TH | EN
TH | EN
หน้าแรกTechnologyหนึ่งทศวรรษ Sea (ประเทศไทย) กับ 3 ธุรกิจหลัก เกม-อีคอมเมิร์ซ-การเงินดิจิทัล

หนึ่งทศวรรษ Sea (ประเทศไทย) กับ 3 ธุรกิจหลัก เกม-อีคอมเมิร์ซ-การเงินดิจิทัล

ย่างก้าวแรกของ Sea (ประเทศไทย) เริ่มต้นด้วยธุรกิจเกม ภายใต้ชื่อ การีนา (Garena) ก่อนขยายมาทำแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซชื่อ Shopee และมาทำบริการการเงินดิจิทัลภายใต้แบรนด์​ SeaMoney ทำให้วันนี้ผ่านมา 10 ปี Sea (ประเทศไทย) ลงเสาหลักธุรกิจไว้ 3 เสาที่เกื้อกูลกันในโลกดิจิทัลอย่างแน่นหนา … ดิจิทัลเอนเตอร์เทนเมนท์-อีคอมเมิร์ซ-การเงินดิจิทัล

ทั้ง 3 ธุรกิจเล่นบทบาทเป็นแพลตฟอร์มที่จับกลุ่มคนที่แตกต่างกันด้วยบริการที่แตกต่างกัน แต่มีความเหมือนกันตรงที่ทั้ง 3 กลุ่มธุรกิจพยายามคืนคุณค่ากลับคืนสู่สังคมด้วยการนำคุณค่าของแพลตฟอร์มนั้นมาสร้างประโยชน์และองค์ความรู้ใหักับธุรกิจและคนไทย 

ก้าวแรก ….เกม และ การีนา

เริ่มต้นด้วยเกม ในวันที่เกมยังถูกมองว่าเป็นธุรกิจเบอร์รอง หมายความว่าเมื่อสิบปีก่อน เกมถูกมองว่าเป็นเรื่องของความบันเทิง ไม่ใช่ธุรกิจที่จะสร้างคุณค่าให้กับผู้ที่อยู่ในระบบนิเวศ อาจเป็นเพราะเวลานั้น คนยังไม่มีความรู้ความเข้าใจในธุรกิจเกม และไม่เข้าใจว่า การจะเล่นเกมอย่างสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์ ต้องทำอย่างไร

มณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Sea (ประเทศไทย) กล่าวว่า การีนาเป็นเจ้าแรก ๆ ที่เข้ามาทำตลาดเกมและนำเกมระดับโลกเข้ามาให้บริการในไทย ซึ่งยุคแรกเป็นการให้บริการเกมบน PC-based โดยมีการ Localize ประสบการณ์การเล่นเกมให้เหมาะสมกับคนไทยเพื่อสร้างประสบการณ์เกมที่แปลกใหม่ ตอบสนองความต้องการของเกมเมอร์ไทยให้ดียิ่งขึ้น และนำแนวคิดของอีสปอร์ตเข้ามาให้ตลาดไทยได้ทำความรู้จักมากขึ้น

หลังจากให้บริการมา 2-3 ปี ตอนปี 2014 โลกเริ่มหมุนเข้าสู่ Mobile-based การีนาทบทวนแผนธุรกิจที่จะตอบสนองความต้องการเล่นเกมของผู้เล่นได้ทันท่วงที (เริ่มมีแพลตฟอร์มและผู้เล่นอยู่บนแพลตฟอร์มค่อนข้างมาก) โดยผู้เล่นมีความต้องการเล่นเกมที่มีความหลากหลายบนอุปกรณ์ที่มีความแตกต่างกัน การที่เกมมาอยู่บนมือถือ ทำให้สามารถเข้าถึงคนในวงกว้างได้มากขึ้น การีนาจึงเริ่มนำเกมบนมือถือเข้ามาให้บริการ ซึ่งช่วงแรกไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เพราะการให้บริการเกมบนพีซีกับการให้บริการเกมบนมือถือนั้นไม่เหมือนกันทั้งหมด ซึ่งต้องเรียนรู้กันไป จนกระทั่งได้เปิดตัวเกมอย่าง RoV (Arena of Valor) ที่สร้างกระแสได้แรงมาก ตั้งแต่ปี 2016 จนปัจจุบัน RoV ก็ยังคงเป็นเกมท็อปฮิต

ด้วยแพลตฟอร์มที่มีสามารถสร้างประโยชน์ขึ้นได้ จึงเริ่มที่จะให้ความรู้ตลาดว่าเกมเป็นได้มากกว่าเกม ไม่ใช่แค่การเล่นเกมเพื่อความสนุก แต่สามารถต่อยอดเป็นอาชีพได้ และสามารถที่จะสร้างเป็นกีฬาได้ การีนาจึงเริ่มมีการทำงานกับภาครัฐและภาคการศึกษาบนหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับเกมและอีสปอร์ต เช่น การพัฒนาเกม การออกแบบกราฟิก หรือ Animation ไปจนถึงการบริหารจัดการเกม โดยเฉพาะกับมหาวิทยาลัยเอกชนที่เล็งเห็นว่าเกมสามารถเป็นอาชีพในอนาคตได้ เพื่อมาตอบโจทย์ธุรกิจเกมที่กำลังเติบโต และขยายโอกาสให้นิสิต-นักศึกษาสามารถต่อยอดความสนใจด้านเกมเป็นอาชีพได้

จนมาถึงยุคปัจจุบัน คือ ยุคแห่งการ Customisation และ Personalisation หลังจากที่ทำตลาดเกมมา 4-5 ปี การีนามีความเข้าใจคนเล่นเกมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่าชอบเล่นเกมแบบไหน เล่นอย่างไร และเกมแบบไหนถึงจะเข้าถึงกลุ่มฐานลูกค้าในวงกว้างได้ บริษัทเก็บข้อมูลนี้แล้วพัฒนาเกม “Garena Free Fire”​ ซึ่งเปิดตัวสู่ตลาดในปี 2017 โดยมีการปรับเกมให้เหมาะกับผู้เล่นเกมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

แม้ Garena Free Fire จะถูกพัฒนามาเพื่อผู้เล่นเกมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยเฉพาะ แต่กลับโดนใจผู้เล่นแถบละตินอเมริกา เช่น บราซิล เม็กซิโก และชิลี ด้วย ส่งผลให้การีนาเล็งเห็นโอกาสในการขยายฐานผู้เล่น และในตอนนี้ Garena Free Fire ได้เปิดให้บริการอยู่ใน 130 ตลาดทั่วโลก โดยในอนาคต การพัฒนาเกมให้เหมาะกับคนเล่นเกมและตลาด เป็นสิ่งที่จะทำต่อไป รวมถึงมองต่อยอดไปถึงการทำให้ระบบนิเวศของอีสปอร์ตมีความเข้มแข็งมากขึ้น

ทุกปีจะมีการจัดงาน Garena World การแข่งขันกีฬาอีสปอร์ตที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นตัวชูโรงว่าประเทศไทยสามารถเป็นศูนย์กลางของอีสปอร์ตในภูมิภาคได้ ทั้งยังเป็นแม่เหล็กชั้นดีที่ดึงนักกีฬาอีสปอร์ตจากต่างประเทศเข้ามา และมีรัฐบาลจากหลายประเทศให้ความสนใจ อาทิ ไต้หวัน อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ มาดูงาน รวมถึงมีพันธมิตรธุรกิจทั้งจากภาครัฐและเอกชนเข้ามาเสริมให้ระบบนิเวศอีสปอร์ตแข็งแรงเพิ่มขึ้น

นอกจากการเล่นเกมจะสามารถพัฒนาเป็นกีฬาอีสปอร์ตได้แล้ว ทักษะเกี่ยวกับเกมและอีสปอร์ตยังเป็นทักษะดิจิทัลที่สามารถต่อยอดเป็นอาชีพได้ การีนาจึงดำเนินการโครงการ Garena Academy เพื่อมอบความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอาชีพในวงการเกมและอีสปอร์ตให้กับกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ ครู และผู้ปกครอง พร้อมช่วยให้คำแนะนำว่า หากเยาวชนสนใจด้านเกม เช่น อยากเป็นนักพัฒนาเกม หรือประกอบอาชีพในอุตสาหกรรมเกมควรเรียนรู้ทักษะอะไรบ้าง โดยสามารถมาค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้บนเว็บไซต์ www.garenaacademy.com

เกมเป็นธุรกิจที่มีการเติบโตที่น่าสนใจ  ตลาดเกมในประเทศไทยเติบโตอย่างต่อเนื่อง ระหว่างปี 2020-2021 ผู้เล่นเกมเติบโตเพิ่มจาก 27 ล้านคน เป็น 32 ล้านคน ซึ่งขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย นอกจากการนำเกมที่หลากหลายเข้ามามากขึ้น การเล่นเกมบนมือถือเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการระบาดของโควิดเป็นตัวเร่งสำคัญ ทำให้คนเห็นว่าการเล่นเกมเป็นความบันเทิงอย่างหนึ่งในชีวิตประจำวัน บางคนไม่เล่นเกม แต่ดูการแข่งขันอีสปอร์ต ในภาพรวม มูลค่าของตลาดเกมเติบโตมาจาก 28,900 ล้านบาท ในปี 2020 เป็น 33,000 ล้านบาทในปี 2021

ด้านการีนาเองก็มีการเติบโตสอดคล้องกัน ในไตรมาสที่ 4 ปี 2021 เกมของการีนาเข้าถึงผู้เล่นกว่า 650 ล้านคนทั่วโลก (quarterly active users) ไม่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังรวมถึงทั่วโลก

Shopee ธุรกิจเรือธง

ย้อนกลับไปเมื่อ 7 ปีก่อน คือ ปี 2015 ช่วงนั้นอีคอมเมิร์ซจะอยู่บน PC-based เช่นกัน และยังไม่เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย คนยังมีความรู้สึกไม่ปลอดภัยและไม่สะดวกสบายนัก กลุ่มผู้บริหารของ Sea จึงมองเห็นโอกาสที่จะตอบโจทย์ความต้องการและแก้​ pain point ของผู้ใช้งาน online shopping ด้วยการคิดว่าทำอย่างไรให้คนสะดวกสบายที่สุดเวลาใช้งาน ด้วยการเริ่มคิดและออกแบบ Shopee ทั้ง UX และ UI ให้อยู่บนมือถือเป็นหลัก ดีไซน์เส้นทางการช้อปปิ้งบนหน้าจอบนมือถือให้ลูกค้าใช้งานง่ายและสะดวก เป็นที่มาของการคิดและพัฒนา Shopee เป็น mobile shopping app ที่ตั้งใจเปิดตัวพร้อมกันทั้ง 7 ตลาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

หากมองผู้บริโภคในภูมิภาค โดยเฉพาะผู้บริโภคชาวไทย จะเห็นว่าฟีเจอร์​ social integration สำคัญมาก เพราะคนชอบพูดคุยกัน (แชท) จึงมีฟีเจอร์ Chat ใส่เข้ามาใน Shopee ตั้งแต่วันแรก เพิ่มความสะดวกให้ลูกค้าแชทคุยกับผู้ขายได้โดยไม่ต้องกระโดดข้ามแอปไปมา และมีฟีเจอร์ต่าง ๆ ให้อยู่ภายในแอป โดยเฉพาะฟีเจอร์ payment และการทำ localization ซึ่ง Shopee เปิดให้บริการใน 7 ประเทศ โดยมี 7 แอปสำหรับแต่ละตลาดโดยเฉพาะ เพื่อให้สามารถปรับเปลี่ยนฟีเจอร์ ลูกเล่นเพื่อตอบโจทย์ผู้ใช้งานในแต่ละประเทศได้อย่างเฉพาะเจาะจง 

สำหรับประเทศไทย SMEs เป็นแกนหลักของระบบเศรษฐกิจ แอป Shopee มุ่งไปที่การพาผู้ขายรายย่อยขึ้นมาอยู่บนแพลตฟอร์มและขายของบน Shopee เมื่อมีผู้ขายและผู้ซื้อเพิ่มมากขึ้น เริ่มมีความซับซ้อน จำเป็นที่จะต้องให้ความรู้ความเข้าใจตลาดแล้วว่าการขายของออนไลน์มีเทคนิคและมีเครื่องมืออะไรบน Shopee บ้างที่จะช่วยให้ขายของได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงมีการจัดตั้งโครงการ Shopee University เพื่อส่งต่อความรู้ให้ผู้ขายเข้าใจเทคนิคการขายของ เช่น ทำอย่างไรให้ได้ first order เทคนิคการถ่ายภาพ การจัดหมวดหมู่สินค้า เทคนิคการเขียนรายละเอียดสินค้า เป็นต้น รวมถึงมี Shopee Bootcamp for Trainer จัดคอร์สเรียนเข้มข้น ซึ่ง Shopee ทำงานกับภาครัฐ อาทิ กระทรวงพาณิชย์ในการให้ความรู้ความเข้าใจให้กับตัวแทนแต่ละหน่วยงาน เพื่อนำองค์ความรู้นี้ไปถ่ายทอดให้เข้าถึงผู้ประกอบการท้องถิ่นในวงกว้างได้จริง

รวมถึงการช่วยให้ผู้ขายสามารถขายได้มากขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยระบบหลังบ้านที่เรียกว่า Shopee Seller Centre ช่วยจัดการการขายของออนไลน์ อาทิ ช่วย track คำสั่งซื้อ สินค้าคงคลัง และให้ข้อมูลที่ช่วยวิเคราะห์การจัดการร้านค้าให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ยังช่วยเพิ่มประสบการณ์ให้ผู้ซื้อใช้แอป Shopee นอกเหนือจากเมื่อต้องการซื้อของ ด้วยการนำ gamification มาใช้ อย่างในยุคแรก ๆ มี Shopee Shake Shake เกมเขย่าโทรศัพท์มือถือ เพื่อรับ Shopee Coins และในปัจจุบันช้อปปี้ก็ยังนำ gamification มาใช้ใน Shopee Prize รวมถึงผสานความบันเทิงเข้ากับการช้อปปิ้งด้วย Shopee Live เพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างร้านค้ากับลูกค้าให้ใกล้ชิดมากขึ้น นอกจากนี้เพื่อให้ประสบการณ์การช้อปปิ้งได้รับการเติมเต็มมากขึ้นจึงมีการพัฒนาการให้บริการเป็น B2C เพิ่มมากขึ้น โดยมี Shopee Mall ที่รวบรวมสินค้าหลากหลายจากแบรนด์ชั้นนำสำหรับผู้ซื้อมารวมไว้บนแพลตฟอร์มด้วย 

ในปัจจุบัน Shopee พัฒนาบริการให้ดียิ่งขึ้นด้วยการใช้ Data และเทคโนโลยี AI ตอบโจทย์ผู้ซื้อที่มีความต้องการสิ่งที่เฉพาะเจาะจงสำหรับเขามากขึ้น เช่น Shopee Search Engine เป็นเครื่องมือที่ Shopee ให้ความสำคัญมาก เพราะจากการทำวิจัยพบว่าคนส่วนใหญ่ที่เข้ามาซื้อของบนแพลตฟอร์ม เมื่อค้นหาแล้วไม่พบสิ่งที่ต้องการซื้อ จะไปจากแพลตฟอร์มทันที จะไม่พยายามค้นหาเป็นครั้งที่ 2 ดังนั้นระบบค้นหาต้องฉลาดมาก เพื่อให้ผู้ใช้สามารถค้นเจอทุกการค้นหา รวมถึงฟีเจอร์ You might like – คุณอาจจะชอบสิ่งนี้ ซึ่งพัฒนาจากข้อมูลประวัติการซื้อในระบบหลังบ้าน เพื่อทำการแนะนำสินค้าและโปรโมชันที่เหมาะสำหรับผู้ซื้อรายบุคคล ในขณะที่มีการนำข้อมูลมาช่วยผู้ขายวิเคราะห์ยอดขาย อาทิ ฟีเจอร์ Business Insight ในระบบหลังบ้าน Shopee Seller Centre ผู้ขายจะเห็นประสิทธิภาพการขายทั้งหมด สินค้าไหนขายดี-ขายไม่ดี ในแต่ละช่วงเป็นอย่างไร ประสิทธิผลของเครื่องมือการตลาดในแต่ละช่วงเป็นอย่างไร ช่วยทำรายงานวิเคราะห์ศักยภาพของผู้ขายได้ 

ล่าสุดในเดือนพฤษภาคม ได้มีการเปิดตัว Shopee International Platform (SIP) โปรแกรมที่เพิ่มช่องทางการขาย เปิดโอกาสให้ผู้ขายในประเทศไทยสามารถขายของไปยังตลาดต่างประเทศได้ ปัจจุบันผู้ขายชาวไทยสามารถรับคำสั่งซื้อจากลูกค้าใน 3 ประเทศ คือ สิงคโปร์ มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ โดย Shopee ช่วยสนับสนุนด้านการจัดการร้านค้า เช่น การสร้างร้านค้าในต่างประเทศ การจัดการสินค้าและสต๊อก การแชตกับผู้ซื้อ และการจัดส่งไปต่างประเทศ โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมใด ๆ

ตลาดอีคอมเมิร์ซเติบโตต่อเนื่อง …. คนไทยชอบความสะดวกสบายจากการซื้อของออนไลน์ ส่งผลให้มูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซไทยอยู่ที่ 21,000 ล้านเหรียญในปี 2021 และคาดว่าจะเติบโตขึ้นเป็น 35,000 ล้านเหรียญในปี 2025 ที่น่าสนใจ คือ การเติบโตนี้ไม่ได้เกิดขึ้นในเฉพาะเมืองใหญ่ จากสถิติของ Shopee ในปี 2021 ตัวเลขผู้ใช้งาน Shopee ที่อยู่นอกเมืองใหญ่เพิ่มขึ้น 40% จากปีก่อนหน้า และผู้ขาย Shopee นอกเมืองใหญ่เติบโตขึ้น 70% จากปีก่อนหน้าเช่นกัน สะท้อนให้เห็นว่าการซื้อขายอีคอมเมิร์ซนั้นไม่ได้กระจุกอยู่ตามหัวเมืองใหญ่ ๆ เท่านั้น แต่มีการกระจายไปทั่วประเทศ 

การเงินดิจิทัล (Digital Finance) โดย SeaMoney

นอกจากธุรกิจเกม และอีคอมเมิร์ซแล้ว Sea (ประเทศไทย) ยังดำเนินธุรกิจการเงินดิจิทัล “SeaMoney”

มณีรัตน์ กล่าวว่า Sea (ประเทศไทย) มีแนวคิดเรื่องธุรกิจการเงินดิจิทัลมาตั้งแต่ 8 ปีที่แล้ว เมื่อเห็นการแพร่หลายของการใช้งานการจ่ายเงินด้วยช่องทางดิจิทัลในประเทศไทย จึงเริ่มต้นด้วยการสร้างกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ ชื่อแอป AirPay โดยเริ่มแรก ได้แนะนำให้คนไทยได้รู้จักและเข้าใจคอนเซ็ปต์ของกระเป๋าเงินอีเล็กทรอนิกส์ ด้วยบริการการเติมเงินเพื่อซื้อไอเทมต่าง ๆ ในเกม หลังจากนั้นเห็นว่าผู้ใช้งานยังมีความต้องการอื่น ๆ จึงขยายบริการให้หลากหลายครอบคลุมไลฟ์สไตล์ในชีวิตประจำวันของผู้ใช้งานมากขึ้น อาทิ การจองตั๋วภาพยนตร์ ตั๋วโดยสารเครื่องบิน บริการจองโรงแรม การจ่ายบิลค่าน้ำค่าไฟ เป็นต้น 

ต่อมาในปี 2019 บริษัทได้นำ AirPay เข้าไปเป็นหนึ่งช่องทางการชำระเงินของ Shopee และมีการรีแบรนด์จาก AirPay เป็น ShopeePay ในปี 2021

หลังจากที่ SeaMoney ได้ใช้เวลาช่วงหนึ่งเพื่อให้คนเกิดความคุ้นชิน ทั้งเรื่องของการซื้อของออนไลน์​และระบบการเงินดิจิทัล ปัจจุบันคนใช้บริการการเงินดิจิทัลเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันแล้ว บริษัทจึงขยับเข้าสู่เฟสถัดไป คือ การนำเสนอบริการทางการเงินที่หลากหลายเพื่อเติมเต็มความต้องการของผู้คนเพิ่มขึ้น พร้อมมุ่งสนับสนุนคนกลุ่ม Unserved และ Underserved ให้เข้าถึงบริการทางการเงินได้มากขึ้น ผ่านบริการสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล ทั้งสำหรับบุคคลทั่วไปและผู้ประกอบการรายย่อย

ปัจจุบัน SeaMoney ได้รับใบอนุญาตผู้ให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลจากธนาคารแห่งประเทศไทยแล้ว และเริ่มให้บริการสินเชื่อแก่ผู้ใช้บริการบนแพลตฟอร์ม Shopee มาประมาณปีกว่า โดยใช้ alternative data มาวิเคราะห์การปล่อยสินเชื่อ เช่น SEasyCash บริการ Digital Personal Loan สินเชื่อเงินสด สำหรับบุคคลทั่วไป, SEasyCash for Sellers สำหรับผู้ขายบนช้อปปี้ที่ต้องการสภาพคล่องในการทำธุรกิจ นอกจากนี้ ยังมีบริการ SPaylater ให้ลูกค้าซื้อสินค้าบน Shopee แบบผ่อนจ่ายได้ ทำให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงสินค้าที่ต้องการได้ด้วยข้อจำกัดที่น้อยลง โดย SeaMoney จะมุ่งพัฒนาบริการทางการเงินดิจิทัลที่เหมาะกับธุรกิจและระบบนิเวศของ Shopee เพิ่มเติมอีกในอนาคต

ในปี 2020 ยอดผู้ใช้งาน E-wallet ในประเทศไทยมีประมาณ 18.6 ล้านคน คาดการณ์ว่าจะเติบโตเป็น 41 ล้านคนในปี 2025 หมายความว่าจะมีการใช้งานเพิ่มมากขึ้น และไม่ได้กระจุกตัวอยู่ในหัวเมืองใหญ่ ข้อมูลจาก ShopeePay พบว่า ในปี 2021 จำนวนผู้ใช้งาน ShopeePay ในพื้นที่นอกเขตหัวเมืองใหญ่ในประเทศไทย เพิ่มขึ้นกว่า 50% จากปี 2020 และในภาพรวม ปัจจุบันมียอดผู้ใช้งานบริการของ SeaMoney ประมาณ 45.8 ล้านคน จากทั่วโลก

ทิศทางในอนาคต 

ในอนาคต การีนาจะเดินหน้านำเกมระดับโลกเข้ามาปรับให้เข้ากับตลาดท้องถิ่น โดยมีเกมระดับโลกที่นำเข้ามา 2 เกมล่าสุด คือ Moonlight Blade เป็นเกม MMORPG กำลังภายใน ระดับพรีเมียม และเกม Garena Blockman GO เป็นเกมประเภท sandbox เกมแรกที่การีนาเป็นผู้ให้บริการ โดยเกมประเภทนี้เปิดโอกาสให้ผู้เล่นเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างมินิเกมและแบ่งปันให้ผู้เล่นคนอื่นเข้ามาเล่น พร้อมกันนี้ การีนาจะยังคงผลักดันการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของระบบนิเวศอีสปอร์ตและส่งเสริมอาชีพทางด้านดิจิทัล ซึ่งเป็นอาชีพแห่งอนาคตที่จะเปลี่ยนไปมาก เพื่อสนับสนุนให้เยาวชนสามารถเตรียมพร้อมทักษะที่จำเป็นสำหรับการทำงานในอนาคตได้ ภายใต้โครงการ Garena Academy 

สำหรับ Shopee จะยังคงส่งมอบประสบการณ์ที่ดีสำหรับนักช้อปไทย โดยการนำระบบปัญญาประดิษฐ์ช่วยดึงข้อมูลหลังบ้านมาพัฒนาประสบการณ์การช้อปปิ้งให้ผู้ซื้อ สร้างสรรค์แคมเปญมอบความคุ้มค่าให้ผู้บริโภค เช่น ดับเบิ้ลเดทแคมเปญต่าง ๆ และ Mid-Month Sale รวมถึงการยกระดับแพลตฟอร์มด้วยการมอบบริการครบครันในแพลตฟอร์มเดียว (One-Stop Solution) เช่น ShopeeFood การบริการสั่งอาหารออนไลน์บนช้อปปี้ และShopeePay สามารถชำระเงินได้สะดวกสบายและรวดเร็วยิ่งขึ้นบนแพลตฟอร์ม นอกจากนี้ Shopee จะเดินหน้าส่งเสริมประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจให้ผู้ขายที่อยู่บนแพลตฟอร์มเติบโตไปพร้อมกันกับแพลตฟอร์ม จะมีโปรแกรมต่าง ๆ มาสนับสนุนผู้ขาย อาทิ การขยายโอกาสทางธุรกิจด้วยการเพิ่มช่องทางการขายไปยังตลาดต่างประเทศผ่านโครงการ Shopee International Platform (SIP)

สำหรับ SeaMoney จะยังคงนำบริการและผลิตภัณฑ์ทางการเงินดิจิทัลใหม่ ๆ มาเติมเต็ม Unmet Needs ของคนไทยและ SMEs ไทย โดยเฉพาะการให้บริการสินเชื่อดิจิทัล หากในอนาคต มีการอนุญาตในการให้บริการการเงินดิจิทัลอื่น ๆ เพิ่มเติมในประเทศไทย SeaMoney ก็มีความพร้อมที่จะเพิ่มบริการอื่น ๆ ให้ครอบคลุมกับความต้องการมากขึ้น

ในปัจจุบันที่มีเทคโนโลยีและนวัตกรรม เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ในฐานะที่เป็น Data-driven Company อย่างแท้จริง Sea (Group) ยังมีความมุ่งมั่นที่จะศึกษาวิจัยเทรนด์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ ๆ อยู่เสมอ โดยมี Sea AI Labs (SAIL) ทำหน้าที่ศึกษาวิจัยเทคโนโลยีที่เป็นพื้นฐานการต่อยอดนวัตกรรมต่าง ๆ ในอนาคต เช่น AI และ Machine Learning เพื่อประเมินขีดความสามารถ และค้นหาทิศทางการต่อยอดเทคโนโลยีที่มีศักยภาพนั้น หากพบว่ามีศักยภาพในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้บริโภคหรือส่งเสริมการดำเนินธุรกิจของ SMEs รายย่อย ผ่านธุรกิจต่าง ๆ ของ Sea (Group) ก็พร้อมที่จะต่อยอดและใช้งานจริงโดยทันที

ต่อยอดคุณค่าสู่สังคมด้วยโครงการ Social Impact ที่ให้ความรู้กับกลุ่มคนที่หลากหลาย

นอกเหนือจากการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนด้วยธุรกิจต่าง ๆ Sea (ประเทศไทย) ยังดำเนินโครงการ Social Impact มาโดยตลอด ด้วยความมุ่งหวังที่จะช่วยขยาย Social Impact ที่ส่งต่อคุณค่าให้กับสังคมเพิ่มเติมในวงกว้าง โดยที่ผ่านมา ทำอยู่ 3 ส่วนหลัก ๆ คือ

1) การให้ความรู้ความเข้าใจทักษะดิจิทัล (Digital Education) โดยมีไฮไลท์อย่างโครงการ Garena Academy ที่มอบความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอาชีพในวงการเกมและอีสปอร์ตให้กับกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ ครู และผู้ปกครอง โดยทักษะที่สำคัญสำหรับอาชีพเกมและอีสปอร์ต ยังเป็นทักษะดิจิทัลที่จำเป็นในการทำงานในอุตสาหกรรมอื่น ๆ เยาวชนสามารถเรียนโดยใช้เกมเป็นสื่อ และต่อยอดเป็นทักษะดิจิทัลสำหรับทำงานเกี่ยวข้องกับธุรกิจดิจิทัลอื่น ๆ ส่วน Shopee นอกจากจะมีโครงการ Shopee Bootcamp และ Shopee University ยังมีโครงการ Digital Opportunities for Talents (DOTs) ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง Sea (ประเทศไทย) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) จัดโครงการแข่งขันที่มุ่งพัฒนาคนรุ่นใหม่ด้วยทักษะการเป็นผู้ประกอบการดิจิทัล พร้อมช่วยต่อยอดธุรกิจให้แก่ร้านค้า SMEs ที่ได้รับคัดเลือก และในด้านการให้ความรู้ความเข้าใจด้านการเงิน ทาง Sea (ประเทศไทย) ร่วมกับ aomMONEY มุ่งให้ความรู้เกี่ยวกับการเงินยุคดิจิทัลสำหรับบุคคลทั่วไปสามารถปรับใช้ได้ในชีวิตประจำวัน

2) การสนับสนุนให้ผู้คนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีและโอกาสอย่างเท่าเทียม (Inclusive Society) เพื่อไม่ให้มีคนถูกทิ้งไว้ข้างหลัง โดยจัดทำโครงการหลากหลาย ทั้ง Sea Scholarship โครงการมอบทุนการศึกษาให้นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่มีผลการเรียนดีแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ให้มีโอกาสได้เรียนต่อและพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ รวมถึงความร่วมมือกับ Steps กิจการเพื่อสังคมที่มุ่งฝึกอบรมและพัฒนาทักษะอาชีพสำหรับบุคคลที่มีความแตกต่างในด้านการเรียนรู้ในประเทศไทย เพื่อสนับสนุนการสร้างสรรค์สังคมที่โอบรับความแตกต่างและเอื้ออำนวยให้เกิดความเท่าเทียมในการดำรงชีวิตและทำงาน และการสนับสนุนโรงเรียนที่ขาดแคลนอุปกรณ์ประกอบการเรียนการสอน 

3) การช่วยเหลือผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติต่าง ๆ (Disaster Relief) ช่วงที่ผ่านมาได้ใช้ทรัพยากรช่วยเหลือ อาทิ ช่วงถังออกซิเจนขาดแคลน Sea และบริษัทในเครือ ได้ส่งมอบถังออกซิเจนให้กระทรวงสาธารณสุข รวมถึงการใช้แพลตฟอร์ม Shopee ในการจองฉีดวัคซีน เพื่อนำประโยชน์ของแพลตฟอร์มมาปรับใช้เพื่อส่งต่อคุณค่าให้กับสังคม 

นับเป็นเวลา 3 ปีกว่า นับตั้งแต่ Sea (Group) ประกาศยุทธศาสตร์ 10 in 10 ตั้งเป้าสร้าง ‘Digital Talent’ 10 ล้านคน ใน 10 ปี ปัจจุบัน Sea (ประเทศไทย) ได้ช่วยพัฒนาทักษะดิจิทัลให้คนไทยได้แล้วประมาณ 4.18 ล้านคน

ล่าสุด Sea (ประเทศไทย) ยังได้เปิดตัว Sea Academy แพลตฟอร์มที่รวบรวมความรู้หลากหลายด้านจากโครงการต่าง ๆ ที่ Sea ทำ ไม่ว่าจะเป็นการใช้อีคอมเมิร์ซและการทำธุรกิจในยุคออนไลน์ การเงินดิจิทัลและความปลอดภัย และทักษะสำหรับอาชีพในวงการเกมและอีสปอร์ต โดยแพลตฟอร์มจะทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมของทักษะดิจิทัลต่าง ๆ ซึ่งจะมีการอัพเดทคอนเทนต์เข้าไปเรื่อย ๆ และเปิดให้คนเข้าถึงความรู้ได้อย่างอิสระ 

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ