TH | EN
TH | EN
หน้าแรกLifeโมเดลลดโลกร้อนด้วย 5G กับ SDG Lab by Thammasat & AIS ศูนย์ปฏิบัติการเพื่อความยั่งยืนแห่งแรกในเอเชีย

โมเดลลดโลกร้อนด้วย 5G กับ SDG Lab by Thammasat & AIS ศูนย์ปฏิบัติการเพื่อความยั่งยืนแห่งแรกในเอเชีย

จากปัญหาสภาวะโลกร้อน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งมีสาเหตุจากมนุษย์ มีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงได้ร่วมกับ AIS จัดตั้ง SDG Lab (Sustainable Development Goals Lab) ขึ้นที่ อุทยานการเรียนรู้ป๋วย 100 ปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ภายใต้แนวคิดการเน้นสนับสนุนการผลักดันให้เกิดผลกระทบด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วยการลงมือทำ (Action Oriented) เพื่อให้คนที่มีไอเดีย ความสนใจ และความตั้งใจ ได้เข้าถึงทรัพยากร เครื่องมืออำนวยความสะดวก และโอกาสในการพัฒนาความตั้งใจไปเป็นต้นแบบแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม  (Prototype) และเกิดผลลัพธ์ต่อสังคมอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน

SDG Lab by Thammasat และ AIS มีความตั้งใจจะเป็นสถานที่เชิงสัญลักษณ์และส่งเสริมเรื่องการลงมือทำเรื่องความยั่งยืน การออกแบบตกแต่งสถานที่จึงให้ความสำคัญกับความยั่งยืนมากที่สุด พื้นที่ทั้งหมดแบ่งเป็น Co-Working Space, Event Space, Makerspaces และ Meeting Room 

ส่วนที่โดดเด่นที่สุด คือ สวนหลังคาอยู่บนดาดฟ้า (Rooftop Garden) เพื่อช่วยลดการใช้พลังงานภายในอาคารอุทยานการเรียนรู้ป๋วย 100 ปี 

ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหาร ศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า หลังคาเขียวจะช่วยลดความร้อนเข้ามาในอาคารได้ถึง 30% หมายถึง ลดการใช้แอร์ไปได้ 30% เช่นกัน และลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 30% 

หากทำหลังคาเขียวโดยการปลูกหญ้าไว้บนหลังคาเท่านั้นก็จะเป็นการสิ้นเปลืองงบในการรดน้ำและตัดหญ้า ม.ธรรมศาสตร์จึงทำเป็น “หลังคาเขียวที่กินได้” คือ ทำฟาร์มปลูกพืชผักบนหลังคาของตัวอาคาร เพื่อเปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นอาหารที่ปลอดภัย จึงเป็นที่มาของ สวนหลังคาอยู่บนดาดฟ้า (Rooftop Garden) 

สวนบนหลังคานี้ถูกพัฒนาให้เป็นต้นแบบของการทำ Smart Farm โดยการสนับสนุนด้านเทคโนโลยีจากเอไอเอส ทั้งอุปกรณ์เซ็นเซอร์ IoT ระบบบริหารจัดการฟาร์ม และเครือข่ายสัญญาณ 5G อาทิ 

  • ระบบ IoT Sensor สำหรับการตรวจวัดค่าในแปลง
  • ระบบ IoT Controller เพื่อการควบคุม การเปิด-ปิดน้ำผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
  • เทคโนโลยี 5G และระบบ Cloud smart farm เพื่อการเก็บ และวิเคราะห์ข้อมูล
  • เทคโนโลยี “iFARM” ระบบ Smart farm ที่ให้เกษตรกรสามารถปรับเปลี่ยน ตั้งค่าการควบคุมอุปกรณ์ต่าง ๆ ในฟาร์มได้อย่างง่ายดาย

โดยในแพลตฟอร์มจะมีทั้งหมด 3 ระบบ คือ

  1. ระบบวัดความชื้นในดิน บนแปลงผักแบบเปิด และระบบวาล์วน้ำไฟฟ้าแบบไร้สาย บนแปลงเกษตร Rooftop อาคารอุทยานการเรียนรู้ป๋วย 100 ปี ซึ่งจะทำให้การดูแลแปลงผักขนาดใหญ่เป็นเรื่องง่าย โดยเฉพาะการจัดการน้ำและใช้น้ำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยใช้เซ็นเซอร์เป็นตัววัดและส่งค่าให้ระบบคำนวณว่าดินมีความชื้น ตามที่พืชต้องการแล้วหรือไม่ หากดินชื้นพอ จะไม่ต้องรดน้ำ และเมื่อดินแห้ง ระบบจะสั่งการรดน้ำอัตโนัติ
  2. สถานีวัดสภาพอากาศ Co2, PM2.5 ในบริเวณโครงการการติดตั้งสถานีวัดสภาพอากาศ บนแปลงเกษตร Rooftop เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงของอากาศ ซึ่งจะมีผลในการวิเคราะห์เพื่อสั่งการทำงานของอุปกรณ์เช่นเดียวกันและเตรียมพร้อมรับมือกับสภาวะที่เกิดขึ้น
  3. Model จำลองการทำงานของระบบ smart farm

เอไอเอส นำระบบ Smart Farm มายกระดับการทำเกษตรแบบเดิมที่ทำตามประสบการณ์ ปรับเพิ่มเป็นทำให้รู้ข้อมูลพืชตัวเองมากขึ้น สามารถควบคุมประสิทธิภาพผลผลิตให้คงที่ได้ ตลอดจนสามารถบริหารจัดการการใช้น้ำ ที่ถือว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญในการทำเกษตรได้อย่างเหมาะสมมากยิ่งขึ้น โดยใช้ส่วนที่เรียกว่าเซ็นเซอร์ตรวจสอบสภาพความชื้น อุณหภูมิของดิน และส่งค่าให้ระบบวิเคราะห์ เพื่อวางแผนจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

หลักการทำงานของ Smart Farm คือ การนำอุปกรณ์และเซ็นเซอร์ เชื่อมต่อกับสัญญาณอินเทอร์เน็ต และส่งข้อมูลขึ้น Platform และสั่งการทำงานอุปกรณ์ให้ทำงาน ซึ่งจะสามารถสั่งการทำงานจากที่ไหนก็ได้

ทั้งนี้ ประโยชน์ของ Smart Farm ที่เข้ามาช่วยเหลือภาคการเกษตร ได้แก่ 

  1. การบริหารจัดการอาหาร Smart Farm สามารถเข้ามาช่วยในเรื่องการ Scale up การผลิตอาหารได้ โดยทำเป็นระบบอัตโนมัติ ไม่เพียงแต่ได้ปริมาณที่เพิ่มขึ้น แต่ Smart Farm จะช่วยคงคุณภาพของผลผลิตได้ จากการที่รู้ข้อมูลและควบคุมสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นให้มีคุณภาพที่คงที่ บุคคลทั่วไปที่ไม่ใช่เกษตรกรหรือผู้ประกอบการ ก็สามารถปลูกพืชผักเพื่อกินเองในครัวเรือนได้ 
  2. การใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติ เนื่องจากน้ำเป็นปัจจัยหลักของการทำเกษตร ดังนั้น การรู้ข้อมูลและวางแผนการใช้น้ำให้ได้อย่างเหมาะสม จะช่วยลดปริมาณการใช้น้ำที่มากเกินความต้องการของพืชได้
  3. การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ปุ๋ยที่ไม่เหมาะสม หรือการใช้น้ำที่มากเกินความต้องการ Smart Farm ที่มี Sensor ที่เป็นเสมือนตาในการมองเห็นข้อมูลและความต้องการพืชจะเข้ามาดูแลในส่วนตรงนี้ได้

ทั้งนี้ สหประชาชาติ คาดการณ์ว่า โลกอาจจะทนความร้อนเพิ่มได้ 2 องศาเซลเซียส และคิดว่ามีเวลาถึงประมาณปี 2050 หรืออีก 30 ปี ที่จะชะลอความเร็วของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง และค่อย ๆ เปลี่ยนการพัฒนาไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวว่า แต่เมื่อ 2 ปีที่แล้วกลับพบว่าอุณหภูมิที่สูงขึ้นเพียง 1 องศายังสร้างผลกระทบอย่างมากจึงทำการปรับแผนใหม่

“สหประชาชาติบอกว่าเราจะร้อนเกินกว่า 1.5 องศาเซลเซียสไม่ได้ เพราะถ้าเกิดถึง 2 องศาเซลเซียสคงจะสายเกินไป และเกินการแก้ไข จะเกิดเป็นหายนะ แต่ก็มีคำถามว่าอีกครึ่งองศาจะถึงเมื่อไร คำตอบคืออีก 10 ปี หมายความว่าเราจะช้าไม่ได้ เราต้องทำอะไรเดี๋ยวนี้ เราจึงเริ่มลงมือทำ Rooftop Garden ขึ้นมา และร่วมมือกับเอไอเอสทำให้เป็น Smart Farm ต้นแบบ” 

เป้าหมาย คือ ทำอย่างจริงจัง ชักชวนผู้คนที่คิดเหมือนกันว่าต้องการการเปลี่ยนแปลงทันที มาช่วยกันทำ เปลี่ยนแปลงทันทีมี 2 เรื่อง คือ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กลับคืนมา “สวนหลังคา” คือ การดูดกลับคืนมา กลับมาเปลี่ยนเป็นอาหารซึ่งมีความปลอดภัย

AIS เดินหน้าพัฒนาประเทศไทยอย่างยั่งยืน 

ความร่วมมือในครั้งนี้เป็นการตอกย้ำความเป็นผู้นำของ AIS ในการเดินหน้านำเทคโนโลยีและบริการดิจิทัลขับเคลื่อนประเทศไทยในทุกมิติ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม สู่เป้าหมายการพัฒนาประเทศไทยอย่างยั่งยืน 

แนวคิดและเป้าหมายของการสร้าง SDG Lab by Thammasat & AIS ศูนย์ปฏิบัติการเพื่อความยั่งยืนแห่งแรกในเอเชีย ที่เป็นมากยิ่งกว่า Co-working Space แต่เป็นพื้นที่สำหรับนวัตกรทั่วโลก ที่เน้นการลงมือทำเพื่อสร้างความยั่งยืน (Action Oriented) สามารถเข้ามาร่วมสร้างนวัตกรรมต้นแบบเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม พร้อมทดลอง ทดสอบ บนเครือข่ายและสภาพแวดล้อมจริง

ปรัธนา ลีลพนัง หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการตลาดกลุ่มลูกค้าทั่วไป บริษัท แอดวานซ์อินโฟร์เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าวว่า เอไอเอสให้การสนับสนุน SDG Lab ในด้านโครงข่าย 5G และอุปกรณ์ IoT รวมถึงระบบอัตโนมัติต่าง ๆ เอไอเอสวางวัตถุประสงค์การเข้าร่วมกับ ม.ธรรมศาสตร์ ไว้ 5 วัตถุประสงค์ คือ

1.ความยั่งยืนของสภาพอากาศ (Climate Change) เอไอเอสจะช่วยลดโลกร้อนอย่างไร หรือทำอย่างไรให้สามารถปรับปรุงสภาวะที่เป็นอยู่วันนี้ และไม่เข้าไปสู่สภาวะอากาศที่ย่ำแย่ในอนาคต

2.การพัฒนาความเป็นอยู่ของเมือง จะใช้เทคโนโลยี 5G เป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้ความเป็นอยู่และการพัฒนายั่งยืนมากขึ้น ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าจะเริ่มเห็นรถยนต์ไร้คนขับวิ่งอยู่ไหนมหาวิทยาลัยที่ใช้เทคโนโลยี 5G เข้ามาควบคุม และยังเป็นรถพลังงานไฟฟ้าอีกด้วย ซึ่งเอไอเอสจะใช้ธรรมศาสตร์เป็นจุดทดสอบของการพัฒนาเมือง

3.การพัฒนาความเป็นอยู่ด้วยวัสดุรีไซเคิลต่าง ๆ โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย

4.เรื่องการใช้เทคโนโลยีกับการเกษตร ทำ Smart Farming ซึ่ง SDG Lab เป็นที่เดียวในภูมิภาคเอเชียที่มีสวนหลังคา (Rooftop Garden) ซึ่งจะเป็นสถานที่ที่สร้างการรับรู้ สร้างการเรียนรู้ ให้คนสร้างการเป็นอยู่อย่างยั่งยืนมากขึ้น

5.การพัฒนาคน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพราะ SDG Lab ไม่ใช่โรงงานหรือสถานที่ผลิต แต่เป็นที่สร้างแรงบันดาลใจ ให้ความรู้ และมีส่วนร่วมกับคนในมหาวิทยาลัย และในสังคมวงกว้าง

“ปกติคนจะรู้จักเอไอเอสในบทบาทการให้บริการเครือข่าย ให้บริการอินเทอร์เน็ตเป็นส่วนสำคัญ แต่อีกส่วนหนึ่งเราอยากจะพัฒนาสังคมให้ยั่งยืนไปพร้อมกัน ซึ่งทั้ง 5 เรื่องนี้ก็จะพัฒนาคู่ขนานพร้อม ๆ กันไป เรามีแผนระยะกลางและระยะยาวใน 5-10 ปี ซึ่งภายใน 5 ปีนี้คาดว่าจะเกิดการตระหนักรู้ในสังคมในระดับประเทศมากขึ้น” ปรัธนา กล่าว

สร้างต้นแบบนวัตกรรม 

นอกจากสวนบนหลังคาแล้ว ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวว่า SDG Lab แห่งนี้ ทางมหาวิทยาลัยต้องการทำให้เกิดการลงมือคิด และทำต้นแบบออกมา โดยไม่ได้มุ่งไปที่เครื่องจักรขนาดใหญ่ แต่ต้องการของชิ้นเล็ก ๆ ที่ทุกคนสามารถซื้อไปใช้ที่บ้านได้ ราคาถูกเหมือนกับโทรศัพท์มือถือ ที่ทุกคนสามารถจะมีได้

ประเทศไทยมีปัญหาใหญ่ของสาเหตุโลกร้อน คือ การไม่แยกเศษอาหาร ขยะ 60% ของประเทศไทย คือ ขยะเศษอาหาร เพราะประเทศไทยอุดมสมบูรณ์ มีอาหารเยอะและกินเหลือกันเยอะ และร้ายที่สุด คือ ขยะเศษอาหารปล่อยแก๊สมีเทนโดยตรง และแก๊สมีเทนร้ายแรงกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ 30 เท่าในการทำให้เกิดโลกร้อน ซึ่งการกำจัดขยะของประเทศไทย 80% อยู่ในที่เปิดโล่งนั่นหมายถึงการปล่อยแก๊สมีเทนโดยตรง

หนึ่งในวิธีกำจัด คือ การนำเครื่องที่นำมาใช้ทิ้งเศษอาหารและปั่นแห้งให้เป็นปุ๋ยและนำไปใส่ต้นไม้ แต่เครื่องกำจัดเศษอาหารและเปลี่ยนเป็นปุ๋ยนี้ราคาแพงมาก หลายหมื่นบาท แต่ถ้าสามารถทำให้มันถูกได้เหมือนกับพัดลม ที่ทุกบ้านซื้อไปใช้ได้ ก็จะสามารถซื้อไปใช้กันได้ทั้งประเทศ ซึ่งเป็นตัวอย่างของต้นแบบที่ส่งเสริมให้เกิด SDG Lab

อีกกรณีหนึ่ง คือ การนำความร้อนจะคอมเพรสเซอร์แอร์กลับมาใช้เป็นพลังงาน ซึ่งก็จะทำให้ไม่ต้องปล่อยความร้อนไปมากกว่านี้และนำความร้อนที่ปล่อยออกไปกลับมาใช้เป็นพลังงาน เป็นแอร์ในคอนเซ็ปต์ Circular Design

SDG Lab รันโดยมธ. หนุนเทคฯโดยเอไอเอส 

SDG Lab จะดำเนินการโดย ม.ธรรมศาสตร์ เพื่อสร้างผลกระทบในระยะยาว มีเอไอเอสเป็นส่วนเสริมด้านทีมงานเอไอเอสมีทีมค้นคว้าและพัฒนา (R&D) อยู่แล้วที่ร่วมกับทางชุมชนและมหาวิทยาลัยต่าง ๆ มีทีมงานที่นำเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาด้านการศึกษา

ปรัธนา กล่าวว่า ก่อนหน้านี้เอไอเอสมีโครงการที่ชื่อว่า AIAP (AIS IoT Alliance Program) มีการสร้างเป็นแพลตฟอร์มขึ้นมาให้คนที่เข้ามามีส่วนร่วมนำเทคโนโลยีเข้าไปใช้ นำไปทำประโยชน์ต่าง ๆ หนึ่งในนั้นก็จะเป็นเรื่องสภาพอากาศ เรื่องการเกษตร ซึ่งสามารถสมัครสมาชิกได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย 

ปัจจุบันมีเคสที่นำ IoT ไปใช้ทำ Smart Farm ในสวนลองกองภาคใต้ประมาณ 5-6 สวน โดยใช้ซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์จากเอไอเอส อีกสวนหนึ่งพัฒนาอยู่ที่แม่ฟ้าหลวง ซึ่งก็จะค่อย ๆ ขยายไปเรื่อย ๆ เพราะประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม

ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวเสริมว่า ทั้งหมดนี้ลำพังเพียง ม.ธรรมศาสตร์คงทำไม่สำเร็จ เพราะ SDG Lab ต้องการองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญ เครื่องมือของเอไอเอส และนำการวิจัยประกอบกับการเรียนการสอนเข้ามารวมกันก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งไม่ได้เปลี่ยนแปลงแค่มหาวิทยาลัย แต่จะเป็นการเปลี่ยนแปลงทั้งประเทศ อาจจะรวมถึงประเทศอื่น ๆ ด้วย ซึ่งมีทูตจากหลายประเทศเข้ามาดูงานที่นี่ เข้ามาเยี่ยมอาคารแห่งนี้

“เมื่อ SDG Lab เสร็จ เมื่อมีโครงการ ส่วนตัวเชื่อว่าจะสร้างการเปลี่ยนแปลง และเราจะเชิญชวนผู้คนที่คิดเหมือนกันมารวมกันและมาเปลี่ยนแปลงด้วยกัน เป้าหมายคือไม่ใช่เพื่อธรรมศาสตร์หรือเอไอเอส ไม่ใช่เพื่อทำของมาขายคนมีเงิน แต่เราต้องการทำของมาขายทุกคนที่ต้องการและสามารถซื้อไปใช้งานที่บ้านได้ ถึงจะทำให้เปลี่ยนโลกได้ ผมเชื่อว่าเราทำให้สำเร็จได้” ผศ.ดร.ปริญญา กล่าว

UN ชื่นชมพร้อมช่วยขยายผล

กีต้า ซับบระวาล ผู้ประสานงาน สหประชาชาติ ประจำประเทศไทย เดินทางมาดูงานที่ SDG Lab by Thammasat & AIS ได้กล่าวว่า รู้สึกดีใจมากที่ได้มาเยี่ยมชมที่นี่ ที่ถูกพัฒนาขึ้นโดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และทีมงานของเอไอเอส 

“เป็นเรื่องที่ยอดเยี่ยมมากที่ Partner ทั้งสองฝ่ายมาทำงานร่วมกัน ที่นี่เป็นสถานที่ที่สร้างแรงบันดาลใจอย่างมาก เป็นสถานที่ที่เหมาะกับคนรุ่นใหม่ที่จะเข้ามาหาโซลูชั่นเข้ามาแก้ปัญหากับความท้าทายในทุกวันนี้ เช่น การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ฉันจะคอยดูความก้าวหน้าของ SDG LAB อย่างใกล้ชิด และรอคอยที่จะเห็นต้นแบบของอุปกรณ์ต่าง ๆ”

ในฐานะ UN จะดูว่าสามารถสนับสนุนอะไรให้ได้บ้าง และนำต้นแบบบางตัว ออกไปสู่ตลาดเพื่อประเทศและโลกในอนาคต ความร่วมมือระหว่างภาคการศึกษาและบริษัทเอกชนในครั้งนี้เป็นสิ่งที่น่ายินดีอย่างมาก 

“ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์พาไปชมสวนบนดาดฟ้า เป็นแนวคิดแห่งอนาคตมาก ๆ และฉันเชื่อว่าในอนาคตอาคารหลาย ๆ อาคารก็จะเป็นลักษณะเช่นเดียวกัน มีต้นไม้ปกคลุมอยู่บนตัวตึกก็จะช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ ฉันหวังว่าสิ่งที่ทำอยู่นี้จะเป็นอนาคตของวันข้างหน้า” กีต้า กล่าวทิ้งท้าย 

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ