TH | EN
TH | EN
หน้าแรกSustainabilityเทเลนอร์เผย 5 เทรนด์เทคโนโลยีโลกปี 2022 เชื่อมุ่งสู่เส้นทางสายสีเขียว รักษ์โลกรักษ์สิ่งแวดล้อม

เทเลนอร์เผย 5 เทรนด์เทคโนโลยีโลกปี 2022 เชื่อมุ่งสู่เส้นทางสายสีเขียว รักษ์โลกรักษ์สิ่งแวดล้อม

“ศูนย์วิจัยเทเลนอร์” เผย 5 เทรนด์เทคโนโลยีประกอบด้วย การประมวลผลข้อมูลแบบ Edge บนเครือข่าย 5G นวัตกรรมด้านพลังงาน ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้าถึงได้ง่ายขึ้น อินฟลูเอนเซอร์สายเขียว (Greenfluener) และความเหลื่อมล้ำอันเป็นผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ท่ามกลางเมกะเทรนด์สำคัญที่ทั่วโลกให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หลังสภาวะโลกร้อนมีแนวโน้มเลวร้ายมากขึ้น ขณะเดียวกันเทเลนอร์ยังใช้โอกาสนี้เปิดเผยความพยายามรับมือกับภาวะโลกร้อนของผู้ให้บริการสัญญาณโทรศัพท์มือถือ

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยเทเลนอร์ ได้เผยผลการศึกษาผ่านการแถลงข่าวออนไลน์ ซึ่งการศึกษาการคาดการณ์ 5 ความก้าวหน้าสำคัญทางเทคโนโลยีของโลก ประจำปี 2022 (Telenor Research Technology Trend 2022) ทำการศึกษาต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 7 แล้ว

บียอน ทาล แซนเบิร์ก ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเทเลนอร์ ในนอร์เวย์ กล่าวว่า การศึกษาเทรนด์เทคโนโลยีของเทเลนอร์เกิดขึ้นโดยมีเป้าหมายเพื่อศึกษาคาดการณ์โลกอนาคตในรุ่นต่อไป สมาร์ทโฟน 5G ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และแนวโน้มของผู้บริโภคในตลาด และการแข่งขัน โดยจะรวบรวมข้อมูลแล้วนำมาวิเคราะห์ ก่อนนำมาเผยแพร่เทรนด์ใหม่ ๆ ในทุกปี

สำหรับเทรนด์เทคโนโลยีในปี 2022 นี้ เป็นผลสืบเนื่องมาจากปี 2021 ที่ผ่านมาที่ทั่วโลกได้ตระหนักและเผชิญกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ หรือ ภาวะโลกร้อนที่ค่อนข้างรุนแรง อีกทั้งอุณหภูมิโลกยังทำสถิติสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ โดยทั่วโลกในขณะนี้ได้ก้าวเข้าสู่ช่วงที่อุณหภูมิโลกจะปรับขึ้นเฉลี่ย 1.5 องศาเซลเซียส กลายเป็นความท้าทายต่อสิ่งมีชีวิตทุกชนิดบนโลก ดังนั้น แนวโน้มเทรนด์เทคโนโลยีในปี 2022 จึงเกี่ยวข้องกับความพยายามในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งรวมถึงการตอบสนองจากภาคธุรกิจ ด้วยการใช้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์

บียอน กล่าวว่า การดิสรัปและเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลกลายเป็นตัวกระตุ้นให้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเกิดการพัฒนาอย่างรวดเร็ว กลายเป็นความหวังต่อการดูแลรักษาโลกและสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของเทเลนอร์ สิ่งที่สำคัญกว่าก็คือการทำความเข้าใจต่อบทบาทของเทคโนโลยีนั้น ๆ ว่าจะมีผลกระทบอย่างไร และจะนำมาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร

 ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเทเลนอร์ เสริมว่า สำหรับรายงานเทรนด์เทคโนโลยีปี 2022 นี้ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีต่าง ๆ จะเป็นไปในทิศทางที่จะช่วยให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่โลกสีเขียวได้อย่างยั่งยืน ซึ่งประกอบด้วย 5 เทรนด์ด้วยกัน โดยเทรนด์แรกก็คือดิ

1. กรีนคลาวด์ (Green Clouds)

บียอน กล่าวว่า กรีนคลาวด์นี้ หมายถึงการเปลี่ยนแปลงของศูนย์ข้อมูลหรือ ดาต้า เซ็นเตอร์ ที่การรับส่งข้อมูล (คลาวด์ คอมพิวติ้ง) นับวันจะมีแต่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล ซึ่งการรับส่งข้อมูลปริมาณอย่างต่อเนื่อง และเพิ่มขึ้นอย่างทวีคูณทุกวันจำเป็นต้องอาศัยพลังงานเป็นพลังยับเคลื่อนหลัก โดยเทเลนอร์พบว่า ศูนย์ข้อมูลทั่วโลก (ดาต้า เซ็นเตอร์) ทั่วโลกใช้พลังงานราว 1% ของการใช้พลังงานไฟฟ้าทั้งหมดของโลก ซึ่งบียอนชี้ว่า ตัวเลขดังกล่าวถือเป็นสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง

“ดาต้า เซ็นเตอร์ ไม่ว่าจะเป็นการจัดเก็บ การรับส่ง การใช้เคเบิล สายไฟ การบริหารจัดการ ทุก ๆ ขั้นตอนล้วนใช้ไฟฟ้าเป็นแหล่งพลังงานขับเคลื่อนหลักทั้งสิ้น”

สถานการณ์ข้างต้น ทำให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีที่เรียกว่า เอดจ์ คอมพิวติ้ง (Edge Computing) ซึ่งช่วยให้การประมวลผลข้อมูลระหว่างต้นทางและปลายทางมีระยะห่างน้อยลง ใกล้กันมากขึ้น ดังนั้นการประมวลผลย่อมเกิดขึ้นได้เร็วขึ้น อีกทั้งยังใช้พลังงานน้อยลง โดยศูนย์วิจัยฯ คาดว่าเครือข่าย 5G จะทำให้ทั่วโลกค่อย ๆ เปลี่ยนผ่านและหันมาประยุกต์ใช้เทคโนโลยี เอดจ์ คอมพิวติ้ง ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงกระแส (โฟลว) ของการสื่อสาร จากเดิมที่การประมวลผลข้อมูลจะเกิดขึ้นที่ระบบคลาวด์กลางแห่งเดียวเท่านั้น เปลี่ยนเป็นการกระจายกระบวนการประมวลผลที่ศูนย์ข้อมูลย่อย ๆ หรือ เอดจ์ ดาต้า เซ็นเตอร์ (Edge data center) ที่ช่วยให้กระแสการส่งต่อข้อมูลรูปแบบใหม่สามารถเลือกใช้พลังงานจากแหล่งพลังงานทางเลือกที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น พลังงานลม พลังงานโซลาร์ หรือพลังงานความร้อนส่วนเกิน

ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเทเลนอร์แสดงความเชื่อมั่นว่า ประสิทธิภาพการใช้พลังงานของศูนย์ข้อมูลด้วยระบบเอดจ์บนเครือข่าย 5G จะได้รับความนิยมขึ้นรวดเร็ว ขณะที่การบริโภคพลังงานในส่วนของศูนย์ข้อมูลก็จะมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมถึงลดการสูญเสียได้อย่างมีนัยสำคัญ

2. ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนเข้าถึงง่ายขึ้น (Big appetite for climate micro degrees)

สำหรับเทรนด์ที่สองคือเทรนด์ที่เกี่ยวข้องกับด้านการศึกษา บียอนชี้ว่าเป็นความต้องการ ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนเข้าถึงง่ายขึ้น (Big appetite for climate micro degrees) ซึ่งเป็นการเรียนคอร์สสั้น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีกรีนจะมีเพิ่มมากขึ้น และเป็นการเรียนรู้พัฒนาทักษะทางช่องทางออนไลน์ ภายใต้สถาบันการศึกษาชั้นนำ และมีเอกสารรับรองคุณวุฒิ

ขณะเดียวกัน ภายใต้ธุรกิจที่จำเป็นต้องทรานส์ฟอร์มตัวเอง เพื่อให้อยู่รอด ปรับตัวและเติบโตได้ในโลกยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ภายใต้ความท้าทายจากภาวะโลกร้อน ทำให้นอกจากจะเป็นโอกาสที่ทำให้เกิดธุรกิจใหม่สายกรีนท่ามกลางนโยบายและกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมที่เคร่งครัดขึ้นแล้ว ความต้องการแรงงานทักษะสีเขียวเพื่อสิ่งแวดล้อมก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย หลาย ๆ บริษัทเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะและความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น มีการสนับสนุนให้พนักงานในองค์กรเรียนรู้ขัดเกลาทักษะผ่านคอร์สความรู้สั้น ๆ ที่เรียกว่า Micro-degree ซึ่งหากบริษัทหรือองค์กรใดไม่สามารถตอบโจทย์ที่ว่านั้นได้ ก็จะทำให้องค์กรนั้นไม่ดึงดูดคนเก่งใหม่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรได้” บียอนกล่าว

ปัจจุบันหลายสถาบันชั้นนำ เช่น Coursera, LinkedIn Learning, Udacity และ Khan Academy หรือมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกอย่าง MIT หรือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่างนำเสนอคอร์สเรียนออนไลน์ในหลากหลายวิชา ซึ่งในมุมมองของเทเลนอร์ เห็นว่า สถาบันเหล่านี้จะนำเสนอหลักสูตรความรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนมากขึ้น

3. ประสิทธิภาพในทุกสิ่งทุกอย่าง หรือ Optimize everything

สำหรับเทรนด์ต่อไป บียอนให้นิยามว่าเป็น ประสิทธิภาพในทุกสิ่งทุกอย่าง หรือ Optimise everything ซึ่งศูนย์วิจัยเทเลนอร์จะให้น้ำหนักไปที่ประสิทธิภาพด้านการใช้พลังงานของอุปกรณ์ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหลาย ที่จะใช้พลังงานน้อยลง แต่ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยเทเลนอร์กล่าว นวัตกรรมและความก้าวหน้าของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นเสมือนโซลูชันที่อำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตมากขึ้น กระนั้น ความสะดวกสบายดังกล่าวก็ต้องแลกมากับการใช้พลังงาน ทำให้เกิดกระแสเรียกร้องจากหลายฝ่าย รวมถึงองค์การพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ให้บรรดาผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าพัฒนาอุปกรณ์ของตนให้มีประสิทธิภาพด้วยการใช้พลังงานน้อยลง โดยขณะนี้ เทเลนอร์พบว่า ทั่วโลกมีอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้านมากกว่าประชากรโลกถึง 4 เท่า และมีแนวโน้มที่สูงขึ้นอย่างมากต่อไปในอนาคต ดังนั้น ความจำเป็นในการใช้พลังงานให้คุ้มค่ามากที่สุดโดยอาศัยเทคโนโลยีที่มีอยู่ในปัจจุบันจึงเป็นเทรนด์เทคโนโลยีมาแรงในปี 2022 นี้

บียอนได้ยกตัวอย่างที่หลายบริษัททั่วโลกแข่งขันกันพัฒนาชิปเซ็ต (Chipset) ซึ่งถือเป็นชิ้นส่วนสำคัญของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ช่วยลดการใช้พลังงานของอุปกรณ์นั้น ๆ อย่างกรณีของ Apple ที่มีการพัฒนาชิปคอมพิวเตอร์รุ่น M1 ซึ่งก่อให้เกิดผลดีทั้งในแง่การใช้พลังงานและความอึดของแบตเตอรี่ของเครื่องคอมพิวเตอร์ หรือกรณีที่ซัมซุงจับมือกับไอบีเอ็ม ดีไซน์เซมิคอนดักเตอร์แบบใหม่ที่จะลดการใช้พลังงานอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ได้ถึง 85%

โดยเทเลนอร์เชื่อว่านับต่อจากนี้ บรรดาผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จะหันมาทุ่มเม็ดเงินลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนาประสิทธิภาพพลังงานมากยิ่งขึ้น

4.การมาถึงของยุคกรีนฟลูเอนเซอร์  (Here come the greenfluencer)

ด้านเทรนด์เทคโนโลยีที่ 4 ก็คือ การมาถึงของยุคกรีนฟลูเอนเซอร์  (Here come the greenfluencer) โดยบียอนเชื่อว่า การใช้โซเชียลมีเดียเพื่อการขับเคลื่อนและเปลี่ยนแปลงประเด็นปัญหาทางสังคมอย่างภาวะโลกร้อน หรือการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การรีไซเคิลจะมีให้เห็นมากยิ่งขึ้น

สำหรับในปี 2022 นี้ ศูนย์วิจัยเทเลนอร์คาดการณ์ว่าจะมีแรงขับเคลื่อนทางสังคมผ่านโซเชียลมีเดีย เพื่อการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย และสร้างการรับรู้ด้านสิ่งแวดล้อม จากบุคคลทั่วไปมากขึ้น หลังประชาชนต้องเผชิญกับความผิดหวังจากผลการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 26 (COP26) ที่ไม่ค่อยมีความคืบหน้าในทางบวกเท่าไรนัก สวนทางกับรายงานล่าสุดที่ว่าด้วยสถานะของวิกฤติภูมิอากาศโดยการประเมินของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ที่ค่อนข้างย่ำแย่ เพราะระบุชัดว่าสภาวะโลกร้อนจะเลวร้ายลงอีก

“เราเชื่อว่าจะมีอินฟลูเอนเซอร์จำนวนหนึ่งลุกขึ้นมาสร้างการรับรู้และตระหนักรู้เกี่ยวกับวิกฤตสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศ กลายเป็นอินฟลูเอนเซอร์สายสีเขีวที่เรียกว่า กรีนฟลูเอนเซอร์ (Greenfluencer) ผ่านโซเชียลมีเดียที่มีเฉพาะกลุ่ม โดยที่จำนวนผู้ติดตามก็จะเพิ่มมากขึ้นตามฐานความนิยมนั้นๆ” บียอนกล่าวก่อนเสริมอีกว่า ตามความเห็นส่วนตัว เหล่าอินฟลูเอนเซอร์ในแวดวงอื่น เช่น  อาหาร แฟชั่น ความงาม หรือสุขภาพ จะก้าวเข้ามาร่วมเผยแพร่เนื้อหาแนวอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รักโลกมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ทั้งในแง่การตลาดและการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เนื่องจากอินฟลูเอ็นเซอร์ที่ผลิตคอนเทนต์โดยไม่มีประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมมาเกี่ยวข้องจะถูกมองว่าล้าสมัย

5. การให้ความใส่ใจกับคนยุค lost generation (Don’t lose out on the lost generation)

ในส่วนของเทรนด์เทคโนโลยีที่ 5 ก็คือ การให้ความใส่ใจกับคนยุค lost generation (Don’t lose out on the lost generation) ซึ่งศูนย์วิจัยเทเลนอร์ให้นิยมว่าเป็นผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้วิถีชีวิตและพฤติกรรมการทำงานเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง

บียอนอธิบายว่า การระบาดครั้งใหญ่ของไวรัสโควิด-19 ทำให้การทำงานที่บ้าน (Work from home) กลายเป็นความปกติใหม่ (นิวนอร์มัล) ซึ่งแม้เทเลนอร์จะเห็นว่า การทำงานที่บ้านจะส่งผลบวกต่อสิ่งแวดล้อมและสภาวะอากาศ เพราะทำให้ผู้คนลดความจำเป็นในการเดินทาง ซึ่งเท่ากับการลดใช้พลังงาน แต่การศึกษาของเทเลนอร์กลับพบว่า การทำงานที่บ้านก็ไม่ได้เป็นผลดีกับทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มคนรุ่นใหม่

“ท่ามกลางการระบาดของโรคโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง คนรุ่นใหม่ที่ว่าอาจเรียกได้ว่าเป็น Lost Generation เป็นกลุ่มที่เผชิญกับความยากลำบากในการทำความรู้จักและสร้างเครือข่าย ทำความเข้าใจกับภาษาและวัฒนธรรมขององค์กร แม้จะมีช่องทางออนไลน์ให้สื่อสาร ถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่งสำหรับการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกัน ยิ่งไปกว่านั้น สถานการณ์ดังกล่าว ยิ่งทำให้ช่องว่างความเหลื่อมล้ำของคนรุ่นโควิด-19 เห็นได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น”

ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญก็คือองค์กรทั้งหลายต้องปรับตัวเพื่อดึงให้คนรุ่นโควิด-19 เหล่านี้ยินดีและยังเห็นความสำคัญของการทำงานในองค์กรภายใต้การมีหัวหน้างานที่ดี และมีกฎระเบียบกำกับดูแลที่ครอบคลุมและเท่าเทียม โดยศูนย์วิจัยเทเลนอร์ได้ให้คำแนะนำ  3 ประการที่จะช่วยให้องค์กรนำพาคนรุ่นใหม่เปลี่ยนผ่านสู่อนาคตแห่งโลกการทำงาน ได้แก่ 1) การสร้างบรรยากาศความสุขในที่ทำงานด้วยการจัดกิจกรรมที่ทำให้คนในแต่ละรุ่นขององค์กรมาร่วมกันพูดคุย อภิปราย แลกเปลี่ยนความเห็นอย่างเต็มที่ 2) การกำหนดหน้าที่ของหัวหน้างานในแง่ของการเป็นพี่เลี้ยง ให้คำแนะนำและการปรึกษาอย่างชัดเจน ช่วยสร้างเครือข่ายให้พนักงานใหม่ และ 3) การให้คุณค่าและประกาศยกย่อง โดยควรชื่นชมคนกลุ่มนี้อย่างเปิดเผย ให้ความรู้สึกทางใจ และมอบโอกาสและพื้นที่ให้พนักงานได้กล่าวความรู้สึก ทำให้คนหนุ่มสาวเหล่านี้เห็นว่าผลงานของตนเป็นที่รับรู้และได้รับการชื่นชม หลีกเลี่ยงความรู้สึกแปลกแยกโดดเดี่ยว แม้ว่าการทำงานนั้นจะเกิดขึ้นบนโลกออนไลน์เป็นส่วนใหญ่ก็ตาม

คริสเตียน ฮอลล์ รองประธานฝ่ายสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ของกลุ่มเทเลนอร์ กล่าวว่าในฐานะหนึ่งในผู้ให้บริการสัญญาณโทรศัพท์มือถือชั้นนำระดับโลก เทเลนอร์ตระหนักถึงความสำคัญของการเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างเทรนด์เทคโนโลยีสีเขียวเพื่อสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างดี เรียกได้ว่าเป็นความพยายามผลักดันให้อุตสาหกรรมโทรคมนาคมมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด

“สำหรับเทเลนอร์ เราได้แบ่งเป้าหมายเพื่อรับมือกับสภาวะโลกร้อน (Climate Goals) ออกเป็น 3 ส่วนหลัก ๆ ส่วนที่หนึ่งและสองคือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการปฎิบัติการให้ได้ 57% ภายในปี 2030 และการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนภายในแถบเอเชียให้ได้ 50% ภายในปี 2030 เช่นกัน ซึ่งสองส่วนนี้จะเป็นการจัดการลดการปล่อยก๊าซภายในที่เกิดจากการดำเนินการของเทเลนอร์ โดยหมายรวมถึงการใช้แหล่งพลังงานทางเลือกของตนเอง ขณะที่ส่วนที่สามจะมีการตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนด้วยเช่นกัน แต่เป้านี้จะอิงตามเกณฑ์คำนวณทางวิทยาศาสตร์ และใช้กับซัพพลายเออร์ทุกรายของเทเลนอร์โดย 68% ของซัพพลายเออร์ต้องมีเป้าลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนภายในปี 2025”  

ขณะเดียวกันผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเทเลนอร์ และรองประธานฝ่ายสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมกลุ่มเทเลนอร์ ยังได้ให้คำแนะนำถึงบรรดาบริษัทและผู้ประกอบการในไทยที่ต้องการหาทางประยุกต์ใช้เทรนด์เทคโนโลยีสีเขียวนี้ โดย บียอนแนะให้เจ้าของกิจการเริ่มต้นด้วยการหันมาทำความเข้าใจกับกิจกรรมธุรกิจของตนเองว่าดำเนินไปอย่างไร และสามารถปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นได้ตรงไหนอย่างไรบ้างเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน (คาร์บอน ฟุตพริ้นต์) ซึ่งวิธีการเปลี่ยนแปลงก็มีตั้งแต่การพึ่งพาเทคโนโลยีใหม่ ๆ การปรับปรุงโครงสร้างองค์กร หรือการคัดเลือกซัพพลายเออร์ที่ให้ความสำคัญและตระหนักถึงคุณค่าสิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกัน

ส่วน คริสเตียน เสริมว่า นอกจากการตั้งเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนของตนเองและซัพพลายเออร์ให้ชัดเจนตามหลักเกณฑ์คำนวณทางวิทยาศาสตร์ที่เหมาะสมแล้ว การจัดลำดับความสำคัญของการใช้พลังงานในสิ่งที่สำคัญและจำเป็นเท่านั้นก็มีความสำคัญเช่นกันเพื่อลดการใช้งานอย่างสิ้นเปลือง อีกทั้ง อยากให้องค์กรให้ความสำคัญกับการจัดสรรงบส่วนหนึ่งเพื่อการวิจัยและพัฒนาในการเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้พลังงานได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยตอบโจทย์ทั้งในแง่ของสิ่งแวดล้อมและผลกำไรของบริษัท เพราะลดค่าใช้จ่ายในด้านพลังงานที่นับวันมีแนวโน้มจะแพงมากขึ้น เพราะปริมาณที่ผลิตได้ไม่พอกับความต้องการใช้จากทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นทวีคูณทุกวัน

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

ซัมซุง ประกาศสร้างมาตรฐานใหม่ให้วงการสมาร์ทโฟน

NIA เทคออฟนวัตกรรมถึงพื้นที่ชายแดนห่างไกล มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิต สร้างโอกาส และความเท่าเทียมสู่กลุ่มชาติพันธุ์

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ