TH | EN
TH | EN
หน้าแรกTechnologyดีอีเอส ปั้นสมาร์ทซิตี้ 30 เมือง ดึงนักลงทุนปักหมุดไทยกว่า 6หมื่นล้านบาท

ดีอีเอส ปั้นสมาร์ทซิตี้ 30 เมือง ดึงนักลงทุนปักหมุดไทยกว่า 6หมื่นล้านบาท

ดีอีเอส เร่งปั้น 30 หัวเมืองหลัก สู่สมาร์ทซิตี้ สร้างโอกาสลงทุนกว่า 60,000 ล้านบาท โดยเริ่มต้นนำร่องปี 2566 ปักหมุดพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชูหัวหินสู่สมาร์ทซิตี้ พร้อมติดตามผลการดำเนินงานโครงการศูนย์ดิจิทัลชุมชน กศน. เพื่อยกระดับศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนสู่ศูนย์ดิจิทัลชุมชน

ปั้นสมาร์ทซิตี้ สร้างโอกาสลงทุน 6 หมื่นล้านบาท

ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า ปัจจุบันมีเมืองที่ได้รับการประกาศเป็นเมืองอัจฉริยะแล้ว 30 เมืองทั่วประเทศโดยมีการประเมินว่าการพัฒนาเมืองอัจฉริยะจะช่วยให้เกิดโอกาสการลงทุนจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนรวมมูลค่ากว่า 60,000 ล้านบาท รวมถึงจะมีการสร้างมูลค่าการลงทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งในปัจจุบันและอนาคต

ทั้งนี้สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ depa หน่วยงานในกระทรวงดิจิทัลฯ ดำเนินการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในระดับท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 หมุดหมายที่ 8 ไทยมีพื้นที่และเมืองอัจฉริยะที่น่าอยู่ ปลอดภัย เติบโตได้อย่างยั่งยืน การลงพื้นที่ครั้งนี้ได้หารือและประชุมกับผู้ว่าราชการจังหวัด และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการเตรียมความพร้อมการพัฒนาหัวหินสู่เมืองอัจฉริยะ Smart City Hua Hin เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่อย่างทั่วถึง เท่าเทียม พร้อมรองรับนักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ

นอกจากนี้ยังได้เยี่ยมชมศูนย์ CCTV และห้องควบคุม เพื่อติดตามการดำเนินงานด้านการส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อบริหารจัดการพื้นที่ ตรวจสอบเมืองให้มีประสิทธิภาพและเหมาะสมต่อการอยู่อาศัย สร้างคุณภาพชีวิตที่ดี ปลอดภัย ไร้อาชญากรรรม

หนุนนักดิจิทัลรุ่นใหม่พัฒนาบ้านเกิด

ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงาน depa กล่าวว่า การส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในระดับท้องถิ่นดำเนินการในหลากหลายมิติ ตั้งแต่การสนับสนุนพื้นที่ให้พัฒนาแผนเมืองอัจฉริยะของตนเอง สามารถระบุพื้นที่พัฒนาเมืองโดยมีขอบเขตชัดเจน มองเห็นศักยภาพและปัญหา อีกทั้งสามารถเตรียมความพร้อมเรื่องระบบบริการทั้ง 7 Smarts ได้ตรงตามบริบทของพื้นที่ และวางโครงสร้างพื้นฐานทั้งทางกายภาพและด้านดิจิทัล รองรับระบบบริการเมือง รวมถึงบริหารจัดการข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ โดยคำนึงถึงความยั่งยืน และเกิดประโยชน์สูงสุดกับภาคประชาชน

นอกจากนี้ depa ยังมีการส่งเสริมคนรุ่นใหม่ที่มีใจต้องการพัฒนาภูมิลำเนามาเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองน่าอยู่ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ผ่านโครงการนักดิจิทัลพัฒนาเมืองรุ่นใหม่ (The Smart City Ambassadors) ซึ่งจังหวัดประจวบคีรีขันธ์เข้าร่วมโครงการ 2 พื้นที่ มีเจ้าหน้าที่ร่วมฝึกอบรม 2 ราย และมี Ambassadors ปฏิบัติหน้าที่สนับสนุนงานพัฒนาเมือง 2 ราย โดยปัจจุบัน เทศบาลเมืองหัวหิน เป็นหนึ่งในเขตส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ

เสถียร เจริญเหรียญ ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า วิสัยทัศน์ของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ คือ เมืองท่องเที่ยวทรงคุณค่าระดับนานาชาติ เกษตรปลอดภัย ด่านสิงขรระเบียงเศรษฐกิจแห่งอนาคต สังคมผาสุกภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งจังหวัดมีความโดดเด่นด้านการท่องเที่ยวและการเกษตรที่ถือเป็นภาคเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัด โดยทางจังหวัดพร้อมสนับสนุนท้องถิ่นในการพัฒนาพื้นที่ตามศักยภาพ และส่งเสริมการบูรณาการการทำงาน รวมถึงการบูรณาการข้อมูลที่จะนำไปสู่การพัฒนาด้านต่าง ๆ เพื่อประโยชน์และคุณภาพชีวิตของประชาชน และเทศบาลหัวหินถือเป็นหนึ่งพื้นที่สำคัญของจังหวัดในการนำร่องการพัฒนา Smart City ของจังหวัด

นพพร วุฒิกุล นายกเทศมนตรีเมืองหัวหิน กล่าวว่า เทศบาลเมืองหัวหินตั้งเป้าหมายที่จะเป็นเมืองท่องเที่ยวปลอดภัย สะอาด น้ำใส ไร้ PM 2.5 โดยอาศัยเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยบริหารจัดการ และตรวจสอบเมืองให้มีประสิทธิภาพและเหมาะสมต่อการอยู่อาศัย สร้างคุณภาพชีวิตที่ดี ปลอดภัย ไม่มีอาชญากรรม โดยมีแผนที่จะดำเนินการพัฒนาระบบ Smart ต่างๆ ส่งเสริมการท่องเที่ยว เช่น การติดตั้งระบบ CCTV สอดส่องความปลอดภัยสร้างความเชื่อมั่นแก่นักท่องเที่ยวและประชาชนในพื้นที่

ทั้งนี้ตั้งเป้าลดอาชญากรรม 50% ติดตั้ง Smart Pole ระบบติดตามคุณภาพอากาศเพื่อสุขภาพคนหัวหินและนักท่องเที่ยว Wired Network ที่ครอบคลุมอำนวยความสะดวกผู้มาเยือนส่งเสริมเศรษฐกิจในพื้นที่ พร้อมรับมือปัญหาขยะจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเพิ่มขึ้นด้วยระบบ GPS Tracking ช่วยบริหารจัดการขยะ ตั้งเป้าลดขยะตกค้างในพื้นที่ไม่น้อยกว่า 80% รวมถึงระบบจัดเก็บและบริหารข้อมูลของเมือง (City Data Platform: CDP) รวมศูนย์ข้อมูลเพื่อการบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานในพื้นที่และระหว่างท้องถิ่น เพื่อการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพสูงสุด

เดินหน้ายกระดับศูนย์ดิจิทัลชุมชน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวต่อว่า ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและติดตามผลการดำเนินงานโครงการศูนย์ดิจิทัลชุมชน โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านย่านซื่อ อำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นตัวแทนสถานศึกษาที่สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้รับมอบหมาย จากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ให้ดำเนินโครงการพัฒนาระบบนิเวศศูนย์ดิจิทัลชุมชนอย่างยั่งยืน ภายใต้แผนปฏิบัติการยุทธศาสตร์ที่ 5 ของแผนการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2560 – 2564) (แผนปฏิบัติการฯ)

ทั้งนี้ดำเนินการใน 2 กิจกรรม ได้แก่ กิจกรรมที่ 1 จัดให้มีศูนย์บริการอินเทอร์เน็ตสาธารณะ (ศูนย์ดิจิทัลชุมชน) และ กิจกรรมที่ 2 การพัฒนาระบบจัดการศูนย์ดิจิทัลชุมชนและงานบำรุงรักษา ระยะเวลาดำเนินการทั้งโครงการอยู่ระหว่างปี พ.ศ. 2566 – 2570 โดยมีพื้นที่ดำเนินการตามเป้าหมายเป็นสถานศึกษาจำนวน 1,722 ศูนย์ ครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วประเทศ

“การตรวจเยี่ยมและติดตามผลการดำเนินงานโครงการศูนย์ดิจิทัลชุมชน กศน. อำเภอเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (ห้องสมุดประชาชนจังหวัดประจวบคีรีขันธ์) เป็นศูนย์ดิจิทัลชุมชนที่ดำเนินการตามโครงการยกระดับศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน สู่ศูนย์ดิจิทัลชุมชน ระยะเวลาดำเนินการระหว่างปี พ.ศ. 2564 – 2567 ซึ่งได้จัดตั้งในพื้นที่ของโรงเรียน กศน. อบต. เทศบาล วัด มัสยิด และพื้นที่ชุมชน ที่มีความพร้อม จำนวน 500 แห่ง ครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วประเทศ” ชัยวุฒิ กล่าว

ภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า ศูนย์ดิจิทัลชุมชน ได้จัดตั้งขึ้นตามนโยบายและแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มีบทบาทในการให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง อุปกรณ์ดิจิทัล บุคลากรสนับสนุนและส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในระดับท้องถิ่น เพื่อลดช่องว่างทางด้านดิจิทัลให้กับชุมชนให้สามารถใช้ประโยชน์ในด้านการศึกษาและด้านอาชีพ

อีกทั้งเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ต ลดช่องว่างในการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล ลดความเหลื่อมล้ำในสังคมชนบท ในกลุ่มคนทุกกลุ่มที่อยู่ในท้องถิ่น เช่น ผู้ประกอบการชุมชน วิสาหกิจชุมชน เด็กและเยาวชน นักเรียน นักศึกษา ผู้สูงอายุ คนพิการ เป็นต้น โดยศูนย์ดิจิทัลชุมชนยังทำหน้าที่ในการเพิ่มช่องทางในการเข้าถึงข่าวสาร บริการดิจิทัล ให้กลุ่มเป้าหมายในระดับชุมชนได้รับการพัฒนาทักษะทางด้านดิจิทัล พร้อมที่จะประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลสนับสนุนคุณภาพชีวิต ต่อยอดสู่การสร้างโอกาสและรายได้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระดับฐานรากในอนาคต

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ