TH | EN
TH | EN
หน้าแรกTechnologyอว. เผยผลงานวิจัย การพัฒนาต้นแบบรถโดยสารไฟฟ้าจากรถเมล์ใช้แล้ว

อว. เผยผลงานวิจัย การพัฒนาต้นแบบรถโดยสารไฟฟ้าจากรถเมล์ใช้แล้ว

โครงการพัฒนารถโดยสารไฟฟ้าจากรถโดยสารประจำทางใช้แล้วของ ขสมก. (City transit E-buses) ดำเนินการในลักษณะ ภาคีเครือข่าย (Consortium) การพัฒนาอุตสาหกรรมรถโดยสารไฟฟ้าไทย ร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และสถาบันวิจัย

-เดลต้าแนะการบริหารจัดการไฟฟ้าในโรงพยาบาลช่วงโควิด-19
-ดีป้า พิจารณาข้อเสนอโครงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะรอบแรก 7 โครงการ

มีเป้าหมายในการยกระดับขีดความสามารถของผู้ประกอบการไทยให้สามารถผลิตรถโดยสารไฟฟ้าที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะเป็นรถโดยสารประจำทาง และเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับรถโดยสารประจำทางเก่าที่ปลดอายุการใช้งานแล้ว ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก กฟน. กฟภ. กฟผ. ขสมก. สวทช. และได้รับรถโดยสารประจำทางที่ปลดอายุการใช้งานแล้วจำนวน 4 คัน ที่จะส่งมอบให้ผู้ประกอบการไทยที่ได้รับคัดเลือกจำนวน 4 ราย นำไปปรับปรุงให้เป็นรถโดยสารไฟฟ้า

โดยผู้ประกอบการไทยที่ผ่านการคัดเลือกจะได้รับการให้คำปรึกษาทางเทคโนโลยีผ่านกลไกการสนับสนุนที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP: ไอแทป) สวทช. รายนามผู้ประกอบการที่ผ่านการคัดเลือก ประกอบด้วย 1. บริษัท พานทอง กลการ จำกัด 2. บริษัท โชคนำชัย-ไฮเทคเพลสซิ่ง จำกัด 3. บริษัท รถไฟฟ้า ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) และ 4. บริษัท สบายมอเตอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด

นอกจากนี้ ภาคีเครือข่ายฯ ได้มีสนับสนุนงบประมาณในการพัฒนาสนามทดสอบน้ำท่วมขัง ร่วมกับ มจพ. วิทยาเขตปราจีนบุรี เพื่อประเมินประสิทธิภาพของรถในขณะขับขี่ในพื้นที่น้ำท่วมขัง เพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใจในการใช้รถโดยสารไฟฟ้า และอยู่ระหว่างการจัดทำบทวิเคราะห์ความคุ้มค่าในการพัฒนารถโดยสารไฟฟ้า จากรถโดยสารประจำทางใช้แล้ว ขสมก. โดย สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก่อนนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้ประโยชน์ต่อไป

ทั้งนี้ สวทช. โดยทีมวิจัยจากศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) ได้พัฒนาตู้อัดประจุไฟฟ้าจำนวน 2 ตู้ติดตั้งที่เขตการเดินรถที่ 1 ของ ขสมก. เพื่อให้รถทั้ง 4 คัน ได้ทำการอัดประจุขณะทดลองวิ่งเป็นรถโดยสารประจำทางสาย 543ก (อู่บางเขน-ท่าน้ำนนท์) เป็นระยะเวลา 6 สัปดาห์ นอกจากนั้น ทีมวิจัยจาก สวทช. ยังร่วมให้คำปรึกษาและแก้ปัญหาการออกแบบ และประกอบรถโดยสารไฟฟ้าแก่ผู้ประกอบการ และทีมวิจัยอยู่ระหว่างดำเนินการ นำรถทั้ง 4 คันไปทดสอบสมรรถนะ และวิเคราะห์คุณลักษณะ สมรรถภาพตามข้อกำหนดคุณลักษณะทางวิศวกรรม เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการนำไปใช้งาน และสามารถจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกอย่างถูกต้องต่อไป

โดยคุณลักษณะขั้นต่ำที่รถโดยสารทั้ง 4 คัน มีคือ ระยะเวลาในการประจุไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 2 – 3 ชั่วโมง ระยะทางที่วิ่งได้ต่อการประจุไฟฟ้าเฉลี่ย 160 – 250 กิโลเมตรต่อการประจุไฟฟ้า และความเร็วสูงสุดต่อเนื่อง 80 – 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม รถโดยสารไฟฟ้าทั้ง 4 บริษัทนี้ ต้นทุนในการเปลี่ยนจากรถโดยสารประจำทางใช้แล้ว ขสมก. เป็นรถโดยสารไฟฟ้าเฉลี่ยคันละ 7 ล้านบาท ในขณะที่การนำเข้ารถโดยสารไฟฟ้าจากต่างประเทศอยู่คันละ 12 – 14 ล้านบาท โดยจะมีคุณลักษณะเด่นของรถโดยสารไฟฟ้าที่ได้รับการพัฒนาจากทั้ง 4 บริษัทดังนี้

อว. เผยผลงานวิจัย การพัฒนาต้นแบบรถโดยสารไฟฟ้าจากรถเมล์ใช้แล้ว

1.รถโดยสารไฟฟ้าขนาด 12 เมตร จากบริษัท พานทอง กลการ จำกัด พัฒนาโดยใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศ 60% มีองค์ความรู้ ระบบควบคุมการทำงานของรถโดยสารไฟฟ้า (Vehicle Control Unit, VCU) และระบบจัดการการประจุไฟฟ้า (On-board charger) จากทีมผู้พัฒนาในประเทศไทย ทำให้สามารถออกแบบระบบที่สามารถปรับแต่ง และปรับปรุงให้ใช้งานในสภาวะที่หลากหลายได้

2.รถโดยสารไฟฟ้าขนาด 12 เมตร จากบริษัท โชคนำชัย-ไฮเทคเพลสซิ่ง จำกัด พัฒนาโดยใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศ 40% ใช้ตัวถังอลูมิเนียม มีความพิเศษอยู่ที่โครงสร้างน้ำหนักเบาแข็งแกร่ง ทำมาจาก Aluminum เกรดสูง ทนการกัดกร่อนได้เป็นอย่างดี ทำให้ตัวรถมีน้ำหนักเบา ประหยัดพลังงาน และทำการผลิตในแบบการผลิตแบบอุตสาหกรรมยานยนต์ที่สามารถรองรับการผลิตแบบ Mass production ได้

3.รถโดยสารไฟฟ้าขนาด 12 เมตร จากบริษัท รถไฟฟ้า ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) พัฒนาโดยใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศ 40% พัฒนาบนความร่วมมือกับผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าทั้งจากภายในและต่างประเทศ มีความพร้อมในการรับประกันรถจากความร่วมมือกับผู้ผลิตชิ้นส่วน จะเห็นได้จากระยะเวลาในการรับประกัน โดยเฉพาะชุดแบตเตอรี่ที่ให้มากถึง 5 ปี หรือ 200,000 กิโลเมตร อีกทั้งยังมีการออกแบบระบบการขับเคลื่อนให้สามารถขับขี่ได้ 3 โหมด ได้แก่ 1.โหมดประหยัดพลังงาน (Eco mode) 2.โหมดธรรมดา (Standard Mode) 3.โหมดสปอร์ต (Sport Mode) และรองรับการประจุไฟฟ้าทั้งแบบเร็วและแบบธรรมดา

4.รถโดยสารไฟฟ้าขนาด 12 เมตร จากบริษัท สบายมอเตอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด (SMT) พัฒนาโดยใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศ 50% ชุดอุปกรณ์ขับเคลื่อนไฟฟ้า ที่เคยทำงานร่วมกันบนรถโดยสารไฟฟ้ามาแล้ว ด้วยการทดสอบใช้งานบนสภาวะการขับขี่จริง ระยะทางกว่า 25,000 กิโลเมตร สร้างความเชื่อมั่นและแสดงถึงความเข้ากันได้ในการทำงานร่วมกันของอุปกรณ์ ทั้งในเชิงประสิทธิภาพการทำงานและความปลอดภัย

ทั้งนี้ ในปี 2563 นี้ ผู้ประกอบการไทยทั้ง 4 ราย พร้อมแล้วที่จะผลิตรถโดยสารไฟฟ้า ในการให้บริการประชาชนทั้งในรูปแบบรถโดยสารประจำทาง หรือไม่ประจำทาง เพื่อให้คนไทยได้ร่วมกันภาคภูมิใจในความสามารถของคนไทย ควบคู่ไปกับการสร้างรายได้ให้กับคนในประเทศ

สมาชิกร่วมงานวิจัยมาจาก กระทรวง อว. โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จาก การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) สถาบันยานยนต์ (สยย.) สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งจราจร กรมการขนส่งทางบก (สนข.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) และสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย (TAPMA)

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ