TH | EN
TH | EN
หน้าแรกStartupบีคอน วีซี จัด ESG Essential Workshop เติมความรู้ ESG ให้สตาร์ตอัพ

บีคอน วีซี จัด ESG Essential Workshop เติมความรู้ ESG ให้สตาร์ตอัพ

บีคอน วีซี จัด ESG Essential Workshop เติมความรู้ ESG ให้สตาร์ตอัพ ยกระดับผลกระทบ Climate Tech ของสตาร์ตอัพในพอร์ต

การทำรายงาน ESG (Environmental, Social and Governance) นั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน แม้ว่าจะไม่มีข้อบังคับตามกฎหมาย แต่รายงาน ESG สามารถสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันให้แก่องค์กร แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นและความรับผิดชอบขององค์กรต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งส่งผลให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดีและความน่าเชื่อถือจากลูกค้า คู่ค้า นักลงทุน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

มีการศึกษาและสถิติหลายชิ้นที่สนับสนุนความสำคัญของการรายงาน ESG ต่อความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ อาทิ

  • รายงานจาก NYU Stern Center for Sustainable Business (2019) พบว่า บริษัทที่มีผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนที่ดีนั้น จะมีผลตอบแทนจากการลงทุนสูงกว่าคะแนนเฉลี่ยอุตสาหกรรมถึง 6.3%
  • การสำรวจของ PwC (2021) พบว่า 83% ของนักลงทุนสถาบันให้ความสำคัญกับเรื่อง ESG ในการตัดสินใจลงทุน เพิ่มขึ้นจากเพียง 49% ในปี 2012
  • รายงาน ESG Investor Sentiment Study จาก Dustin Moskowitz Foundation (2022) ระบุว่า 68% ของนักลงทุนจะขายหุ้นออกจากพอร์ตหากบริษัทนั้นมีผลการดำเนินงาน ESG ที่ไม่ดี
  • การศึกษาขององค์กรไม่แสวงหากำไร Governing Institute (2020) ชี้ว่า บริษัทใหญ่กว่า 90% ในสหรัฐฯ มีการจัดทำรายงาน ESG ประจำปี
  • สถาบันไทยพัฒน์ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา กองทุนสำรองเลี้ยงชีพและกองทุนหลักประกันสุขภาพถือหลักการลงทุนอย่างยั่งยืนและพิจารณา ESG เป็นปัจจัยสำคัญ

สถิติเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า การรายงาน ESG กำลังกลายเป็นมาตรฐานสากลมากขึ้นเรื่อย ๆ และเป็นปัจจัยสำคัญที่นักลงทุน ผู้บริโภค และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างให้ความสนใจ ธุรกิจที่มีผลงานด้าน ESG ดีย่อมได้เปรียบในการแข่งขันและการเข้าถึงแหล่งเงินทุน

การจัดทำรายงานเพื่อความยั่งยืนเป็นสิ่งสำคัญสำหรับสตาร์ตอัพเช่นกัน เพราะ

  • สร้างพื้นฐานที่ดีตั้งแต่เริ่มต้น การให้ความสำคัญกับความยั่งยืนตั้งแต่เริ่มก่อตั้งธุรกิจ จะช่วยให้สตาร์ตอัพวางรากฐานการดำเนินงานที่คำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดีได้อย่างเหมาะสม 
  • สร้างความน่าเชื่อถือและจุดยืนทางการตลาด ผู้บริโภคยุคใหม่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนมากขึ้น การมีรายงานความยั่งยืนจะสร้างความน่าเชื่อถือและเป็นจุดขายที่สำคัญ ช่วยดึงดูดลูกค้าและนักลงทุนที่สนใจประเด็นเหล่านี้
  • ใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ การจัดทำรายงานความยั่งยืนจะช่วยให้สตาร์ตอัพวิเคราะห์และปรับปรุงการใช้ทรัพยากรต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ ลดค่าใช้จ่ายและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
  • เตรียมความพร้อมสู่อนาคต แนวโน้มความยั่งยืนมีแนวโน้มจะทวีความสำคัญมากขึ้นในอนาคต การวางรากฐานไว้ตั้งแต่ต้นจะทำให้สตาร์ตอัพพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงและข้อกำหนดใหม่ ๆ ได้ง่ายกว่า

ทั้งนี้ เมื่อต้นปี 2023 บีคอน วีซี เปิดตัวกองทุน Beacon Impact Fund พร้อมประกาศเป็นผู้นำการลงทุนด้าน ESG โดยตั้งเป้าลงทุนในสตาร์ตอัพที่มีแนวคิดดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน 1.2 พันล้านบาทภายใน 3 ปี จากนั้นได้ร่วมมือกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ตั้ง Climate Tech Club ในขณะที่ธนาคารกสิกรไทยให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความรู้ให้กับสตาร์ตอัพผ่านโครงการ KATALYST (แคททะลิสต์) และเน้นมุ่งสู่ธนาคารชั้นนำด้าน ESG แห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงเกิดเวิร์กช้อป KATALYST TALK – “ ESG Essential Workshop: Navigating Sustainability for Post-Revenue Startups ขึ้นเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2024 

ธนพงษ์ ณ ระนอง กรรมการผู้จัดการ บริษัท บีคอน เวนเจอร์ แคปิทัล จำกัด (บีคอน วีซี) กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของการจัด KATALYST TALK – “ESG Essential Workshop: Navigating Sustainability for Post-Revenue Startups มาจากความต้องการที่ทำให้สตาร์ตอัพในพอร์ตของ Beacon VC มีความเข้าใจเรื่อง ESG จึงร่วมมือกับสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ Singapore Management Universituy (SMU) จัดเวิร์กช้อปติวเข้มเรื่อง ESG ไม่เพียงแต่ให้กับสตาร์ตอัพในพอร์ตเท่านั้นแต่ยังเปิดกว้างให้กับสตาร์ตอัพที่อยู่ใน Ecosystem ของ KATALYST ได้เข้าร่วมอบรมฟรี 

“เราอยากหาสตาร์ตอัพที่ทำเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ ESG ซึ่งตอนนี้มีไม่เยอะมากในเมืองไทย หากทุกคนสนใจด้านนี้จะทำให้เรามีดีลและมีการลงทุนเพิ่มขึ้น ส่วนบริษัทที่เราลงทุนอยู่แล้ว เรามองว่าอนาคตเราอยากให้ทุกคนให้ความสนใจเรื่อง ESG มากขึ้น หากคนไหนสามารถทำ Scope 1 และ Scope 2 ได้ ก็จะเป็นผลดีต่อธรรมชาติสิ่งแวดล้อม และในอนาคตจะมีผลดีทางการเงิน จึงอยากให้ทุกคนตระหนักและเรียนรู้ไว้” ธนพงษ์ กล่าว

การปล่อยก๊าซเรือนกระจก Scope 3 ซึ่งเป็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากกิจกรรมต่าง ๆ ในห่วงโซ่อุปทานนั้น เป็นประเด็นสำคัญที่ทุกบริษัทในห่วงโซ่อุปทานจะต้องให้ความสำคัญ เนื่องจากส่งผลกระทบต่อบริษัทคู่ค้าและลูกค้าทั้งทางตรงและทางอ้อม หากสตาร์ตอัพไม่ปรับเปลี่ยนและไม่ให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในห่วงโซ่คุณค่าของตน อาจสูญเสียโอกาสทางธุรกิจในการเป็นคู่ค้ากับบริษัทขนาดใหญ่ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้

ดร.เอกภัทร มานิตขจรกิจ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิชาการและพัฒนาคุณภาพการศึกษา คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และผู้อำนวยการหลักสูตร KU Care ในฐานะวิทยากรผู้ให้การอบรม ESG Essential Workshop กล่าวว่า สตาร์ตอัพมีความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของ ESG อยู่แล้ว แต่ยังขาดความรู้ความเข้าใจในรายละเอียดและกระบวนการจัดทำรายงาน ESG สตาร์ตอัพควรเริ่มจากการทำความเข้าใจธุรกิจของตนเองก่อน จากนั้นจึงค่อยแยกแยะส่วนต่าง ๆ ออกมาพิจารณาอย่างละเอียด ต้องระบุให้ได้ว่าอะไรคือความเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบด้านลบต่อธุรกิจ

ขั้นตอนการดำเนินงานด้าน ESG (Environmental, Social and Governance) สำหรับองค์กรธุรกิจ ว่ามีขั้นตอนการดำเนินงาน ESG มีทั้งหมด 4 ขั้นตอนหลัก ดังต่อไปนี้

1. “Early and Emerging Stage” คือองค์กรที่เริ่มต้นทำงานด้าน ESG เนื่องจากความกดดันจากภายนอก โปรเจกต์เกี่ยวกับความยั่งยืนมักเป็นเพียงชั่วคราวและระยะสั้น โดยไม่ต้องการลงทุนมาในด้านความยั่งยืน ซึ่ง SME ของไทยโดยส่วนใหญ่จะอยู่ในระดับนี้

2. “Initiative-base Stage” คือองค์กรที่มีโปรเจกต์ด้านความยั่งยืนซึ่งยังคงแยกจากธุรกิจหลัก บริษัทเริ่มตั้งเป้าหมาย วัดผลและเก็บข้อมูลเพื่อรายงานผล ผู้บริหารให้การสนับสนุนแต่ยังไม่ถือว่าเป้าหมายหลัก โดยทั่วไป บริษัทที่มีการรายงาน One reportสามารถจัดอยู่ในกลุ่มนี้

3. “Strategic Focus Stage” คือองค์กรที่มีผสานความยั่งยืนเข้ากับธุรกิจหลัก ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีส่วนร่วมกับองค์กร มีการตั้งเป้าหมายระยะยาว วัดผล รายงานผลและปรับปรุงเพื่อพัฒนาความยั่งยืน องค์กรที่อยู่ในระดับนี้ควรสามารถอยู่ใน SETESG Index

4. “Vision Driven Stage“ คือองค์กรที่บูรณาการความยั่งยืนเข้ากับวัฒนธรรมองค์กร สอดคล้องกับรูปแบบธุรกิจ มีวิสัยทัศน์และพันธกิจที่สนับสนุนความยั่งยืน มีความร่วมมือกันของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และมีความโปร่งใส ที่สามารถตรวจสอบได้ องค์กรในระดับนี้ ถ้าอยู่ใน SETESG Index ควรได้ระดับ AAA หรืออยู่ใน DJSI Index

หากบริษัทใดไม่ให้ความสำคัญกับการดำเนินงานด้าน ESG อาจจะถูก “ดิสรัปท์” โดยไม่รู้ตัว โดยเฉพาะหากบริษัทเป้าหมายหรือลูกค้ามีนโยบายการลดการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) และคำนึงถึง Scope 3 ซึ่งหมายรวมถึงผลกระทบจากคู่ค้าหรือผู้ส่งมอบสินค้าและบริการ บริษัทเหล่านั้นก็จะได้รับผลกระทบทันที ดังนั้น ทุกองค์กรธุรกิจโดยเฉพาะสตาร์ตอัพ จึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญต่อการดำเนินงานด้าน ESG เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจของตนในระยะยาว

กระบวนการขับเคลื่อนธุรกิจสู่ความยั่งยืน ประกอบด้วย 6 ขั้นตอนหลัก ดังนี้

  • Step-0 Buy-in เป็นขั้นตอนสำคัญในการสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้เสีย
  • Step-1 Materiality การกำหนดประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนสำหรับองค์กร
  • Step-2 Policy การประกาศนโยบายด้านความยั่งยืน เพื่อแสดงพันธสัญญาต่อสาธารณะ
  • Step-3 Strategy การพัฒนากลยุทธ์ขององค์กรให้สอดคล้องกับนโยบายความยั่งยืน
  • Step-4 Implementation การบริหารจัดการประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม
  • Step-5 Disclosure การเปิดเผยรายงานผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนต่อสาธารณะ

โดยในการอบรมครั้งนี้จะเน้นไปที่ Step-0 และ Step-1 ซึ่งมีความสำคัญเป็นอย่างมากในการวางรากฐานที่มั่นคง ทั้งนี้ แต่ละองค์กรจะมีบริบทที่แตกต่างกัน และกระบวนการทำ ESG ใช้เวลานาน ดังนั้น การดำเนินงานด้าน ESG จึงจำเป็นต้องทำให้ผู้มีส่วนได้เสียได้รับประโยชน์ด้วย

ณัฐธิดา สงวนสิน กรรมการผู้จัดการและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท บัซซี่บีส์ จำกัด หนึ่งในสตาร์ตอัพกว่า 40 รายที่เข้าร่วม ESG Essential Workshop ในครั้งนี้ กล่าวว่า บัซซี่บีส์ กำลังทำ ESG ด้วยรูปแบบธุรกิจของบัซซี่บีส์ค่อนข้างซับซ้อน จึงอยากจะเข้าใจ ESG มากขึ้น ก่อนหน้านี้มีความเข้าใจ ESG เพียงพื้นฐานจากที่ได้ศึกษาด้วยตัวเอง แต่พอได้มาเรียน ESG Essential Workshop ทำให้เข้าใจ ESG มากขึ้น และจะนำความรู้ที่ได้ไปดำเนินการทำ ESG ในบริษัท ซึ่งตอนนี้คิดว่าบริษัทตนเองอยู่ในขั้นตอนที่ 2 Initiative-base Stage เพราะจะต้องทำ ONE Report ตอนเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ 

“สิ่งที่ได้จากการมาเรียน ESG Essential Workshop คือ การมอง Framework และมีความเข้าใจ Impact Analysis มากขึ้นกว่าเดิม ที่ศึกษาด้วยตัวเอง ซึ่งตอนแรกเรายังไม่แน่ใจว่าสิ่งนี้ใช่ที่อยู่ใน Framework หรือไม่ รวมถึงมีความเข้าใจมากขึ้นในการเลือกใช้ Framework ให้ถูกต้อง”​ ณัฐธิดา กล่าว

ณัฐธิดา มองว่า ESG ไม่เป็นความยั่งยืนของโลกเท่านั้นแต่เป็นความยั่งยืนทางธุรกิจของบริษัท ทุกบริษัทควรตรวจสอบตัวเองว่าสิ่งที่ทำอยู่ทำให้บริษัทอยู่ยั่งยืนหรือไม่ และการเป็น purpose organization ในยุคนี้แสดงให้เห็นว่ามีผลประโยชน์ที่ชัดกว่าการไม่มี ดังนั้นบริษัทควรเริ่มตรวจสอบตัวเองว่าเป็นบริษัทที่มี purpose แบบไหน โดยเฉพาะในเจนเนอเรชั่นถัดไปที่พวกเขาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากขึ้น

อัจฉรา ปู่มี Founder and CEO of PAC Corporation (Thailand) ในฐานะ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตัง Climate Tech Club กล่าวว่า PAC Corporation (Thailand) ถือเป็น SME ขนาดกลาง ธุรกิจที่ทำจะเกี่ยวข้องกับบริษัทขนาดใหญ่ แต่อยากรู้ว่าคนที่เป็นสตาร์ตอัพเขามองเรื่อง ESG อย่างไร เพราะเขายังเล็กและอาจจะยังไม่มียอดขายหรือกำไรมากเหมือนกันบริษัท SME ที่โตมาประมาณหนึ่งแล้วจึงอยากมาศึกษา และจะนำองค์ความรู้นี้ไปพัฒนาธุรกิจสตาร์ตอัพของบริษัท PAC Technovation

“ESG Essential Workshop เป็นคอร์สที่มีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน การทำ ESG มีหลายระดับมากตั้งแต่บริษัทขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก และสตาร์ตอัพ จะมีบริบทที่ไม่เหมือนกัน คอร์สนี้เจาะจงพูดกับสตาร์ตอัพ จึงออกแบบหลักสูตรให้เหมาะสมกับสตาร์ตอัพ ซึ่งยังไม่เคยเห็นหลักสูตรแบบนี้มาก่อน เพราะส่วนใหญ่จะพูดเรื่องนี้กับบริษัทขนาดใหญ่หรือ SME ขนาดกลาง มองว่าเป็นหลักสูตรที่เหมาะกับกลุ่มเป้าหมายดี” อัจฉรา กล่าว

ESG จะเป็นสิ่งที่ทำให้องค์กรเติบโตต่อไปได้อย่างยั่งยืนอย่างสากล และอาจจะเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จทางธุรกิจในรูปแบบใหม่ เมื่อก่อนจะมองว่าธุรกิจจะประสบความสำเร็จหรือยั่งยืนคือจะต้องมียอดขายที่เติบโตขึ้นทุกปี มีกำไรเติบโตทุกปี มีการทำให้ผู้ถือหุ้นได้รับเงินปันผลมาก ๆ เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันเรื่องเหล่านี้ก็ยังจำเป็น แต่วันนี้คนจะมองว่าธุรกิจต้องทำกำไรที่อยู่บนพื้นฐานของการ ESG 

เนื่องด้วยเวลาจำกัด กระบวนการขับเคลื่อนธุรกิจสู่ความยั่งยืนมีอยู่ 6 ขั้นตอน ESG Essential Workshop จึงเน้นที่ขั้นตอน 1 และ 2 ถือเป็นการจุดประกายให้คนที่มาเรียนไปต่อยอดอีก สำหรับซีรีส์ต่อไปสามารถติดตามข้อมูลได้ที่ KATALYSTbyKBank และ Beacon VC

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ