TH | EN
TH | EN
spot_imgspot_imgspot_img
หน้าแรกBusinessธุรกิจไทยในกระแสสิ่งแวดล้อมยั่งยืน เมื่อโลกพร้อมใจกระโดดไปพร้อมกัน

ธุรกิจไทยในกระแสสิ่งแวดล้อมยั่งยืน เมื่อโลกพร้อมใจกระโดดไปพร้อมกัน

ตลอดระยะ 5 ปีที่ผ่านมา โลกต้องเผชิญกับวิกฤติสิ่งแวดล้อม ทั้งการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การปล่อยก๊าซเรือนกระจก ฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ปริมาณขยะล้นเมือง จนต้องหันหน้ามาร่วมมือกันกำหนดบริบทและกฎกติกาต่าง ๆ เพื่อความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม

สำหรับประเทศไทยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลรุนแรงนับเป็นอันดับ 9 ของโลก ตัวเลข 13% ของจีดีพีไทยในภาคอุตสาหกรรมที่กำลังจะได้รับผลกระทบจากข้อตกลงการค้าอียูว่าด้วยกิจกรรมเศรษฐกิจที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะโครงสร้างเศรษฐกิจที่ต้องพึ่งพาอุตสาหกรรมเก่า เช่น รถยนต์ ปิโตรเลียม ปิโตรเคมี ซึ่งมีอยู่ราว 30%

ปม 4P ฉุดรั้งการพัฒนา

องค์การสหประชาชาติเคยชวนโลกทั้งใบตั้งเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนในมิติด้าน สังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมรวม 17 ข้อ (SDGs-17) ทั้งยังสะท้อนปมปัญหา 4P ที่มีผลฉุดรั้งการพัฒนาให้เดินหน้าไปไม่ไกลเท่าที่ควร ได้แก่  

Planet– ความแปรปรวนของสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศ ภัยพิบัติ เช่น น้ำท่วม แผ่นดินไหว อุณหภูมิโลกที่สูงทุบสถิติทุกปี ขยะที่ถูกเก็บและกำจัดแบบผิดวิธี เกิดนาโนพลาสติดในอากาศและทะเล 

Prosperity – ความร่ำรวยมั่งคั่งที่ขยายช่องว่างความเหลื่อมล้ำด้านรายได้และการพัฒนาให้กว้างขึ้น หนี้สินประเทศโดยรวมที่เกินกว่ารายได้จีดีพี ทำให้ขาดศักยภาพในการชำระหนี้ หลายประเทศต้องลดงบประมาณด้านสาธารณสุข การศึกษาและสังคม และหากชำระหนี้ไม่สำเร็จ ก็จะส่งผลกับระบบเศรษฐกิจการเงินโดยรวม

People – มีการคาดการณ์ว่า ไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มขั้น (Super Aging Society) ในปี 2568 กลายภาวะกดดันต่อวัยแรงงานที่มีรายได้ไม่เพียงพอ อยู่ในสภาพ “ครอบครัวแหว่ง” เพราะพ่อแม่ต้องทำงานหนัก ก่อปัญหาคุณภาพการเลี้ยงดูบุตร ตามมาด้วยคุณภาพของพลเมืองที่ส่งผลต่อการพัฒนาประเทศในระยะยาว ในอนาคตคนรุ่นใหม่ต้องรับภาระหนักในการดูแลคนชรา ขณะที่งานของเขาจะถูกทดนแทนด้วยเทคโนโลยี 

Peace – ความขัดแย้งอันน่าวิตกของโลกสองขั้วแผ่ขยายไปทุกทวีปทุกภูมิภาค แม้ประเทศไทยก็อยู่ในข่ายได้รับผลกระทบ เช่น ความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ หรือ เมียนมาร์ เป็นต้น 

“การอยู่แบบเดิมทำให้เรายิ่งเสี่ยง ดังนั้น การก้าวข้ามโลกใบเดิม การสร้างมูลค่าใหม่ระยะยาว จึงต้องมองชัดทุกเหตุการณ์ ประเมินความเสี่ยงรอบด้าน เพื่อกระโดดให้ไกลและไปในทิศทางที่ถูกต้อง” ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าว

ในหลายประเทศ เช่น ฟินแลนด์ที่เริ่มขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนโดยนำของเสียหรือของเหลือใช้มาผลิตพลังงานทดแทน ซึ่งกองทุนนวัตกรรมแห่งชาติคาดว่า เศรษฐกิจหมุนเวียนจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มมากกว่า 3 พันล้านยูโรในปี 2573 ขณะที่ญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับการแยกและกำจัดขยะจนเกิดธุรกิจบริการกำจัดของที่ไม่ใช้แล้วปริมาณมากส่งเป็นสินค้ามือสองไปยังต่างประเทศซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่าเติบโตถึง 3.5 ล้านล้านเยนในปี 2568 หรือประเทศไทยเองมีการพัฒนาแอปพลิเคชันในการสั่งอาหารคุณภาพดีที่เหลือจากการขายในร้านอาหาร โรงแรม หรือซูเปอร์มาร์เก็ตมาจำหน่ายในราคาถูกกว่าปกติราว 50-80% โดยสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากขยะอาหารได้มากกว่า 50 ตันคาร์บอน เป็นต้น

ธุรกิจไทยกับหมุดหมายสิ่งแวดล้อม

เมื่อทรัพยากรธรรมชาติเริ่มจำกัดเข้าขั้นวิกฤติและ สิ่งแวดล้อมกลายเป็นกติกาการค้าโลกที่เข้มข้นการกำหนดมาตรฐาน นโยบาย กฎระเบียบที่ละเอียดอ่อนจากภาครัฐและประชาสังคมจึงเกิดขึ้นเพื่อเร่งบรรลุเป้าหมายความยั่งยืน รวมถึงปลุกเร้าภาคธุรกิจให้ปรับตัวเพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสียมากไปกว่านี้  

ดร.ประสาร ยกตัวอย่างการขับเคลื่อนในระดับสากลโดยคณะทำงานระหว่างประเทศพัฒนาแล้ว ได้ร่วมกันกำหนดกรอบการเปิดเผยข้อมูลความเสี่ยงทางการเงินสำหรับบริษัทจดทะเบียนในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ (TCFD) ส่วนภาคธุรกิจการเงินไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ได้ยกระดับเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลโดยเพิ่มเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน การยกระดับเกณฑ์การประเมินการกำกับดูแลกิจการที่ดี (CGR) สำหรับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นซึ่งเน้นประเด็นสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น 

การเจรจา ข้อตกลงการค้าเสรีไทยกับสหภาพยุโรป (FTA ไทยอียู)” ที่ตั้งเป้าแล้วเสร็จในปี 68 ซึ่งทางอียูจะยกระดับมาตรฐานการค้ากับคู่ค้าให้สูงขึ้นเพื่อสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืน สนธิสัญญาทะเลหลวง (High Sea Treaty)”โดยความร่วมมือกว่า 200 ประเทศทั่วโลกในการกำหนดพื้นที่คุ้มครองทางทะเลเพื่อปกป้องและฟื้นฟูธรรมชาติใต้น้ำ ขยายสู่ข้อตกลงร่วมด้านการจำกัดขยะพลาสติกในอนาคต

นอกจากนี้ แนวคิด ESG ยังกลายเป็นสิ่งชี้นำการพัฒนาองค์กรสู่ความยั่งยืนด้วยกฎกติกามารยาทที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Governance) ซึ่งให้ประโยชน์กับองค์กรหลายด้าน อาทิ การเพิ่มรายได้และโอกาสทางธุรกิจใหม่ เพราะบริษัทที่เริ่มก่อนย่อมได้เปรียบกว่าในการเข้าไปอยู่ในรายชื่อผู้ค้าสำคัญของแบรนด์ระดับโลกซึ่งเกิดขึ้นแล้วกับบริษัทจดทะเบียนไทยบางแห่งที่ได้รับการรับรองด้านสิ่งแวดล้อมระดับสากล ทำให้มีฐานลูกค้าเพิ่มขึ้น เพิ่มโอกาสการระดมทุนจากนักลงทุนต่างชาติที่สนใจเรื่องนี้  ช่วยเรื่อง ลดต้นทุน ตามหลัก ESG ที่เน้นการใช้ทรัพยากรและพลังงานร่วมกัน ลดความเสี่ยงในการดำเนินงานที่ตรงตามกฏกติการะดับสากล รวมถึงยังได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ และสุดท้าย คือพนักงาน เกิดความภูมิใจ ทั้งยังสิ่งจูงใจคนเก่งคนดีอยากมาทำงานกับองค์กรธุรกิจที่ให้ใจกับสังคมและสิ่งแวดล้อม

อย่างการผสมผสานแนวคิด ESG เข้าไปในระบบเศรษฐกิจแบบ Supply Side ที่เดิมเน้นการลงทุนและสร้างงาน โดยการลดภาษี หรือลดกฎเกณฑ์เพื่อสนับสนุนการลงทุนให้เอกชนซึ่งไม่ได้ช่วยลดความเหลื่อมล้ำเท่าที่ควร มาเป็น “Modern Supply Side Economics” ซึ่งเน้นการสร้างการเติบโตที่คำนึงถึงทุกคนในสังคม เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเพิ่มภูมิคุ้มกันให้เศรษฐกิจ ซึ่งเปลี่ยนภาพการลงทุนที่มุ่งไปสู่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทรัพยากรมนุษย์ การศึกษาวิจัยที่ก่อให้เกิดประสิทธิผลเชิงเศรษฐกิจที่มากกว่า 

“อย่ามอง ESG เป็นภาระ แต่ให้มองเป็นเข็มทิศนำทางธุรกิจทั้งในตลาดทุน ตลาดเงิน ตลาดผู้ค้าผู้บริโภคได้ปรับตัวสู่ความยั่งยืนได้ง่ายและเร็วขึ้น แม้แต่แบรนด์ระดับโลกเองก็ต้องการสื่อถึง ESG ในการแก้ปัญหามากกว่าการสร้างปัญหาทั้งกับกระบวนการดำเนินธุรกิจของตัวเอง กิจการของคู่ค้า หรือในห่วงโซ่คุณค่าซึ่งหากขยายผลไปถึงลูกค้า ก็จะยิ่งเกิดผลกว้างไกลเป็นรูปธรรมชัดเจนยิ่งขึ้น” 

“ความยั่งยืน” ใบเบิกทางการเติบโต

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมอง ESG เป็นเครื่องมือชี้ชวนและดึงดูดนักลงทุน จึงมีการเร่งพัฒนานวัตกกรมต่าง ๆ อาทิ “ESG Data Platform” เพื่อรวมศูนย์ข้อมูลที่เป็นไปอย่างโปร่งใส สามารถเสริมศักยภาพและโอกาสการลงทุนให้กับบริษัทจดทะเบียนไทยที่มีการดำเนินการด้าน ESG  ทั้งการยกระดับความรู้และเพิ่มคุณภาพการดำเนินกิจการ รวมถึงผู้ค้าในห่วงโซ่คุณค่าเพื่อให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง “SET ESG Academy” ซึ่งเริ่มต้นในปีที่ผ่านมาในการเป็นแหล่งรวบรวมฐานความรู้ เครื่องมือ และหลักสูตรการดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืน หรือ  “LiVE Platform” การเพิ่มขีดความสามารถของเอสเอ็มอีหรือสตาร์ตอัปทั้งเรื่องความยั่งยืนและการดำเนินธุรกิจที่ดี

“ความยั่งยืนเสมือน License to Growth ใบเบิกทางสำคัญที่ทำให้ธุรกิจเติบโตในระยะยาวอย่างแท้จริง เพราะทุกคนต่างต้องการขีวิตที่ดีควบคู่กับสิ่งแวดล้อมที่มีคุณภาพกว่าเดิมโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ขณะเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงไม่ว่าจะเป็นการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว การจัดการคาร์บอนเป็นศูนย์ ยังทำให้เกิด S-Curve ตัวใหม่ที่เปิดประตูสูโอกาสทางธุรกิจ ใครที่ทำธุรกิจด้านเทคโนโลยี ไม่ว่าอาหาร การศึกษา จะเป็นที่ต้องตาของนักลงทุนที่มุ่งผลลัพธ์เชิงบวกทั้งต่อรายได้และการพัฒนาที่ยั่งยืน”

แม้ความยั่งยืนจะเข้ามาเป็นตัวเปลี่ยนเกมธุรกิจแต่จะสำเร็จและยั่งยืนได้จริงต้องเป็นการสอดประสานทั้งประโยชน์ทางธุรกิจและประโยชน์ส่วนรวมให้ลงตัว บางครั้งผู้บริหารต้องยอมถอดหมวกผู้นำองค์กร เดินออกจากพื้นที่ธุรกิจของตัวเอง และคิดแบบคนธรรมดาทั่วไปว่า ลูกหลานในอนาคต สังคมจะเป็นอย่างไร และองค์กรในฐานะสมาชิกหนึ่งของสังคมต้องเดินต่ออย่างไร ต้องเปิดโลกทัศน์ใหม่ รับประสบการณ์ตรงในการมองรอบ ทำต่อเนื่อง เพื่อเติมเต็มความร่วมมือสู่การพัฒนาอย่างก้าวกระโดดร่วมกัน

“Transition Finance” สินเชื่อเพื่อกรีน

Transition Finance เป็นแนวคิดในการสนับสนุนทางการเงินทุกรูปแบบเพื่อให้บริษัททีมีอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนสูง (Brown industry) หันมาใส่ใจการเปลี่ยนแปลงในระยะยาวที่ทำให้บริษัทเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ปัจจุบัน มีธนาคารทั่วโลก 146 แห่ง ใน 21 ประเทศ รับปากที่จะปล่อยสินเชื่อแบบทรานซิชั่นไฟแนนซ์ให้กับภาคธุรกิจ ขณะที่ประเทศไทยยังไม่มีธนาคารใดที่ขับเคลื่อนเรื่องนี้ 

ดร.นรนนท์ นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เป็นเพราะภาคการเงินยังขาดความเชี่ยวชาญโครงสร้างพื้นฐานด้านสิ่งแวดล้อมจึงไม่อยากสุ่มเสี่ยง สิ่งที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2564 คือ การจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อความมั่งคั่งและยั่งยืนโดยภาคการเงิน ประกอบด้วย สำนักงานเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานประกันภัย กลต. จัดทำเอกสารกำหนดทิศทางการเดินหน้าสู่กรีน (Green Direction Paper) เพื่อช่วยให้ธนาคารและสถาบันการเงินเกิดความสบายใจในการปล่อยสินเชื่อหรือไฟแนนซ์ให้กับภาคธุรกิจที่เป็นกรีนมากขึ้น โดยการออกแบบเครื่องมือประเมินโอกาสและความเสี่ยง การกำหนดกลยุทธ์และกลุ่มเป้าหมาย เพื่อวางกรอบการปฏิบัติงานได้อย่างเหมาะสม ก่อนออกผลิตภัณฑ์ด้านสินเชื่อที่ตรงโจทย์ด้านความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม 

 เสริมแกร่งการเงินด้วย 5 Building Blocks

อีกหนึ่งเครื่องมือที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดขึ้นเพื่อช่วยวางรากฐานสถาบันการเงินในการประเมินความเสี่ยงก่อนออกผลิตภัณฑ์และบริการการเงินที่ตอบโจทย์ธุรกิจที่มีเป้าหมายสร้างความยั่งยืน ก็คือ “5 Building Blocks” โดย “การกำหนดกระบวนการทำงานภายในที่ชัดเจน ผู้บริหารระดับสูงและพนักงานทุกคนมีส่วนร่วมกำหนดประเด็นธรรมภิบาลและมาตรฐานปฏิบัติเรื่องการเติบโตแบบยั่งยืนภายใต้บริบทด้านสิ่งแวดล้อม มีกลยุทธ์จัดการความเสี่ยง วางกลุ่มเป้าหมายชัดเจนเพื่อการออกแบบผลิตภัณฑ์การเงินได้เหมาะสม

“การจัดจำแนกกิจกรรมเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Taxonomy)” เพื่อหยั่งรู้ได้ว่า กิจกรรมใดที่ยังคงปล่อยก๊าซคาร์บอนสูง (Brown Industry) ภาคส่วนไหนที่ต้องปรับเปลี่ยนหรือมีวิธีก้าวข้ามไปสู่การปล่อยก๊าซคาร์บอนลดลง และไปสู่กรีนมากขึ้น

“การพัฒนาฐานข้อมูลและการสร้างมาตรฐานในการเปิดเผยข้อมูลรวมถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมที่น่าเชื่อถือ โปร่งใส และถูกต้อง มีการสอบทานโดยคนกลางให้แน่ใจว่า เป็นการดำเนินธุรกิจเพื่อร่วมสร้างเสริมสิ่งแวดล้อมสีเขียวอย่างแท้จริง ไม่ใช่การชวนเชื่อให้เข้าใจว่า มีภาพลักษณ์รักษาสิ่งแวดล้อมแต่ไม่ได้ดำเนินการอย่างจริงจัง

“การสร้างแรงจูงใจให้สถาบันการเงินในการปล่อยสินเชื่อธุรกิจด้านสิ่งแวดล้อมซึ่ง ณ ปัจจุบัน แบงก์ชาติได้ให้การสนับสนุนเรื่องของการประกันความเสี่ยง และการให้เครดิตต่าง ๆ  

การเพิ่มพูนความรู้และทักษะบุคลากรการเงิน เพื่อให้รู้จักและเข้าในความเป็นธุรกิจสีเขียวมากขึ้น 

“เราไม่ได้คาดหวังให้ธุรกิจต้องเปลี่ยนตัวเองเป็นกรีนในชั่วข้ามคืน ขอแค่มีความเป็นบราวน์ลดลงหน่อย ปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้น้อยลงสักเล็กน้อย ก็ดีใจหายแล้ว อย่างการตั้งคณะทำงาน Thailand Taxonomy เพื่อจำแนกว่า ภาคส่วนธุรกิจใดเป็นบราวน์ อันไหนเป็นกรีน ก็มีข่าวดีให้ชื่นใจว่า ได้ทำไปแล้ว 2 ภาคส่วน คือ พลังงานและขนส่ง ซึ่งจะมีความชัดเจนออกมาในไตรมาสสอง จากนั้นจะเดินหน้าต่อในภาคของอุตสาหกรรม และเกษตรกรรม”

ดร.นรนนท์ ส่งท้ายว่า ลำพังภาครัฐเองไม่สามารถออกนโยบายได้หากไม่เข้าใจความต้องการและความพร้อมของภาคเอกชน ภาคการเงินไม่สามารถออกผลิตภัณฑ์การเงินที่ตอบโจทย์ด้านสิ่งแวดล้อมหรือความยั่งยืน ภาคธุรกิจก็คงปรับตัวไม่ได้ถ้าไม่มีเงินทุน หรือมีการบริหารจัดการต้นทุนได้ไม่เหมาะสม รวมถึงไม่มีศักยภาพพอในการให้ความช่วยเหลือเอสเอ็มอีในซัพพลายเชนให้เติบโตไปด้วยกัน เราจึงต้องจับมือกระโดดข้ามกับดักนี้ไปพร้อม ๆ กัน การปรับตัวที่ช้าเกินไปก็อาจแก้ไม่ทัน แต่ทำเร็วเกินไปก็อาจตามไม่ทัน จึงต้องหาจุดสมดุลในการลงมือทำเพื่อให้ก้าวต่อไปข้างหน้าได้โดยไม่มีใครต้องถูกทิ้งไว้ข้างหลังอีกต่อไป

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ