TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistอย่าให้สายเกินไป ... ประสบการณ์ล้มเหลวของคนอื่น คือบทเรียนที่ไม่ต้องลองอีก

อย่าให้สายเกินไป … ประสบการณ์ล้มเหลวของคนอื่น คือบทเรียนที่ไม่ต้องลองอีก

ความเป็นเด็กกลางห้อง ที่ไม่ได้โดดเด่นเรื่องเรียนหรือเรื่องกีฬาสักเท่าไร สมัยมัธยมยังสอบได้เลข 2 หลัก ไม่เคยเฉียดกับเลขหลักเดียวเลย ในขณะที่กีฬา ก็เป็นประเภทตัวเสริมเวลาทีมใดทีมหนึ่งขาดไม่ครบ ถึงจะมีโอกาสลงไป ปกติก็ต้องนั่งดูไปตรงข้างสนาม

ความที่เป็นคนเอื่อย ๆ เฉื่อย ๆ ไม่ได้มีเป้าหมายที่สร้างแรงบันดาลใจในชีวิต จึงกลายเป็นคนที่ทำงานไปเรื่อย ๆ มีงานทำมีเงินใช้ ก็รื่นเริงกับชีวิต ถือดีว่ามีแรง เช้าขึ้นมายังไปทำงานได้อย่างสดใส แถมรับจ๊อบได้อีก 2-3 แห่ง ปล่อยชีวิตและการทำงานแบบนี้ไปเป็นเวลานับสิบปี 

จนวันหนึ่งเมื่อไทยเราเผชิญกับภาวะต้มยำกุ้ง เศรษฐกิจล้มละลาย ธุรกิจหลายอย่างสะดุดปิดตัวกันแบบไม่ต้องบอกล่วงหน้า ชีวิตรื่นเริงแสนสบายก็สะดุดอย่างรุนแรง 

“ไม่มีงาน ผลที่ตามมาคือ ไม่มีเงิน”

เพราะชีวิตอยู่กับความรู้สึกว่า วันนี้ มีแรงก็ทำงาน มีเงินก็ใช้ มีวันพรุ่งนี้สดใส รอต้อนรับเราอยู่

วงล้อของเศรษฐกิจ ก็ไม่ต่างจากวงล้อของชีวิต มีเกิด ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป

กงล้อของโลก จากเดิมที่เคยหมุนไปช้า ๆ 10-15 ปี จะเกิดวิกฤติสักที แต่ปัจจุบัน กงล้อหมุนเร็วมาก ถ้าหากไม่ตั้งรับ

มีโอกาสได้อ่านเจอบทความหนึ่งเขาบอกว่าคนรุ่นใหม่ ยอมเป็นหนี้เป็นสินมากขึ้น เพื่อแลกกับการใช้ชีวิตที่สุขสบาย (แน่นอนว่าเป็นการใช้จ่ายที่เกินตัว จนสร้างภาระหนี้สินขึ้นมา) สอดคล้องกับผู้ว่าแบงก์ชาติ คนปัจจุบัน ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ได้เคยกล่าวในงาน BOT Symposium 2022 (29 ก.ย.65) ตอนหนึ่งว่า ประชาชนยังประสบปัญหาความไม่มั่นคงมากมาย โดยเฉพาะกับคนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนอนาคต โดยเฉพาะความมั่นคงทางเศรษฐกิจ โดยอุปสรรคสำคัญของคนรุ่นใหม่ คือมีภาระหนี้สูงกว่าคนรุ่นก่อน ประการสำคัญ มีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ กระจุกอยู่ในกลุ่มคนอายุ 29 ปี

โดยเฉพาะสังคมในยุคที่ social media อยู่ในชีวิตประจำวันของคนวัยนี้ เครดิตบูโรรายงานว่า กลุ่มคนที่มีการสร้างหนี้มากที่สุด คือ กลุ่มเจนวาย โดยไตรมาสแรกของปี 2563 มีหนี้รวมกันประมาณ 4 ล้านล้านบาท เป็นหนี้เสียถึง 2.7 แสนล้านบาท (ครึ่งหนึ่งเลยทีเดียว) รองลงมาคือคนในกลุ่มเจนวาย มีการก่อหนี้ประมาณ 3.7 ล้านล้านบาท เป็นหนี้เสียในระบบ 2.8 แสนล้านบาท เทียบกับคนในวัยเบบี้บูมเมอรื มีการก่อหนี้ 2.8 แสนล้านบาท และมีหนี้เอ็นพีแอล 8.4 หมื่นล้านบาท

สำหรับสาเหตุที่ยอมเป็นหนี้จำนวนมากนั้น ผลสำรวจจากทาง LearnVest (BrandThink.me) ระบุว่าจริงๆ แล้ว คน Gen Y เกินครึ่งมีความจงใจจะโพสต์รูปภาพบน Social Media เพื่อแสดงว่าเขาไปเที่ยว กินอาหาร หรือไปพักที่ต่าง ๆ ให้มันดูแพงกว่าความเป็นจริง

นอกจากนี้ผลสำรวจของทาง Expedia พบอีกว่าคน Gen Y และ Gen Z ราว ๆ เกือบ 1 ใน 5 นั้นเลือกที่พักโดยคำนึงก่อนว่าเวลาถ่ายรูปแล้วไปโพสต์บน Social Media มันจะออกมาดูดีมั้ย

แนวโน้มเหล่านี้นักจิตวิทยามองว่าเป็นการทำเพราะต้องการให้ผู้อื่นเกิดความอิจฉาในชีวิตตน ซึ่งนั่นก็ได้ผลจริง ๆ เพราะนั่นทำให้คนรุ่นใหม่รู้สึกกดดันว่าทำไมชีวิตของตนไม่ดีเหมือนคนอื่น และทำให้เกิดแนวโน้มการใช้จ่ายเงินเกินตัว จนหลาย ๆ คนยอมเป็นหนี้เพื่อให้ตัวเองมีชีวิต (ที่จะถ่ายรูปออกมา) ดีเท่าคนอื่น ๆ ซึ่งมิตินี้มีผลสำรวจสนับสนุนว่า คน Gen Y ราว ๆ ครึ่งหนึ่ง ยินดีที่จะเป็นหนี้บัตรเครดิตเพื่อจะไปเที่ยวพักร้อน ในขณะที่คน Gen X ที่มีพฤติกรรมแบบนี้มีเพียงราว ๆ 1 ใน 3 และคนรุ่น Baby Boomer มีเพียง 1 ใน 5 เท่านั้น

พูดง่าย ๆ สรุปแล้วคือคน Gen Y จำนวนมากนั้นพยายามจะมีชีวิตบน Social Media ที่ดีในระดับที่ยอมเป็นหนี้เลยทีเดียว

และในขณะนี้มันน่าจะเป็นความจริงแบบไม่ต้องยืนยันด้วยผลสำรวจที่ว่าคนรุ่นใหม่ทั่วโลกนั้นใช้เวลาบน Social Media มากกว่าคนรุ่นอื่นจริง และก็ให้ความสำคัญกับการนำเสนอภาพชีวิตของตนเองมากกว่าคนรุ่นเก่า (ซึ่งใช้ Social Media น้อยกว่า) จริง แต่พฤติกรรมที่คนรุ่นใหม่ที่ถึงกับจะต้องยอมเป็นหนี้เพื่อมีภาพลักษณ์ที่ดีบน Social Media นั้นก็อาจเกิดขึ้นในบางสังคมเท่านั้นที่คนจะเป็นหนี้ได้ง่าย ๆ ผ่านบัตรเครดิตอย่างอเมริกา เพราะอย่างน้อยสังคมที่บัตรเครดิตไม่แพร่หลายอย่างจีนหรือเยอรมันนั้นคนก็คงไม่มีพฤติกรรมแบบเดียวกัน

ว่าแต่สังคมไทยล่ะ เป็นยังไง  ยอมเป็นหนี้เพื่อจะได้นำเสนอว่าตัวเองมีชีวิตดี ๆ บน Social Media มั้ย ? หรือจริง ๆ แล้วมีเหตุผลอื่น ๆ ที่ยอมเป็นหนี้

วัยหนุ่มวัยสาวที่อยู่ในยุคที่สร้างรายได้ได้มากและเร็ว อย่าลืมข้อผิดพลาดของคนรุ่นก่อนที่เจอวิบากกรรมมาก่อน การวางแผนการเงินเสียแต่เนิ่น ๆ ยังเป็นเกราะป้องกันวิกฤติที่เกิดขึ้นข้างหน้าได้ ลองมาดูลำดับความสำคัญของการวางแผนการเงิน ว่าเราควรจะเริ่มเรื่องใด เพื่ออะไร 

  1. Wealth Creation (รู้หา รู้เก็บ รู้ใช้) เพื่อสร้างความมั่งคั่ง ได้อย่างปลอดภัย มีเงินสำรองไว้ยามฉุกเฉิน
  2. Wealth Protection (Insurance Planning & Retirement Planning)
  3. Wealth Accumulion (Tax Planning&Investment Planning) การเพิ่มมูลค่าให้กับความมั่งคั่งด้วยการบริหารภาษีและเพิ่มมูลค่าในการลงทุน
  4. Wealth Distribution (การส่งต่อ หรือ พินัยกรรม)

ถ้าเรามีเป้าหมายเพื่ออะไรแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องต้องมีรายได้จำนวนมาก ๆ และต้องไม่ลืมว่าไม่มีการลงทุนอะไรที่จะได้มูลค่าสูงเป็นรายวันหรือรายเดือนในอัตราเป็นสิบ ๆ เปอร์เซ็นต์ นั้นไม่มี คนรุ่นก่อน ๆ ก็เคยตกเป็นเหยื่อจากความโลภ ที่ต้องการสร้างผลตอบแทนสูง ๆ เพื่อจะได้ไม่ต้องใช้เวลานาน ๆ ในการทำงาน ไม่แปลกใจที่ความต้องการแบบนี้ไม่เคยเปลี่ยนไปเลย ไม่ว่าคนรุ่นก่อน หรือคนรุ่นใหม่

คอลัมน์: Personal Finance ที่ผมรู้จัก (แต่ทำไม่ได้)

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ