TH | EN
TH | EN
spot_imgspot_imgspot_img
หน้าแรกSustainabilityเอสซีจี ลำปาง เปิดบ้านโชว์กระบวนการผลิตสีเขียว พร้อมผนึกพลังชุมชนในพื้นที่ สร้างสังคม Net Zero

เอสซีจี ลำปาง เปิดบ้านโชว์กระบวนการผลิตสีเขียว พร้อมผนึกพลังชุมชนในพื้นที่ สร้างสังคม Net Zero

เอสซีจี ลำปาง นำชมกระบวนการผลิตสีเขียว เพิ่มสัดส่วนเชื้อเพลิงทดแทน 40% เร่งผลิตปูนคาร์บอนต่ำ นวัตกรรมรักษ์โลก ทั้งยังปลุกชุมชนร่วมฟื้นน้ำ สร้างป่า ตั้งโครงการ “กองทุนคาร์บอนเครดิตชุมชน” หนุนปลูกป่าต้นน้ำกว่า 500,000 ไร่ ส่งเสริมการ “ชิงเก็บ ลดเผา” ลดฝุ่น PM 2.5 ใช้เทคโนโลยีจัดการน้ำช่วยให้มีน้ำทำเกษตรตลอดปี และสร้างอาชีพตามอัตลักษณ์แต่ละพื้นที่ ลดเหลื่อมล้ำให้ชุมชนพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน หนุนสร้างสังคม Net Zero ด้วยกลยุทธ์ ESG 4 Plus

วรการ พงษ์ศิริกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทปูนซิเมนต์ไทย (ลำปาง) จำกัด เล่าถึงโรงงานปูนลำปางว่า ก่อตั้งขึ้นครบ 30 ปีแล้ว ซึ่งตั้งแต่วันแรกของการก่อตั้ง ได้ยึดหลัก “สร้างงาน สร้างความเจริญ รักษาสิ่งแวดล้อม และเป็นพลเมืองดีของลำปาง”

เพิ่มสัดส่วนเชื้อเพลิงทดแทน 40%

การดำเนินงานคำนึงถึงการอยู่ร่วมกับชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรก ด้วยกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Manufacturing) โดยเพิ่มสัดส่วนเชื้อเพลิงทดแทน 40% อาทิ ชีวมวล (Biomass) ขยะมูลฝอยจากชุมชน (RDF) วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ฟางข้าว เปลือกข้าวโพด กิ่งไม้ใบไม้ จากโครงการ “ชิงเก็บ ลดเผา” ช่วยลดฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่ได้อย่างดี

ทั้งยังเพิ่มสัดส่วนไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด 26% ด้วยการติดตั้งโซลาร์ลอยน้ำ โซลาร์รูฟท็อป นำลมร้อนเหลือทิ้งกลับมาใช้ใหม่ (Waste Heat Generator)

ตลอดจนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า รถบรรทุกหินปูน-รถตัก-รถขุดไฟฟ้าในโรงงาน โดยเปลี่ยนรถบรรทุกขนาด 60 ตัน จำนวน 12 คันเป็นรถยนต์ไฟฟ้าครบ 100%

ขณะเดียวกันยังผลิตปูนคาร์บอนต่ำเป็นรายแรกของไทย ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 0.05 ตัน CO2 ต่อการผลิต 1 ตัน นอกจากนี้ยังส่งเสริมองค์ความรู้และเทคโนโลยีบริหารจัดการน้ำให้ชุมชนพึ่งพาตนเอง ผ่านการสร้างฝายชะลอน้ำ การปลูกป่าชุมชน และต่อยอดสู่การพัฒนาอาชีพ ช่วยยกระดับรายได้ของเกษตรกรขึ้น

“การดำเนินงานร่วมกับชุมชนเป็นการเรียนรู้ร่วมกัน โดยให้ความจริงใจ และที่สำคัญชุมชนต้องได้ประโยชน์”

ส่วนพื้นที่เหมืองซึ่งได้รับประทานบัตรอนุญาตทำเหมืองในเขตป่าเสื่อมโทรมนี้ หลังจากนำหินปูนออกหมดจะต้องฟื้นฟูตามข้อกำหนด ด้วยการปลูกต้นไม้ทดแทนจนได้เป็นป่าสมบูรณ์ ซึ่งโรงงานใช้วิธีการปลูกต้นไม้ไปเรื่อย ๆ จากปีแรกจนถึงปัจจุบันได้สภาพป่าที่ฟื้นคืนขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง

ป่าชุมชน สู่กองทุนคาร์บอนเครดิต

สุมัย หมายหมั้น ประธานสมาคมเพื่อการเรียนรู้ป่าชุมชน จ.ลำปาง เล่าว่า ภาครัฐ เอกชน ประชาชน ได้ร่วมกันก่อตั้งเครือข่ายป่าชุมชนเมื่อปี 2552 เพื่อสนับสนุนชุมชนใช้ประโยชน์จากป่าอย่างยั่งยืน ก่อนขยายผลสู่การก่อตั้งสมาคมเพื่อการเรียนรู้ป่าชุมชน จ.ลำปาง ในปี 2564

ทั้งนี้ สมาคมฯ และเอสซีจี ลำปางได้จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนความรู้เพื่อร่วมกันอนุรักษ์ป่าไม้ ซึ่งนำไปสู่การจัดตั้ง “กองทุนคาร์บอนเครดิตชุมชน”

ปัจจุบันมีชุมชนเข้าร่วมกว่า 250 หมู่บ้าน ครอบคลุมพื้นที่ 500,000 ไร่ สามารถดูดซับคาร์บอนได้ 250,000 ตัน CO2 ต่อปี ช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ภัยแล้ง น้ำท่วม หมอกควัน ไฟป่า ฝุ่น PM 2.5

สร้างสระพวง กักเก็บน้ำเพื่อเพาะปลูก

สงกรานต์ เป็นพวก ผู้ใหญ่บ้านสาแพะเหนือ อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง เล่าความเป็นมาของการเข้าร่วมโครงการรักษ์ภูผามหานที กับเอสซีจี ลำปาง ว่า ช่วงปี 2558-2559 เกิดภัยแล้งรุนแรง ต้นข้าวยืนต้นแห้งตายเกือบทั้งหมู่บ้าน ชุมชนจึงเข้าร่วมโครงการ เพื่อเรียนรู้การบริหารจัดการน้ำควบคู่กับการดูแลป่าต้นน้ำ เช่น สร้างฝายชะลอน้ำ ฝายใต้ทราย วังเก็บน้ำ ประตูเปิด-ปิดน้ำ ช่วยเพิ่มปริมาณน้ำให้อ่างเก็บน้ำชุมชน “อ่างห้วยแก้ว” ได้ถึง 80,000 ลูกบาศก์เมตร

นอกจากนี้ ยังลดการสูญเสียการจ่ายน้ำด้วยการทำสระพวงคอนกรีตตามสันเขา ชุมชนจึงสามารถกักเก็บน้ำเพื่อเพาะปลูกได้ตลอดปี เน้นพืชมูลค่าสูง ขายได้ราคาดี เช่น ถั่วพุ่ม ถั่วแระญี่ปุ่น ข้าวโพดหวาน และผลไม้ยืนต้น เช่น เงาะ ทุเรียน สร้างรายได้ให้ชุมชนเฉลี่ยปีละ 20 ล้านบาท

ถั่วพุ่ม-พืชมูลค่าสูงที่ช่วยเพิ่มรายได้ให้ชุมชนแจ้ห่ม

พลังชุมชนหนุนเพิ่มรายได้

ภัทชา ตนะทิพย์ นวัตกรตัวแม่ ชุมชนวังชิ้น จ.แพร่ เล่าถึงการเข้าอบรมโครงการพลังชุมชนซึ่งเอสซีจีจัดขึ้นว่า เดิมได้ปลูกกล้วยหอมทองและนำไปขาย ได้ราคาเพียงหวีละ 4-5 บาท หรือต้องขายราคากิโลกรัมละ 5 บาท เพราะผู้รับซื้อบอกว่า เก็บไม่สวย จึงให้ราคาถูก เท่ากับขายขาดทุน

ต่อมาได้เข้าอบรมโครงการพลังชุมชน จึงนำวิธีคิด “ง่าย ไว ใหม่ ใหญ่ ยั่งยืน” มาใช้สร้างอาชีพ ด้วยการแปรรูปกล้วยหอมทองอย่างหลากหลาย ให้ถูกใจลูกค้า เช่น กล้วยหอมทองอบกรอบ รสคาราเมล ข้าวเม่าคาราเมลคอนเฟลกส์ เครื่องดื่มจากกล้วย กล้วยหอมทองซีเรียล โจ๊กกล้วยหอมทองธัญพืช อีกทั้งได้ชวนเยาวชนในท้องถิ่นมาร่วมออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้สวยงาม สร้างเพิ่มมูลค่าให้สินค้า โดยใช้ความรู้และเทคโนโลยีการผลิตจาก LocoPack ของ SCGP จากเดิมเคยไปติดต่อโรงงานผลิตซองใส่กล้วยอบ แต่โรงงานรับผลิตขั้นต่ำ 10,000 ชิ้น เลยสู้ไม่ไหว จนมาเจอLocoPack ที่ผลิตขั้นต่ำหลักพันชิ้นได้

เป้าหมายถัดไปคือการพัฒนาชุมชนวังชิ้นเป็นชุมชนเศรษฐกิจ “กล้าคิด กล้าทำ ทำต่อเนื่อง” ตั้งศูนย์นวัตกรรมกล้วยหอมทองครบวงจร เปิดสอนอาชีพ สร้างงานให้ชุมชนมีรายได้เพิ่ม และเชิญชวนคนรุ่นใหม่มาร่วมพัฒนาการตลาด เชื่อมกับแผนการท่องเที่ยวให้เป็นชุมชนท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและชุมชนต้นแบบเศรษฐกิจ จ.แพร่

LocoPack ขยายเข้าชุมชน

LocoPack-โดย-SCGP

ณิชยา อนันตวงษ์ (เติ้ล) Co-Founder และ CEO โลโคแพ็ค (LocoPack) แนะนำธุรกิจซึ่งเป็นหนึ่งในสตาร์ทอัพที่ได้รับการสนับสนุนจากเอสซีจี ว่า เป็นแพลตฟอร์มออกแบบและผลิตบรรจุภัณฑ์ที่ทำงานบนคลาวด์ สร้างเครือข่ายโรงงานผลิต โรงพิมพ์บรรจุภัณฑ์ ให้เข้ามาอยู่บนคลาวด์ร่วมกัน เชื่อมผู้ซื้อและขายเข้าด้วยกัน เพราะมีข้อมูลว่า แต่ละโรงงานต่างมีกำลังการผลิตเหลือเพียงพอที่จะรับงานจากลูกค้ารายย่อย แต่ไม่มีกำลังคนเพียงพอที่จะออกไปทำตลาด

การทำงานบนคลาวด์จะช่วยสร้างรายได้จากการพึ่งพากัน (Sharing Economy) ในวงการบรรจุภัณฑ์ไทย โดยมีลูกค้าจากทั่วประเทศ หลักๆ คือ เอสเอ็มอี ก่อนขยายสู่วิสาหกิจชุมชนในเครือข่ายพลังชุมชน

“บอกได้เลยว่า แรก ๆ กลุ่มแม่ ๆ ไม่ใช่กลุ่มที่เรามองถึง เพราะเดิมเติ้ลทำตลาดออนไลน์หมดเลย จากที่เห็นช่องว่างทางการตลาดที่เอสเอ็มอีไทยมักใช้ถุงมาตรฐานใส่อาหาร แล้วแปะสติกเกอร์”

จุดเริ่มต้นของการเข้ามาออกแบบและผลิตบรรจุภัณฑ์แก่เครือข่ายพลังชุมชน ณิชยา เล่าว่า เริ่มจากการได้พบแม่ ๆ มาขายของที่เอสซีจี เลยเข้าไปคุยว่า น่าจะพัฒนาตัวบรรจุภัณฑ์ได้ดีกว่านี้ เช่น กล้วยฉาบ คุณแม่ซื้อถุงมาใส่ใบละ 8 บาท พอเราคำนวณ คุณแม่สั่ง 3,000 ซอง ก็จะได้ถุงสวย ๆ ในราคา 8.50 บาท แพงกว่าเดิมนิดนึง ซึ่งเราผลิตให้ได้

ดังนั้น เลยมาคุยกับคุณแม่ และได้เข้ามาช่วยบริการชุมชน ผลิตบรรจุภัณฑ์ที่ออกแบบโลโก้สวย ๆ เลือกวัสดุบรรจุที่เหมาะสมกับอาหารที่บรรจุด้านใน ทำให้รักษาคุณภาพอาหารให้คงคุณภาพ โดยสามารถผลิตในจำนวนน้อย ระดับ 1,000 ชิ้น ต่างจากการว่าจ้างโรงงานใหญ่ที่ต้องผลิตขั้นต่ำ 10,000 ชิ้น แม้จะมีราคาต่อหน่วยต่ำกว่า แต่หากใช้งานไม่หมดก็เป็นต้นทุนที่ต้องแบกรับ การทยอยสั่งทำตามความต้องการใช้งานจะคล่องตัวกว่า

สอบถามความต้องการก่อนออกแบบ

จากเดิมกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเหล่านี้ จะมีหน่วยงานภาครัฐมาช่วยออกแบบให้อยู่แล้ว เพียงแต่ไม่มีไฟล์เก็บไว้ มีเพียงรูปภาพ ทำให้ทำงานต่อไม่ได้ ก็ต้องเข้ามาช่วยสอบถามความต้องการ จะปรับปรุงอะไร ส่วนไหน อย่างไร ช่วยออกแบบ ทำไฟล์ สานต่อจนนำไปใช้ได้

รวมทั้งการเลือกวัสดุมาทำบรรจุภัณฑ์ ซึ่งต้องขอข้อมูลจากผู้ผลิตอาหารด้วยว่า จะเก็บอาหารนานเพียงใด ผลิตแต่ละครั้งจะขายหมดเมื่อไร เพราะขนมบางประเภท บรรจุซองใส โดยความชื้น จะทำให้นิ่ม อาหารเสียหาย เหม็นหืน ต้องเปลี่ยนวัสดุให้กันแสง กันอากาศได้ เป็นต้น

“ก่อนเริ่มออกแบบโลโก้และบรรจุภัณฑ์ จะต้องสอบถามข้อมูลจากเจ้าของสินค้า เพราะจะเป็นผู้ที่ทราบรายละเอียดสินค้าได้ดีที่สุด โลโคแพ็คเป็นเพียงส่วนเติมเต็ม”

จากช่างเฟอร์นิเจอร์ไม้สักสู่โฮมสเตย์

สินชัย พุกจินดา เจ้าของโฮมสเตย์ หมอนไม้ไออุ่น จ.แพร่ เล่าว่า แม่ภัทชาเป็นบุคคลต้นแบบที่สร้างแรงบันดาลใจให้ปรับเปลี่ยนวิธีคิดและลงมือทำ หลังจากได้เข้าอบรมในโครงการพลังชุมชน จึงเกิดความคิดว่า ชุมชนเรามีของดีที่เป็นเอกลักษณ์และพัฒนาเป็นอาชีพได้ นั่นคือทิวทัศน์ที่สวยงาม อากาศดี น่าท่องเที่ยว จึงใช้ทักษะการเป็นช่างเฟอร์นิเจอร์ไม้สักมาออกแบบโฮมสเตย์ “หมอนไม้ไออุ่น”

โฮมสเตย์ “หมอนไม้ไออุ่น”

จุดเด่นคือนักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสเครื่องเรือนไม้สักที่ทำจากมือด้วยหัวใจ ให้บริการอาหารเครื่องดื่ม ชมทิวทัศน์ที่สวยงามท่ามกลางภูเขา ส่งผลให้ที่นี่กลายเป็นจุดเช็คอินที่นักเดินทางต้องแวะเวียนมา

นอกจากนี้ยังเปิดพื้นที่ให้ชาวบ้านนำสินค้าของฝากของที่ระลึกมาจำหน่าย อนาคตจะดึงคนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วม เพื่อยกระดับให้ อ.วังชิ้นเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ช่วยสร้างงาน อาชีพ และยังทำให้คนท้องถิ่นภูมิใจในบ้านเกิดด้วย

สร้างตลาด สร้างงาน เสริมคุณภาพชีวิตผู้สูงวัย

พ.ต.ท.ชนันท์เศรษฐ์ อาจโพธิ์ อดีตนายตำรวจ เจ้าของตลาดชุมชน ซึ่งเป็นตลาดส่วนตัว ณ บ้านนาปลากั้ง ตำบลนาพูน อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ เล่าว่า ได้มีแนวคิดว่า หลังเกษียณทำอย่างไร จะอยู่ในชุมชนได้อย่างมีความสุข ซึ่งได้นำความรู้จากโครงการพลังชุมชน มาผสมผสานกับความคิดของตัวเอง สร้างตลาดชุมชน 4ดี คือ อาหารดี อากาศดี สิ่งแวดล้อมดี และอารมณ์ดี มีเฉพาะวันพฤหัสบดี เปิดขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 ส่งเสริมให้คนมีสุขอนามัย สุขภาพดี อารมณ์ดี และอายุยืน

จากที่เคยเห็นเกษตรกรในชุมชนมักเจ็บป่วยเรื้อรัง เพราะความเคยชินกับการใช้สารเคมีในการเกษตร จึงต้องการเปลี่ยนแนวคิดให้ทำการเกษตรที่มีสุขภาพนำ ไม่ใช่ราคานำ ตั้งตลาดขึ้นมาเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนสินค้ากัน มีผักมาวางขายเพียง 5 กำก็ได้

จุดประสงค์คือ ต้องการให้คนปลูกผักปลอดสารเคมีกินเอง มีเหลือถึงนำไปขาย เพราะสารเคมี เมื่อกินเข้าไปจะสะสม พออายุมากขึ้นจะเจ็บป่วยหลายโรค และเรื้อรัง “ขายไม่หมด ผมก็รับซื้อ”

ปัจจุบัน มีผู้เข้ามาวางของขาย 12 แผง เป็นผู้สูงอายุ 6 แผง ซึ่งถ้าเป็นผู้สูงอายุจะไม่เก็บเงินค่าเช่า หรือหากใครต้องการจ่ายเป็นผัก 1 กำ ก็รับ แผงที่เตรียมไว้ขนาดประมาณ 3 เมตร จะมี 3 เจ้ามาตั้งด้วยกันก็ได้ ค่าเช่า 40 บาท

นอกจากนี้ เพื่อการดูแลสุขภาพ และสิ่งแวดล้อมเพิ่มอีกขั้น พ.ต.ท.ชนันท์เศรษฐ์ ยังกำลังศึกษาหาความรู้เรื่องการใช้งานเตาไบโอชาร์ ที่ให้ความร้อนสูง ลดการปล่อยคาร์บอน

สานต่อกลยุทธ์ ESG 4 Plus

โอบบุญ แย้มศิริกุล ผู้อำนวยการสำนักงาน Enterprise Brand Management เอสซีจี

โอบบุญ แย้มศิริกุล ผู้อำนวยการสำนักงาน Enterprise Brand Management เอสซีจี กล่าวถึงกลยุทธ์ ESG 4 Plus เร่งสร้างสังคม Net Zero ที่น่าอยู่ ว่า ตั้งเป้าบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 ทุกธุรกิจมุ่งใช้กระบวนการผลิตเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พัฒนานวัตกรรมรักษ์โลก และร่วมกับทุกภาคส่วนลดเหลื่อมล้ำให้มีความเป็นอยู่ดีขึ้น

ได้แก่ โครงการรักษ์ภูผามหานที เพื่อให้ชุมชนมีน้ำใช้ตลอดปี ด้วยการสร้างฝายชะลอน้ำ ซึ่งทำไปแล้วกว่า 120,000 ฝาย และโครงการพลังชุมชน อบรมให้ความรู้ เปลี่ยนวิธีคิด สร้างอาชีพ มีรายได้เพิ่มจากการเพิ่มมูลค่าสินค้าในท้องถิ่นให้โดดเด่นและตอบโจทย์ตลาด
ปัจจุบันมีผู้ร่วมเข้าทั้ง 2 โครงการ กว่า 200,000 คน จาก 500 ชุมชน 37 จังหวัด เกิดเป็นเครือข่ายชุมชนเข้มแข็ง

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

เพิ่มแต้มต่อในธุรกิจ ด้วยการเปิดเผยข้อมูล ESG

ชวนทำความรู้จักเทคโนโลยี CCUS ในยุคที่จำเป็นต้องจัดการ กักเก็บ และใช้ประโยชน์คาร์บอน

อพวช. ค้นพบ 5 พันธุ์สัตว์ชนิดใหม่ของโลก

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ