True 5G เดินหน้าสร้างระบบนิเวศ 5G (5G Ecosystem) ภายใต้แนวคิด True 5G Innovation Community ส่งเสริม 3 แกนหลักผลักดันการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนเพื่อให้เกิดการนำเทคโนโลยี 5G สร้างประโยชน์ให้แก่คนไทยและประเทศไทย ทั้ง True 5G Worldtech X การเปิดพื้นที่แสดงนวัตกรรม 5G, True 5G Tech Talk เวทีสัมมนา 5G พลิกโฉมประเทศไทย และสนับสนุนสตาร์ทอัพสู่วงการ 5G ผ่าน True 5G Tech Sandbox
พิรุณ ไพรีพ่ายฤทธิ์ หัวหน้าคณะทำงาน และกรรมการยุทธศาสตร์ 5G บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวถึงเป้าหมายของ True 5G ในเวลานี้ คือการส่งเสริมให้คนไทยสามารถนำอัจฉริยภาพของเทคโนโลยี 5G ที่ครอบคลุมหลากหลายมิติ ในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้แก่ คุณภาพชีวิต, เมืองอัจฉริยะ, การศึกษา, การค้าปลีก, เกษตรกรรม และอุตสาหกรรมการผลิต ไปใช้สร้างประโยชน์สูงสุดเพื่อคนไทย และประเทศไทย
“ภารกิจของ True 5G ในเวลานี้ คือ การสร้างระบบนิเวศของ 5G ให้เกิดขึ้นในเมืองไทย ซึ่งหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของระบบนิเวศคือ การสร้างคอมมูนิตี้ของคนที่สร้างอินโนเวชันใหม่ ๆ ของ 5G ทรูจึงสร้างให้เกิด True 5G Innovation Community นี้ขึ้นมา”
เมืองอัจฉริยะขับเคลื่อนโดย 5G
ล่าสุด ภายในงาน True 5G Innovation Community ได้เปิดเวทีสัมมนา 5G พลิกโฉมประเทศไทย True 5G Tech Talk ครั้งที่ 6 หัวข้อ Intelligent City & Security แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ โดยผู้เชี่ยวชาญนวัตกรรมด้านบริหารจัดการระบบเมืองและอาคาร จากทั้งในไทยและต่างประเทศ มาให้ความรู้ถึงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ 5G ที่จะเข้าไปช่วยพัฒนาชีวิตของผู้คนในเมือง รวมถึงแนวทาง และโอกาสของประเทศไทยในการก้าวเข้าสู่เมืองอัจฉริยะ
ปภิณวิช เจนโกศล Senior Technical Trainer & Solution Consultant HUAWEI กล่าวว่า ในเรื่องของธุรกิจแต่ละภาคอุตสาหกรรมจะมีความต้องการที่แตกต่างจากผู้ใช้งานทั่วไป ซึ่ง 5G ได้เข้ามาตอบโจทย์ทั้งในแง่ของความเร็ว (Speed) ความหน่วงต่ำ (Latency) และจำนวนของการเชื่อมต่อ (Connection) ที่ภาคธุรกิจต้องการสิ่งเหล่านี้มาเติมเต็ม
“สิ่งที่ทางผู้ให้บริการโครงข่ายสามารถทำได้คือ การนำโครงสร้าง 5G ที่มีศักยภาพไปประกอบร่างกับอะไรสักอย่างเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของบริษัทภาคอุตสาหกรรม จนถึงผู้ประกอบการรายย่อยเพื่อให้สามารถทำดิจิทัล ทรานฟอร์เมชันได้อย่างทันท่วงที”
ดร.การดี เลียวไพโรจน์ หัวหน้าคณะที่ปรึกษา ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ (FutureTales Lab) หรือศูนย์วิจัยอนาคตศึกษา ภายใต้บริษัทแมกโนเลีย คอวลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) กล่าวถึงแนวทางในการสร้างเมืองอัจฉริยะ (Intelligent City) จะประกอบด้วย 3 ส่วนด้วยกัน คือ ต้องเป็นเมืองที่ฉลาด (Intelligent) ในแง่ของการใช้ข้อมูล ตามด้วยเมืองที่สร้างแล้วผู้ที่อาศัยต้องมีความสุข (Happy City) และเป็นเมืองที่สามารถปรับตัวได้ (Resilience City) เพื่อรับกับความท้าทายต่าง ๆ ในอนาคต
“ในการสร้างเมืองเราไม่สามารถใช้โจทย์ หรือสมมุติฐานจากความต้องการในปัจจุบัน เพราะเมืองจะอยู่กับเราไปเรื่อย ๆ เพราะฉะนั้นการทำความเข้าใจงานในฝันของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่อาจมองถึงการสร้างตัวตนในโลกเสมือน หรือเมตาเวิร์ส ทำให้ตรงนี้ 5G จะมีบทบาทสำคัญมาก เพราะต้องเชื่อมโยงโลกที่จับต้องได้ทางกายภาพกับโลกเสมือนอย่างไร้รอยต่อ”
การที่จะเกิดเมืองอัจฉริยะได้ ‘ความร่วมมือ’ จะเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด ที่แต่ละฝ่ายจะมีหน้าที่ช่วยส่งเสริมกันไป ภาครัฐมีหน้าที่เปิดโอกาสใหม่ ปลดล็อกอุปสรรค เพื่อให้เกิดการแข่งขัน ภาคเอกชนที่มีประสบการณ์และเงินทุนจะเข้ามาช่วยให้เกิดโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ กลุ่มสตาร์ตอัพที่มีความมุ่งมั่น เข้าใจการเปลี่ยนแปลง และภาคประชาชนที่จะช่วยกันออกแบบเมืองอัจฉริยะที่ทุกคนต้องการเป็นแบบไหน
ธวัชชัย ฤกษ์สำราญ รองผู้อำนวยการธุรกิจโมบายล์และคณะกรรมการยุทธศาสตร์ 5G บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่นกล่าวว่า ประเทศไทยมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 5G กันอย่างมหาศาล เพื่อให้สามารถใช้งานได้ครอบคลุมทั่วประเทศ การที่จะนำเครือข่าย 5G มาใช้งานให้เกิดประโยชน์ ถ้าทุกภาคส่วนมองเห็นโอกาสตรงนี้ และเข้ามาร่วมกันก็จะเริ่มเปลี่ยนจากสมาร์ทโฮมสู่สมาร์ทซิตี้ ขยับขึ้นไปเป็นสมาร์ทโพรวินซ์ และสมาร์ทเนชั่นในท้ายที่สุด
David Goh, Vice President APAC Region at PTV ผู้ให้บริการโซลูชันด้านการขนส่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เสริมข้อมูลเกี่ยวกับการเก็บข้อมูลส่วนตัวในเมืองอัจฉริยะว่า จะต้องมีมาตรการที่เข้มงวดขึ้นในการควบคุมการใช้ข้อมูลส่วนบุคคล ที่อาจจะต้องเปลี่ยนรูปแบบของการเก็บข้อมูลไปใช้ในลักษณะของข้อมูลนิรนาม (Anonymous Data) ที่ไม่สามารถยืนยันตัวบุคคลได้เพื่อให้เกิดความปลอดภัยมากขึ้น
ส่งเสริมสตาร์ตอัพ สร้าง 5G Ecosystem
นอกเหนือจากการให้ความรู้และแลกเปลี่ยนมุมมองจากการสัมมนาแล้ว True 5G ยังสนับสนุนเทคสตาร์ตอัพ เพื่อเติมเต็มระบบนิเวศ 5G ครบวงจร ผ่านโครงการ True 5G Tech Sandbox โดยคัดเลือกสตาร์ตอัพที่มีศักยภาพและผลงานนวัตกรรมโดดเด่นเข้าโปรแกรม Sandbox ซึ่งสตาร์ทอัพทั้ง 4 ทีม มีการนำเทคโนโลยี 5G ไปต่อยอดใช้งานจริงในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้อย่างน่าสนใจ
สำหรับ 4 ทีมสตาร์ตอัพที่คว้ารางวัลในโครงการ True 5G Tech Sandbox ประกอบไปด้วย
รางวัลที่ 1 ทีม We Chef
พัฒนาแพลตฟอร์มวางแผนและบริหารช่องทางการขายสำหรับรถจำหน่ายอาหารเคลื่อนที่
รางวัลที่ 2 ทีม Altotech
สตาร์ตอัพด้านการจัดการพลังงาน ที่คิดค้นนวัตกรรมในการควบคุมการใช้พลังงานในอาคารได้แบบเรียลไทม์
รางวัลที่ 3 ทีม CentroVision
คิดค้นโซลูชันในการสำรวจโครงสร้างตึกสูง ด้วยอากาศยานไร้คนขับ สำหรับตรวจสอบ วิเคราะห์โครงสร้างอาคารด้วยเทคโนโลยี AI
รางวัลที่ 4 ทีมเก้าไร่
แพลตฟอร์มจองโดรนเพื่อการเกษตรสำหรับงานฉีดพ่น เพื่อช่วยยกระดับอุตสาหกรรมการเกษตรในไทย
โดยทั้ง 4 ทีม ได้มีการนำเทคโนโลยี 5G เชื่อมต่อแพลตฟอร์มดิจิทัลต่าง ๆ เข้ากับเครือข่าย True 5G ที่สามารถรับส่งข้อมูลเพื่อประมวลผล ตลอดจนควบคุมและสั่งการอุปกรณ์และระบบต่าง ๆ ได้แบบเรียลไทม์ เพื่อเชื่อมต่อธุรกิจเข้ากับกลุ่มผู้ใช้งาน พร้อมมีแผนในการต่อยอดนำข้อมูลขึ้นไปประมวลผลด้วย AI ผ่าน Cloud Computing เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการแก่ธุรกิจได้ ซึ่งถือเป็นการนำจุดเด่นของ True 5G ที่ให้บริการครอบคลุมทั่วประเทศไทยมาใช้งานได้ตรงจุด
ทั้งนี้ เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น จะเห็นได้ว่าภายใน ‘True 5G Innovation Community’ ประกอบไปด้วย 3 แกนหลักด้วยกันคือเรื่องของ 1.โชว์เคส (Tech Show) ที่ชื่อว่า True 5G Worldtech X โชว์นวัตกรรม 5G และยูสเคสต่าง ๆ ที่ ทรู ดิจิทัล พาร์ค ซึ่งเปิดให้ผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปดูงานและสัมผัสประสบการณ์จริง เพื่อสร้างแรงบันดาลใจได้เลย 2.การให้ความรู้ (Tech Talk) ด้วยการนำผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้ทางด้านดิจิทัล เพื่อให้สามารถนำไอเดียไปต่อยอดให้เกิดเป็นธุรกิจขึ้นมา 3. การส่งเสริมสตาร์ตอัพ ด้วยโครงการ 5G Tech Sandbox ที่จะบ่มเพาะและสนับสนุนสตาร์ตอัพรุ่นใหม่ที่นำเทคโนโลยี 5G ไปต่อยอดธุรกิจ เมื่อรวมทั้ง 3 องค์ประกอบเข้าด้วยกัน ทำให้เกิด True 5G Innovation Community ที่แข็งแกร่ง ซึ่งจะเป็นพลังขับเคลื่อน 5G Ecosystem ในประเทศไทยได้ต่อไป
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ