TH | EN
TH | EN
หน้าแรกTechnologyประมวลสุดยอดข่าวสายเทคฯ ทั่วโลก ปี 2021

ประมวลสุดยอดข่าวสายเทคฯ ทั่วโลก ปี 2021

ต้องยอมรับว่าในปี 2021 ที่ผ่านมาถือเป็นปีที่อบอวลไปด้วยความหวังและความท้าทายมากมาย เพราะแม้จะมีข่าวดีเรื่องของวัคซีนป้องกัน แต่สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ต่าง ๆ ก็ยังไม่ห่างหายไปไหน ขณะที่ในแวดวงเทคโนโลยีเอง แม้นวัตกรรมทั้งหลายจะช่วยให้การดำเนินชีวิตในยุคล็อกดาวน์และนิวนอร์มัลเป็นไปอย่างสะดวกสบายราบรื่นมากยิ่งขึ้น กระนั้นสถานการณ์ด้านเทคโนโลยีนวัตกรรมบางอย่างก็ส่งผลให้ชีวิตของใครหลายคนอยู่ยากมากยิ่งขึ้นเช่นกัน 

งานนี้ สถานีโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็นได้ประมวลข่าวคราวความเคลื่อนไหวที่ถือเป็นสุดยอดความพังพินาศเข้าขั้นหายนะของแวดวงเทคโนโลยีในปี 2021 ที่ส่งผลกระทบต่อผู้คนเป็นวงกว้าง 

มหกรรมข้อมูลรั่วครั้งใหญ่ของ Facebook และ LinkedIn

ทั้งนี้ ในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยไซเบอร์ได้เปิดเผยรายงานที่ตรวจพบว่า มีการโพสต์ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้งานเฟซบุ๊กกว่า 500 ล้านคน ไล่เรียงตั้งแต่วันเกิด เบอร์โทรศัพท์มือถือ อีเมล์ หรือแม้แต่ข้อมูลบัตรเครดิตบนเว็บไซต์ที่เหล่าแฮ็กเกอร์ใช้งานอยู่ แสดงให้เห็นว่ามีการรั่วไหลของข้อมูลผู้ใช้งาน โดยที่ทางเฟซบุ๊กเองในช่วงเวลานั้นกล่าวว่า ข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลที่ถูกแฮกจากกลุ่มผู้ไม่ประสงค์ดีในช่วงปี 2019 ซึ่งทางเฟซบุ๊กได้ดำเนินการจัดการแก้ไขปัญหารั่วไหลดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว 

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกลับเป็นการตอกย้ำให้เห็นอีกครั้งว่า การเก็บรวบรวมข้อมูลของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์และบริษัทเทคโนโลยีทั้งหลายในขณะนี้มีความเปราะบางมากเพียงใด และข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้งานสามารถส่งตรงไปถึงมือผู้ไม่หวังดีได้อย่างง่ายดายเพียงใด 

นอกจากเฟซบุ๊กแล้ว ในช่วงเดือนเมษายน ทาง LinkedIn ได้ออกมาเปิดเผยว่ามีการโพสต์ขายประวัติข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้งาน LinkedIn ราว 500 ล้านคน บนเว็บไซต์แฮกเกอร์รายหนึ่ง แต่ทาง LinkedIn ยืนกรานว่าข้อมูลดังกล่าวไม่ได้รั่วไหลจากฝั่งบริษัท แต่เป็นการรวบรวมจากการที่ผู้ใช้งานเข้าไปท่องเว็บไซต์ต่าง ๆ โดยไม่ทันระวัง 

ขณะเดียวกัน การรั่วไหลของข้อมูลผู้ใช้งาน ยังทำให้หลายฝ่ายตั้งคำถามถึงความเป็นส่วนตัวและการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลบนโลกออนไลน์ว่าสามารถเชื่อถือได้มากน้อยแค่ไหน โดยในช่วงเดือนพฤษภาคม เกิดกรณีอื้อฉาวระลอกใหม่ที่ Citizen บริษัทสตาร์ตอัพรายหนึ่งในสหรัฐฯ ใช้ระบบเตือนภัยอาชญากรรมแบบเรียลไทม์ และแอปพลิเคชันตัวใหม่ เปิดเผยข้อมูลส่วนตัวของผู้ต้องสงสัยวางเพลิงที่ทำให้เกิดไฟป่าครั้งใหญ่ในลอสแองเจลิส แม้จะช่วยให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถรวบตัวผู้ต้องสงสัยได้ แต่ความจริงก็คือ ภาพต้องสงสัยดังกล่าวที่กล้องตรวจจับได้เป็นเพียงแค่ความเข้าใจผิด กลายเป็นประเด็นขัดแย้งในเรื่องของการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลอีกระลอก 

การปล่อยไวรัสแรนซัมแวร์เพื่อเรียกค่าไถ่

อีกหนึ่งข่าวครึกโครมของแวดวงเทคโนโลยีในปี 2021 ก็คือปัญหากรณีปล่อยมัลแวร์เรียกค่าไถ่ (ransomware) ใส่บริษัทยักษ์ใหญ่จากบรรดาเหล่าแฮกเกอร์ ที่สามารถล้วงลึกเจาะเข้าฐานข้อมูลและระบบคอมพิวเตอร์ของบริษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติ เพื่อเรียกเงินค่าไถ่แลกกับการที่ธุรกิจหรือกิจการจะไม่ได้รับความเสียหายจากไวรัสที่ปล่อยเข้ามา โดยกรณีเรียกค่าไถ่ที่ครึกโครมมากที่สุดคือกรณีของ Colonial Pipeline ผู้ให้บริการท่อขนส่งน้ำมันรายใหญ่ของสหรัฐ ในช่วงเดือนพฤษภาคม 

ทั้งนี้ในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ทางบริษัทจำเป็นต้องระงับการให้บริการเพราะหนึ่งในเครือข่ายท่อส่งถูกโจมตีจากโลกไซเบอร์ โดยฝีมือของแฮกเกอร์กลุ่มหนึ่งสามารถเจาะเข้าถึงพาสเวิร์ดของบริษัท ทำให้ในที่สุดประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของ Colonial Pipeline ยอมควักเงิน 4.4 ล้านเหรียญสหรัฐ จ่ายค่าไถ่ให้กับแฮกเกอร์เพื่อแลกกับการที่บริษัทจะสามารถกลับมาดำเนินงานได้อีกครั้ง อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่สืบสวนแห่งกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ กล่าวว่า ทางกลุ่มแฮกเกอร์ได้คืนเงินครึ่งหนึ่งมูลค่า 2.3 ล้านเหรียญสหรัฐในรูปสกุลเงินคริปโตเคอร์เรนซีกลับมา 

ระบบอินเทอร์เน็ตทั่วโลกล่มหลายระลอก

เหตุไฟดับครั้งใหญ่จนระบบอินเทอร์เน็ตล่มเกิดขึ้นสองครั้งในช่วงเวลาไม่ถึง 2 อาทิตย์ โดยระบบอินเทอร์เน็ตล่มเนื่องจากปัญหาของบริษัทเทคโนโลยีบางแห่งที่คนส่วนใหญ่ไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อน แต่กรณีที่เกิดขึ้นก็สะท้อนให้เห็นว่าผู้คนในยุคปัจจุบันพึ่งพาอาศัยอินเทอร์เน็ตมากมายเพียงใด 

ทั้งนี้ ระบบล่มรอบแรกเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน ทำให้เว็บไซต์ชั้นนำอย่าง Reddit, CNN, Amazon, และอื่น ๆ อีกมากมาย หน้าจอดำ เพราะเกิดปัญหาจากเครือข่ายจัดส่งข้อมูลของ Fastly ขณะที่รอบสองเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน ที่เกิดปัญหาคล้ายคลึงกันกับบริษัท Akamai Technologies ทำให้เว็บไซต์ของบริษัทอย่าง Southwest Airlines, United Airlines, Commonwealth Bank of Australia, และตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง ล่มตามไป

โดยกรณีไฟดับของ Fastly กินเวลาไม่ถึงชั่วโมง ขณะที่กรณีของ Akamai ก็ส่งผลกระทบต่อลูกค้าส่วนหนึ่งและใช้เวลาแก้ไขอยู่ราว 4 ชั่วโมง 

อย่างไรก็ตาม กรณีอินเทอร์เน็ตล่มครั้งใหญ่สุดในปีนี้ เกิดขึ้นในช่วงเดือนธันวาคม เมื่อบริการคลาวด์ คอมพิวติ้งของ Amazon เกิดไฟดับ 3 ครั้ง จนทำให้เกิดปัญหาในบริการของ Disney+, Slack, Netflix, Hulu, และอื่น ๆ อีกมากมาย รวมถึงทำให้เกิดภาวะชะงักงันในระบบขนส่งโลจิสติกส์ของ Amazon ในช่วงเวลาที่ยุ่งวุ่นวายที่สุดของปี 

ปีแห่งสารพัดมรสุมของเฟซบุ๊ก 

แม้จะเรียกเสียงฮือฮาด้วยการเปลี่ยนชื่อบริษัทจากเฟซบุ๊ก เป็น “เมตา” พร้อมจุดประกายให้ทั่วโลกหันมาสนใจจักรวาลนฤมิต หรือ เมตาเวิร์ส (โลกเสมือน) ในฐานะโอกาสใหม่ทางธุรกิจของโลกแห่งอนาคต แต่ตลอดทั้งปีที่ผ่านมากลับไม่ใช่ปีสุดปังของเฟซบุ๊ก แต่อย่างใด สืบเนื่องจากสารพัดข่าวอื้อฉาวที่ถาโถมเข้ามา โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากการที่อดีตพนักงานของเฟซบุ๊ก อย่าง ฟรานเซส ฮอว์เกน (Frances Haugen) ลุกขึ้นมาแสดงตัวแฉในรายการ “60 Minutes” กล่าวว่า บริษัทรู้ตัวเสมอว่าเครือข่ายสังคมออนไลน์ของตนถูกใช้เป็นช่องทางในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารผิด ๆ ข้อความที่แสดงความเกลียดชังและความรุนแรงต่าง ๆ มากมาย แต่กลับปล่อยปละเลย ไม่ยื่นมือเข้าไปจัดการใด ๆ สร้างความกังขาต่อประเด็นด้านจรรยาบรรณและสำนึกความรับผิดชอบต่อสังคม

หลังจากนั้นเพียงไม่กี่วัน เฟซบุ๊กที่เพิ่มประกาศเปลี่ยนชื่อเป็นเมตา ก็เจอภาวะจอดับทำให้ผู้ใช้งาน เฟซบุ๊ก วอทส์แอฟ และอินสตาแกรม ไม่สามารถใช้งานได้ร่วมหลายชั่วโมง เพราะระบบล่มจากการเปลี่ยนค่ากำหนดของระบบภายใน ส่งผลราคาหุ้นของเฟซบุ๊กในตลาดร่วงลงอย่างหนัก 

การที่ระบบล่มมาในเวลาที่ประจวบเหมาะกับที่มีข่าวอื้อฉาวจนทำให้ผู้บริหารอย่างมาร์ก ซักเคอร์เบิร์กต้องลุกขึ้นมาชี้แจงต่อสภาคองเกรส และรับมือกับการสอบสวนตรวจสอบจากคณะกรรมาธิการการค้า (Federal Trade Commission) 

ยิ่งไปกว่านั้น ในช่วงเดือนตุลาคม องค์กรเครือข่ายข่าวชั้นนำในสหรัฐฯ รวมถึง ซีเอ็นเอ็น ยังได้เปิดเผยเรื่องราวของบริษัทส่วนหนึ่งที่เปิดเผยต่อทางคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ (SEC) ยอมรับว่า บริษัทเหล่านี้ได้ใช้เฟซบุ๊กเป็นช่องทางในการปลุกระดมผู้คน รวมถึงพบมีการเปิดเผยวิธีที่กลุ่มผู้ค้ามนุษย์ใช้เครือข่ายโซเชียลเพื่อแสวงหาประโยชน์จากผู้คน ซึ่งในระหว่างนี้ ก็มีความพยายามลดความน่าเชื่อถือของ ฟรานซิส ฮอว์เกน อดีตพนักงานเฟซบุ๊กที่ลุกขึ้นมาแฉเรื่องดังกล่าว 

ถือเป็นมหากาพย์อื้อฉาว ที่ทำให้ปีนี้ไม่อาจเป็นปีที่ดีของเฟซบุ๊ก หรือ เมตา ได้สักเท่าไรนัก

บทเรียนราคาแพงจากความไว้ใจ AI มากเกินไปของ Zillow 

ช่วงต้นปี 2021 Zillow ถือเป็นหนึ่งในสตาร์ตอัพดาวรุ่งที่ได้รับการจับตามอง จากการใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ในการประเมินและคาดการณ์ราคาอสังหาริมทรัพย์ในตลาด เพิ่มความมั่นใจในการทำกำไรจากการซื้อขายบ้านและที่ดิน อย่างไรก็ตามในช่วงเดือนพฤศจิกายน บริษัทตัดสินใจประกาศปิดให้บริการ พร้อมปลด 1 ใน 4 ของลูกจ้าง หรือ ราว 2,000 คนจากพนักงานทั้งหมด เนื่องจากระบบประเมินราคาบ้านหรือ Zestimate ไปไกลเกินกว่าที่บริษัทจะควบคุมได้ ทำให้หุ้นบริษัทร่วงหนัก และต้องปรับโครงสร้างหนี้ครั้งใหญ่หลังขาดทุนหนักกว่า 304 ล้านเหรียญสหรัฐ 

ผู้ขับขี่ทั่วโลกผวากับระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติของ Tesla

หนึ่งในนวัตกรรมล้ำสมัยที่เป็นตัวชูโรงของรถยนต์ไฟฟ้า Tesla ที่อีลอน มัสก์ มักนำมาอวดอ้างสรรพคุณอยู่บ่อยครั้งก็คือ ระบบซอฟต์แวร์ขับเคลื่อนอัตโนมัติแบบเบ็ดเสร็จ (“full self-driving” software) 

ทั้งนี้ แม้โดยหลักการทางทฤษฎีระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติของ Tesla จะเรียกเสียง “ว้าว” จากหลายฝ่าย แต่สำหรับนักขับขี่ส่วนหนึ่งที่ได้มีโอกาสทดลองระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติแบบเบ็ดเสร็จ ต่างยอมรับเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่อาจวางใจปล่อยให้ระบบควบคุมการขับขี่รถยนต์ตามลำพังเด็ดขาด และเป็นการดีกว่าที่จะให้ระบบนี้เป็นเพียงออฟชั่นเสริมช่วยการขับขี่ของเจ้าของรถมากกว่า 

ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติดังกล่าว เป็นระบบที่ยากจะคาดเดา และทำให้หวาดผวาไม่น้อย เพราะระบบเกือบพารถชนท้ายรถบรรทุกเพื่อหลบนักปั่นจักรยาน มีการขับรถผิดเลน และเกือบจะชนเข้ากับรั้วริมถนน 

อ้างอิงแหล่งที่มา: ซีเอ็นเอ็น

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ