TH | EN
TH | EN
หน้าแรกInterviewพันธกิจ "อุทยานวิทยาศาสตร์" บ่มเพาะนวัตกรรมไทย

พันธกิจ “อุทยานวิทยาศาสตร์” บ่มเพาะนวัตกรรมไทย

นวัตกรรมและเทคโนโลยี คือ กุญแจสำคัญที่จะขับเคลื่อนพัฒนาการเติบโตทางเศรษฐกิจและความก้าวหน้าของสังคมไทย แนวคิดเรื่องอุทยานวิทยาศาสตร์เริ่มมีความชัดเจนขึ้น หลังจากที่ทางกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กระทรวงอว.) ได้ขยายความร่วมมือกับกระทรวงอุตสาหกรรม ทำให้ได้รับรู้ว่า ที่ผ่านมา กระทรวงอุตสาหกรรมได้ใช้ทุกหนทางในการช่วยผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทั้งลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตไปหมดแล้ว และพบว่าทางออกและทางรอดที่เหลืออยู่ของเศรษฐกิจไทยนับต่อจากนี้ก็คือเรื่องของนวัตกรรมและเทคโนโลยี  

พันธกิจและยุทธศาสตร์ของอุทยานวิทยาศาสตร์ คือการเป็นสถานที่ที่เพียบพร้อมด้วยโครงสร้างพื้นฐานในการสนับสนุนผู้ประกอบการและธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจที่ใช้ความรู้เป็นหลัก (Knowledge-based entrepreneur) ให้สามารถกำเนิด เติบโต และเจริญรุ่งเรืองได้อย่างยั่งยืน โดยมีเป้าหมายที่จะผลักดันให้อุทยานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยเป็นพื้นที่ในการบ่มเพาะนวัตกรรมและเทคโนโลยีให้กับไทยอย่างรอบด้าน

สุวิภา วรรณสาธพ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย (Thailand Science Park) กล่าวกับ The Story Thailand ว่า ยุทธศาสตร์ชัดเจนตั้งแต่ต้นว่าอุทยานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยต้องการส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยให้ใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีทั้งหลายเป็นองค์ประกอบสำคัญในธุรกิจให้สามารถสร้างทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property:IP) ของตนเองขึ้นมาได้ เพราะถ้ามี IP เป็นของตนเอง ก็จะไม่มีใครสามารถลอกเลียนแบบได้ หรือลอกเลียนแบบได้ยาก

นำไปสู่การก่อร่างสร้าง EECI (Eastern Economic Corridor of Innovation) ต่อยอดจาก Thailand Science Park และ Software Park ภายใต้วิสัยทัศน์ที่ต้องการสนับสนุนผลักดันให้นวัตกรรมสามารถเติบได้อย่างดีเยี่ยม ได้อย่างเร็ว และได้อย่างมั่นคง

สร้าง Open Innovation สนับสนุนเอกชนทำ R&D

ยุทธศาสตร์ของอุทยานวิทยาศาสตร์แห่งชาติจะเน้นไปที่การสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมแบบเปิด (Open-Innovation Ecosystem) ซึ่งหมายรวม สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเติบโตทางนวัตกรรมทั้งภายในและภายนอก ถ้าคุณจะเติบโตแบบเปิดได้ การพัฒนานวัตกรรมภายในองค์กรเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ เพราะช้าและเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วมาก กอปรหลาย ๆ เรื่องต้องใช้วิทยาการที่หลากหลายสาขา เพราะฉะนั้นการที่จะช่วยสนับสนุนให้เกิด Open Innovation จึงสำคัญและเป็นกระแสที่อุทยานวิทยาศาสตร์ทั่วโลกพูดถึง เนื่องจากจะเป็นฐานในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม

“หน้าที่ของเรา คือ สนับสนุนและกระตุ้นให้เอกชนลงทุนในการทำงานด้านวิจัยและพัฒนา (R&D) เพื่อให้บริษัทมีทรัพย์สินทางปัญญาเป็นของตนเอง หลายบริษัทกำลังดำเนินการภายในเพื่อพัฒนานวัตกรรม แต่ระหว่างบริษัทด้วยกัน ระหว่างบริษัทกับหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐ หรือระหว่างบริษัทกับหน่วยงานพันธมิตรที่เป็นนักวิจัยเก่ง ซึ่งความร่วมมือนี้ช่วยให้นวัตกรรมเกิดได้เร็วขึ้นและดีขึ้น”

ดังนั้นต้องเปิดให้ภายนอกเข้ามาร่วมงานกับภายใน กุญแจสำคัญ คือต้องให้ผู้ประกอบการไทย ทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็ก รวมถึงสตาร์ตอัพให้สามารถเกิดและเติบโตภายในพื้นที่ที่จัดเตรียมไว้ได้ คือ พื้นที่ Open Innovation 

ยุทธศาสตร์ของอุทยานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย คือ การเป็นระบบนิเวศที่มีความเป็นมิตรพอที่จะสนับสนุนให้เกิดการทำ Open Innovation ให้กับผู้ประกอบการไทยสามารถเดินหน้าต่อไปให้ทำได้ดีขึ้น เร็วขึ้น และเจริญรุ่งเรืองมากยิ่งขึ้นได้ (better, faster, prosper)

ทั้งนี้ แต่เดิมจะมีการลงทุนใน R&D ไม่ถึงประมาณ 1% แต่ตอนนี้ เพราะมีกลไกการสนับสนุนในเชิงนโยบายจากภาครัฐเข้ามามากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นบัญชีนวัตกรรม หรือกลไกลดหย่อนภาษี 300% ซึ่งเป็นกลไกที่ทางอุทยานวิทยาศาสตร์แห่งชาติทำร่วมกับกระทรวงการคลังและกรมสรรพากร ดังนั้น จึงทำให้เม็ดเงินที่ลงทุนในการวิจัยและพัฒนาเพิ่มขึ้น

สู่ความเป็นเลิศ เชื่อมโยงเครือข่ายสร้างมูลค่าเพิ่ม 

เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการสร้าง Open Innovation Ecosystem ให้เกิดขึ้นได้อย่างแข็งแกร่งมั่นคงและยั่งยืนในประเทศไทย สุวิภา ในฐานะ ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ได้วางแผนกำหนดแนวทางการปฏิบัติงานหรือ Action Plan ไว้ 3 แนวทางด้วยกัน คือ การยกระดับบริการสู่ความเป็นเลิศ (Being excellent), การเชื่อมโยงเครือข่ายพันธมิตรที่เกี่ยวข้อง (Connecting the dot) และ สร้างมูลค่าเพิ่มใหม่ (Creating new Value)

โดยทั้ง 3 แนวทางปฏิบัติข้างต้น มุ่งให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ต้องการยกระดับกิจการของตนเองไปสู่การใช้นวัตกรรมเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก หรือ Innovation Driven Entrepreneur (IDE) ซึ่งถือเป็นหนึ่งในตัวประเมินผลงานของอุทยานวิทยาศาสตร์แห่งชาติของไทย เพราะการสร้างผู้ประกอบการที่เปี่ยมด้วยนวัตกรรม เพราะการมีผู้ประกอบการที่มีนวัตกรรมที่สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน จะทำให้เกิด spillover effect ที่จะทำให้เกิดการจ้างงานมากขึ้น ทำให้ธุรกิจเติบโตจนสามารถเสียภาษีได้มากขึ้น

ขณะเดียวกันก็ช่วยสนับสนุนงานของนักวิจัยให้แจ้งเกิดได้ หรือในกรณีที่นักวิจัยไม่สนใจที่จะก้าวเข้าไปในแวดวงธุรกิจ อย่างน้อยก็สามารถมีช่องทางในการเผยแพร่ต่อยอดงานวิจัยนั้นด้วยการถ่ายทอดเพื่อนำไปทำประโยชน์จากความร่วมมือกับบุคคลหรือหน่วยงานอื่น ๆ ต่อไป เรียกได้ว่า การสนับสนุนข้างต้น จึงทำให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมในวงกว้าง

“หน้าที่ของเรา คือ อำนวยความสะดวก ทำให้ระบบนิเวศตรงนี้เกิดขึ้นมาให้ได้ เป็นมิตรเพียงพอ และเป็นระบบนิเวศที่มีตัวช่วยสนับสนุนที่มากพอที่จะให้ทำงานได้เร็วขึ้น และเอื้อให้คนทำงานร่วมกันภายใต้ความเชื่อมั่นซึ่งกันและกันได้ ดังนั้น สิ่งที่ทางอุทยานวิทยาศาสตร์แห่งชาติต้องทำหลักๆ เรื่องแรกของการจะทำให้อุทยานวิทยาศาสตร์แห่งนี้มีความเป็นเลิศได้อย่างไร”

การจะสร้างระบบนิเวศตามที่วาดหวังไว้ได้นี้ อุทยานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยต้องมีความเป็นเลิศในตัวเอง ทั้งในเชิงของบริการ ความรู้ข้อมูล และเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญที่ต้องดีที่สุด เพื่อให้อุทยานฯ เป็นพื้นที่ที่นวัตกรรมและเทคโนโลยีของบริษัทที่เข้ามาอยู่ในอุทยานวิทยาศาสตร์แห่งชาติพัฒนาได้เร็วและสามารถเติบโตได้เร็ว

ความเป็นเลิศหมายถึง ความสามารถในการบริหารจัดการที่จะให้การสนับสนุนที่ดีที่สุด รวมถึงการดึงผู้ประกอบการที่มีศักยภาพให้เข้ามาเป็นพันธมิตร เพื่อเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวก บริการและกลไกการช่วยเหลือ เพราะต้องไม่ลืมว่าบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กทั้งหลาย รวมถึงสตาร์ตอัพไม่ได้มีทุนรอนเพียงพอที่จะว่าจ้างนักวิจัยระดับหัวกะทิ เข้ามาช่วยดูแลและพัฒนานวัตกรรม ที่อุทยานวิทยาศาสตร์ เอกชนจะสามารถเข้าถึงนักวิจัยได้ง่ายดาย

ปัจจุบันสวทช. มีนักวิจัยเต็มเวลาประจำ 5 ศูนย์แห่งชาติครบ 5 มิติ คือ NANOTEC, NECTEC, BIOTEC, MTEC (Material Sciences วัสดุศาสตร์) และ ENTEC (Energy Tech) ทั้งหมดเป็นดอกเตอร์และนักวิจัยจากหลายหลายสาขารวมประมาณ 2,000 คน

“อุทยานฯ จะคอยจับคู่ให้ หรือในกรณีที่ไม่มี แต่รู้ว่าคนเก่งหรือผู้เชี่ยวชาญอยู่ที่ไหน ทางเราก็จะเข้าไปติดต่อขอเป็นพันธมิตรคอยเชื่อมโยงให้”

ปัจจุบัน นอกจากเครือข่ายนักวิจัยแล้ว ทางอุทยานวิทยาศาสตร์แห่งชาติยังมีเครือข่ายภาคเอกชนเข้าร่วมด้วยราว 120 แห่ง ครอบคลุมทั้งบริษัทขนาดใหญ่และขนาดเล็ก มีทั้งบริษัทในประเทศและต่างประเทศ เช่น เบทาโกร มิตรผล เอสซีจี ปตท. โอสถสภาฯ เป็นต้น ซึ่งมาทั้งศูนย์วิจัยกับทางอุทยานฯ ขณะที่ทางฝั่งบริษัทต่างชาติ ก็เช่น อายิโนะโมโต๊ะ ยามาโมริ หรือคิวพี เป็นต้น มาตั้งศูนย์เทคนิคกับทางอุทยานฯ

ข้อดีของการมาตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนากับทางอุทยานวิทยาศาสตร์ทำให้บริษัททั้งในและต่างประเทศสามารถค้นหาตรวจสอบวัตถุดิบในพื้นที่ของไทยที่ดีที่สุดต่อการผลิตสินค้าและบริการป้อนสู่ตลาด โดยเฉพาะสำหรับบริษัทต่างชาติที่สามารถนำเทคโนโลยีที่มีมาปรับให้เข้ากับบริบทของสังคมไทย และภูมิภาคอาเซียน เกิดการจ้างงานคนไทย จ้างงานนักวิจัย แล้วพอวิจัยพัฒนาเสร็จแล้วก็ต้องผ่านศูนย์ทดสอบ

ตอนนี้ ทางอุทยานมีศูนย์ให้บริการทดสอบวิเคราะห์ รวมถึงเจ้าหน้าที่ดูแลเครื่องมือและให้คำแนะนำให้บริษัทเอกชนมาเช่าใช้เป็นจำนวนครั้งได้ ทำให้ไม่จำเป็นต้องลงทุนซื้ออุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือแพง ๆ มาใช้งานเพียงไม่กี่ครั้ง เช่นเครื่อง IMS ล่าสุดที่สามารถแยกแยะสาระสำคัญในวัตถุดิบต่าง ๆ อย่างกัญชาได้

ตั้งเป้าเป็นเลิศใน 4 มิติ

นอกจากสร้างความเป็นเลิศในการบริหารจัดการแล้ว ทางอุทยานฯ ยังตั้งเป้าพัฒนาสร้างความเลิศใน 4 อุตสาหกรรมที่เป็นจุดแข็งของไทย หรือมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ คือ อาหารและการเกษตร (Food and Agriculture), สุขภาพและสุขภาวะ (Health and Wellness) ที่จะเน้นอุปกรณ์ทางการแพทย์เพราะถือเป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่มีความสำคัญในการทำให้ไทยเป็น “อย่างยั่งยืน” โดยไม่ต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ, การขนส่งเดินทางท่องเที่ยว (Logistic and Tourism) และดิจิทัล 

ในส่วนของดิจิทัล ขณะนี้มีการเร่งปรับปรุงโครงสร้างของทาง Software Park ให้มุ่งไปที่ 3 เรื่องหลัก ๆ คือ ARI ได้แก่ระบบเครื่องยนต์ หุ่นยนต์ และระบบอัจฉริยะ (Automation, Robotics, Intelligence System) 

ส่วน Health and Wellness จะเน้นไปที่เครื่องมือแพทย์โดยเฉพาะในส่วนของอุปกรณ์ช่วยเหลือ (Assistive Devices) สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุและคนพิการ รวมถึงการให้ความสำคัญกับยา สมุนไพรและผลิตภัณฑ์ชีวภาพเพื่อสุขภาพ และ Functional Food ตลอดจนร่วมมือกับทางกระทรวงดิจิทัลในการพัฒนาผู้ประกอบการสาย Digital Health เพื่อช่วยป้องกันหรือรักษาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ที่ต้องกินยาต่อเนื่อง แต่สถานการณ์ปัจจุบันทำให้มีปัญหาในการเดินทางไปรับการรักษาที่โรงพยาบาล ก่อนขยับขยายไปสู่ระบบการรักษาทางไกล (Tele-medicine) และโรงพยาบาลอัจฉริยะ (Smart Hospital) ให้เพิ่มมากขึ้น

ด้านอาหารจะมุ่งเน้นไปที่วัตถุดิบต่าง ๆ และการเพิ่มมูลค่าให้กับอาหาร รวมถึงการพัฒนานวัตกรรมที่เกี่ยวข้องที่จะทำให้อุตสาหกรรมอาหารและเกษตรของไทยก้าวหน้า และด้านโลจิสติกส์กับการท่องเที่ยวจะมุ่งเน้นไปที่ระบบบริหารจัดการข้อมูล และระบบการทำงานที่สะดวก และมีประสิทธิภาพ

“จริง ๆ แล้ว ดิจิทัลมันจะสอดแทรกอยู่กับทั้ง 3 กลุ่มหลักที่ได้บอกไป คือจะเป็นแนวนอนทั้งสามตัว ส่วนดิจิทัลก็จะเป็นเส้นที่ตัดผ่านทั้ง 3 กลุ่มนี้ อย่าง Food ต้องเป็น Food Tech อย่าง Health ก็ Health Tech ส่วน Logistic ก็จะเน้นระบบบริหารจัดการที่จะไปช่วยส่งเสริมสนับสนุนให้ธุรกิจต่าง ๆ เติบโตขึ้น โดยเฉพาะในช่วงนิวนอร์มัล ที่การบริการจัดการซัพพลายเชนเป็นปัจจัยที่ธุรกิจและอีคอมเมิร์ซให้ความสำคัญ ขณะที่โรงแรมถ้ามีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันดี ๆ ก็สามารถควบคุมดูแล สร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าที่มาใช้บริการได้อย่างเต็มที่ การรับรองเรื่องมาตรฐานการให้บริการ ทำให้ลูกค้ามั่นใจว่าตนเองปลอดภัยแน่ ๆ จากโควิด-19 เช่นเครื่องมือช่วยเว้นระยะห่าง หรือเครื่องมือติดตาม บันทึกประวัติการเดินทาง“ 

เน้นขยายเครือข่ายทั้งปริมาณและคุณภาพ

ในส่วนของยุทธศาสตร์ที่สองซึ่งต่อจากการสร้างอุทยานวิทยาศาสตร์สู่ความเป็นเลิศแล้ว คือ การลากเส้นเชื่อมโยงจุด หรือ Connecting the dot ซึ่งหมายถึง การขยายเครือข่ายพันธมิตรที่จะมาช่วยให้ระบบนิเวศสมบูรณ์ด้วยการดึงคนเก่งให้มาเจอกันและร่วมมือกันทำ Open Innovation ให้เยอะขึ้น ขณะเดียวกันก็รักษาลูกค้าเก่าที่มีอยู่ให้มีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น 

“อย่างถ้าเรารู้ว่าหน่วยงานไหน สถาบันใด องค์กรใด ทั้งภาครัฐและเอกชน มีทุนวิจัยอะไร เราก็จะเชื่อมโยงให้ อย่างตัวเราเองเราก็ไปคุยกับทางบรรดาเทคฟันด์เพื่อให้สตาร์ตอัพหรือผู้ประกอบการดีๆ เข้าถึงแหล่งเงินทุน และสำคัญที่สุด คือ เชื่อมเรื่องการตลาดให้บริษัทที่อยู่กับเรา เป็นการสร้างการรับรู้การมองเห็นให้กับเขา (องค์กรที่เข้าร่วมในอุทยาน)”

นอกจากนี้ อุทยานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยยังได้สร้างเครือข่ายไปยังต่างประเทศผ่านสมาคมอุทยานวิทยาศาสตร์โลก หรือ International Association of Science Park and Area of Innovation (IASP) ซึ่งไทยเข้าร่วมและเป็นประธานประจำภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก โดยสมาคมดังกล่าวเป็นช่องทางที่อุทยานวิทยาศาสตร์แห่งชาติในหลายประเทศใช้เป็นพื้นที่ในการร่วมแบ่งปันแลกเปลี่ยนความคิดเห็น องค์ความรู้  ทรัพยากร และแนวทางในการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีของประเทศตน รวมถึงการได้เปรียบเทียบระดับสถานะของตนกับชาติสมาชิกอื่น ๆ

ยิ่งไปกว่านั้น ประโยชน์ของการเข้าร่วมสมาคม คือ สมาคมจะมีการจัดทำโครงการต่าง ๆ มากมาย เพื่อให้ลูกค้าที่อยู่ในอุทยานวิทยาศาสตร์แห่งชาติสามารถสร้างการรับรู้ เป็นช่องทางในการทำการตลาด หรือการจับคู่เพื่อหาพันธมิตรทางธุรกิจ (Business Matching) 

ในส่วนของยุทธศาสตร์สุดท้ายอย่างการสร้างมูลค่าใหม่ หรือ Creating New Value คือการค้นหามูลค่าใหม่ ๆ และผลักดันให้สามารถแจ้งเกิดอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ให้กับประเทศไทยได้ 

“ถ้าเราจะสร้างเจ้าของกิจการ หรือสตาร์ตอัพ ให้เป็น IDE หรือ Innovative-Driven Entrepreneur เราก็เข้าไปดูว่า ตอนนี้ เขายังขาดอะไร แล้วเราก็เข้าไปเสริมในส่วนที่เขาขาด ที่เราจะมีก็คือการเข้าไปเสริมในส่วนของการให้ทุน (Funding) ซึ่งในอดีตที่ผ่านมา เราจะหวังพึ่งแต่ Venture Capital (VC) แล้วส่งพวกสตาร์ตอัพมือใหม่ที่เพิ่งหัดคลานออกไป ทำให้สุดท้าย VC เหล่านั้นก็ปฏิเสธส่งคืนกลับมา เหล่าสตาร์ตอัพก็จะสูญเสียความมั่นใจ เราก็เลยไปเชื่อมโยงกับ World Business Angel Forum (WBAF) ที่รวบรวม “กองทุนนางฟ้า” จากกว่า 90 ประเทศ โดยเรื่องเงินอาจจะไม่ใช่ประเด็นใหญ่สำหรับ Business Angel เหล่านี้”

ทั้งนี้ Business Angel จะเน้นไปที่การให้ความช่วยเหลือส่งเสริมสนับสนุนสตาร์ตอัพทั้งหลาย โดยอาจจะเป็นในฐานะกูรูผู้เชี่ยวชาญ ที่ปรึกษา (mentor) ที่คอยให้คำแนะนำ หรือเป็นตัวกลางเชื่อมโยงสตาร์ตอัพให้พบกับกลุ่มลูกค้าที่ต้องการได้อีกทางหนึ่งด้วย 

ขณะเดียวกัน ก็เร่งตั้งเครือข่าย Angel Fund โดยอาศัยสายสัมพันธ์ที่มีอยู่กับบรรดาสตาร์ตอัพรุ่นบุกเบิกที่ยินดีให้ความช่วยเหลือสตาร์ตอัพน้องใหม่ที่เพิ่งก้าวเท้าเข้าสู่วงการ เป็นกลุ่มที่เรียกกว่า TBAN หรือ Thailand Business Angel Network ซึ่งเป็นแหล่งทุนที่จะมาช่วยบรรดาผู้ประกอบการทั้งหลายที่เมื่อพัฒนาถึงจุดหนึ่งย่อมต้องการเม็ดเงินเข้ามาอัดฉีดสนับสนุนกิจการของตนให้เติบโตได้ต่อไป 

“คนกลุ่มนี้ (Angel Fund) จะเข้าใจธรรมชาติของสตาร์ตอัพว่าไม่สามารถไปเร็วได้ ต้องใช้เวลายาวนานในการวิจัยและพัฒนาอย่างน้อย 5 ปี”

นอกจากนี้ การเชื่อมโยงกับต่างประเทศเพื่อการเรียนรู้เข้าถึงความรู้ กับองค์ความรู้ (Knowledge และ Know how) ยังจะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานของ ในอุทยานฯ ในการทำหน้าที่พัฒนาคน เพื่อสร้างคนในหลายมิติ 

“ถ้าคุณมีแต่ฮาร์ดแวร์ มันไม่มีซอฟท์แวร์ มันทำไม่ได้ ถ้าไม่มีคน ก็ไม่สามารถสร้าง “มูลค่า” เพิ่มขึ้นมาได้ โดยเป็นการพัฒนาคนในหลากหลายสาขา ไม่ใช่แค่เทคนิคอย่างเดียว เช่น เรื่องการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา ที่หลังจากคิดค้นพัฒนาสินค้า เราจะปกป้ององค์ความรู้เหล่านี้อย่างไร จะมีมาตรฐานจัดการต่าง ๆ อย่างทำอย่างไรให้ขายได้ มันก็ต้องไปมีมาตรฐานคุณภาพ ซึ่งรวมถึงการคุยกับสมอ. มอก. อย.”

ดังนั้น การสร้างมูลค่าเพิ่มจึงเกี่ยวข้องกับการระดมเงินทุน การพัฒนาคน และการยกระดับโครงสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน 

ยิ่งไปกว่านั้น ทางอุทยานวิทยาศาสตร์แห่งชาติ ยังจัดทำพื้นที่ให้นักวิจัยทั้งของรัฐและเอกชน ที่พัฒนาคิดค้นงานวิจัยในห้องแล็บปฏิบัติการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ได้มีโอกาสนำเสนองานวิจัยเพื่อต่อยอดสร้างเป็นชิ้นงานในเชิงพาณิชย์ต่อไป โดยพื้นที่ดังกล่าวจะมีความใกล้เคียงกับ MVP (Minimum Viable Product) ของต่างประเทศ 

“คือทำเป็นต้นแบบออกมาชิ้นหนึ่งแล้วไปนำเสนอเพื่อแสดงให้คนเห็นว่ามันจับต้องได้ ไม่ใช่เป็นเอกสารงานวิจัยที่อยู่บนหิ้งไปเรื่อย ๆ แต่อันนี้ พอสามารถพัฒนาทำขึ้นมาได้ ก็นำไปเสนอขาย ทดลองตลาด อะไรต่าง ๆ ได้ แล้วก็ปรับมัน มันก็จะถูกลง ก่อนที่บริษัทหรือตัวนักลงทุนจะเข้าไปลงทุนแพง ๆ โดยตอนนี้เราไปคุยกับทาง DEPA ร่วมลงทุนกับอุทยานวิทยาศาสตร์ จัดตั้งศูนย์ MVP แห่งนี้ โดยศูนย์ MVP จะมีเครื่องไม้เครื่องมือ เช่น เครื่องปริ๊นท์ 3 มิติ พร้อมให้บริการ และกำลังจะเปิดให้บริการในไม่ช้านิ้”

ศูนย์ MVP ดังกล่าวถือเป็นหนึ่งโครงสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่มีความสำคัญ ที่เชื่อมโยงกับคนอื่น ๆ ในเครือข่ายไปจนถึงโรงงานผลิต ทำให้นักวิจัยที่อยากเสนอขายและผลิตออกมา สามารถรับทราบข้อมูลในเรื่องของต้นทุนการผลิต ไปจนถึงคุณสมบัติน่าใช้งานของสินค้า

EECI, Science Park และ Software Park 

แม้การเดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วนอย่างชัดเจน คือ EECi , อุทยานวิทยาศาสตร์ (Science Park) และอุทยานซอฟต์แวร์ (Software Park) แต่พื้นที่ทั้งสามมีจุดเด่นที่แตกต่างกัน แต่ก็มีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องซึ่งกันและกัน 

ทั้งนี้  EECi หรือ Eastern Economic Corridor of Innovation จะเป็นพื้นที่ด้านนวัตกรรมที่แตกต่างจากอุทยานวิทยาศาสตร์ โดยขณะที่อุทยานวิทยาศาสตร์มุ่งเน้นไปที่การส่งเสริมสนับสนุนด้านการวิจัยและพัฒนา EECi จะเน้นไปที่การสร้างอุตสาหกรรมใหม่ เช่น อุตสาหกรรมเศรษฐกิจฐานชีวภาพ แต่ทั้งสองส่วนนี้ก็มีความเชื่อมโยงกันตรงนี้ เมื่อบริษัทหรือหน่วยงานพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีที่อุทยานวิทยาศาสตร์ขึ้นมาได้ หากจะขยายขนาดให้เป็นธุรกิจ EECi ก็จะเป็นพื้นที่ที่มีโครงสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน และระบบบริหารจัดการเข้ามารองรับตอบโจทย์สำหรับการผลิตในเชิงพาณิชย์ต่อไป

อุทยานซอฟต์แวร์และอุทยานวิทยาศาสตร์ จะให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีทุกด้าน อุทยานซอฟท์แวร์จะเน้นไปที่การพัฒนาดิจิทัลเท่านั้น 

“ตอนนี้หน้าที่ของเรา คือพยายามเชื่อมโยง เพราะดิจิทัลมันคาบเกี่ยว และเสริมสร้างประสิทธิภาพในส่วนอื่น ๆ ด้วย ขณะที่แนวคิดของอุทยานวิทยาศาสตร์ก็สามารถประยุกต์ให้เข้ากับอุทยานซอฟท์แวร์เหมือนกัน นั่นคือ การพัฒนาคน รวมถึงการระดมทุนผ่านกองทุนนางฟ้า ที่ดิจิทัลจะเข้ามามีบทบาทสำคัญ โดยต้องยอมรับว่า เทคโนโลยีดิจิทัลทุกวันนี้มันเปลี่ยนเร็วมาก ถ้าคุณไม่ปรับก็ลำบาก ซึ่งที่กำลังเน้นทางด้าน AI และ Intelligence System”

ทั้งนี้ เป้าหมายสูงสุดของอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย คือ การสร้างโอกาสให้กับคนรุ่นใหม่ เพราะเมื่อระบบนิเวศของตัวอุทยานวิทยาศาสตร์มีความสมบูรณ์ คนรุ่นใหม่ของสังคมไทยจะมองเห็นโอกาสและความเท่าเทียมในการที่จะเข้าถึงทรัพยากร ความรู้ และปัจจัยอื่น ๆ อีกหลากหลายอย่าง รวมถึงความสามารถในการพัฒนาทักษะ (upskill และ reskill) ได้อย่างเต็มที่ ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศไทยทั้งประเทศสามารถหลุดพ้นจากกับดับรายได้ปานกลางได้ในที่สุด

“อยากให้ตรงนี้มันเป็นพื้นที่ที่คนรุ่นใหม่จะเข้ามามีส่วนร่วมและมองเห็นโอกาส คือ ไม่จำเป็นจะต้องเป็นลูกจ้าง หรือต้องเป็นเจ้าของกิจการหรือสตาร์ทอัพ เพราะคนแต่ละคนย่อมมีความถนัดที่แตกต่างกันออกไป อยากให้พื้นที่ตรงนี้มีโอกาสที่หลากหลาย เป็นพื้นที่ Open Innovation ของคนรุ่นใหม่ และเป็นความหวัง ขณะเดียวกัน หากมีโอกาสและความเป็นไปได้ ก็อยากเตรียมกลไกอื่นที่นอกเหนือจากโครงสร้างพื้นฐาน ที่จะช่วยบ่มเพาะ ประคบประหงม และสร้างสตาร์ตอัพขึ้นมาในประเทศไทยได้” 

อศินา พรวศิน – สัมภาษณ์
นงลักษณ์ อัจนปัญญา – เรียบเรียง

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ