TH | EN
TH | EN
หน้าแรกTechnologyKBTG Kampus กับบทบาท “รากฐานระบบนิเวศ เพิ่มอัตราเร่งสร้าง tech talent” สร้าง 100,000 คน ในปี 2030

KBTG Kampus กับบทบาท “รากฐานระบบนิเวศ เพิ่มอัตราเร่งสร้าง tech talent” สร้าง 100,000 คน ในปี 2030

KBTG ต้องการยกระดับการสร้างความแข็งแกร่งให้กับระบบนิเวศเทคโนโลยีและการวิจัยของประเทศไทย โดยไม่ได้ทำคนเดียว แต่จะทำกับพันธมิตรที่ดีที่สุดของประเทศและของภูมิภาคนี้ ด้วยการยกระดับ KBTG Kampus ที่เป็นเครื่องมือของ KBTG ในการยกระดับความแข็งแกร่งของระบบนิเวศเทคโนโลยีและการวิจัย

KBTG ยกระดับ KBTG Kampus และ Tech Ecosystem ขึ้นไปอีกขั้น ไม่จำกัดพันธมิตรแต่สถาบันการศึกษาและไม่จำกัดแต่การเรียนรู้ในห้องเรียนเท่านั้น เพื่อให้นิสิตนักศึกษาและคนทั่วไปสามารถ upskill/reskill เพื่อเตรียมความพร้อมในเส้นทางสายอาชีพในอนาคต

กระทิง เรืองโรจน์​ พูนผล Group Chairman, KBTG กล่าวว่า วิสัยทัศน์ของ KBTG Tech Kampus คือต้องการสร้างความแข็งแกร่งให้กับระบบนิเวศของเทคโนโลยีและการวิจัยในประเทศไทย แก่นของ KBTG คือ เป็นบริษัทเทคโนโลยีที่แข็งแกร่งในประเทศไทยและต้องการเป็นหนึ่งบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทมา 3 ปี ตระหนักดีว่าความแข็งแกร่งของ KBTG ที่จะไปให้ไกล ขึ้นกับความแข็งแกร่งของระบบนิเวศด้านเทคโนโลยีของประเทศไทย KBTG จะไปได้ไกลเท่าที่เทคโนโลยีและวิจัยไทยไปได้ไกลเท่านั้น ดังนั้น วิสัยทัศน์ของ KBTG จึงต้องมีส่วนในการสร้างความแข็งแกร่งให้กับกับระบบนิเวศของเทคโนโลยีและการวิจัยในประเทศไทย เพราะ KBTG เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศ

ช่วงเวลาหลังจากโควิดและหลังจากเศรษฐกิจเริ่มชะลอการขยายตัว (Resession) คือ ยุคทองของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในระยะ 10 ปีจากนี้ไป ซึ่งหมายถึงโอกาสมหาศาลสำหรับประเทศไทยที่มาพร้อมความท้าทายอย่างมหาศาลเช่นเดียวกัน เพราะว่าความสามารถด้านเทคโนโลยีของประเทศไทยยังตามหลังหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

ประเทศไทยรั้งอันดับที่ 66 ในการจัดอันดับความสามารถด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ปริมาณของคุณภาพนักศึกษาในสาย STEM (Science, Technology, Engineering and Mathematics) หรือสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ของไทยยังตามหลังเวียดนาม สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ชนะแค่ฟิลิปปินส์ ในขณะที่ค่าแรงของไทยแพงกว่าเวียดนาม 3 เท่า 

ยุคทองของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ประเทศไทยยังมีความท้าทายมหาศาลเรื่องความสามารถด้านเทคโนโลยีและระบบนิเวศ 

KBTG โฟกัสใน 4 องค์ประกอบของระบบนิเวศด้านเทคโนโลยีของประเทศไทย 4 อย่างพร้อมกัน คือ บริษัท สตาร์ตอัพ งานวิจัย และการศึกษา (company-startup-research-education) 

บริษัท KBTG ต้องเก่งและแกร่ง ต้องมีระบบนิเวศสตาร์ตอัพที่เรืองรอง ต้องมีกระดูกสันหลังของงานวิจัยของประเทศ และระบบการศึกษาที่สามารถสร้างทั้งนักวิจัยที่สร้างงานวิจัยให้ออกมาใช้งานได้จริง รวมถึงสร้างบริษัทสตาร์ตอัพและสร้างคนเทคโนโลยีเข้าสู่อุตสาหกรรม

2 ปีที่ผ่านมากับการทุ่มเทเพื่อการศึกษา

จากงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ KBTG โดย KBTG Labs ทำงานร่วมกับ 9 สถาบัน และนักวิจัยกว่า 50 คน มีงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารและในงานเทคโนโลยีระดับนานาชาติ 9 ผลงาน ทั้งปัญญาประดิษฐ์ ควอนตัมคอมพิวติ้ง และบล็อกเชน ไม่เพียงแค่การเผยแพร่งานวิจัย แต่พัฒนาจากงานวิจัยสู่ผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ อาทิ Face Liveness Technology ได้รับการรับรองมาตรฐาน iBeta Level 2 (ISO 30107-3) ซึ่งเป็นมาตรฐานระดับโลก ซึ่งมีเพียง 1 ใน 3 บริษัทในเอเชียที่ได้รับมาตรฐานนี้ ซึ่งเทคโนโลยีนี้ถูกนำไปใช้ในผลิตภัณฑ์ของธนาคารกสิกรไทย มีผู้ใช้งานกว่า 10 ล้านคน 

อีกงานวิจัยที่นำมาใช้เชิงพาณิชย์ คือ Thai NLP ที่นำมาใช้ในงาน Call Center ของธนาคารกสิกรไทยช่วยลดเวลาที่ลูกค้าต้องรอรับบริการลง 3 แสนชั่วโมง

“เราร่วมกับ 9 สถาบัน 50 นักวิจัย ทำงานวิจัยมาเป็นผลิตภัณฑ์มาตรฐานระดับโลและใช้งานจริง” 

นอกจากงานวิจัย งานด้านการศึกษา KBTG ให้ความสำคัญและทำมาโดยตลอด คือ การ reskill/upskill พนักงาน ทั้ง online learning และ in-house training ด้วยหลักสูตรต่าง ๆ ตั้งแต่เริ่มงานจนร่วมงาน ทั้งด้านภาษา และด้านเทคนิค อาทิ software engineering และ business analyst เป็นต้น รวมเป็น 17,000 คอร์ส 

“KBTG เป็นเหมือนมหาวิทยาลัยย่อม ๆ สถาบันวิจัยย่อม ๆ ในตัวเอง ที่มีทั้งคนในและคนนอกเข้ามาเรียนรู้” 

และยังนำองค์ความรู้เหล่านี้ถ่ายทอดออกมาสู่ภายนอก ทั้ง KBTG Reskill Classes หรือ DevX Meeting และ KBTG Inspire จัดเป็น mini course และ mini bootcamp เพื่อสอนคนภายนอก ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเปิดหลักสูตรไปแล้วมากว่า 20 หลักสูตร มีผู้เข้าเรียนมากกว่า 14,000 คน นับรวมชั่วโมง reskill มากกว่า 30,000 ชั่วโมง 

นอกจากนี้ ยังส่ง “คน” ไปเป็นอาจารย์ใน 11 มหาวิทยาลัย มีนักเรียนที่อาจารย์ KBTG ไปสอนกว่า 1,000 คน และมีทุนการศึกษากับพนักงงาน อาทิ Tung จบวิศวะ ปิโตรเลียม แต่มาทำงานด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูล และได้ทุนของ KBTG ไปเรียนที่ Carnegies Mellon University มหาวิทยาลัยชั้นนำด้าน data science และ software engineering 

“เราเชื่อว่าคนที่จบไม่ตรงสายสามารถ reskill เพื่อมาทำงานกับ KBTG และไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยระดับโลกได้ นี่คือสิ่งที่เราทำ คือ การสร้างรันเวย์ด้านการศึกษาให้กับบุคลากรของประเทศไทย” 

แม้ว่าที่ผ่านมา KBTG ทุ่มเทงานด้านการศึกษามามากแต่ กระทิง บอกว่า มันยังไม่พอ! เพราะปัจจุบันทั่วโลกเกิดการปฏิวัติดิจิทัลแบบมหาศาลจากการกดดันของโควิด หลายประเทศย่นย่อเวลาที่จะพัฒนาด้านดิจิทัลลง อาทิ อินโดนีเซียย่นจาก 5 ปีลงเหลือเพียงปีเดียว เวียดนามย่อ 2 ปีลงเหลือปีเดียว 

แรงงาน 1,100 ล้านคนทั่วโลก หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของแรงงานด้านเทคโนโลยี จะถูกทรานส์ฟอร์มด้วยเทคโนโลยีในทศวรรษถัดไป ซึ่ง 1,100 ล้านคนนี้ต้องการการปรับทักษะ (reskill) อย่างเร่งด่วน ในขณะที่การลงทุนด้านการศึกษากลับมีเพียง 140 ดอลลาร์ต่อคนต่อปี ซึ่งไม่เพียงพออย่างมาก ทำให้เกิดช่องว่างขนาดใหญ่ในการ reskill คน 

“ถ้าคุณมองวิกฤติ คุณเห็นวิกฤติ แต่ถ้าคุณมองโอกาส คุณเห็นโอกาส” 

สังคมผู้สูงวัย ที่บางคนมองว่าเป็นระเบิดเวลาของประเทศไทย แต่ก่อให้เกิดโอกาสมหาศาลในมิติของ food tech, health tech, urban tech และ fintech สำหรับเศรษฐกิจผู้สูงวัย (silver economy)​ 

“เมื่อมีโอกาสมหาศาล ก็ต้องการ talent จำนวนมหาศาลเพื่อมาเติมเต็มช่องว่างนี้” 

นอกจากนี้ การที่การที่ทุกอุตสาหกรรมต้องทรานส์ฟอร์มมาเป็นบริษัทเทคโนโลยีทำให้เกิดความต้องการที่เติบโตมหาศาลสำหรับตำแหน่งงานด้านเทคโนโลยีในประเทศไทย

“ตอนไปหา talent ที่อเมริกา มีคนถามว่า KBTG ต้องการคนแบบไหน เราต้องบอกว่า ต้องถามว่าเราไม่ต้องการคนแบบไหนจะดีกว่า เพราะว่าเราต้องการทุกตำแหน่ง ไม่ว่าจะเป็น cyber security, business analyst, product UX/UI, QA, data scientist, blockchain engineer, data engineer, software engineer และอีกมากมาย”​

KBTG ต้องเพิ่มคนอีก 1,000 คน นี่คือบริษัทเดียว ตอนนี้เกิดวิกฤติการขาดแคลนแรงงานด้านดิจิทัล ทักษะการพัฒนาด้านซอฟต์แวร์ราวครึ่งหนึ่งที่มีอยู่ในตลาดใช้ไม่ได้ ต้อง reskill คาดการณ์ว่าภายในปี 2026 จะมีนักพัฒนาซอฟต์แวร์ที่มีทักษะไม่เหมาะสมกับความต้องการของตลาดอยู่ราว 12.5 ล้านคนทั่วโลก และราว 1.5 ล้านคนของคนที่จบใหม่ต่อปี มีทักษะไม่ตรงตามความต้องการของตลาด 

“ทักษะทุกทักษะขาดหมด หาทั้งประเทศแล้วยังหาไม่ได้ KBTG จึงต้องทำสิ่งนี้”

เกิดช่องว่างของความสามารถในการผลิตบุคลากรด้านเทคโนโลยีของสถาบันการศึกษากับความต้องการของตลาด ระบบการศึกษาทั่วโลกยังเป็นระบบเส้นเริ่มเรียนจากชั้นปีที่ 1 ขึ้นปีที่ 4 แต่โลกอนาคตต้องการคนที่จบการเรียนและมีทักษะเฉพาะหลักสูตร หรือที่เรียกว่า micro และ nano credential คนจะไม่อยากเรียนตามหลักสูตรที่สถาบันการศึกษาคัดเลือกและจัดมาให้ แต่ต้องการเลือกเรียนหลักสูตรย่อย ๆ ที่บริษัทเทคโนโลยีพัฒนาขึ้น แล้วค่อยนำมาประกอบเป็นทักษะรวมตอนเรียนจบ นอกจากนี้ยังมีความต้องการเรียนแบบ project-based learning และเรียนแบบได้ประสบการณ์การทำงานจริงควบคู่ไป ทำให้เกิดตลาดขนาด 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐสำหรับตลาดการศึกษาแบบ micro and alternative credential 

ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังมีช่องว่างของสตาร์ตอัพยูนิคอร์น 3 จาก 50 ตัว KBTG ต้องการยกระดับการสร้างความแข็งแกร่งให้กับระบบนิเวศเทคโนโลยีและการวิจัยของประเทศไทย โดยไม่ได้ทำคนเดียว แต่จะทำกับพันธมิตรที่ดีที่สุดของประเทศและของภูมิภาคนี้ ด้วยการยกระดับ KBTG Kampus ที่เป็นเครื่องมือของ KBTG ในการยกระดับความแข็งแกร่งของระบบนิเวศเทคโนโลยีและการวิจัย

3 เแกนหลัก KBTG Kampus

KBTG Kampus ประกอบด้วย 3 โปรแกรม คือ KBTG Kampus ClassNest, KBTG Kampus Apprentice และ KBTG Kampus Co-Research 

KBTG Kampus ClassNest หลักสูตรสอนทักษะทางเทคโนโลยี อาทิ Java Software Engineering และ Cybersecurity เป็นหลักสูตรเรียนฟรี บางหลักสูตรมีผู้สมัครกว่า 600 คน ในหลักสูตรจะสอนให้รู้โจทย์การทำงานที่แท้จริง ทักษะที่ต้องใช้ในการทำงานจริงมีอะไรบ้าง ซึ่งในหลักสูตรจะมีทั้ง hands-on workshop และการให้การปรึกษาอย่างใกล้ชิด ที่ไม่ได้เพียงสอนทักษะด้านเทคโนโลยีอย่างเดียว แต่สอนเรื่องเส้นทางอาชีพ ซึ่งเป็นการสร้างชุมชนคนไอทีรุ่นใหม่ ที่ผ่านมาทำไปแล้ว 2 ครั้งมีคนลงทะเบียนเรียนต่อครั้ง 500-600 คน

วันนี้ KBTG จะขยายศักยภาพของ KBTG Kampus ClassNest ด้วยการเพิ่มหลักสูตรสำหรับทักษะที่จำเป็นสำหรับศตวรรษที่ 21 อาทิ Data Engineering, Data Science, Digital Project Management, UX/UI, Full-stack Development และบล็อกเชน เป้าหมาย คือ ต้องการเพิ่ม tech talent 30% ต่อปีหรือราว 3,000 คนและเพิ่มอีกเท่าตัวใน 3 ปีข้างหน้า

“ที่ผ่านมานำร่องไป 2 โครงการ คือ Java Software Engineering และ Cybersecurity ซึ่งเป็นทักษะที่ค่อนข้างหายากและมีความต้องการค่อนข้างมาก จะขยายไปให้ครบทั้ง stack ของการเรียนรู้” 

KBTG Kampus Apprentice คือการที่ KBTG เข้าไปช่วยออกแบบหลักสูตร นักศึกษาเรียนจบชั้นปีที่ 3 สามารถมาทำงานที่ KBTG โดยรับเงินเดือนเท่ากับคนจบใหม่ ได้ประสบการณ์การทำงานจาก KBTG ในช่วงที่ทำงานกับ KBTG ได้เครดิตการศึกษาที่จะใช้สำหรับจบการศึกษารับปริญญาได้ ประโยชน์ คือ นักศึกษาจะได้ย่นระยะเวลาในการเริ่มทำงานและค้นพบตัวเองได้เร็วขึ้น 

“KBTG Kampus Apprentice คือ อนาคตของการฝึกงาน สมัยก่อนที่ฝึกงานเสร็จแล้วต้องกลับไปเรียนต่อปีที่ 4 แต่ใช้เวลาการเรียนปีที่ 4 มาทำงานจริง รับเงินเดือนจริง รับเครดิตการศึกษา และรับปริญญาได้ และจับมือกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เป็นที่แรก” 

นอกจากการเข้าไปพัฒนาหลักสูตรร่วมกับมหาวทิยาลัย ทำให้ความต้องการทักษะแรงงานด้านเทคโนโลยีของภาคอุตสาหกรรมตรงกันกับหลักสูตรการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยมากขึ้น สร้างคนให้ตรงโจทย์ของอุตสาหกรรมมากขึ้น นักศึกษาได้เริ่มฝึกทำงานจริงได้เร็วขึ้น 

“เท่ากับเราช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการผลิตบุคลากรให้กับประเทศไทย 25% เพราะมหาวิทยาลัยประหยัดเวลาไป 1 ใน 4 ของเวลาที่ต้องใช้ผลิตบุคลากรออกมาสู่ตลาด ซึ่งโครงการนี้มีการดำเนินโครงการนำร่องไปแล้ว” 

KBTG Kampus Co-Research เป็นการเข้าไปทำงานร่วมกับสถาบันวิจัยระดับโลกและระดับประเทศของประเทศไทยเพื่อทำวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างเทคโนโลยีที่มีความหมายร่วมกัน และสร้าง S-Curve เทคโนโลยีใหม่ ๆ โดยมีความรู้ความเชี่ยวชาญจากภาคอุตสาหกรรมเติมเข้าไป เพราะต้องการสร้างระบบนิเวศของการวิจัยของประเทศไทยให้เป็นระดับโลก KBTG ทำวิจัยร่วมกับ MIT Media Labs ส่งนักวิจัยของ KBTG ไปร่วมทำวิจัยเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถนำมาใช้งานจริงได้ในประเทศไทย

“สิ่งที่ทำทั้งหมดนี้คือการสร้างความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีของประเทศไทยอย่างก้าวกระโดด เราไปจะได้ไกลต้องไปกับพันธมิตรและเราได้พันธมิตรที่แข็งแกร่งมาใภาคการศึกษาคือสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) มาร่วมกับ KBTG Kampus ทั้ง 3 โปรแกรม คือ KBTG Kampus ClassNest, KBTG Kampus Apprentice และ KBTG Kampus Co-Research”

เป้าคือการสร้าง tech talent ให้ประเทศไทยแบบก้าวกระโดดที่ 100,000 คนภายในปี 2030 ลำพัง KBTG สร้างเองจะสร้างได้เพียงปีละ 1,000 คนเท่านั้น

“อยากชวนสถาบันวิจัย มหาวิทยาลัย และคอร์ปอเรต เข้ามาร่วมกันสร้างระบบนิเวศเทคโนโลยีและการวิจัย สร้าง edtech และสร้าง tech talent ให้กับประเทศไปร่วมกัน เพื่อร่วมกันสร้างความสามารถให้ประเทศไทยให้เป็นหนึ่งในศูนย์กลางของเทคโนโลยีของโลก เพื่อให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในผู้นำในช่วงเวลาทองของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ร่วมกัน” 

ทิศทาง KBTG/KMITL คือทิศทางเดียวกัน

รศ.ดร.คมสันต์ มาลีสี รักษาการอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า ปี 2040 สจล.จะเป็นสถาบันการศึกษาที่จะก้าวไปสู่การเป็น The World Master of Information สถาบันการศึกษาเดินหน้าทำงานวิจัยขั้นสูง ที่สามารถถูกนำไปใช้ได้จริง ที่ผ่านมางานวิจัยของสถาบันการศึกษาจะทำวิจัยขั้นสูง ตีพิมพ์ในวารสารระดับโลก แต่ไม่ได้ถูกนำไปใช้พัฒนาจริง การขับเคลื่อนงานวิจัยของสจล.จะต้องเน้นการพัฒนาการสร้างนวัตกรรมที่เรียนในมหาวิทยาลัยและนวัตกรรมที่ได้จากการทำงานร่วมกับภาคเอกชนมาร่วมกันสร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรม 

สจล.จะผลิตนวัตกรรมออกมา 1,000 ชิ้น เป็น 1,000 โปรเจคต์ 1,000 ไอเดียที่จะมุ่งสู่การสร้างออกมาเป็นนวัตกรรม โจทย์ต้องเป็นโจทย์ที่ต้องทำร่วมกับภาคอุตสาหกรรม ที่สจล.มีนักวิจัย ราว 2,000 กว่าคน

“มหาวิทยาลัยทั้งหมดในประเทศไทยจะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยอยู่จำนวนมาก แต่จะทำอย่างไรให้หน่วยงานเหล่านี้คิดหัวข้อที่สร้างสรรค์และร่วมมือกับาคอุตสาหกรรมและพัฒนาเทคโนโลยีต่าง ๆ”

สจล.จึงสร้างศูนย์ KLLC หรือ KMITL Lifelong Learning Center จะไม่เน้นนักศึกษาจบการเรียนรู้หลังจากการเรียนจบ 4 ปี เพราะการเรียนการสอน 4 ปี เมื่อนักศึกษาจบไปแล้วยังทำงานไม่ได้เลย เพราะทักษะต่าง ๆ ที่มหาวิทยาลัยมีอยู่อาจจะเป็นทักษะพื้นฐานที่อยู่กับปัจจุบันและอดีตแต่ไม่ตอบโจทย์ในอนาคตที่ต้องการทักษะใหม่ ๆ ซึ่งภาคอุตสาหกรรมจะมีความเข้าใจตรงนี้ได้ดี ดังนั้น สจล.จะต้องไปต่อเชื่อมร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรรมเพื่อนำมาพัฒนาโครงการ นักศึกษาปีที่ 3 ต้องคิดหัวข้อโครงงานและปี 4 ทำโครงการทั้งปีร่วมกับภาคอุตสาหกรรม ทำให้ได้ไอเดียใหม่ ๆ และเมื่อเวลาเขาขาดทักษะบางอย่างเขาจะได้ทักษะใหม่ อาทิ ความร่วมมือระหว่าง KMITL และ KBTG จะนำองค์ความรู้มาร่วมมือกับเป็นทักษะใหม่ มาพัฒนาแพลตฟอร์มที่มีทั้ง upskill/reskill 

KLLC ศูนย์การเรียนรู้ตลอดชีวิตของ KMITL มี 97 คอร์สออนไลน์ที่เป็นความร่วมมือกันระหว่างคณะและวิทยาลัยต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยและกับเอกชน มีคนเข้าเรียนมากกว่า 1,440,000 ครั้งบนเว็บไซต์ มีสมาชิกมากกว่า 22,000 คน

“สจล.ทำการศึกษาทักษะแห่งอนาคตในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ต้องการนำองค์ความรู้เหล่านี้มาเพื่ออกแบบวิชาการเรียนเพื่อผลิตนักศึกษาออกมาให้ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรม เราจะเป็นแพลตฟอร์มที่ให้นักศึกษาทำงานเป็นทีม พัฒนาทักษะ และสร้างนวัตกรรม คือ ทำคอร์สออนไลน์และทำเวิร์คช้อป” 

รศ.ดร.คมสัน กล่าวว่า หากนักศึกษาเรียนแล้วอยากจะหยุดออกไปทำสตาร์ตอัพ สามารถหยุดการเรียนไว้ได้ เก็บเครดิตการเรียนไว้ใน เครดิตแบงก์ และมีการออกแบบวิชาเป็น box-course ให้นักศึกษาสามารถเลือกเรียนองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่ออกแบบเอง ซึ่ง box-course เปิดให้คนทั่วไปได้เรียนได้ด้วย องค์ความรู้ที่ได้จากการเรียน box-course สามารถนำมาเก็บไว้ใน credit bank เพื่อไปเรียนในระดับปริญญาโทและเอกได้

“สจล.ร่วมมือกับ KBTG หลายโครงการ ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษากับภาคอุตสาหกรรมจะเป็นประโยชน์มาก ๆ ต่อตัวนักศึกษา โจทย์เราต้องสร้างระบบนิเวศด้านการศึกษาเพื่อให้เกิดการสร้าง tech talent ในระดับจำนวนมากให้กับประเทศ”

ด้านรศ. ดร.ศิริเดช บุญแสง คณบดี คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ สจล. กล่าวว่า ได้ร่วมมือกับ KBTG ในการทำวิจัยเผยแพร่งานวิจัยหลายชิ้นงาน มองเห็นว่าโจทย์จากภาคอุตสาหกรรมเป็นโจทย์ที่ทันสมัย การนำโจทย์ที่ทันสมัยมาทำวิจัยจะทำให้งานวิจัยทันสมัยด้วย และนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ KBTG Kampus Apprentice จะได้รับประสบการณ์ที่หาจากที่ไหนไม่ได้ เพราะที่ KBTG มีขั้นตอนการสอนที่ชัดเจน และมีองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีขั้นสูง 

ดร.ทัดพงศ์ พงศ์ถาวรกมล กรรมการผู้จัดการ KBTG Labs กล่าวว่า การร่วมมือกันในเรื่องการวิจัยระหว่าง KBTG กับสถาบันการศึกษาทำให้ได้มา 3Ps คือ product ช่วยทำให้ KBTG สามารถสร้าง deep tech product ออกไปสู่ตลาดโลก process กระบวนการที่จะข้ามผ่านจากงานวิจัยสู่การนำไปใช้งานจริง กระบวนการสอดคล้องกัน ทำให้ value chain หมุนไปได้เรื่อย ๆ ทำให้สามารถปล่อยผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดได้มากขึ้น และ people ทำให้ทักษะของฝั่งงานวิจัยและฝั่งธุรกิจสามารถที่จะทำงานร่วมกันได้ ทำให้คุณค่าโดยรวมต่อประเทศมากขึ้น

เรืองโรจน์ กล่าวว่า ประเทศไทยสามารถเป็นศูนย์กลางของอุตสหากรรมเทคโนโลยีได้ สามารถสร้างคนเพื่อป้อนตลาดโลกได้ ยิ่งสร้างได้มากเท่าไรยิ่งไปได้ไกลเท่านั้น หลักการของ KBTG คือ อะไรที่ไม่มี KBTG จะสร้าง ซึ่งประโยชน์ไม่ได้ตกเป็นของ KBTG เท่านั้น แต่เป็นประโยชน์กับประเทศ 

“ที่ผ่านมาเรามี KBTG Kampus Apprentice 6 คน ที่สามารถทำงานวิจัยที่ที่สามารถนำไปใช้งานจริงได้ เป็นหลายล้านคน ซึ่งหากเราเพิ่มจำนวนตรงนี้ได้จะยิ่งสร้างอิมแพคได้” 

tech talent ที่มีความต้องการสูงใน KBTG 5 อันดับแรก คือ Software Engineer (Mobile/Application/Blockchain), Cyber Security, Business Analyst, Date Engineer และ Automation Test Engineer

KBTG ให้ความสำคัญด้านการดูแลบุคลากรเป็นอย่างมาก KBTG มีการ roadshow โดยผู้บริหารที่เดินทางไปพบปะพูดคุยกับ tech talent ทั้งในและต่างประเทศ การสร้างความร่วมมือทั้งด้านการวิจัยและพัฒนากับหน่วยงานระดับแนวหน้าของประเทศและของโลก และ referral program จากคนภายใน KBTG เป็นเครื่องมือที่สำคัญมากในการเชิญชวนคนเข้ามาทำงานในองค์กร 

ทั้งนี้ KBTG Kampus ยังต้องการพันธมิตรในการขับเคลื่อนได้เร็วและร่วมมือในการสร้าง tech talent เข้าสู่ตลาดแรงงานด้านเทคโนโลยี

“KBTG ยินดีสร้างความร่วมมือทั้งภาครัฐและเอกชน เพราะความมุ่งหวังที่สร้าง KBTG Kampus เราไม่ได้ต้องการสร้างเพื่อให้ KBTG เท่านั้น เราต้องการสร้างให้เกิด Tech Ecosystem ทั้งสำหรับประเทศไทย ให้เกิดการพัฒนา skill  tech talent ให้คนต้องการพัฒนาความรู้ความสามารถ” เรืองโรจน์ กล่าวทิ้งท้าย

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ