เป็นเวลากว่า 60 ปีแล้วที่มนุษยชาติสามารถประดิษฐ์คิดค้นจรวดเชื้อเพลิงเหลวและดาวเทียมซึ่งนำไปสู่การสำรวจอวกาศทางกายภาพอย่างจริงจัง จากจุดเริ่มต้นของการเฝ้าสังเกตการณ์ดวงดาวและวัตถุบนท้องฟ้า พัฒนาสู่ความร่วมมือในการสร้างความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอวกาศ โดยเฉพาะดาวเทียมที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลภูมิสารสนเทศ (Geographic Information System-GIS) จากอวกาศส่งกลับมายังโลก ถูกพัฒนาเพื่อวัตถุประสงค์ใช้งานที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น
อาทิ ดาวเทียมดาราศาสตร์สำหรับการสำรวจดวงดาวและวัตถุในอวกาศ ดาวเทียมเพื่อการติดต่อสื่อสารโดยใช้คลื่นวิทยุ ดาวเทียมสำรวจทรัพยากรโลกเพื่อการติดตามทรัพยากรสิ่งแวดล้อมและการจัดทำแผนที่ต่าง ๆ ดาวเทียมนำร่องในการหาตำแหน่งพื้นที่บนโลก ดาวเทียมจารกรรมเพื่อประโยชน์ในกิจการทางทหาร ป้องกันการจารกรรมและการเตือนภัยการโจมตีทางอากาศ และดาวเทียมอุตุนิยมวิทยาเพื่อกิจการพยากรณ์อากาศโลก ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการประยุกต์ใช้ข้อมูลอวกาศเป็นมากกว่าการเรียนรู้เรื่องของระบบสุริยจักรวาล แต่นำมาซึ่งการพัฒนาระบบเศรษฐกิจ ส่งเสริมความมั่นคงของประเทศ ตลอดจนสร้างความยั่งยืนให้มนุษย์และสิ่งแวดล้อม
จีไอเอสกับการพัฒนาประเทศ
ข้อมูลภูมิสารสนเทศ หรือจีไอเอส (GIS – Geographic information system) ปัจจุบันมีบทบาทสำคัญสูงต่อการส่งเสริม “ความมั่นคงของประเทศ” และ “ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ” ความที่จีไอเอสเป็นข้อมูลที่ปรากฎทั้งภาพและตัวอักษรในรูปแบบข้อมูลเชิงแผนที่ซึ่งถูกปรับปรุงให้ใหม่เสมอด้วยเทคโนโลยีดาวเทียม ซึ่งทำให้สามารถมองเห็นความเปลี่ยนแปลงทางภูมิศาสตร์ที่เกิดขึ้นบนโลกได้อย่างชัดเจนและฉับไวมากขึ้น
เมื่อประเด็นความมั่นคงของประเทศที่สัมพันธ์กับการใช้ข้อมูลด้านจีไอเอสกำลังถูกท้าทายว่า ถึงเวลาแล้วหรือยังที่แต่ละประเทศควรมีกองทัพอวกาศ อันหมายถึง การมีดาวเทียมเป็นของตัวเอง เพื่อการใช้งานที่แยกจากกันโดยเด็ดขาดระหว่างการใช้งานทางธุรกิจและงานความมั่นคง หรือระหว่างกิจการพลเรือนและกิจการทางทหาร อาทิ การใช้ข้อมูลด้านจีไอเอสเพื่อติดตามความเคลื่อนไหวเพื่อการวางแผนป้องกันประเทศ การกำหนดข้อมูลการสื่อสารที่เป็นความลับเพื่อป้องกันการสอดแนม ส่วนความมั่นคงทางเศรษฐกิจจะไปเกี่ยวข้องกับการใช้ข้อมูลที่ได้รับจากอวกาศเพื่อสร้างธุรกิจที่ยั่งยืนในหลายมิติ เช่น การส่งเสริมภาคการเกษตรโดยอาศัยข้อมูลด้านภูมิอากาศในการวางแผนด้านผลผลิต ภาคการขนส่งและคมนาคมซึ่งอาศัยการศึกษาแผนที่ทางดาวเทียมเพื่อพัฒนาระบบขนส่ง การใช้ข้อมูลเชิงพื้นที่ ข้อมูลเชิงตำแหน่งเพื่อกำหนดเขตการลงทุนได้อย่างเหมาะสมและคุ้มค่า
มูลค่าเศรษฐกิจอวกาศ
เมื่อนิยามกิจการอวกาศถูกพูดถึงในมิติของคำว่า “เศรษฐกิจอวกาศ” หรือ Space Economy ซึ่งทำลายกำแพงการผูกขาดโดยรัฐหรือประเทศมหาอำนาจใด ๆ แต่เป็นเรื่องที่ทุกประเทศหรือทุกองค์กรสามารถดำเนินธุรกิจหรือกิจการด้านอวกาศได้ ตั้งแต่ระดับนอกโลก (Outer Space) เช่น การส่งดาวเทียมไปโคจรในอวกาศเพื่อการเก็บข้อมูล การสื่อสาร การรักษาความปลอดภัย และระดับพื้นโลก (Ground Station) ในการรับและนำสัญญาณข้อมูลดาวเทียมไปหนุนเสริมการพัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อการใช้ประโยชน์ด้านต่าง ๆ
ในต่างประเทศเคยมีการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจอวกาศในปี 2567 ไว้สูงราว 7 หมื่นล้านบาท ในขณะที่ปี 2569 จะเพิ่มเป็น 1 แสน 3 หมื่นล้านบาท สำหรับประเทศไทยในแต่ละปีจะมีเศรษฐกิจที่หมุนเวียนเกี่ยวข้องกับกิจการอวกาศประมาณ 1 หมื่นล้านบาท โดยเป็นการพัฒนาแอปพลิเคชันเป็นส่วนใหญ่
ดร. ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) GISTDA กล่าวกับ The Story Thailand ว่า ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา บุคลากรด้านกิจการอวกาศของไทยมีจำนวนเพิ่มขึ้นทั้งจากภาคภาครัฐและเอกชน รวมถึงเด็กรุ่นใหม่จบการศึกษาด้านอวกาศหรือดาวเทียมมาโดยตรง ทำให้มั่นใจได้ว่าในอีก 10-15 ปีข้างหน้า ไทยจะมีบุคลากรที่มากพอในการขับเคลื่อนประเทศสู่การเป็นเป็นตลาดเกิดใหม่ด้านเศรษฐกิจอวกาศได้แน่นอน นอกจากนี้ ยังมีบริษัทเอสเอ็มอีเกิดใหม่อีกมากกว่า 10 บริษัท ซึ่งสามารถพัฒนานวัตกรรมที่ไฮเทคมากๆ เรื่องกิจการอวกาศ ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมบริษัทขนาดใหญ่ และธุรกิจปลายน้ำที่นำเอาข้อมูลจากอวกาศมาใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ซึ่งก็มีจำนวนมากอยู่แล้ว
“ด้วยความที่เทคโนโลยีอวกาศมีการขับเคลื่อนเร็ว และมีทิศทางเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเยอะมาก เกิดความต้องการใช้ข้อมูลด้านจีไอเอสอย่างมากเพื่อสร้างโซลูชันที่ตอบโจทย์การดำรงชีวิตของมนุษย์ อีกทั้งตัวเทคโนโลยีเองก็มีความหลากหลายและต้นทุนถูกลง ดังนั้น รัฐจึงมีหน้าที่ในการเตรียมโครงสร้างพื้นฐานให้พร้อมต่อการพัฒนาแผนภูมิสารสนเทศเพื่อขับเคลื่อนและส่งเสริมเศรษฐกิจการค้า”
15 ปียุทธศาสตร์อวกาศไทย
สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) GISTDA (จิสด้า) ถือเป็นหน่วยงานยุทธศาสตร์สำคัญในการส่งเสริมเทคโนโลยีโอกาส ตลอดจนกำหนดทิศทางการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและนวัตกรรมภูมิสารสนเทศของไทยให้สามารถแข่งขันกับนานาประเทศ
หนึ่งในภารกิจสำคัญของจิสด้าโดยคณะกรรมการภูมิสารสนเทศแห่งชาติ คือ การร่างแผนแม่บทกิจการอวกาศของประเทศ 15 ปี และการจัดทำร่างพระราชบัญญัติกิจการอวกาศ เพื่อให้ได้กฎระเบียบและแนวปฏิบัติที่เอื้อต่อการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานของธุรกิจอวกาศและกิจการอวกาศต่าง ๆ ใน 3 แนวทางหลัก ได้แก่ หนึ่ง การผลักดันให้เกิดการประยุกต์ใช้ข้อมูลด้านจีไอเอสไปสู่การพัฒนาระบบเศรษฐกิจไทยในทุกภาคส่วน ทั้งภาคการเกษตร อุตสาหกรรม คมนาคมขนส่ง ธุรกิจและการตลาด เป็นต้น
สอง การระดมทุน หรือการจัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวกับข้อมูลด้านจีไอเอส เพื่อให้นักพัฒนาสามารถเข้าถึงข้อมูลให้มากที่สุด และเกิดประโยชน์สูงสุดสำหรับการนำไปใช้ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาซอฟต์แวร์แอปพลิเคชัน การใช้งานไอโอที ดิจิทัล ทวิน ข้อมูลระบบสถิติต่าง ๆ ในประเทศไทย (The National Statistic System-TNSS)
และ สาม การอำนวยความสะดวกด้านการจัดหาแหล่งเงินทุนเพื่อส่งเสริมธุรกิจเอสเอ็มอีหรือสตาร์ตอัพในการต่อยอดธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นโรงงานสร้างและประกอบดาวเทียม การพัฒนาระบบรับสัญญาณดาวเทียม ตลอดจนการปรับปรุงกฎระเบียบต่าง ๆ ในการเข้าถึงข้อมูล ระบบลงทะเบียน และทะเบียนนวัตกรรมที่ง่ายและสะดวกมาก
โดยแผนส่งเสริมกิจการอวกาศ 15 ปี ประกอบด้วย 8 ยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่ 1) ยุทธศาสตร์ด้านกิจการความมั่นคงของประเทศทั้งด้านการทหาร เศรษฐกิจ ธุรกิจ และการดำรงชีวิต 2) ยุทธศาสตร์ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อลดปริมาณคาร์บอน ฝุ่นละออง การเตือนภัยและป้องกันภัยพิบัติต่าง ๆ 3) ยุทธศาสตร์การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับกิจการอวกาศ 4) ยุทธศาสตร์การพัฒนาทรัพยากรบุคคลด้านเทคโนโลยีอวกาศ 5) ยุทธศาสตร์การสนับสนุนเอสเอ็มอีและบริษัทที่เกี่ยวข้องกับกิจการอวกาศเพื่อเป้าหมายเชิงเศรษฐกิจผ่านการจัดหาแหล่งเงินทุน การพัฒนานวัตกรรม การพัฒนาบุคลากร ตลอดจนการสร้างงาน และหาตลาดเป้าหมาย 6) ยุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างประเทศในการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ 7) การจัดทำพระราชบัญญัติกิจการอวกาศเพื่อมุ่งให้เกิดการส่งเสริมอย่างมีทิศทางและเป็นระบบ และ 8) ยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเครื่องมือต่าง ๆ
ยุทธศาสตร์ทั้ง 8 ข้อ เน้นการส่งเสริมทั้งห่วงโซ่ต้นน้ำ (Upstream) คือ การพัฒนาเชิงเทคโนโลยีและวิศวกรรมด้านอวกาศเพื่อกิจการนอกโลกและบนพื้นโลก และห่วงโซ่ปลายน้ำ (Downstream) คือ การบูรณาการเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลด้านจีไอเอสจากอวกาศ และข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ บนพื้นโลกมาวิเคราะห์และเกิดการใช้ประโยชน์ร่วมกัน
โดยแบ่งการทำงานออกเป็น 3 ระยะ สั้น-กลาง-ยาว ตลอดจนยกระดับไทยจากการเป็นผู้ใช้ไปสู่การเป็นผู้พัฒนาและเจ้าของเทคโนโลยีด้วยตัวเองให้ได้ในอนาคต ซึ่งแผนแม่บทฯ ณ ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนที่ทางกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี
ไทยในห่วงโซ่กิจการอวกาศ
ประเทศไทยถือว่ามีศักยภาพที่แข็งแกร่งในการพัฒนาห่วงโซ่ปลายน้ำของกิจการอวกาศ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ประโยชน์ของข้อมูลด้านจีไอเอสดาวเทียมเพื่อพัฒนาแอปพลิเคชันที่ครอบคลุมรอบด้านทั้งการใช้ชีวิตประจำวัน การส่งเสริมธุรกิจภาคการเกษตร อุตสาหกรรม การสื่อสาร ระบบคมนาคมและโลจิสติกส์ต่าง ๆ อาทิ การพัฒนาแผนที่จากดาวเทียมการใช้ช้อมูลเชิงแผนที่ ข้อมูลเชิงตำแหน่งในการบอกเส้นทาง หรือระบุพิกัดที่ตั้งที่เหมาะสมในการลงทุนด้านอุตสาหกรรม เป็นต้น ประกอบกับที่ตั้งของไทยซึ่งอยู่ในตำแหน่งการรับสัญญาณดาวเทียมของอาเซียนที่ดี จึงทำให้การรับ-ส่งข้อมูลมีความแม่นยำสูง ส่วนแนวโน้มใหม่ที่ประเทศไทยกำลังส่งเสริมผลักดัน คือ การใช้จีไอเอสในมิติของการลดปริมาณคาร์บอนที่นำมาซึ่งมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม เช่น คาร์บอนเครดิต
สำหรับห่วงโซ่ต้นน้ำที่เกี่ยวข้องกับงานด้านวิศวกรรม เช่น การสร้างยานอวกาศ ดาวเทียม ซึ่งใช้เทคโนโลยีชั้นสูงเป็นสิ่งที่ไทยเริ่มมองเห็นสัญญาณการเติบโตจากการที่มีสตาร์ทอัปเกิดขึ้นจำนวนมากและเริ่มเดินเข้าสู่ตลาดมากขึ้น ซึ่งขณะนี้มีมากกว่า 10 บริษัท ทั้งที่เกิดจากน้องๆ มหาวิทยาลัยและอาจารย์ร่วมกันสร้าง การเกิดขึ้นของบริษัทภาคเอกชนในการผลิตชิ้นส่วนประกอบดาวเทียม เช่น มิว สเปซฯ (mu Space) หรือน้องคนไทยในสหรัฐอเมริกาที่กำลังศึกษาวิจัยเรื่องวัสดุศาสตร์สำหรับนำมาใช้ในการทำยานอวกาศ ดาวเทียม
สิ่งที่รัฐต้องให้การสนับสนุน คือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การสร้างโรงประกอบ-ทดสอบดาวเทียม ซึ่งได้รับความสนใจจากทั้งบริษัทคนไทยและต่างชาติเข้ามาใช้บริการ รวมถึงการเปิดให้เข้าถึงข้อมูลสำหรับบริษัทที่ต้องการสร้างนวัตกรรมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ ทั้งจากฝั่งของการใช้ข้อมูล และการสร้างดาวเทียม ซึ่งเป็นการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นทั้งทางตรงและทางอ้อม
“ประเทศไทยเมื่อ 20 ปีที่แล้ว เราถนัดงานปลายน้ำ คือ การนำข้อมูลมาใช้ แต่ไม่สันทัดงานต้นน้ำที่เป็นงานด้านวิศวกรรมดาวเทียม อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ทุกอย่างกำลังเดินไปอย่างรวดเร็ว เรารุกเข้าสู่ตลาดต้นน้ำมากขึ้น ขณะที่มีนวัตกรรมปลายน้ำเกิดใหม่มากขึ้นเช่นกัน อย่างเรื่องการจัดการมลพิษในอวกาศ (Toxic Management) ไทยกำลังโตขึ้นเรื่อย ๆ และเริ่มเดินสายประมูลงานและการขายงานในประเทศต่าง ๆ เพิ่มขึ้น”
ประสานความร่วมมือรัฐ-เอกชน
ดร.ปกรณ์ กล่าวว่า บทบาทของจิสด้าในการร่วมมือกับภาครัฐมุ่งเน้นให้เกิดทั้งด้านงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรม การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี การส่งเสริมเศรษฐกิจ และการสร้างคนมีด้วยกันหลายประการ อาทิ การร่วมมือกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) การทำงานร่วมกับกระทรวงกลาโหมด้านความมั่นคงของประเทศ ร่วมกับกระทรวงมหาดไทยในการเฝ้าระวังและป้องกันน้ำท่วม ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการดูแลผลผลิตทางเกษตร หรือร่วมกับกรมทางหลวงเกี่ยวกับการกำกับเส้นทางคมนาคม รวมถึงการพัฒนาทรัพยากรบุคคล ทั้งการสร้างหลักสูตรต่าง ๆ ในการพัฒนาดาวเทียม หลักสูตรการประยุกต์ใช้ข้อมูลโดยร่วมมือกับต่างประเทศเพื่อส่งคนไปศึกษาหรือรับการฝึกอบรมทุกปี
สำหรับความร่วมมือกับเอกชน จิสด้าทำหน้าที่ส่งต่อความร่วมมือที่เกิดขึ้นกับภาครัฐไปสร้างประโยชน์ให้กับเอกชน เช่น การสร้างเศรษฐกิจธุรกิจจากการใช้ข้อมูลที่เกิดขึ้นไปพัฒนาเทคโนโลยีและธุรกิจ รวมถึงการพัฒนาองค์ความรู้เพื่อหนุนเสริมขีดความสามารถของบุคลากร (Capacity Building) ผ่านคอร์สฝึกอบรมต่าง ๆ ให้กับประชาชนทั่วไป นักศึกษา อาจารย์ หรือภาคเอกชน ความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐในการส่งเสริมเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัปทั้งในเรื่องวิศวกรรมอวกาศ และภูมิสารสนเทศ ทั้งการจัดหาเงินทุน การแบ่งปันข้อมูล การจัดแข่งขันเพื่อกระตุ้นให้เกิดการสร้างนวัตกรรมหรือแอปพลิเคชันใหม่ ๆ กระทั่งการทดลองสร้างแซนด์บ็อกซ์ และการพัฒนาบุคลากรด้านกิจการอวกาศที่ต้องมีงานมารองรับ
“ข้อมูลด้านจีไอเอสจากอวกาศ ถือเป็นหัวใจที่เป็นภาครัฐต้องลงทุน จัดหา และส่งเสริมทุกภาคส่วนให้เกิดการใช้งานที่มากที่สุด เสียเปล่าน้อยที่สุด เพราะปัจจุบันเทคโนโลยีและกิจการอวกาศไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป แต่เป็นสิ่งที่มนุษย์ได้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้อยู่แล้วทุกวัน ดังนั้น กิจการอวกาศจึงถือเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจที่ไม่ควรมองข้าม และต้องช่วยกันขับเคลื่อนให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งกับประเทศไทยและโลกของเรา”