TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistBlockchain ทำได้มากกว่าสกุลเงินดิจิทัล

Blockchain ทำได้มากกว่าสกุลเงินดิจิทัล

เมื่อไม่นานมานี้ เทคโนโลยี Blockchain เป็นเริ่มเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายมากขึ้น เนื่องจากความสำเร็จของ Cryptocurrency ซึ่ง Blockchain คือ เครือข่ายคอมพิวเตอร์แบบกระจายอำนาจที่มีความโปร่งใส ปลอดภัย และด้วยการพัฒนาอย่างต่อเนื่องทำให้ Blockchain รุ่นใหม่ ๆ มีศักยภาพสูงขึ้น สามารถแก้ไขปัญหาและเพิ่มประสิทธิภาพให้อุตสาหกรรมอื่น ๆ นอกจากวงการ Cryptocurrency ได้

ในบทความนี้ เราจะมาดูตัวอย่างกันว่าเทคโนโลยี Blockchain นอกจาก Cryptocurrency จะสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับอุตสาหกรรมใดได้บ้าง

1.สาธารณสุข

ความปลอดภัยถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในวงการแพทย์ ข้อมูลของคนไข้ในโรงพยาบาลไม่ว่าจะเป็น ประวัติส่วนตัว กรุ๊ปเลือด ประวัติการแพ้ยา ตลอดจนประวัติการรักษา มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการวินิจฉัยโรค ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อประสิทธิภาพการรักษาและชีวิตของผู้ป่วย 

อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ได้เกิดการโจมตีฐานข้อมูลของโรงพยาบาลจากกลุ่มผู้ไม่หวังดี โดยเฉพาะในปี 2020 ที่มีการโจมตีทางไซเบอร์กับองค์กรสาธารณสุขมากที่สุด โดยในสหรัฐอเมริกา มีรายงานการโจมตีกว่า 92 ครั้ง โรงพยาบาลและคลินิกกว่า 600 แห่งได้รับผลกระทบ ข้อมูลคนไข้กว่า 18 ล้านคนถูกละเมิด ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2019 ถึง 470% หรือกรณีล่าสุดที่เกิดขึ้นกับโรงพยาบาลในประเทศไทย ที่ถูกโจมตีด้วยการล็อคไม่ให้เข้าถึงข้อมูลผู้ป่วยจนเกิดเป็นความโกลาหลอยู่หลายวัน

เพื่อป้องกันประวัติศาสตร์ซ้ำรอย โรงพยาบาลและหน่วยงานสาธารณสุขจึงเริ่มหันมาใช้ Blockchain ในการจัดการข้อมูลให้มีประสิทธิภาพและปลอดภัยมากขึ้น เช่น BurstIQ LLC บริษัทชั้นนำด้านการจัดการข้อมูลและระบบสาธารณสุขในประเทศเอสโตเนีย ที่มีข้อมูลด้านสุขภาพและธุรกรรมกว่า 95% อยู่บน Blockchain

การใช้ Blockchain เข้ามาจัดการข้อมูล นอกจากจะยกระดับความปลอดภัยด้วยการกระจายฐานข้อมูล (ไม่เก็บไว้ที่เดียว) ยังช่วยป้องกันการปลอมแปลงหรือแก้ไขข้อมูล และเพิ่มประสิทธิภาพการสื่อสารระหว่างหน่วยงานในองค์กรอีกด้วย แพทย์และพยาบาลสามารถรับรู้ข้อมูลที่แม่นยำได้ทันทีเมื่อข้อมูลชุดใหม่จากห้องแลปถูกส่งเข้ามา เช่นเดียวกับเภสัชกรที่สามารถตรวจสอบข้อมูลและจ่ายยาได้อย่างถูกต้องโดยไม่ต้องใช้ความพยายามในการอ่าน “ลายมือหมอ” อีกต่อไป นอกจากนี้ Blockchain ยังสามารถใช้ตรวจสอบคุณภาพและที่มาของยาว่าผลิตจากแหล่งที่ถูกกฎหมายหรือไม่

หากสามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยี Blockchain เข้ากับระบบสาธารณสุขได้ตั้งแต่การจัดซื้อ การวินิจฉัย และการรักษาได้ ระบบสาธารณสุขจะมีความโปร่งใส, บริหารข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และปลอดภัย นำมาซึ่งการรักษาที่มีศักยภาพสูงและความไว้วางใจจากประชาชน

2.การบริจาค

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีประเด็นมากมายเกี่ยวกับความไม่โปร่งใสในการระดมเงินบริจาค อาทิ การนำเงินบริจาคไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ การไม่ยอมชี้แจงรายละเอียดบัญชี ตลอดจนการตั้งคำถามมากมายถึงความคุ้มค่าของเม็ดเงินบริจาคที่ลงไป ซึ่งปัญหาเหล่านี้เกิดจากการกระทำผ่านตัวกลางหลายต่อและข้อตกลงที่ไม่ชัดเจนระหว่างผู้บริจาคและผู้รับบริจาค

การดำเนินการผ่านตัวกลางหลายต่อ มักจะทำให้ผู้บริจาคไม่สามารถติดตามการดำเนินการทั้งหมดได้ ผู้บริจาคส่วนใหญ่ก็เลยต้อง “เชื่อใจ” ผู้รับบริจาคว่าจะดำเนินการอย่างสุจริต ยกตัวอย่างเช่น ดาราชื่อดังประกาศเปิดรับบริจาคเพื่อช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ดับไฟป่าผ่านบัญชีธนาคารของตนเอง ประชาชนก็ไว้ใจและมอบเงินบริจาคให้จำนวนมากผ่านบัญชีธนาคาร หลังจากนั้นดาราเจ้าของบัญชีจึงไปถอนเงินที่ธนาคาร และค่อยนำเงินไปซื้อปัจจัยต่าง ๆ มามอบให้เจ้าหน้าที่ ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีตัวกลางถึง 2 ตัว คั่นระหว่างผู้บริจาคกับผู้รับบริจาค ได้แก่ ธนาคาร (เชื่อถือได้) และ ดารา (อาจเชื่อถือไม่ได้) ดังนั้น หากอาศัยความเชื่อใจเพียงอย่างเดียวโดยปราศจากการติดตามและตรวจสอบอย่างใกล้ชิด ก็อาจเปิดช่องให้มีการทุจริตเกิดขึ้นได้ เช่น การไม่ยอมแสดงยอดเงินบริจาคทั้งหมด หรือการโยกย้ายเงินก่อนนำมาเปิดเผย เป็นต้น

จะเห็นได้ว่า แท้จริงแล้วปัญหาอยู่ที่ “ความโปร่งใส” ดังนั้นการใช้ Blockchain กับการบริจาคจึงเป็นทางออกที่เหมาะสมกับทุกฝ่าย ผู้บริจาคสามารถติดตามผลลัพธ์ได้ ส่วนผู้รับก็สามารถรับเงินได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย แม้จะไม่สามารถตัดตัวกลางออกได้ทั้งหมด เพราะอาจจะต้องบริจาคผ่านองค์กรการกุศล แต่ถ้ามีการนำ Smart Contract บน Blockchain มาใช้ร่วมด้วยก็จะยิ่งสบายใจได้ว่าจะเงินที่ได้บริจาคเข้าไปจะถึงมือผู้รับบริจาคตามเงื่อนไขของ Smart Contract ที่สามารถตรวจสอบได้ นอกจากนี้ ยังสามารถรับบริจาคได้จากทั่วทุกมุมโลกโดยเสียค่าธรรมเนียมในอัตราที่ต่ำมาก ทำให้เงินบริจาคถึงมือผู้รับได้มากยิ่งขึ้น

สำหรับองค์กรการกุศลที่นำ Blockchain มาประยุกต์ใช้จริง ได้แก่ Alice Crowdfunding Platform แพลตฟอร์มระดมทุนเพื่อการกุศลบนเครือข่าย Ethereum ที่จะส่งมอบเงินบริจาคก็ต่อเมื่อเป้าหมายที่กำหนดสำเร็จแล้วเท่านั้น หรือ The World Food Programme โครงการช่วยเหลือด้านอาหารขององค์การสหประชาชาติที่ใช้ Blockchain ในการติดตามสถานการณ์ของแต่ละพื้นที่และส่งมอบเงินสนับสนุน

3.การเลือกตั้ง

การลงคะแนนเสียงหรือการเลือกตั้ง เป็นกระบวนการสำคัญในระบอบประชาธิปไตยที่ต้องการความโปร่งใสเป็นอย่างยิ่ง เพื่อทำให้มั่นใจถึงความสุจริตและยุติธรรม ดังนั้นการประยุกต์ใช้ Blockchain ในการเลือกตั้งหรือการลงประชามติ จึงเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจและมีความเป็นไปได้สูงที่จะถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในอนาคตอันใกล้นี้ 

ปัจจุบัน เริ่มมีการนำ Blockchain มาใช้ในการเลือกตั้งบ้างแล้ว เช่น การเลือกตั้งท้องถิ่นของเมืองสึกูบะ จังหวัดอิบารากิ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อเดือนพฤศจิกายนปี 2020 รัฐบาลท้องถิ่นร่วมกับบริษัท LayerX พัฒนาระบบเลือกตั้งอิเล็กทรอนิกส์บน Blockchain ซึ่งก็ประสบความสำเร็จ และการเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย หรือล่าสุด การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ปี 2020 ก็มีการใช้ Blockchain ร่วมด้วยเช่นกัน โดยใช้ในบางรัฐเช่น เวสต์เวอร์จิเนีย, ยูทาห์, แอริโซนา เป็นต้น 

การลงคะแนนผ่านเครือข่าย Blockchain เพียงแค่ยืนยันตัวตนก็สามารถทำได้จากทุกที่บนโลก จึงสามารถลดปัญหาการเดินทางสำหรับผู้อยู่ในพื้นที่ห่างไกล อีกทั้งยังสามารถตรวจสอบการลงคะแนนได้ทันทีที่การเลือกตั้งสิ้นสุดลง และยังสามารถประหยัดต้นทุนในการจัดสถานที่เลือกตั้งได้อย่างมหาศาล แต่ที่สำคัญที่สุดคือสามารถลดปัญหาความไม่โปร่งใส ทำให้ผลการเลือกตั้งหรือการลงประชามติได้รับการยอมรับจากสาธารณชนมากขึ้น

สรุป

เทคโนโลยี Blockchain มีจุดเด่นด้านความโปร่งใส ปลอดภัย และบางครั้งก็สามารถลดต้นทุนได้ คุณประโยชน์ของเทคโนโลยีนี้จึงไม่ได้จำกัดแค่เรื่องของสกุลเงินดิจิทัลหรือคริปโทเคอร์เรนซีเท่านั้น บล็อกเชนสามารถนำประยุกต์ใช้กับอุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้อย่างกว้างขวาง

นอกจากนี้ ปัจจุบันเทคโนโลยีบล็อกเชนยังคงได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นที่น่าจับตาว่าในอนาคตจะมีการใช้งานบล็อกเชนในรูปแบบใหม่ ๆ ได้อย่างไรบ้าง

Content Contributor: วรินทร เชาอนาจิณ

อ้างอิง: Investopedia, Pixelplex, Builtin, Ledger Insight, Fierce Healthcare

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ