะอนาคตของโลกและลูกค้าของลูกค้าเป็นตัวบังคับให้องค์กรทุกประเภทต้องทำธุรกิจโดยรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม และความยั่งยืนของโลก

เอ็นทีทีเตรียมพร้อมเพื่อลูกค้า

สุทัศน์ คงดำรงเกียรติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ประจำประเทศไทย กัมพูชา เมียนมาร์ และ ลาว บริษัท เอ็นทีที จำกัด กล่าวว่า เอ็นทีทีประกาศนโยบายภายในปี 2030 ธุรกิจหลัก ได้แก่ ดาต้าเซ็นเตอร์ ธุรกิจที่ใช้พลังงานจะ Net Zero ตามด้วยปี 2035-2040 Workplace Office ต้องคำนึงถึงเรื่องนี้ ทั้งนี้เป็นโอกาสทางธุรกิจต่อลูกค้า ยกตัวอย่างบริษัทคลาวด์ระดับโลกต่างต้องมีนโยบายเช่นเดียวกัน จึงต้องมองหาดาต้าเซ็นเตอร์ที่มีนโยบายรองรับการไม่ใช้พลังงานที่มีผลกระทบสิ่งแวดล้อม ต้องใช้พลังงาน Neutral Carbon หรือ Renewable energy

“จะส่งผลให้มาใช้บริการของเรา เพราะเรารองรับตรงนี้ เป็นเทคโนโลยีที่จะช่วยโลก และธุรกิจของเรา และลูกค้า โดยเห็นบริษัทใหญ่ของไทยเริ่มขับเคลื่อนตรงนี้ นโยบายรัฐบาลเป็นเรื่องระยะยาว แต่องค์กรใหญ่จะออกนโยบายที่เร็วกว่า และชัดเจนกว่าได้”

ทั้งนี้ ในระยะยาวเรื่องความยั่งยืน กลุ่มเอ็นทีทีจะทำธุรกิจให้มีความยั่งยืนเรื่องพลังงาน ไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม โดยจัดวางให้ตรงกับเป็นนโยบายของโลก และของแต่ละประเทศ

อาลีบาบาใส่ใจสิ่งแวดล้อม

ไทเลอร์ ชิว ผู้จัดการประจำประเทศไทย อาลีบาบา คลาวด์ กล่าวว่า การพัฒนาอย่างยั่งยืน (sustainability) มีความสำคัญมากขึ้นๆ ต่อการกำหนดคุณค่าของแบรนด์ของแต่ละบริษัท องค์กรต่างๆ กำลังพบกับความท้าทายอย่างมากในการออกแบบแผนงานเพื่อกำหนดกลยุทธ์ด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่มีประสิทธิภาพ

การเปลี่ยนจากโครงสร้างพื้นฐานไอทีแบบดั้งเดิมไปใช้คลาวด์ ได้รับการยอมรับว่าเป็นมากกว่าเทรนด์การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล และเป็นก้าวสำคัญในการปรับเปลี่ยนการทำงานด้านไอทีขององค์กรให้ “เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้การดำเนินงานโดยรวม และส่งผลให้ค่าใช้จ่ายลดลง ข้อมูลจากการวิเคราะห์ของแอคเซนเชอร์ชี้ให้เห็นว่าองค์กรที่ย้ายการทำงานจากโครงสร้างพื้นฐานไอทีภายในองค์กรไปใช้การประมวลผลบนคลาวด์ สามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้โดยเฉลี่ย 84%

ขณะที่ การใช้บริการศูนย์ข้อมูลที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมก็เป็นหัวใจหลักของกลยุทธ์การดำเนินงานอย่างยั่งยืน รวมถึงการย้ายไปสู่สภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อระบบนิเวศอย่างมาก จะช่วยให้องค์กรบรรลุเป้าหมายของแผนลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ แต่ไม่ลดทอนประสิทธิภาพ เสถียรภาพ หรือความปลอดภัยเพื่อบรรลุเป้าหมายการดำเนินงานที่ยั่งยืน และนำหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้บริหารการใช้พลังงานในศูนย์ข้อมูล นำความร้อนจำนวนมากที่ระบายออกจากเครื่องเซิร์ฟเวอร์มาใช้ให้เกิดประโยชน์ และใช้เทคโนโลยีการระบายความร้อนด้วยน้ำ

เอเอ็มดีเพิ่มประสิทธิภาพบริโภคพลังงาน

ก่อนหน้านี้ เอเอ็มดี ผู้ผลิตชิปประมวลผลรายใหญ่ประกาศเป้าหมายการเพิ่มประสิทธิภาพการบริโภคพลังงานให้ดีขึ้น 30 เท่าบนผลิตภัณฑ์โปรเซสเซอร์ AMD EPYC และกราฟิกการ์ด AMD Instinct

มาร์คเปเปอร์มาสเตอร์ รองประธานบริหารและหัวหน้าฝ่ายเทคโนโลยี บริษัทเอเอ็มดี กล่าวว่า เป้าหมาย 30x ของเอเอ็มดีจะช่วยให้ประหยัดพลังงานที่ถูกบริโภคได้หลายพันล้านกิโลวัตต์ต่อชั่วโมงในปี 2568 ซึ่งจะช่วยลดปริมาณการใช้พลังงานบนระบบเหล่านี้ในการประมวลผลเพียงครั้งเดียวได้ถึง 97% ภายในระยะเวลา 5 ปี ทำให้มีประสิทธิภาพที่แซงหน้าเทคโนโลยีการใช้พลังงานในอุตสาหกรรมได้ถึง 150% เมื่อนำไปเทียบกับช่วงเวลา 5 ปีก่อน

นูทานิคซ์คำนึงสิ่งแวดล้อมยั่งยืน

ราจีฟ รามาสวามิ (Rajiv Ramaswami) ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของ นูทานิคซ์ กล่าวตอนหนึ่งของการให้สัมภาษณ์พิเศษกับ The Story Thailand ว่า เพื่อให้การเติบโตเป็นไปอย่างยั่งยืน บริษัทให้ความใส่ใจกับนโยบาย ESG (สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล) โดยนูทานิคซ์ตั้งเป้าที่จะทำให้ศูนย์ข้อมูล ผลิตภัณฑ์ และโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ใช้พลังงานน้อยลง ควบคู่ไปกับการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน

ความสำคัญของอีกหนึ่งองค์ประกอบของการเติบโตอย่างยั่งยืนคือ การพัฒนาทักษะความสามารถของบุคลากร ตลอดจนเปิดโอกาสให้คนทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะมีเพศสภาพ ความเชื่อทางการเมือง หรืออยู่ในกลุ่มใดของสังคมสามารถทำงานภายในองค์กรได้อย่างเต็มที่

แพลตฟอร์มนูทานิคซ์ เอ็นเตอร์ไพรส์ คลาวด์ (Nutanix Enterprise Cloud) เป็นแพลตฟอร์มที่สร้างสภาพแวดล้อมการทำงานให้แก่ดาต้าเซ็นเตอร์ขององค์กรในลักษณะเดียวกับพับลิกคลาวด์ชั้นนำ มีประสิทธิภาพ คล่องตัว ประหยัด และปลอดภัยกว่าโครงสร้างพื้นฐานไอทีแบบดั้งเดิม

ธุรกิจของนูทานิคซ์ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีที่นูทานิคซ์เป็นผู้บุกเบิก ช่วยให้ลูกค้ามากกว่า 19,000 รายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้อย่างมาก โดยใช้ฮาร์ดแวร์น้อยลงในการรันเวิร์กโหลดเดียวกัน

ออราเคิลชี้ทุกองค์กรเล็กใหญ่ต้องใส่ใจ

ทวีศักดิ์ แสงทอง กรรมการผู้จัดการ ออราเคิล คอร์ปอเรชั่น ประเทศไทย ระบุว่า ลูกค้ายุค Never Normal จะประเมินบริษัทคู่ค้าด้วยมาตรฐานด้านความยั่งยืน ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ 

“แม้จะเป็นองค์กรเล็กแต่ทำหน้าที่ส่งออกให้องค์กรใหญ่ ซึ่งมีมาตรการบังคับให้ซัพพลายเออร์ที่ทำธุรกิจด้วย ต้องมีเรื่องความยั่งยืน เช่น การลดภาวะโลกร้อน ภาวะเรือนกระจก โลว์ คาร์บอนต่าง ๆ เพื่อทำให้โลกไม่เข้าสู่ภาวะที่เป็นอันตรายในการใช้ชีวิต ถือเป็นความสำคัญของภาคธุรกิจและภาคราชการ รวมถึงรัฐบาลต่างจำเป็นต้องมีแผนรับมือ เพราะการส่งออกไปบางประเทศจะพิจารณาถึงประเทศคู่ค้าว่าให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้เพียงใด

เทคโนฯหนุนอาหารยั่งยืน

ฟาบิโอ ทิวิติ รองประธานและผู้จัดการทั่วไป บริษัท อินฟอร์ อาเชียน-อินเดีย กล่าวว่า อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มกำลังมองไปข้างหน้าหลังการระบาดของโควิด-19 ซึ่งเทคโนโลยียังคงมีความสำคัญต่อการสร้างความร่วมมือและนวัตกรรมที่ทันสมัย ยั่งยืน และยืดหยุ่นให้ทุกภาคส่วน และนำพาบริษัทต่างๆ สู่อนาคตของอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม

เป็นอีกครั้งที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญในการปรับปรุงกระบวนการต่าง ๆ เช่น การวิเคราะห์เชิงคาดการณ์ที่ได้พิสูจน์แล้วว่ามีประโยชน์อย่างยิ่งในการช่วยบริษัทต่างๆ คำนวณต้นทุนการดำเนินการของทางเลือกในการนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ใช้ซ้ำได้หรือย่อยสลายได้ ข้อมูลที่รวบรวมจากการวิเคราะห์เหล่านี้ขับเคลื่อนโดยปัญญาประดิษฐ์ (AI) และแมชชีน เลิร์นนิง (ML) โดยให้ข้อมูลเชิงลึกที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับผลกระทบของการใช้ทรัพยากรทางเลือกและกระบวนการผลิต หรือกระบวนการผลิตใดๆ ที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขปรับปรุง

บนทางแยกระหว่างความยั่งยืนและความอยู่รอด การนำเครื่องมือที่ชาญฉลาด เช่น การใช้เซ็นเซอร์ที่ใช้ความสามารถของอินเทอร์เน็ตออฟธิงค์ (IoT) มาติดตามสภาพการเจริญเติบโตของผลผลิต ลดการใช้น้ำอย่างสิ้นเปลือง และเพิ่มผลผลิต ควบคู่กับการวิเคราะห์เชิงคาดการณ์ของผลผลิตที่คาดหวังไว้ และข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับความต้องการของผู้บริโภค จะช่วยให้เกษตรกรมีความคล่องตัวและตอบสนองต่อเงื่อนไขต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ