TH | EN
TH | EN
หน้าแรกTechnology"จำรัส สว่างสมุทร" ผู้อำนวยการใหญ่ส.อ.ท. ชี้เป้าภาคอุตสาหกรรม "เตรียมพร้อมสู่ความยั่งยืน"

“จำรัส สว่างสมุทร” ผู้อำนวยการใหญ่ส.อ.ท. ชี้เป้าภาคอุตสาหกรรม “เตรียมพร้อมสู่ความยั่งยืน”

การสร้างความยั่งยืนของภาคอุตสาหกรรม (Sustainability) ไม่ใช่เรื่องที่จะทำตามลำพัง ต้องได้รับแรงสนับสนุนจากเหล่าพันธมิตรทั้งหลาย หนึ่งในกำลังที่เข้าหนุนช่วยย่อมต้องเอ่ยนามสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ผู้เป็นแกนกลางเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่อุตสาหกรรมไทย ให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล

จำรัส สว่างสมุทร ผู้อำนวยการใหญ่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เล่าถึงสิ่งที่สภาอุตสาหกรรมฯ ได้ทำมา และอนาคตจะไปในทิศทางใด ด้วยการบรรยายในหัวข้อ Next Wave of Smart Manufacturing for Sustainability ณ งานเปิดบ้าน SMC OPEN HOUSE ของศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน หรือ Sustainable Manufacturing Center (SMC) ซึ่งมีประเด็นน่าสนใจ เก็บมาถ่ายทอดต่อ

โดยการดำเนินงานของสภาอุตสาหกรรมฯ นั้น สืบเนื่องจากเห็นว่าในสภาวะปัจจุบันนี้ การปรับตัวเข้าสู่ Industry 4.0 เป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง จากการที่อุตสาหกรรมบ้านเราต้องเผชิญความท้าทายกับการแข่งขันจากต่างประเทศ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการส่งออกเป็นกลุ่มแรก ๆ ที่ต้องปรับตัว รวมถึงอุตสาหกรรมที่เป็นซัพพลายเชนของโรงงานขนาดใหญ่ แต่กลุ่มนี้ทยอยปรับเป็นเฟส ๆ ได้

สวทช. – SMC ช่วยย่นเวลาทำงาน

อย่างไรก็ตาม เรื่อง Industry 4.0 นี้ ภาคอุตสาหกรรมต้องการให้ภาครัฐ เช่น สวทช. เนคเทค สนับสนุนให้ภาคอุตสาหกรรมก้าวจาก Industry 2.0 สู่ Industry 4.0 ได้มากขึ้น

“การตั้งศูนย์ SMC ทำให้ผู้ประกอบการเข้ามาใช้บริการได้ตั้งแต่การประเมินตัวเอง ว่าอยู่ระดับไหน จากนั้นจะมีทีมที่ปรึกษา การฝึกอบรม การพัฒนาบุคลากร ทำครบวงจรได้”

ทั้งนี้ การมีตัวช่วยอย่าง สวทช. หรือ SMC จะช่วยย่นระยะเวลาการทำงาน เพื่อพัฒนาสู่ 4.0 เมื่อได้รับการประเมินแล้วจะได้รู้ว่า จุดไหนต้องเติมเต็ม จุดไหนอาจไม่ต้องทำอะไรเลย แค่เพิ่มเป็น 3.0 ก็เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้แล้ว

“สถาบันต่าง ๆ ในประเทศไทยมีบุคลากรที่มีความรู้ พร้อมจะช่วยเหลือ แต่ต้องไม่รอให้หน่วยงานต่างๆ มาหาเรา เราต้องแสวงหาเองด้วย ซึ่ง SMC ติดต่อได้ง่าย มีหลายช่องทางให้ติดต่อ”

ส่วนของสภาอุตสาหกรรมฯ เอง ที่ผ่านมาได้จัดหลักสูตรฝึกอบรมให้แก่ผู้ประกอบการ ตั้งแต่เจ้าของกิจการ ระดับผู้จัดการโรงงาน รวมทั้งคนที่เกี่ยวข้องเข้ามาอบรม ทำความเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงหรือปรับองค์กรต้องทำอะไร ใช้ทักษะอะไรบ้าง เช่น การเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม ซึ่งจะสามารถต่อยอดไปเรื่องอื่นๆ ได้ เช่น เทคโนโลยีการประหยัดพลังงาน การตอบโจทย์ BCG Model และตอบสนอง Carbon Neutrality เพื่อให้องค์กรบรรลุเป้าหมาย Net Zero ในอนาคตได้ด้วย

จะ 4.0 หรือไม่ขอเพียงรู้ความจำเป็น

ทั้งนี้ การเป็น Industry 4.0 ค่อนข้างจะ Full automation การผลิตเป็นอัตโนมัติทั้งหมด ซึ่งบางโรงงานอาจไม่จำเป็นต้องไปถึง 4.0 เพียงแค่ปรับจาก Industry 2.0 ไป Industry 3.0 ก็พอแล้ว ซึ่งขึ้นกับความจำเป็นของแต่ละโรงงาน

ส่วนที่สภาอุตสาหกรรมฯ ตั้งเป้าคือ ให้แต่ละโรงงานยกระดับ ปรับตัวกระบวนการในโรงงาน เพื่อ 1. ลดต้นทุนการผลิตได้ 2. ลดการสูญเสีย และ 3. การดูแลสิ่งแวดล้อม เป็นหลัก เพราะแต่ละอุตสาหกรรมมีความต้องการที่ไม่ต้องไปถึง 4.0 ไม่ต้องซื้ออะไร Luxury มากๆ

ก่อนหน้านี้สภาอุตสาหกรรมฯ สำรวจโรงงานอุตสาหกรรมของไทยประมาณ 70% ยังอยู่ขั้น Industry 1.0 และ 2.0 มีเพียง 30% เป็น Industry 3.0 และ 4.0 โดย 4.0 มีประมาณ 2% เท่านั้น

เริ่มผลักดัน 4.0 ตั้งแต่ 6 ปีก่อน

จำรัส พาย้อนอดีตไปเมื่อ 6 ปีก่อน โดยสภาอุตสาหกรรมฯ เริ่มผลักดัน Industry 4.0 ให้เป็นนโยบาย ตั้งแต่การช่วยกันให้นิยามอะไรคือ 4.0 รวมถึง 2.0, 3.0, 5.0 จากนั้นเดินหน้าสร้าง Awareness ให้ความรู้ ด้วยเหตุผลว่า ความยากของการเปลี่ยนจากโรงงาน Traditional เป็น Industry 4.0 คือ Mindset โดยเฉพาะของเจ้าของโรงงาน

“เราได้จัดทำหลักสูตรเพื่อเปลี่ยน Mindset ของคนที่เป็นเจ้าของ เพราะลองมาแล้วว่า เมื่อให้ความรู้ทางเทคนิคัลกับคนระดับผู้จัดการโรงงาน เมื่อกลับไปถึงโรงงาน เจ้าของโรงงานบอก ฟังไม่รู้เรื่อง แต่ตัดจบโดยให้เงิน 2 แสนบาทมาทดลอง ถ้าทำได้ค่อยว่ากัน ดังนั้น จำเป็นต้องเปลี่ยนความคิดของเจ้าของโรงงานให้ได้ก่อน”

จากนั้นยังมีหลักสูตรสำหรับ Middle Management เพื่อให้รู้วิธีการเลือกใช้ วิธีการพัฒนาโรงงานว่า ควรต้องทำอย่างไร การสอนรวมไปถึง Lean Manufacturing Process ก่อนจะใช้ Robot – IoTs จะต้องไป Lean Process ต่อด้วยส่งเสริมให้เกิด Success Case การใช้ IoT ไปสู่สมาชิก

ทำสำรวจประเมินโรงงาน

นอกจากนี้ มีการสำรวจ 2 แบบ คือ ID4 Connect Platform จากความร่วมมือของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และสภาอุตสาหกรรมฯ สนับสนุน Industry Transformation เข้าสู่ INDUSTRY 4.0 เปรียบเทียบง่ายๆ เท่ากับชุดตรวจ ATK มีคำถามไม่กี่คำถาม สามารถบอกได้คร่าวๆ ว่า โรงงานที่ตรวจอยู่ระดับไหน

แต่ถ้าต้องการลงลึกระดับมีผู้เชี่ยวชาญมาสำรวจในโรงงาน เทียบกับ RT-PCR คือ THAILAND i4.0 INDEX ที่เป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กับสภาอุตสาหกรรมฯ ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการประเมินสถานะความพร้อมเพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 

และมีโครงการ IDA Platform @SMC (Industry IoT & Data Analysis Platform) จากความร่วมมือกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ที่เกิดขึ้นประมาณ 3-4 ปีก่อน เป็นแพลตฟอร์มวิเคราะห์ข้อมูลอุตสาหกรรม เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมอัจฉริยะในประเทศไทย เป็นการตรวจสอบการทำงานของเครื่องจักร ตรวจสอบการใช้พลังงาน และตรวจสอบการผลิต แบบ Real Time โดยใช้ IoT sensors ไปจับที่เครื่องจักรต่างๆ และดึงค่าการใช้พลังงาน การสั่น การจับภาพ ส่งข้อมูลขึ้นระบบคลาวด์ ที่ผ่านมาช่วยโรงงานต้นแบบทำเสร็จแล้ว 43 โรงงาน และจะขยายผลต่อไปยังโรงงานไซส์ M และ S

หนุนสู่ความยั่งยืน

จากเรื่องที่ดำเนินการเพื่อผลักดันโรงงานเข้าสู่ Industry 4.0 มาถึงวันนี้ เราได้ยินเรื่องความยั่งยืน (Sustainability) และความเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) กันมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องมาเร็วกว่าที่คิด 

ดังนั้น แต่ละโรงงานจะมัวยุ่งอยู่กับ IoTs และ Robotics เท่านั้นไม่ได้ โดยส่วนของสภาอุตสาหกรรมฯ ตระหนักถึงเรื่องเหล่านี้ และเริ่มดำเนินการต่างๆ แล้ว

ทั้งนี้ พิจารณาจากข้อตกลงปารีส ที่ 81 ประเทศทั่วโลกประกาศเป้าหมาย Net Zero emissions ว่าจะไปถึงเป้าหมายภายในปีใด 

ในส่วนของประเทศไทยก็ไม่แตกต่างจากประเทศอื่นๆ โดยแบ่งเป้าหมายเป็น 2 สเตปคือ สเตปแรก Carbon Neutrality ในปี 2050 เปรียบง่ายๆ เท่ากับขั้นการไถ่บาป จากโรงงานที่มีเครื่องทำความร้อนอย่าง Boiler หรือทุกเครื่องมือที่ใช้พลังงานจะต้องปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งยังไม่สามารถเปลี่ยนได้ เนื่องจากยังไม่คุ้มทุน หรือยังไม่มีเครื่องอื่นทดแทน ที่ทำได้คือซื้อคาร์บอน เครดิตมาชดเชย 

สเตปที่สองคือ Net Zero ในปี 2065 ซึ่งเครื่องจักร และกระบวนการผลิตจะต้องไม่ปล่อยคาร์บอน ซึ่งทั้งเครื่องจักร และกระบวนการผลิตมีแนวโน้มจะต้องรื้อใหม่

ผลักดันผ่าน 3 กลไก

การดำเนินการของประเทศต่างๆ ทั่วโลกรวมทั้งไทย หลักๆ แล้วเป็นการผลักดันผ่าน 3 กลไก คือ 1. ตลาดทุน ซึ่งบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จะมีตัวชี้วัดว่าให้ความสำคัญต่อความยั่งยืนเพียงใด หากประเมินออกมาต่ำ กองทุนจะเข้าไปซื้อหุ้นไม่ได้ ส่งผลให้เจ้าของบริษัทเดือดร้อนเพราะหุ้นขายไม่ออก ฉะนั้น ตลาดทุนจะเป็นตัวบีบบริษัทใหญ่ๆ ให้ใส่ใจต่อความยั่งยืน ส่งผลให้ซัพพลายเออร์ของบริษัทใหญ่จะต้องทำเรื่องความยั่งยืนตามมาด้วย เป็นทอดๆ ไป

2. ตลาดเงินหรือสถาบันการเงิน ซึ่งธนาคารแห่งประเทศต่างๆ กำลังทำ Taxonomy ติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของสถาบันการเงินและกำหนดนโยบายที่เหมาะสม เช่น ตั้งมาตรฐานให้แก่แต่ละอุตสาหกรรมให้มีค่าเฉลี่ยการปล่อยคาร์บอนได้ปีละกี่ตัน ถ้าทำไม่ได้ตามมาตรฐานจะส่งผลให้กู้เงินได้ยากขึ้น ดอกเบี้ยแพงขึ้น

และ 3. ภาษี ผู้ส่งออกไปยุโรป หรือญี่ปุ่น จะเริ่มรับรู้ว่า ถ้าสินค้าไม่มีฉลากเขียวรับรองเรื่อง Green จะต้องจ่ายภาษีอีกขั้นหนึ่ง

ทุกปัจจัยล้วนบีบให้ต้องปรับ

จากกลไกดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นทอดที่เท่าไรในซัพพลายเชน สักวันจะต้องได้รับผลกระทบจากกลไกต่างๆ แน่นอน

ทั้งนี้ เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรั่ม ได้ชักชวนกลุ่มความร่วมมือแรกดำเนินการเรื่องความยั่งยืนผลักดันความเป็นกลางทางคาร์บอน เริ่มจากอุตสาหกรรมการบิน อุตสาหกรรมเหล็ก อุตสาหกรรมขนส่งทางเรือ อุตสาหกรรมขนส่งทางรถ ตามด้วยอุตสาหกรรมอะลูมิเนียม อุตสาหกรรมการกำจัดก๊าซคาร์บอน อุตสาหกรรมซีเมนต์ อุตสาหกรรมเคมี ซึ่งผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมต่างๆ เหล่านี้รวมถึงบริษัทในอุตสาหกรรมไอทีเข้าไปด้วย เช่น แอปเปิล คอมพิวเตอร์, อัลฟาเบต, ออโต้เดสก์, ไมโครซอฟท์

การวัดคาร์บอน มี 3 สโคป คือ 1. ผลิตพลังงานภายในโรงงาน 2. ซื้อพลังงานจากแหล่งอื่น 3. ใช้พลังงานนอกโรงงาน เช่น ใช้รถเพื่อขนส่งสินค้า แล้วนำทั้งหมดมาประเมินคาร์บอน ฟุตพรินต์ที่โรงงานสร้างขึ้น

สร้างแพลตฟอร์มตลาดกลาง FTIX

ปัจจุบัน สภาอุตสาหกรรมฯ ทำบล็อกเชนตลาดกลางการซื้อขายคาร์บอน เครดิต เสร็จแล้ว เป็นแพลตฟอร์มการซื้อขายพลังงานสะอาดและคาร์บอนเครดิต (Federation of Thai Industries Platform: FTIX) 

แพลตฟอร์ม FTIX ดำเนินการ 2 รูปแบบคือ ซื้อขายคาร์บอนเครดิต และซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (Removal Energy: RE) เพื่อตอบสนองความต้องการใช้พลังงานหมุนเวียน โดยได้รับอนุมัติจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน): อบก. ให้ซื้อขายได้ 1,000 เมกะวัตต์

สภาอุตสาหกรรมฯ ยังต้องก้าวต่อไปเพื่อหนุนช่วยองค์กรภาคอุตสาหกรรมเติบโตด้วยความยั่งยืน โดยประสานความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐ และภาคธุรกิจทั้งในและต่างประเทศให้บรรลุผลสำเร็จ

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ