TH | EN
TH | EN
หน้าแรกTechnologyGoogle แนะไทยเร่งสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ดัน จีดีพีไทยแตะ 2.5 ล้านล้านบาทในปี 2030

Google แนะไทยเร่งสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ดัน จีดีพีไทยแตะ 2.5 ล้านล้านบาทในปี 2030

กูเกิล เปิดเผยผลการวิจัยพบว่าการเปลี่ยนรูปแบบเศรษฐกิจของไทยให้เข้าสู่ระบบดิจิทัลอย่างเต็มที่ จะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับไทยได้ถึง 7.95 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือ ราว 2.5 ล้านล้านบาทต่อปี ภายในปี 2030

พร้อมแนะให้ไทยเร่งอุดจุดอ่อนในการขยายการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลให้ครอบคลุมทั้งประเทศ และสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างนวัตกรรมที่เป็นของไทย และบ่มเพาะความรู้ความสามารถของแรงงานรุ่นใหม่ให้มีทักษะด้านดิจิทัลที่ตอบโจทย์โลกเศรษฐกิจดิจิทัลมากขึ้น 

งานวิจัยชิ้นนี้ทำโดย AlphaBeta บริษัทให้คำปรึกษาด้านกลยุทธ์และเศรษฐกิจ ซึ่งจัดทำการศึกษาภายใต้หัวข้อ  “Unlocking Thailand’s Digital Potential” หรือ การปลดล็อกศักยภาพทางดิจิทัลของประเทศไทย

ทั้งนี้ เจเนวีฟ ลิม (Genevieve Lim) ผู้บริหารของ AlphaBeta ซึ่งนำเสนอสรุปผลการวิจัยในครั้งนี้ กล่าวว่า ทิศทางสถานการณ์เศรษฐกิจโลกในขณะนี้ก็คือการมุ่งเข้าสู่โลกดิจิทัล ที่เทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ กลายเป็นขุมพลังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของแต่ละประเทศนับจากนี้ ดังนั้น ยิ่งปลดล็อกศักยภาพทางดิจิทัลของตนเองได้เร็วเท่าไรย่อมจะได้ประโยชน์ในการพลิกฟื้นได้อย่างก้าวกระโดด และทำให้การพัฒนาประเทศเป็นไปได้อย่างยั่งยืนเร็วขึ้นมากเท่านั้น 

ทั้งนี้ ในส่วนของประเทศไทย หากมีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปใช้ประโยชน์กับเศรษฐกิจอย่างเต็มรูปแบบ ภายในปี 2030 ตัวเทคโนโลยีดิจิทัลจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ไทยต่อปีได้ถึง 2.5 ล้านล้านบาท ซึ่งเทียบเท่ากับประมาณ 16% ของ GDP ประเทศไทยในปี 2020 ที่ผ่านมา 

ขณะเดียวกัน ไม่เพียงแต่ธุรกิจใหม่ ๆ อย่างสตาร์ตอัพที่จะได้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลเท่านั้น แต่การศึกษายังพบอีกว่าภาคธุรกิจดั้งเดิมซึ่งเป็นแหล่งรายได้อันดับต้น ๆ ของไทย อย่างค้าปลีก งานบริการ และการผลิต สามารถใช้ประโยชน์สูงสุดจากเทคโนโลยีดิจิทัลในการเพิ่มช่องทางการขาย การกระจายการขนส่ง และการติดต่อเชื่อมโยงเข้าถึงผู้บริโภค โดย 21% ของโอกาสทางเศรษฐกิจเป็นของภาคผู้บริโภค ค้าปลีก และงานบริการ เป็นการตอกย้ำว่าผลลัพธ์ของเทคโนโลยีดิจิทัลไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ภาคธุรกิจไอซีทีเท่านั้น 

สำหรับการศึกษาฉบับนี้ จะมุ่งตอบคำถาม 3 ประการหลัก คือ 1) ทำไมดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชันถึงสำคัญสำหรับประเทศไทย 2) โอกาสของประเทศไทยอยู่ที่ตรงไหน และ 3) คือ ปัญหาและความท้าทายของไทยว่ามีอะไรบ้าง รวมถึงข้อเสนอแนะที่ไทยควรดำเนินการต่อไปเพื่อฉกฉวยโอกาสทางดิจิทัลนี้ให้เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศให้มากที่สุด 

แบงก์ชาติไม่หนุนคริปโต ย้ำผันผวน/เสี่ยงสูง ไม่เหมาะกับชำระสินค้า-บริการ

กสิกรไทย ตั้งเป้า 2 ปีโต 5 เท่า ดันฐานลูกค้าดิจิทัล 10 ล้านรายทั่วภูมิภาค

เจเนวีฟ กล่าวว่า จนถึงขณะนี้ คนไทยส่วนใหญ่ ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนทั่วไปน่าจะเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่นแล้วไม่มากก็น้อย 

โดยรายงานการศึกษาคาดการณ์ว่า 65% ของโอกาสทางดิจิทัลของประเทศไทย มูลค่ารวม 1.6 ล้านล้านบาท น่าจะมาจากการใช้เทคโนโลยีที่ช่วยให้ธุรกิจต่าง ๆ บรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากโควิด-19 ยิ่งไปกว่านั้น การเปลี่ยนรูปแบบสู่ระบบดิจิทัลยังมีส่วนสำคัญในการกระตุ้นการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศและเพิ่มขีดความสามารถด้านการฟื้นตัวในระยะยาวของธุรกิจไทย

ในส่วนของโอกาสของไทยยังถือได้ว่าเปิดกว้าง ภายใต้นโยบายการสนับสนุนของภาครัฐอย่างจริงจัง ซึ่งเจเนวีฟ ชมว่า รัฐบาลไทยค่อนข้างทำได้ดีในแง่ของการสนับสนุนการสร้างประเทศไทยให้เข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลเต็มตัว โดยสถานะความสามารถทางการแข่งขันด้านดิจิทัลของไทยจัดอยู่ในอันดับที่ 2 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นรองเพียงแค่สิงคโปร์เท่านั้น 

อย่างไรก็ตาม รายงานพบว่า ไทยยังมีความท้าทายที่ต้องเร่งแก้ไข คือ อัตราการนำระบบดิจิทัลไปใช้ของธุรกิจต่าง ๆ ในประเทศที่ยังคงอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ คือ ประมาณ 33% เมื่อเทียบกับมาตรฐานเฉลี่ยทั่วโลกซึ่งอยู่ที่ราว 65% โดยมีสาเหตุหลัก ๆ มาจากการขาดแคลนทักษะดิจิทัล ความรู้เท่าทันด้านเทคโนโลยี และบุคลากรที่มีทักษะความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี รวมทั้งต้นทุนที่สูงของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี เช่น เครือข่าย 5G

เจเนวีฟ กล่าวเสริมว่า อีกหนึ่งความท้าทายของไทย คือ การเร่งกระจายการเข้าถึงเทคโนโลยีให้ไปยังตามจังหวัดต่าง ๆ ทั่วไทย โดยการศึกษาพบว่า อัตราการใช้และเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลยังกระจุกตัวอยู่แต่ภายในกรุงเทพฯ สูงถึง 40% เมื่อเทียบกับเมืองรอบนอก 

ทั้งนี้ เจเนวีฟได้สรุป 3 แนวทางหลักที่ไทยต้องเร่งดำเนินการเพื่อนำไปสู่การคว้าโอกาสทางดิจิทัลได้อย่างเต็มรูปแบบ กล่าวคือ

1) การช่วยให้ธุรกิจต่างๆ นำเทคโนโลยีดิจิทัลไปใช้งานได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการจัดการปัญหาในด้านโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ การจัดทำฐานข้อมูล

2) การปรับปรุงการฝึกอบรมทักษะและการศึกษาด้านระบบดิจิทัล จัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมบ่มเพาะที่ไม่เพียงแต่สร้างบุคลากรรุ่นใหม่ด้านดิจิทัล แต่ยังเปิดโอกาสให้แรงงานเดิมที่มีอยู่ได้รีสกิลและอัพสกิลทักษะทางดิจิทัลของตนเอง รวมถึง สนับสนุนให้สถาบันการศึกษาและภาคเอกชนได้จับมือพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมบุคลากรร่วมกัน

และ 3) คือการพัฒนาสภาพแวดล้อมที่นำไปสู่การค้าดิจิทัลได้สะดวกมากขึ้น เพิ่มจำนวนผู้เข้าร่วมค้าให้หลากหลายมากขึ้นและครอบคลุมตลาดที่กว้างขึ้น ทั้งตลาดภายในประเทศและตลาดระหว่างประเทศ เช่น ระบบการโอนเงินระหว่างประเทศผ่านแอพพลิเคชั่น เป็นต้น 

เจเนวีฟ กล่าวว่า หากไทยสามารถปลดล็อกศักยภาพทางดิจิทัล และจัดการอุดรอยรั่วได้ เศรษฐกิจดิจิทัลของไทยก็จะเป็นทั้งโอกาสทางธุรกิจและแหล่งจ้างงานใหม่ๆ ที่จะช่วยนำพาเม็ดเงินเข้าไทยได้อีกมหาศาล 

ด้าน แจ็คกี้หวาง Country Director, Google ประเทศไทย กล่าวว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แม้จะเป็นเรื่องยากสำหรับประเทศไทยที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่คนไทยก็สามารถปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลง และคว้าโอกาสใหม่ ๆ โดยนำเครื่องมือและเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ได้ค่อนข้างดี ซึ่ง Google ก็พร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยให้ไมบคว้าโอกาสทางดิจิทัลให้ได้อย่างเต็มศักยภาพผ่านโปรแกรมและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ของบริษัทต่อไป 

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ