TH | EN
TH | EN
หน้าแรกInterviewบันทึกบทใหม่ของ "กริชผกา บุญเฟื่อง" นำ NIA สู่ “Focal Conductor” ผู้ชี้ทิศทางนวัตกรรมไทย

บันทึกบทใหม่ของ “กริชผกา บุญเฟื่อง” นำ NIA สู่ “Focal Conductor” ผู้ชี้ทิศทางนวัตกรรมไทย

ด้วยชื่อชั้นของ ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการคนใหม่ที่ไม่ใช่อื่นไกลในสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA แต่คือลูกหม้อเก่าที่ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการมายาวนานถึง 5 ปี 6 เดือน บนเส้นทาง สร้างไทยให้เป็นชาตินวัตกรรม (Innovation Thailand) ด้วยทิศทางการดำเนินงานที่เปิดกว้าง พร้อมยกระดับเอ็นไอเอให้เป็นองค์กรระดับประเทศผู้ชี้นำทิศทางและขับเคลื่อนนวัตกรรมไทย ด้วยแนวคิดการบ่มเพาะนวัตกรรมให้อยู่ในใจคนไทยในทุกมิติ (Innovation in Your Heart) ซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่แค่นวัตกร แต่ต้องครอบคลุมทุกสาขาอาชีพที่สามารถ สร้างใช้หรือเป็นองค์กรนวัตกรรม  ไม่ว่าจะเป็นมิติในสายวิทยาศาสตร์ที่สะท้อนผ่านงานวิจัยและพัฒนาต่าง ๆ  งานออกแบบดีไซน์จากมิติของศิลปะ หรือ ซอฟต์ พาวเวอร์ในการสร้างอิทธิพลผ่านมิติด้านสังคมและวัฒนธรรมที่สร้างกระแสมวลชนที่กว้างและรวดเร็ว เป็นต้น

แต่ถึงเราจะพูดว่า นวัตกรรมนั้นดียังไง แต่จะมีใครสนใจถ้าชีวิตเค้ายังกินอยู่ลำบาก จึงเป็นหน้าที่สำคัญของเอ็นไอเอในการส่งเสริมการตระหนักรู้และการพัฒนานวัตกรรมไทยให้เกิดประโยชน์ต่อภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม สังคม ประชาชน เพื่อสร้างโอกาส สร้างงาน และสร้างเงิน

นิติกรหัวใจนวัตกรรม

จากภูมิหลังการเรียนจบด้านนิติศาสตร์ในระดับปริญญาตรี โท และเอก เป็นผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์สูงทางด้านกฎหมายธุรกิจและการค้าระหว่างประเทศ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ กฏหมายด้านทรัพย์สินทางปัญญา รวมถึงดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาสมทบศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ทำให้จับจุดได้ว่า ทรัพย์สินทางปัญญาก็คือนวัตกรรมอย่างหนึ่งขอเพียงทำให้ทรัพย์สินทางปัญญาไม่ได้เป็นแค่งานวิจัยคิดค้นไว้ขึ้นทะเบียนสวย ๆ บนหิ้ง แต่ต้องผลักดันเข้าสู่ตลาดเพื่อให้เกิดประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ หรือ Commercialization 

“ข้อดีของการเป็นนักกฎหมาย ทำให้เรามองทะลุโครงสร้างของตัวบทกฎหมาย และหยิบประเด็นสำคัญมาขับเคลื่อนเชิงนโยบายได้ถูกจุด มีความละเอียดที่มากพอในแต่ละขั้นตอนการทำงาน อีกทั้งการมีนักกฎหมายเป็นความจำเป็นหากต้องการให้การเจรจาความร่วมมือด้านนวัตกรรมสำเร็จเป็นรูปธรรมทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ เพราะในประเทศที่พัฒนาแล้ว มีการออกกฎหมายเกี่ยวกับนวัตกรรม หรือกฎหมายที่มารองรับธุรกิจนวัตกรรมมากขึ้น ซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาและการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน”

ปรับเข็มทิศด้วย “2 ลด 3 เพิ่ม”

หากย้อนปูมหลังการเกิดชึ้นของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติกับบทบาทที่ผ่านมาในการเป็นผู้ให้ทุนนวัตกรรมในรูปแบบต่าง ๆ รวมถึงการเป็นผู้ให้ความรู้ ฝึกอบรม การพัฒนาคุณภาพของผู้ประกอบการ ตลอดจนติดตามปัญหาของผู้ประกอบการและให้ข้อเสนอเชิงนโยบาย ภายใต้บทบาทของป็นผู้ประสานงานเชื่อมโยง (System Integrator) จนถึงการเป็นผู้อำนวยความสะดวกทางนวัตกรรม (Focal Facilitator) ซึ่งยังไม่เพียงพอ หากต้องการนำประเทศไทยขึ้นสู่ลำดับที่ 30 ของการจัดอันดับดัชนีนวัตกรรมโลก (Global Innovation Index-GII) ให้ได้ในปี 2573  

การวางบทบาทใหม่ในฐานะ ผู้กำหนดทิศทางนวัตกรรมไทย (Focal Conductor) จึงเป็นการเปลี่ยนผ่านหน้าที่สู่การเชื่อมโยงให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และประชาชนในการกำหนดนวัตกรรมประเทศให้เดินไปในทิศทางเดียวกัน ผ่าน 3 กลไกหลัก“Groom-Grant-Growth” คือ การบ่มเพาะโครงการ การระดมทุนให้กับผู้ประกอบการ และเพิ่มมูลค่าการเติบโตของตลาดนวัตกรรมและนวัตกรรายใหม่ ผ่านกลยุทธ์ 2 ลด 3 เพิ่ม 

2 ลด ได้แก่ หนึ่งลดความเหลื่อมล้ำด้วยการส่งเสริมนวัตกรรมแบบเปิด (Open Innovation) ที่ทุกคนสามารถเข้ามาอยู่ในอีโคซิสเท็ม และได้รับโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน การฝึกอบรม โดยปรับเปลี่ยนการจัดสรรทุนที่แบ่งตามสายอุตสาหกรรมมาเป็นรายภูมิภาค ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการในต่างจังหวัดได้มีโอกาสเติบโตเช่นเดียวกับผู้ประกอบการในเมืองใหญ่ อย่างไรก็ตาม แม้การจัดสรรเป็นรายภูมิภาคทำให้ผู้ประกอบการในต่างจังหวัดเข้าถึงทุนได้มากขึ้น แต่ก็พบปัญหาเกี่ยวกับการขอทักษะการเขียนข้อเสนอโครงการ ปัญหาของผู้ประกอบการบางรายที่ทำแบรนด์ของตัวเองแต่ไปขายในตลาดโลกไม่ได้เพราะขาดเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา เราก็ลงไปเพิ่มการฝึกอบรม คัดเลือกกลุ่มผู้ประกอบการเพื่อพัฒนาทักษะเพิ่มเติม ทั้งวางกลไกการปล่อยเม็ดเงินลงทุนแบบใหม่ และแนะนำให้มีการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา สิทธิบัตรต่าง ๆ  สองลดอุปสรรคในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานด้านนวัตกรรมผ่านการทำงานร่วมกับอุทยานวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศ การปรับปรุงระเบียบข้อบังคับ มาตรฐานบางประการ รวมถึงลดทอนอุปสรรคการเชื่อมโยงกับตลาดที่ส่งผลต่อการเติบโตของผู้ประกอบการนวัตกรรม เป็นต้น

“เรามีการพูดคุยกับมหาวิทยาลัยที่เป็นโหนด (Node) ให้กับเราทั้งในทางเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงให้ทุนมหาวิทยาลัยในพื้นที่เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในการร่วมพัฒนาและจัดทำข้อเสนอโครงการ การทำงานร่วมกับอุทยานวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศเพื่อสร้างกลไกการทำงานที่เข้มแข็งร่วมกับภูมิภาค ซึ่งทรัพย์สินทางปัญญาที่ได้เราก็ยกให้กับเอกชนเนื่องจากนำไปใช้ประโยชน์ได้มากกว่า ซึ่งเป็นสิ่งที่เราทำมาก่อนจะมีกฎหมายสนับสนุนการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม (TRIUP Act) เกิดขึ้น”

ส่วน 3 เพิ่ม ได้แก่หนึ่งเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนซึ่งไม่ได้จำกัดเฉพาะทุนจากสำนักงานนวัตกรรมหรือหน่วยราชการ แต่ยังหมายถึงแหล่งทุนจากภาคเอกชน เช่น นักลงทุนอิสระที่พร้อมให้ทุนสนับสนุนสตาร์ตอัพขนาดเล็ก (Angel Investor) นักลงทุนที่เป็นองค์กรขนาดใหญ่ทั้งในแบบ VC และ CVC ภาคการเงินการธนาคาร เป็นต้น เพื่อสร้างโอกาสให้กับสตาร์ตอัพ เอสเอ็มอี หรือธุรกิจเพื่อสังคม สองเพิ่มจำนวนนวัตกรและผู้ประกอบการนวัตกรรม เพื่อยกระดับสู่การเป็นองค์กรนวัตกรรมในอนาคต และ สามเพิ่มศักยภาพของผู้ประกอบการนวัตกรรม ที่นอกเหนือจากเงินทุน แต่ยังหมายถึงการส่งเสริมผู้ประกอบการในการกำหนดแผนธุรกิจให้ชัด มีแผนบริหารจัดการที่ดี และวางกรอบช่องทางการเติบโตอย่างมีศักยภาพ 

“ภายใต้ทิศทางนี้ เอ็นไอเอได้กำหนดการให้ทุนในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ชัดเจนมากขึ้น เพื่อให้เกิดนวัตกรรมที่ดี อาทิ การสร้างแพลตฟอร์มเพื่อส่งเสริมการพัฒนา การสร้างโอกาสในการเข้าถึงและการใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐาน การสร้างนวัตกรผ่านสถาบันศึกษาหรืออะคาเดมี่ต่าง ๆ การพัฒนาระบบนวัตกรรมกรรมไทยให้เข้มแข็งเพื่อก้าวสู่ระดับโลก” 

7 กลยุทธ์ยกชั้นนวัตกรรมไทย

กลยุทธ์แรกคือ การพัฒนาผู้ประกอบการให้ครบห่วงโซ่คุณค่าเพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงและสามารถวัดผลการเติบโตทางธุรกิจใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ ภาคเกษตรกรรมและอาหาร ซึ่งสตาร์ตอัพในสายเกษตรกรรม รวมถึง GDP สินค้าเกษตรที่เป็นนวัตกรรมยังมีอยู่น้อยมาก ภาคสาธารณสุขและระบบสุขภาพ ที่ยังขาดสตาร์ตอัพซึ่งใช้เทคโนโลยีขั้นสูง (Deep Tech Startup) ในการพัฒนาด้านการแพทย์ และเป็นหน้าที่ของสำนักงานนวัตกรรมฯ ในการเชื่อมโยงการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงจากมหาวิทยาลัยหรือสถาบันวิจัยออกสู่ตลาดเชิงพาณิชย์มากขึ้น ภาคการท่องเที่ยว ผ่านการพัฒนานวัตกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น แพลตฟอร์มในการสืบค้นและจองที่พัก การชำระเงินผ่านออนไลน์ เป็นต้น ภาคพลังงานและเทคโนโลยีภูมิอากาศ อาทิ พลังงานทางเลือกในรูปแบบต่าง ๆ หรือ นวัตกรรมที่ตอบโจทย์ปัญหาสิ่งแวดล้อม เพื่อไห้มีผู้ประกอบการนวัตกรรมที่เพียงพอต่อการรับมือทิศทางการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศ และ ซอฟต์พาวเวอร์ ในมิติของการสร้างสรรค์วัฒนธรรมนวัตกรรม (Culture Innovation) ผ่านทางอาหาร ภาพยนตร์ แฟชั่น ศิลปิน ความบันเทิงในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตและความนึกคิดของผู้คนและสังคม

สอง ระบบนวัตกรรมไทยต้องเปิดกว้าง (Open Innovation) ด้วยจำนวนกองทุนและจำนวนเงินในแต่ละกองทุนที่มากขึ้น สามารถกระจายสู่กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายในภูมิภาคต่าง ๆ ซึ่งมีอัตลักษณ์ที่โดดเด่นต่างกันเพื่อให้เกิดแรงกระเพื่อมด้านนวัตกรรมที่สูงขึ้น รวมถึงให้การฝึกอบรมช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ประสบปัญหาการนำเสนอโครงการ เร่งรัดการเบิกจ่ายที่ล่าช้า ตลอดจนติดตามกระบวนการใช้จ่ายเงินทุนให้เป็นตามข้อกำหนด เพื่อให้เกิดประโยชน์จากเม็ดเงินลงทุนให้เร็วและเกิดประสิทธิภาพที่สุด  

สามการเข้าถึงการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐาน โดยความร่วมมือกับอุทยานวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศ เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการใช้ประโยชน์จากห้องแล็ป การเอาโจทย์ของเอกชนไปให้มหาวิทยาลัยร่วมแก้ปัญหา หรือตัวอย่างการพัฒนาโครงการ “นิลมังกร” ในการหนุนผู้ประกอบการระดับภูมิภาคที่อาจก้าวไม่ถึงการเป็นยูนิคอร์น แต่ก็สามารถสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจได้เช่นกัน 

สี่การเป็นศูนย์กลางพัฒนาระบบนิเวศด้านนวัตกรรมภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ให้เกิดการทำงานที่เป็นระดับชาติมากขึ้น รวมถึงความร่วมมือทั้งกับหน่วยงานในกระทรวง พันธมิตรจากภายนอกทั้งรัฐและเอกชน  เพื่อพัฒนาระบบอีโคซิสเท็มให้สมบูรณ์โดยมีเอ็นไอเอเป็นจุดเชื่อมโยง 

ห้าการส่งเสริมการตลาดนวัตกรรมกับสินค้าทั้งในและต่างประเทศ โดยการเชื่อมโยงแพลตฟอร์มต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำงานร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงสาธารณสุข จำแนกตามกลุ่มอุตสาหกรรมในการพัฒนาผู้ประกอบการ พร้อมช่วยผลักดันผลิตภัณฑ์หรือบริการนวัตกรรมสู่ตลาดโลก  

หกการสร้างความตระหนักรู้เรื่องของนวัตกรรม ให้อยู่ในหัวใจของคนไทยทุกภาคส่วน ทั้งองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ เอสเอ็มอี สตาร์ตอัพ ธุรกิจเพื่อสังคม เยาวชน ภาคประชาสังคม หรือกระทั่งประชาชนทั่วไป ซึ่งการจะไปถึงจุดนั้นต้องพิสูจน์ไห้เห็นว่า นวัตกรรมจะทำให้พวกเขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นทั้งการเงินการงานกิจการและการดำรงชีวิต  ซึ่งต้องมีการกำหนดกลยุทธ์การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ และมีแผนการทำงานที่ชัดเจน 

ตัวอย่างเช่น การจัดงาน SITE (Startup Thailand and Innovation Thailand Expo)” งานแสดงนิทรรศการที่เชื่อมโยงผู้ประกอบการ หน่วยงาน พันธมิตร และเครือข่ายสตาร์ตอัพไทยมาร่วมจัดงานและกิจกรรมในพื้นทีเดียวกัน โดยร้อยเรียงธีมงาน ตั้งแต่การแสดงงานวิจัยและพัฒนาโดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) การให้ทุนสนับสนุนโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) การจัดแสดงนวัตกรรมเพื่อสังคม นวัตกรรมขององค์กรเอกชนขนาดใหญ่ เช่น ธนาคาร นวัตกรรมระดับสตาร์ตอัพภายใต้สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ นวัตกรรมด้านสาธารณสุขจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) บีโอไอมาช่วยเสริมแกร่งการเติบโตสู่ตลาด หรือ การจัดงานมหกรรมทรัพย์สินทางปัญญา (IP Fair 2023)” ในการสร้างรายได้และเพิ่มมูลค่างานความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เป็นต้น เพื่อให้เกิดการตระหนักรู้ และเข้าถึงนวัตกรรมที่มากขึ้น 

และสุดท้าย คือ การพัฒนาเอ็นไอเอให้เป็นองค์กรพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลง ด้วยการสร้างระบบการทำงานภายในให้เข้มแข็ง และมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม

มองไทยในตลาดนวัตกรรมโลก

แม้ในปัจจุบัน ไทยจะอยู่ในอันดับที่ 43 ของ GII แต่ในเรื่องขีดความสามารถในการแข่งขันโดยสถาบัน IMD ถือว่าดีขึ้น เป็นเพราะ หนึ่งไทยมีระบบนิเวศด้านนวัตกรรมที่เข้มแข็งจากการเชื่อมโยงพันธมิตร โดยเฉพาะการดึงเม็ดเงินจากกลุ่มนักลงทุนไม่ว่าจะเป็นการให้ทุนด้วยกระทรวง อว. การระดมทุนแบบเฮดจ์ฟันด์จากนักลงทุนหลายราย กลุ่มการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ นักลงทุนระดับ VC หรือ CVC รวมถึงนักลงทุนอิสระแบบแองเจิล อินเวสเตอร์เข้ามาอยู่ในระบบนิเวศได้มากขึ้น สอง  โลกหลังสถานการณ์โควิดได้เปิดช่องให้เกิดการเดินทางและสื่อสารมากขึ้น ซึ่งเป็นโอกาสที่ไทยจะขยายช่องทางการตลาด รวมถึงส่งเสริมผู้ประกอบการสตาร์ตอัพไทยไปต่างประเทศมากขึ้น และ สาม จำนวนผู้ประกอบการที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งไม่ใช่แค่สตาร์ตอัพด้านนวัตกรรม แต่ยังรวมถึงการเปลี่ยนผ่านเอสเอ็มอี ซึ่งมีอยู่ราว 3 ล้านรายให้กลายป็นผู้ประกอบการนวัตกรรม (Innovation-based Enterprise) โดยสนับสนุนให้เกิดการสร้างนวัตกรรมถ้าสามารถสร้างได้ ไมว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ บริการ หรือกระบวนการ หรือหากไม่สร้างก็ขอให้เป็นผู้ใช้นวัตกรรมในการปรับปรุงองค์กรให้มีประสิทธิภาพ หรือปรับปรุงคุณภาพการผลิตที่มุ่งสู่ Industry 4.0 ตลอดจนการพัฒนาองค์กรให้มีวัฒนธรรมนวัตกรรมและนำฐานด้านเทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุนระบบงานต่าง ๆ มากขึ้น

“เราคาดหวังการเปลี่ยนผ่านเอสเอมอีให้ได้เกินหนึ่งหมื่นรายภายใน 4 ปี ซึ่งไม่ใช่แค่ใช้นวัตกรรม แต่ต้องเป็นผู้สร้างนวัตกรรมที่เป็นทรัพย์สินทางปัญญาขององค์กรด้วย โดยเป็นตัวเลขเป้าหมายที่ไม่นับรวมของเดิมที่มีอยู่แล้วประมาณ 4-5 พันราย เหตุที่เจาะกลุ่มนี้เพราะในหลายประเทศ เอสเอ็มอีมีบทบาทขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจมากถึง 30-40% ซึ่งในส่วนของเอสเอ็มอีไทย ถ้าสามารถสร้างรายได้เชิงนวัตกรรมสัก 10% ของจีดีพีก็น่าจะเพียงพอ” 

ทั้งนี้ ได้ประสานความร่วมมือกับบริษัทขนาดใหญ่ต่าง ๆ ที่พัฒนานวัตกรรรมอยู่แล้ว มาร่วมเป็นพี่เลี้ยงให้กับเอสเอ็มอี หรือให้การสนับสนุนการใช้นวัตกรรมของสตาร์ตอัพไทย การดึงภาครัฐมาร่วมขับเคลื่อนนโยบายระดับประเทศที่ตอบสนองความต้องการของภาคเอกชน โดยเอ็นไอเอได้ดำเนินการสำรวจความต้องการจากภาครัฐและเอกชนสำหรับจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายภายใต้กระทรวง อว. เพื่อการขับเคลื่อนประเทศต่อไป

“นวัตกรรมที่อยู่บนแผ่นกระดาษ ยังไงคนไทยก็ไม่รวย จึงต้องทำให้นวัตกรรมจับต้องได้ ต่างชาติมองมาแล้วให้ความสำคัญว่า ไทยเป็นชาติที่มีนวัตกรรมสูง และสามารถส่งต่อนวัตกรรมไทยไปอวดโฉมบนเวทีโลก” 

สำคัญคือ ต้องเปลี่ยนการมองนวัตกรรมที่ไม่จำกัดอยู่ในห้องแล็ป หรือในชิ้นงานวิจัยและพัฒนาที่ ดูยากและสูงส่งเกินไปมาเป็นการสร้างนวัตกรรมในมิติที่ จับต้องได้และใกล้ตัวเช่น ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น เกิดสิ่งใหม่ เกิดการปรับปรุงกระบวนการ หรือสร้างสรรค์โมเดลการทำธุรกิจ การเปลี่ยนบทบาทจากการเปิดรับนวัตกรรมของคนอื่นมาเป็น “การปรับเปลี่ยนสร้างและกล้าใช้ นวัตกรรมของเราเอง เพราะถ้าเราเปิดใจกว้างกับนวัตกรรมไทย คนทั่วโลกก็จะยอมรับ

การพัฒนานวัตกรรมไทยสู่ระดับนานาชาติ เป็นสิ่งที่ฝากความหวังไว้กับองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ กับผลงานวิจัยพัฒนาของทางมหาวิทยาลัยไทยที่ต้องตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรม ขณะเดียวกัน ก็หวังให้เอสเอ็มอีที่มีนวัตกรรมเป็นของตัวเองจะสามารถก้าวข้ามอุปสรรคและขึ้นสู่ระดับโลก ซึ่งเอ็นไอเอจะมีกลไกในการสนับสนุนเพื่อให้โตต่อไปเป็นวิสาหกิจขนาดใหญ่ ตลอดจนสตาร์ตอัพให้พร้อมโตไปเป็นยูนิคอร์น”

ลับอาวุธปลุกพลังสตาร์ตอัพ

“ถึงแม้จะมีการขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทยโดย สวทช. การทำทะเบียนสินค้าที่ผลิตในประเทศไทย (Made in Thailand-MIT) โดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย แต่ทุกวันนี้ยังคงมีเสียงบ่นว่า ขายไม่ได้ คือ เรามีแต่ไม่เคยได้รับการปฏิบัติให้เกิดผล อย่างไรก็ตาม ยังถือว่าเรามีแพลตฟอร์มที่ดีในเชิงฐานข้อมูลดิจิทัล เหลือเพียงแค่ทำอย่างไรจะสามารถเชื่อมโยงข้อมูลเหล่านี้กับตลาดภาครัฐ หรือตลาดเชิงพาณิชย์ทั้งในและต่างประเทศต่อไป”  

ด้วยเหตุนี้ การผลักดัน ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมสตาร์ตอัพ ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นกฤษฎีกา จะทำให้สิ่งที่เคยเป็นปัญหาหรืออุปสรรคของสตาร์ตอัพหมดไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกฎระเบียบ ข้อบังคับ ทั้งยังเป็นการผลักดันให้เกิดการส่งเสริมการตลาด การสร้างแซนด์บ็อกซ์เพื่อมุ่งสู่การสร้างนวัตกรรมในเชิงการลงทุนมากขึ้น การมีทิศทางที่ชัดเจนในการส่งเสริมการลงทุนเพื่อให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทย การทำให้ผู้ประกอบการไทยยังคงมีบทบาทอยู่ในห่วงโซ่คุณค่าของวงจรพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ขององค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ โดยมีภาครัฐเข้ามาเป็นผู้อุดหนุนรายสำคัญในการเปิดตลาดผลิตภัณฑ์หรือบริการของผู้ประกอบการเพื่อสร้างความเชื่อมั่น 

การส่งเสริมเรื่อง ฑูตนวัตกรรม โดยในโซนเอเชียเน้นการเข้าถึงประเทศจีน เกาหลี ญี่ปุ่น เนื่องจากมีเป้าหมายใกล้เคียงกัน ส่วนในโซนยุโรป ไทยมีความร่วมมือกับฝรั่งเศสเป็นอย่างดี นอกจากนี้ ยังมีโปแลนด์ อิสราเอล และเยอรมันเป็นเป้าหมายต่อไป 

“ที่ผ่านมา เราพยายามเจาะตลาดสหรัฐอเมริกา ซึ่งยากมากเพราะเป็นตลาดที่แข็งแกร่งด้วยตัวเอง อีกทั้งสหรัฐฯ ยังคงให้ความสำคัญกับญี่ปุ่น เกาหลี หรือสิงคโปร์ก่อน เพราะนวัตกรรมไทยยังอยู่ต่ำกว่าประเทศเหล่านั้น แต่ถึงอย่างไร ก็ต้องพยายามพาผู้ประกอบการไทยเข้าสู่ตลาดนี้ให้ได้แม้จะมีต้นทุนค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง เพราะถ้าเชื่อมโยงได้ สหรัฐอเมริกาจะเป็นตลาดที่ใหญ่ตลาดหนึ่ง และเป็นประเทศที่มีนักลงทุนระดับ VC และ CVC ที่ดีมาก”

การขับเคลื่อนเพื่อ สร้างสภาพคล่องให้กับสตาร์ตอัพซึ่งคาดการณ์กันว่า เมื่อเศรษฐกิจฟื้น เม็ดเงินลงทุนจะตึงตัวน้อยลง ทิศทางการเติบโตของ VC  และ CVC ที่จะเข้ามาในไทยด้วยกองเงินลงทุนที่ใหญ่ขึ้นมากระดับเป็นหมื่นล้านในแต่ละกองก็จะมากขึ้น ซึ่งนำไปสู่การพูดคุยกันทั้งกับสภาอุตสาหกรรมฯ สภาหอการค้าไทย ในการผลักดันความร่วมมือเพื่อให้เกิดการลงทุน รวมถึงการส่งเสริมการจัดงานนวัตกรรมระดับชาติที่จะเป็นเรือธงสำคัญเพื่อให้เกิดแรงกระเพื่อมที่ส่งผลต่อภาพรวมของประเทศในมิติของการสร้างนวัตกรรมที่ดีขึ้น

“เราเลือกเปิดเกมด้วยสายอุตสาหกรรม เพราะหากทำให้เติบโตได้ รัฐจะเห็นความสำคัญและจะเกิดนโยบายต่าง ๆ ตามมา รวมถึงการสร้างความเข้าใจที่ตรงกันว่า เมื่อพูดถึงองค์กรนวัตกรรม จะไม่ได้จำกัดอยู่ที่องค์กรธุรกิจขนาดใหญ่อีกต่อไป แต่ต้องรวมถึงเอสเอ็มอี สตาร์ตอัพ และธุรกิจเพื่อสังคม ซึ่งจากงบฯ ปี 2565 ที่เราตั้งไว้ประมาณพันกว่าล้าน จะถูกจัดสรรไปกับการให้ทุน 600-700 ล้านบาท การพัฒนาภูมิภาคประมาณ 100 กว่าล้าน อะคาเดมีในมิติของการฝึกอบรม 30 ล้าน ที่จะมีการพัฒนาเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น ที่เหลืออีก 10 ล้านใช้ในการจัดงานอีเวนต์เพื่อสื่อสารประชาสัมพันธ์สตาร์ตอัพไทย”

ด้วยวิสัยทัศน์ในฐานะผู้อำนวยการคนใหม่ ดร.กริชผกา เลือกเดิมพันภารกิจของการเป็นผู้กำหนดทิศทางนวัตกรรมแบบ วัดเน้น ๆ ที่เม็ดเงิน ว่า จะสร้างการเติบโตทั้งในมิติแศรษฐกิจและสังคมอย่างไร ซึ่งนิลมังกรคือหนึ่งบทพิสูจน์ที่ชัดเจนว่า เมื่อทำแล้ว ผู้ประกอบการเติบโตขึ้นกี่เท่า นอกเหนือจากนั้น คือ การปักธงการทำงานแบบไร้รอยต่อให้ครบถ้วนในทุกมิติและทุกภารกิจ เพื่อการพัฒนานวัตกรรมให้สมบูรณ์ทั้งในเชิงนโยบายและกระบวนการทำงานที่เป็นระดับชาติ ตลอดจนยกระดับเอ็นไอเอให้เป็นองค์กรนวัตกรรมที่สามารถขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยได้อย่างแท้จริง

อศินา พรวศิน – สัมภาษณ์
WASINA- เรียบเรียง

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ