TH | EN
TH | EN
spot_imgspot_imgspot_img
หน้าแรกInterviewCEO Storyเปิดใจ “ยอด ชินสุภัคกุล” แห่ง LINE MAN Wongnai กับความฝันสู่ "แพลตฟอร์มบริการแห่งชาติ"

เปิดใจ “ยอด ชินสุภัคกุล” แห่ง LINE MAN Wongnai กับความฝันสู่ “แพลตฟอร์มบริการแห่งชาติ”

จากสตาร์ตอัพเล็ก ๆ สู่ยูนิคอร์นรายที่ 3 ของไทย เริ่มต้นด้วยธุรกิจสื่อออนไลน์ด้านอาหาร พัฒนาเติบใหญ่กลายเป็นผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอรี่อันดับหนึ่งที่มีทีมงานเกี่ยวข้องนับแสนคน มีข้อมูลร้านอาหารในระบบหลายแสนร้านครอบคลุมทั่วประเทศ และผู้ใช้บริการกว่า 10 ล้านรายต่อเดือน

เรื่องราวของ LINE MAN Wongnai บนเส้นทางก่อร่างสร้างธุรกิจมานานกว่าสิบปี จากคำบอกเล่าของ “ยอด ชินสุภัคกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ในฐานะผู้ก่อตั้งและผู้บริหารสูงสุด จึงมีหลายแง่มุมที่น่าสนใจ ทั้งเรื่องที่มาของความสำเร็จและความฝันในอนาคตที่กำลังมุ่งไป

สู่ Food Platform อันดับหนึ่ง

LINE MAN Wongnai เป็นแพลตฟอร์มด้านอาหารครบวงจร ที่เกิดจากการควบรวมกิจการระหว่าง LINE MAN (ไลน์แมน) แพลตฟอร์มบริการขนส่งออนดีมานด์ที่มีผู้ใช้งานมากกว่า 3 ล้านคนต่อเดือน มีฐานข้อมูลร้านอาหารกว่า 2 แสนร้าน กับ Wongnai (วงใน) แพลตฟอร์มข้อมูลร้านอาหารที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคของไทยนานกว่า 10 ปี มีผู้ใช้งานมากกว่า 10 ล้านคนต่อเดือน และมีฐานข้อมูลร้านอาหารกว่า 4.3 แสนร้าน

การรวมกันในปี 2563 ทำให้ LINE MAN Wongnai กลายเป็นฟู้ดเดลิเวอรี่ที่มีความแข็งแกร่งเหนือกว่าผู้ให้บริการรายอื่น ๆ เนื่องจากจุดแข็งหลายด้าน

“หนึ่ง การมีฐานข้อมูลร้านอาหารมากที่สุด สอง การที่ LINE เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ซึ่งมีฐานผู้ใช้ในไทยเกือบ 50 ล้านราย ช่วยให้แคมเปญการตลาด หรือการทำโปรโมชัน สามารถเข้าถึงลูกค้าจำนวนมาก จนมีลูกค้าเพิ่มเข้ามาตลอดเวลา สาม การมี Local operation และทีมอยู่ในเมืองไทย ทำให้ทำงานได้เร็ว ปรับตัวได้ไว และทำให้การออกแบบบริการตอบโจทย์คนไทยได้ค่อนข้างดี”

CEO ของ LINE MAN Wongnai กล่าวถึง 3 ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ จนวันนี้สามารถขยายตลาดเข้าถึงลูกค้า 250 อำเภอ ใน 77 จังหวัด โดยมีจำนวนร้านอาหารให้บริการบนแพลตฟอร์มนี้มากกว่า 100,000 ร้าน ทำให้สามารถบริการลูกค้าได้ใกล้ชิดมากกว่า ส่งผลให้ช่วงสองปีที่ผ่านมายอดขายเติบโตถึง 15 เท่า จากตลาดรวมที่โตประมาณ 4.2 เท่า ขึ้นแท่นเป็นผู้นำตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่ในเมืองไทย

ปัจจุบัน LINE MAN Wongnai ให้บริการครบวงจรใน 3 ด้าน คือ หนึ่ง on-demand service ได้แก่ บริการส่งอาหาร (​food delivery) บริการเรียกรถ taxi บริการส่งเอกสาร/ส่งของ messenger และบริการส่งสินค้า ซึ่งเป็นการเชื่อมต่อผู้บริโภคเข้าสู่แพลตฟอร์ม สอง restaurant solution หรือการบริการที่ให้กับร้านค้า ประกอบด้วยแอปพลิเคชันสำหรับร้านค้า (merchant application) และระบบ POS (point of sale) สำหรับจัดการออร์เดอร์ทั้งจากหน้าร้านและจากช่องทางออนไลน์ สาม value added services เป็นบริการที่ให้กับผู้อยู่ในระบบนิเวศของ LINE MAN Wongnai อาทิ บริการโฆษณาและบริการทางการเงิน

ทั้งนี้ ก่อนที่จะรวมกันเป็นหนึ่งเดียว LINE MAN และ Wongnai เคยเป็นพันธมิตรทางธุรกิจที่เกื้อหนุนกันมาหลายปี การควบรวมกิจการที่ผ่านมาทำให้การเชื่อมต่อ online-to-offline สมบูรณ์ เกิดเป็น end-to-end Platform ของธุรกิจอาหารครบวงจรที่สุด ครอบคลุมทั้งผู้ใช้ ร้านอาหาร และบริการจัดส่ง ก่อให้เกิดความสะดวกแก่ผู้ใช้และร้านอาหาร สามารถตอบโจทย์ความต้องการของตลาดธุรกิจอาหารที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนปัจจุบันมีผู้ใช้บริการที่เป็น active user มากกว่า 10 ล้านรายต่อเดือน และเป็นช่องทางสร้างรายได้หลักให้แก่บริษัท

เส้นทางการเติบโต

ในฐานะผู้ก่อตั้ง Wongnai ตั้งแต่แรกเริ่มจนควบรวมกับ LINE MAN กลายเป็น LINE MAN Wongnai ยอด ชินสุภัคกุล ได้เล่าถึงเส้นทางการเติบโตว่าแบ่งได้เป็น 4 ยุค

ยุคเริ่มต้น ในปี 2553 เขาร่วมกับเพื่อนอีก 3 คน ซึ่งเรียนด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์มาด้วยกัน จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อตั้งบริษัททำธุรกิจให้บริการการค้นหาร้านอาหารผ่านทางเว็บไซต์ wongnai.com ขึ้นมา

“ตอนนั้นเราเป็นสตาร์ตอัพสุด ๆ ช่วง 2-3 ปีแรกไม่มี funding ต้องทำทุกอย่างเพื่ออยู่รอดให้ได้ ตอนนั้นมี co-founder กับพนักงานไม่กี่คน เป็นยุคที่มืดหน่อย มีความเสี่ยง ไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไรเพราะมีรายได้เข้ามาไม่มาก”

ช่วงปี 2553-2555 พวกเขาต้องอดทนทำธุรกิจด้วยความยากลำบากเนื่องจากรายได้จากโฆษณายังมีน้อยมาก แต่พยายามประคับประคองบริษัทให้เดินต่อไปได้จนผ่านไปสองปี ปี 2554 รายได้จากการขายโฆษณาเริ่มมากขึ้น ฐานสมาชิกเติบโตขึ้นเป็นประมาณ 30,000 คน

ยุคที่สอง หลังจากระดมทุนได้ในปี 2556 Wongnai ได้พัฒนาข้อมูลร้านอาหารให้ครอบคลุมจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ จำนวนไม่ต่ำกว่า 100,000 ร้าน จนมีผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นกว่า 500,000 คน ต่อมามีการพัฒนามาเป็นแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน โดยมีจุดเด่นตรงรีวิวอาหารและร้านอาหารจากลูกค้าที่ใช้บริการจริง

“ตอนนั้นตลาดมีสมาร์ทโฟนเข้ามาแล้ว เป็นช่วงที่ขยายทั้งธุรกิจและขยายบริษัทเพื่อทำให้ Wongnai ก้าวขึ้นเป็นอันดับหนึ่งในเรื่องเกี่ยวกับอาหาร เราก็ต้องขยายทีม สร้าง culture มองหา business model แล้วก็เติบโตขึ้นมาเรื่อย ๆ”

ยุคที่สาม ช่วงปี 2559-2561 เขาบอกว่าเป็นช่วงของการแตกหน่อธุรกิจ “หลังจาก Wongnai ขึ้นแท่นเป็นอันดับหนึ่งด้านอาหารแล้ว ก็ขยายธุรกิจออกไปทำ 3 อย่างหลัก “เราขยายบริการไปทางด้านบิวตี้ รีวิวและแนะนำร้านที่ทำเรื่องความสวยความงามและสปา ทำ POS เพื่อจับตลาด B2B มากขึ้น และเริ่มพาร์ทเนอร์กับ Line Man ทำฟู้ดเดลิเวอรี่”

โดยปี 2559 เริ่มเป็นพันธมิตรกับ LINE MAN นำฐานข้อมูลร้านอาหารราว 10,000 ร้านทั่วกรุงเทพฯ มาต่อยอดเป็นบริการใหม่ เปิดให้ผู้ใช้งานสามารถสั่งซื้ออาหารผ่าน LINE MAN ได้ จนถึงปี 2561 ออกบริการ Wongnai POS สำหรับร้านอาหารเพื่อใช้บริหารจัดการเรื่องการสั่งซื้อ

ยุคนี้ Wongnai ได้พัฒนาด้านคอนเทนต์ให้หลากหลายเพื่อขยายฐานผู้ใช้ให้กว้างขึ้น ไม่เพียงมี Wongnai Beauty ที่รีวิวและแนะนำสถานที่เกี่ยวกับเรื่องความสวยความงามและสปาในกรุงเทพฯ ยังเพิ่ม Wongnai Cooking สำหรับตอบโจทย์คนที่ชอบการทำอาหารลงในแอปด้วย

นอกจากนี้ในปี 2560 ได้เข้าซื้อกิจการเว็บไซต์ Blognone ที่เป็นที่รู้จักกันดีในแวดวงเทคโนโลยี และ Brand Inside เว็บไซต์ด้านธุรกิจที่เป็นน้องใหม่ในเครือเดียวกัน เพื่อขยายฐานตลาดแนวนอนเข้าถึงผู้ใช้กลุ่มใหม่ ๆ มากขึ้น

ยุคที่สี่ เริ่มจากการเข้ามาลงทุนของ LINE MAN แบบควบรวมกิจการในปี 2563 จนกลายเป็น LINE MAN Wongnai หลังจากซุ่มทำงานกันเงียบ ๆ อยู่นานถึง 2 ปี

“หลังจากเป็น LINE MAN Wongnai เราได้เปลี่ยนธุรกิจหลักมาเป็นฟู้ดเดลิเวอนรี่ เป็น transaction business ทำให้เติบโตขึ้นหลายสิบเท่าจากเดิมที่ยังเป็น Wongnai”

ผู้บริหารหนุ่มแห่ง LINE MAN Wongnai เล่าให้เห็นภาพที่เปลี่ยนไปว่า “เมื่อตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่ขยายใหญ่ขึ้น เราสามารถกินส่วนแบ่งตลาดได้มาก ดังนั้นวิธีการทำธุรกิจก็เปลี่ยนไปเป็น e-commerce มากขึ้น บริษัทก็เติบโตขยับมาเป็นบริษัทขนาดกลางอย่างเต็มตัว เปลี่ยนสถานะจาก startup มาเป็น tech company”

ทำให้ปี 2565 สามารถระดมทุนซีรีส์บี จำนวน 265 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 9,700 ล้านบาท) จนบริษัทมีมูลค่ารวมหลังระดมทุนมากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3.7 หมื่นล้านบาท) ก้าวสู่สถานะบริษัท tech startup ที่ใหญ่ที่สุดของไทย และเป็นยูนิคอร์นรายที่ 3

มุ่งสู่ Tech Company

ตามแผนเงินลงทุนดังกล่าวจะนำไปเสริมความแข็งแกร่งในธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่ และขยายสู่บริการใหม่ ๆ ด้วยการขยายทีมงานด้านเทคโนโลยี โดยตั้งเป้าเพิ่มจากจำนวน 350 คนเป็น 450 คน ภายในปี 2566 และยกระดับโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีของบริษัท

“เราอยากจะ IPO เพื่อจะพัฒนาเป็นบริษัท tech อันดับหนึ่งในประเทศไทย กลายเป็นบริษัทใน SET 50 ตามเป้าหมายถัดไปที่เราคาดหวังไว้ คือการสร้างให้เราเป็น national champion ทางด้านเทคโนโลยีในเมืองไทย”

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร LINE MAN Wongnai บอกว่าจากนี้ต้องขยายไปทำธุรกิจอื่น ๆ ที่เป็นเรื่องเทคโนโลยีให้มากขึ้น เช่นเรื่อง e-services ต่าง ๆ หรือการ digitalize ธุรกิจท้องถิ่นต่าง ๆ จำนวนนับล้านราย เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงทำให้คุณภาพชีวิตของคนไทยจำนวนมากดีขึ้น

“เราวางกรอบธุรกิจของเราว่าเป็น e-commerce platform for services เราไม่ได้ขายสินค้า แต่เราขายบริการ เราเชื่อมต่อคนเข้าสู่ local business ซึ่งตอนนี้ธุรกิจเกี่ยวกับอาหารเป็นกลุ่มที่ใหญ่ที่สุด แต่นี่ไม่ใช่สิ่งเดียวที่คนเราต้องการ ร้านอาหารมีสัดส่วนเพียง 15-20 เปอร์เซ็นต์ของ SME ทั้งประเทศ ยังมีร้านขายสินค้าอื่น ๆ อีกมาก เราก็ต้องมองว่าจะสามารถเชื่อมต่อผู้บริโภคเข้ามายังร้านเหล่านี้ได้อย่างไร”

“ผู้บริโภคในเขตเมืองจะมีความต้องการบริการฟู้ดเดลิเวอรี่ค่อนข้างมาก แต่นอกเมืองผู้บริโภคต้องการอะไร เป็นสิ่งที่เราต้องค้นหา” เขาย้ำว่า “ตลาดยังสามารถใหญ่กว่านี้ กว้างมากกว่านี้ และลงลึกได้มากกว่านี้”

โดยขณะนี้ทางบริษัทมีบริการที่เข้าถึงประมาณ 250 อำเภอ จากทั้งหมด 878 อำเภอ จึงมีพื้นที่อีกมากที่ยังเข้าไม่ถึง “เป็นหน้าที่เราต้องพยายามไปให้ถึง และค้นหาว่าผู้บริโภคเหล่านั้นต้องการบริการอะไร”

“ผมคิดว่าเราสามารถทำ consumer technology ได้ ถ้าเราสามารถทำให้วิสัยทัศน์ของเราเป็นจริง คือการเชื่อมต่อผู้บริโภคจำนวนมากเข้ากับร้านค้าจำนวนมากได้อย่างที่ต้องการ”

อย่างไรก็ตาม เขาให้ความเห็นว่าการทำ consumer technology จะมีความยากขึ้น เพราะนอกจากการมีคู่แข่งจากทั่วโลกแล้ว ยังมีความเป็น deep tech มากขึ้น ถ้าจะเป็นเทคโนโลยีที่เกิดในไทยอาจจะต้องเป็นสิ่งที่ specific กับเมืองไทยจริง ๆ เช่น การทำ B2B ที่เน้นลูกค้าองค์กร อาจจะมีโอกาสมากกว่า

เคล็ดลับสู่ความสำเร็จ

CEO หนุ่มวัย 39 ปี บอกเคล็ดลับที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จตลอดช่วงกว่าสิบปีที่ผ่านมาว่า ไม่ใช่เรื่องวิสัยทัศน์ที่มองการณ์ไกล แต่เป็นเรื่องของ “ความเร็ว” และความสามารถในการ “ปรับตัว” ให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง

“ผมคิดว่าเราปรับตัวได้ดี ตั้งแต่เริ่มทำ Wongnai เป็นเว็บไซต์ มาเป็นโมบายแอป เป็นร้านอาหาร บิวตี้ จนมาร่วมมือกับ LINE MAN ทำฟู้ดเดลิเวอรี่ ทำ POS จะเห็นว่าทุก 2 ปีเราจะมีการปรับตัวครั้งใหญ่เสมอ โดยครั้งล่าสุดหลังจากรวมตัวเข้ากับ LINE MAN ก็เปลี่ยนวิธีการทำงานไปมาก การทำงานจะต้องอิงข้อมูลมากขึ้นเพราะธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มเงินทุกบาททุกสตางค์มีค่าหมด”

เขายืนยันว่าการปรับตัวเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ๆ กับการทำธุรกิจ โดยเฉพาะตลาดที่มีการหมุนเปลี่ยนค่อนข้างเร็ว เป็นตลาดที่คาดการณ์อะไรไม่ได้มากนัก “การเปิดรับอะไรใหม่ ๆ การไม่ดื้อไม่ยึดติดเป็นสิ่งที่สำคัญ ดังนั้นเมื่อมีข้อมูลใหม่เข้ามาว่าตลาดมันเปลี่ยนไปแล้ว เราสามารถปรับตัวได้ค่อนข้างดี”

“เราเปลี่ยน core value โดยปรับตัวให้เข้ากับธุรกิจใหม่ได้อย่างรวดเร็ว และที่สำคัญอีกสิ่งคือ ความอึด อดทน ไม่ยอมแพ้ ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค ถ้าเจออุปสรรคที่ทำให้ผิดหวังก็ไม่ถอดใจ ลุกขึ้นมาสู้ใหม่ได้เร็ว นี่เป็นสิ่งที่ผมให้ความสำคัญ”

นอกจากนี้ การคาดการณ์อนาคตและลงมือในจังหวะที่เหมาะสมก็สำคัญ เขาเปิดเผยว่าช่วงเริ่มทำ Wongnai เขาลงทุนพัฒนาโมบายแอปพลิเคชั่นก่อนที่สมาร์ทโฟนจะเป็นที่นิยมเสียอีก

“ตอนนั้นคนยังใช้ Blackberry อยู่เลย เราเริ่มจากทำเว็บไซต์ แล้วก็ทำแอปสำหรับ Blackberry ด้วย หลังจากนั้น iPhone ก็เข้ามา เวลานั้นเครื่องแอนดรอยด์ยังไม่เป็นที่นิยมเลย พอสมาร์ทโฟนเป็นที่นิยมเราก็อยู่ตรงนั้นแล้ว”

ซึ่งเรื่องนี้มีผลต่อการเติบโตของ Wongnai อย่างมาก เขาย้ำอย่างชัดเจนว่า “เราค่อยๆ โตขึ้นมาพร้อมกับตลาดสมาร์ทโฟน”

เมื่อถามว่าวิสัยทัศน์ในการมองการณ์ไกลเป็นคุณสมบัติที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จหรือไม่ ยอดปฏิเสธทันที พร้อมกับเน้นว่า “ผมเป็นนักเลียนแบบชั้นดี ถ้าเห็นโอกาสก็สามารถจะผลักดันไปได้อย่างรวดเร็ว และมุ่งมั่นจดจ่อกับสิ่งนั้น”

ตัวอย่างเช่นการเริ่มต้นทำเว็บไซต์รีวิวร้านอาหารเมื่อกว่าสิบปีก่อนมาจากประสบการณ์ที่ได้เห็นจากประเทศอื่น หนึ่งในนั้นคือบริการของ Yelp เว็บไซต์แนะนำร้านอาหารที่เขาเคยใช้บริการเป็นประจำระหว่างเรียน MBA ที่ UCLA Anderson ประเทศสหรัฐอเมริกา

เช่นเดียวกับการตัดสินใจรวมบริษัทกับ LINE MAN เนื่องจากมองเห็นว่าตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่ของไทยโตเร็วมาก จึงต้องพยายามรวมตัวกันเพื่อให้ตัวเองมีกำลังที่ใหญ่พอที่จะขยายตัว “เราตอบสนองได้เร็วกับข้อมูลใหม่ที่เข้ามา มากกว่าการที่จะบอกว่าเรามีวิสัยทัศน์มองเห็นในสิ่งที่คนอื่นยังมองไม่เห็น”

“LINE MAN กับ Wongnai ควบรวมกิจการกันในช่วงเกิดโควิดพอดี หลังเกิดโควิดฟู้ดเดลิเวอรี่โตขึ้นหลายเท่า เราอยู่ในจุดที่พร้อมโตได้พอดี มันเป็นจังหวะที่คลื่นมาในตอนที่เราอยู่ตรงนั้นพอดี”

บทเรียนทางธุรกิจ

ยอดบอกว่าประสบการณ์ที่ผ่านมาทำให้ได้เรียนรู้บทเรียนหลายเรื่องทั้งจากความสำเร็จและผิดพลาด เรื่องหนึ่งที่สำคัญคือการเปิดรับโอกาส จากกรณีที่เปิดรับเรื่อง M&A คือการควบรวมกิจการกับ LINE MAN ในปี 2563 ทั้งที่เคยมีแผนจะเข้า IPO ในปี 2562

เขาเปิดเผยว่า ช่วงปี 2559-2561 Wongnai เห็นแล้วว่าตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่เติบโตมาก อยากจะเข้ามาทำธุรกิจตลาดนี้ จึงได้ทำแผน A และแผน B พร้อมกัน ระหว่างการมุ่งไปที่การเข้าระดมทุนจาก IPO กับโอกาส M&A เพื่อมีทางเลือกได้ตามสถานการณ์

“ทางเลือกหลักของสตาร์ตอัพมี 2 ทาง ไม่ทำ IPO ก็ต้อง M&A ซึ่งเราเปิดรับทั้งสองทาง แม้การควบรวมกับ LINE MAN จะทำให้ความเป็นเจ้าของลดลง หรือแม้แต่ชื่อที่ต้องเปลี่ยนไปเป็น LINE MAN Wongnai ผมไม่ได้ยึดติดอะไร ถ้าทำให้ขนาดตลาดของเราใหญ่ขึ้น ผมก็โอเค”

เรื่องนี้ให้บทเรียนแก่เขาว่า “เราไม่สามารถเอาอนาคตของบริษัทไปผูกติดกับแผน A เพียงอย่างเดียวได้”

ในเวลาเดียวกันก็มีบทเรียนอีกด้าน คือ ช่วงปี 2559-2560 เขารู้ว่าตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่เติบโต แต่คาดไม่ถูกว่าจะขนาดไหน ทำให้ตัดสินใจผิดพลาด

“ถ้าเรารู้ว่าตลาดนี้จะใหญ่ขนาดไหน เราจะเน้นลงทุนให้มากกว่านี้ และทำให้เร็วกว่านี้ แต่ครั้งนั้นเราต้องสูญเสีย first mover ให้กับคู่แข่งไป ทำให้ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เราต้องเล่นเกม cash up ค่อนข้างเยอะ”

วันที่ต้องเปลี่ยนไป

“ทุกอย่างเปลี่ยนไปเมื่อขนาดองค์กรเปลี่ยนไป” ยอดเล่าว่าตอนที่ยังเป็นสตาร์ตอัพเล็ก ๆ ไม่ต้องมีระบบระเบียบมากมาย ไม่ต้องมีวัฒนธรรมองค์กร ไม่มีแผนกต่าง ๆ เมื่อบริษัทโตขนาด 50-100 คน จึงเริ่มมีแผนกเกิดขึ้น เช่น แผนกบัญชี หรือ แผนกบุคคล มาถึงปัจจุบันเป็นบริษัทขนาดกลางมีพนักงานเกือบ 1,000 คน การบริหารจัดการจำเป็นต้องมีระบบมากขึ้นทั้งเรื่อง process หรือ check & balance มีแผนกต่าง ๆ เกิดขึ้น

“องค์กรก็แข็งแรงขึ้นมาก เราป้องกันความเสี่ยงได้ดีขึ้น มีความสามารถในการบริหารจัดการด้านการเงินดีขึ้น รัดกุมมากขึ้น แต่เราก็ยังต้องพยายามรักษาด้าน speed ไว้ให้ได้ เรารู้ว่าทำอะไรเร็วเกินไปจะมีความเสี่ยง แต่ขณะเดียวกันก็ต้องพยายามคงความเร็วโดยที่มี check & balance ค่อนข้างดีด้วย”

เขาบอกว่าตอนนี้บริษัทเปลี่ยนจากธุรกิจมีเดียมาเป็นฟู้ดเดลิเวอรี่แบบเต็มตัว คุณค่าที่ยึดถือปฏิบัติ (core values) ก็เปลี่ยนไป ตอนที่ยังเป็น Wongnai ทำสื่อเป็นหลัก เรื่องของ speed, passion และ flexible จะเน้นมาก หลังจากเปลี่ยนเป็น LINE MAN Wongnai ก็ลดเรื่อง passion กับความ flexible ลง แต่ยังคง speed ไว้ และเสริมในเรื่อง data oriented เข้ามา

“เราเน้น data oriented มากขึ้น ลงรายละเอียดในการทำงานมากขึ้น เพราะว่าการปรับเปลี่ยนอะไรหนึ่งครั้ง เช่น ราคา หรือคูปองส่วนลด ทำให้เกิดผลกระทบมหาศาลพอสมควร ขณะเดียวกันเราพยายามคงความเร็วเอาไว้ เราลดเรื่องของ passion เพราะว่าไม่ได้ทำด้านมีเดียเป็นธุรกิจหลัก ไม่จำเป็นต้องมีการครีเอทตลกโปกฮาเยอะแบบเดิมอีกต่อไป นี่คือสิ่งที่เปลี่ยนไปค่อนข้างชัดเจน”

ทุกวันนี้วัฒนธรรมองค์กรที่เขาดูแลยึดถือในคุณค่า 3 ประการ ได้แก่ Innovate Faster ลงมือให้เร็ว, Go Deeper ลงรายละเอียดให้มาก และ Respect Everyone เคารพทุกคนอย่างเท่าเทียม

เขากล่าวย้ำว่า “สิ่งที่เราเป็นในหลาย ๆ อย่าง เช่น เรื่องความเร็ว ความตั้งใจ การลงรายละเอียดของงาน เหล่านี้ยังคงเป็นสิ่งใช้ได้ในการทำงานของบริษัทด้านเทคโนโลยี ขณะเดียวกันเราก็พร้อมที่จะปรับตัวต่อไป”

ส่วนภาพรวมธุรกิจขององค์กรเขาให้ความเห็นว่า “การลงทุนยังเป็นเรื่องสำคัญเพราะเรายังอยู่ในระยะที่เติบโต และมีส่วนแบ่งตลาดที่เพิ่มขึ้น แต่เมื่อองค์กรโตขึ้นมาถึงอีกระดับหนึ่ง การดำเนินธุรกิจก็เปลี่ยนไปเล่นอีกเกมหนึ่งที่ต้องดูเรื่อง business fundamental มากขึ้น สนใจเรื่องผลประกอบการกำไร-ขาดทุนมากขึ้น”

ก้าวเดินมาถึงวันนี้เขามีความเชื่อมั่นว่า LINE MAN Wongnai จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญต่อการยกระดับความสะดวกสบายในชีวิตประจำวันของคนไทยด้วยการเป็น e-commerce platform for services ที่แข็งแกร่งที่สุด รวมทั้งมีส่วนช่วยเหลือในเรื่องเศรษฐกิจของประเทศ

“ธุรกิจของเราเป็นของคนไทย เราให้บริการผู้ใช้กว่า 10 ล้านคน สร้างงานให้กับคนในประเทศนับแสนคนไม่ว่าพนักงาน บรรดา Rider และ outsource อีกมากมาย ธุรกิจของเราจึงมีส่วนช่วยเหลือในเรื่องเศรษฐกิจของประเทศได้ค่อนข้างมาก”

อศินา พรวศิน – สัมภาษณ์
สมชัย อักษรารักษ์ – เรียบเรียง

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ