TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusinessจาก “สถานีโทรทัศน์อันดับหนึ่ง”​ สู่ “ผู้ผลิตคอนเทนต์” อันดับหนึ่งของประเทศไทย

จาก “สถานีโทรทัศน์อันดับหนึ่ง”​ สู่ “ผู้ผลิตคอนเทนต์” อันดับหนึ่งของประเทศไทย

ช่อง 3 ตั้งเป้ารายได้โตเกิน 2 หลัก ปี 2564 ด้วยแนวคิด Single Content, Multiple Platforms คือ การสร้างรายได้ 3 สาย ได้แแก่ หน้าจอทีวี (TV Business) สื่อใหม่ (New Media) และขายคอนเทนต์ไปตลาดต่างประเทศ (Global Content Licensing)

สุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์ กรรมการผู้อำนวยการ สายงานธุรกิจทีวี ช่อง 3 กล่าวว่า จากวิสัยทัศน์เดิมของช่อง 3 ที่จะเป็นสถานีโทรทัศน์อันดับหนึ่งของประเทศไทย วันนี้วิสัยทัศน์เปลี่ยนไปแล้ว ช่อง 3 ไม่ได้เป็นสถานีโทรทัศน์อย่างเดียว แต่มองตัวเองว่าจะเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์ขนาดใหญ่ จะเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์ที่เป็นความบันเทิง ไม่ว่าจะเป็นละคร วาไรตี้ หรือข่าว

ปี 2564 ช่อง 3 จะโฟกัสมากขึ้น ทั้งออฟไลน์ ออนไลน์ Global Content Licensing จะมีความสำคัญมากขึ้น ธุรกิจทีวีเติบโตได้ เพราะคอนเทนต์ที่ดี

วิสัยทัศน์ของช่องเปลี่ยนไป ช่อง 3 ไม่ได้มองรายได้จากธุรกิจอย่างเดียว แต่มีช่องทางการสร้างรายได้เพิ่มขึ้น ข้อดีคือ สามารถผนึกกำลังกันได้ เพราะลงทุนครั้งเดียว ไม่ต้องสร้างละครเพิ่มมาอีกเรื่องเพื่อไปขายต่างประเทศ แต่ในอนาคตข้างหน้าในความใหญ่ของช่อง 3 จะเป็นผู้ผลิตขนาดใหญ่ที่มีผู้จัดละครมากมาย มีดารานักแสดงชั้นนำมากมาย

“วิสัยทัศน์เปลี่ยนไป เราจะไม่ใช่บริษัทที่ทำทีวี เราจะเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์ขนาดใหญ่ ผมคิดว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเริ่มต้นจากคอนเทนต์ คอนเทนต์ที่ดีจะพาให้เราไปหาแพลตฟอร์มต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น”

สัดส่วนรายได้ของช่อง 3 เริ่มเปลี่ยนไปจากเดิมรายได้เกือบ 100% มาจากทีวีอย่างเดียว ปี 2563 ช่อง 3 จะมีรายได้จาก New Media และ Global Content Licensing ไม่ต่ำกว่า 20% อีกเกือบ 80% เป็นรายได้จากทีวี

ในปี 2564 สัดส่วนรายได้จาก New Media และ Global Content Llicensing จะเพิ่มขึ้นหรือไม่ขึ้นกับความสำเร็จในการทำ 3Plus และความสำเร็จของละคร ซึ่งมีโอกาสที่จะมากกว่า 20% อาจจะได้ 25%

การที่สัดส่วนของ New Media และ Global Content Llicensing สูงขึ้นก็ไม่ได้หมายความว่ารายได้ของช่อง 3 ทีวีจะลดลง ซึ่งยังเติบโตได้อีก ที่ผ่านมาเจอ 3 วิกฤติ คือ โควิค-19 เศรษฐกิจ และการเมือง ถ้า 3 อย่างนี้ไม่รุนแรงเท่าใด โฆษณาจะหันกลับมา ซึ่งทีวียังคงเป็น Mass Media

“ถ้าเรามองตัวเองอยู่ในอุตสาหกรรมทีวี เราคงจะตกตามอุตสาหกรรม เรามองว่าเราเป็นเจ้าของคอนเทนต์ขนาดใหญ่ แสดงว่าเรามีแม่น้ำสายที่ 1 ของรายได้ คือ รายได้จากทีวี แม่น้ำสายที่ 2 และ 3 คือ New Media และ Global Content Llicensing ตราบใดที่เราทำแบบนี้ได้ คิดว่า New Media และ Global Content Llicensing จะมาทดแทนส่วนที่ลดลง แต่ไม่ได้หมายความว่าคนที่ทำทีวีอย่างเดียวต้องตก เพราะคนที่ทำได้ผลดีจริง ๆ ก็มีโอกาสกำไร เพราะคนดูจะไปหาช่องที่ดีที่สุด เงินจะไปหารายการที่ดีที่สุด

ตั้งแต่​ปี 2015 จนถึง 2023 อุตสาหกรรมโฆษณาในตลาดทีวีตกลงแล้วประมาณ 46-47% และจะไม่กลับมาขึ้นอีกแล้ว แต่มันจะเปลี่ยนภูมิทัศน์ของคนทำรายการให้ทำแบบช่อง 3 คือ ทำรายการอยู่แต่ไม่ได้มอง “ทีวี”​ อย่างเดียว แต่มองว่ารายการมีความเหมาะสมที่จะไปต่างประเทศได้ไหม ไป YouTube หรือ Facebook หรือแอปพลิเคชันต่าง ๆ ที่เป็นความบันเทิง ถ้าทำได้ คือ สิ่งที่ดีกว่าในอดีต

“เราอยู่ในทีวี เรายังทำรายการเหมือนเดิมอยู่ เพียงแต่ว่าตลาดมีมากขึ้น ในวิกฤติก็มีโอกาส เทคโนโลยีก็พาคอนเทนต์ของเราไปต่างประเทศดูละครพร้อมเราได้ เป็นโอกาสที่ดีสำหรับเรา ถ้าเราไม่ทำอะไรเลยเราเสียเปรียบแน่นอน”

Global Streaming Service Operator เช่น Netflix, Disney Plus, Line TV, WeTV คือ พวกที่เข้ามา ในตลาดประเทศไทยมากขึ้น ๆ สิ่งหนึ่งที่เขาไม่มี คือ ต้องรู้ความต้องการของลูกค้า ซึ่งช่อง 3 มองผู้ให้บริหารรเหล่านี้เป็นพันธมิตรไม่ได้มองเป็นคู่แข่ง ในอนาคตช่อง 3 จะทำ Original Content

“สิ่งทีเขาเอามาคือ Hollywood Films, Korean Films, สิ่งที่คนไทยอยากดูคือ ซีรีส์ของคนไทย”

การทำทีวีวัฎจักรเปลี่ยนไป การนำซีรีส์ต่างประเทศมาออกอากาศจะลดความสำคัญลง แต่จะไปโดดเด่นอยู่ใน 3Plus คุณภาพ HD บางเรื่อง 4K

“เราเป็นบริษัท Entertainment ที่มีบุคลากรและเครื่องมือพร้อม ใครที่อยากจะมาเมืองไทยแล้วทำ Lcoal Content เราเป็นตัวเลือกแรก ๆ เราอยู่เกือบทุกแอปของ OTT อาทิ Netflix, WeTV, LINE TV, อ้ายฉีอี้ (iQIYI แพลตฟอร์มวิดีโอออนไลน์ของจีน) OTT ของ Tencent ในจีน และ OTT ในมาเลเซีย และสิงคโปร์ เป็นต้น”

2-3 ปีที่ผ่านมาก การแข่งขัน ภาวะเศรษฐกิจ และความเป็น Fragmentation มาก ๆ ของช่องทีวี ทำให้ Eyeballs พุ่งไปที่ต่าง ๆ เงินก็กระจายไปที่ต่าง ๆ คนที่ Dominate อุตสาหกรรมโฆษณาในไทย คือ บริษัทข้ามชาติ การกดดันเรื่องการใช้จ่ายเงินในอุตสาหกรรมโฆษณา การ Shift การใช้งบโฆษณาจากสื่อออฟไลน์ไปสื่อออนไลน์

ละคร คือ เส้นเลือด

ปีหนึ่ง ๆ ช่อง 3 ทำละคร 30-40 เรื่อง อยู่ในธุรกิจมาหลายสิบปี มีละครเป็น 1,000 เรื่อง เรื่องหนึ่ง 20-30 ชั่วโมง ฉะนั้น ช่อง 3 มีคอนเทนต์รวมกันหลายหมื่นชั่วโมงที่ไม่มีบริษัทไหนในประเทศไทยมี

“ธุรกิจผมคือ คอนเทนต์ ละคร คือ เส้นเลือดของเรา ข่าวเป็นอันดับสองรองลงมา”

ข้อดีของ Single Content, Multiple Platforms คือ การมีต้นทุนครั้งเดียว แต่มีรายได้ 3 ครั้ง เดิมต้นทุนครั้งเดียวรายได้ครั้งเดียว ถ้าไม่นับรีรีน

หลายคนบอกว่าช่อง 3 อยู่ในธุรกิจทีวี เป็นธุรกิจ Sunset ที่คนเริ่มดูน้อยลง คนไม่เปิดทีวีดูแล้ว แต่หากสังเกตดูจะพบว่าคนอาจจะไม่ได้เปิดทีวีเพื่อดูรายการ แต่คนจะดูรายการทีวีจากเครื่องมืออื่น ๆ แปลว่ายังดูรายการทีวี

เทคโนโลยีทำให้คนสามารถเข้าถึงรายการทีวีได้มากขึ้น ช่อง 3 เอาตรงนี้มาเป็นโอกาสมากกว่าที่จะบอกว่าเป็นอุปสรรคในการทำงาน มากกว่าจะบอกว่าทีวีคนดูน้อยลงรายได้จากโฆษณาก็ลดลงด้วย จริงส่วนหนึ่ง แต่ดีเพิ่มขึ้นมาก คือ เราได้รายได้จากธุรกิจนิวมีเดีย และการขายไปตลาดต่างประเทศ”

หน้าจอทีวี ธุรกิจทีวีออฟไลน์ยังเดินหน้าไปตามปกติ ออนไลน์ มี 3Plus ให้คนดูได้ 2 แบบ ดูพร้อมเวลาออกอากาศ​ (Realtime) หรือดูย้อนหลัง (On Demmand) ปัจจุบันจะเห็นว่าละครของช่อง 3 ไม่ได้ดูได้แค่ที่ช่อง 3 อย่างเดียว จบไป 2 ชั่วโมงก็ไปดูที่ LINE TV บางเรื่องออกสดที่ WeTv ขายไป True ID

“บางบริษัทอาจจะไม่มีทรัพยากรที่จะทำให้วิสัยทัศน์กลายเป็นจริง แต่ที่ช่อง 3 มีทุกอย่าง มีดารา A List มีผู้จัดที่แข็งแรง ที่ช่อง 3 ถือว่าเป็นพันธมิตรธุรกิจ เพราะเขาทำงาน Exclusive ให้ช่อง 3 นอกจากนี้ยังมีดาราในสังกัดจำนวนมาก รวมถึงดาราที่เซ็นสัญญา Exclusive กับช่อง 3 รวมถึงดาราหน้าใหม่จำนวนมาก ซึ่งเป็นหนึ่งในความสามารถของช่อง 3 ที่สามารถสร้างดารามาแทนรุ่นเก่ารุ่นแล้วรุ่นเล่า”

Global Content Licensing

ช่อง 3 ไม่ได้มีรายได้อยู่แค่ในประเทศไทย ไม่ได้มีรายได้อยู่แค่ออนไลน์ แต่ยังมีรายได้จากการขายสิทธิละครไปต่างประเทศด้วย ที่เรียกว่า International Business มีหน้าที่หลักคือ ขายเป็น Global Content Licensing ขายสิทธิของคอนเทนต์ที่เป็นละครไปต่างประเทศทั่วโลก

ละครที่เพิ่งจบไป “ร้อยเล่ห์มารยา” ออกอากาศพร้อมกันใน 10 ประเทศ อาทิ จีน สิงคโปร์ มาเลเซีย และบรูไน เป็นต้น ดังนั้น กลยุทธ์ในการทำละครจะเปลี่ยนไป เดิมแผนกผลิตละครทำละครเพื่อตอบสนองคนดูในเมืองไทย ต่อไปต้องรู้ว่าคนจีนชอบดาราคนไหนและมีกฎกติกาอย่างไรในการรับคอนเทนต์ไปออนแอร์ ทุกประเทศมีระบบ Censorship อาทิ เรื่องเกี่ยวกับผี ๆ ไปจีนไม่ได้ เป็นต้น

ช่อง 3 จะเอาดาราที่เป็น A List หรือ ดาราที่เป็นแม่เหล็ก ควรจะเอาพระเอกนางเอกไปแสดงละครที่ไม่มีปัญหาสำหรับโอกาสที่จะเข้าไป ซึ่งประเทศจีนเป็นตลาดที่ใหญ่สำหรับช่อง 3

“ตลาดหลักของคอนเทนต์เรา คือ ประเทศจีน และประเทศอาเซียน และมีตลาดใหม่ อาทิ ญี่ปุ่น และเกาหลี เวลาขาย ขายแบบออกอากาศพร้อมไทย กับขาย Library ที่มีไปเลย”

Upskill พนักงาน แทนการ Lean องค์กร

องค์กรช่อง 3 ยังไม่ Lean เพราะยังมีคนมาก แต่สิ่ที่จะทำคือ การปรับทักษะ Upskill/Reskill ในอนาคตพนักงานทุกคนควรมีการ Upskill เคยอยู่ในโลก Analog ตอนนี้เข้าสู่โลก Digital ฉะนั้น Mindset วิธีการคิดวิธีการทำงานของคนช่อง 3 ต้องเปลี่ยนไป ทุกบริษัทอยู่ในโลกของ Digital Transformation​​​ ซึ่งกดดันให้ต้องปรับตัว และเป็นเส้นเป็นเส้นตายของอนาคตของช่อง 3

เนื่องจากช่อง 3 เป็นองค์กรที่ใหญ่ การสื่อสารเพื่อให้พนักงานเข้าใจไม่ใช่เรื่องง่าย หลายคนไม่ได้มี Skill Set เพื่อทำสิ่งที่ทีมงานผู้บริหารบางท่านอยากจะได้ หลาย ๆ ปัจจัยเป็นปัญหา สิ่งที่เข้ามาทำ คือ แก้ปัญหา

สุรินทร์ กล่าวว่า สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ต้องมีคอนเทนต์ที่ดี คอนเทนต์ที่ดีเริ่มจากการมีบุคลากรที่ดี บุคลากรที่ดี คือ ผู้คนที่เกี่ยวข้องกับการทำละคร ทำข่าว ทำวาไรตี้ ทุกคนยังอยู่กับช่อง 3 เพียงแต่นโยบายอาจจะเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา สิ่งที่ต้องให้ความมั่นใจพนักงาน คือ ต้องบอกว่า นี่คือสิ่งที่บริษัทอยากจะทำ ทุกคนต้องการความมั่นใจ

“คนที่ทำละครกับช่อง 3 ก็อยู่กับช่อง 3 ที่เดียวไม่ได้ไปที่ไหน ดาราที่อยู่กับช่อง 3 ส่วนใหญ่ก็อยู่ที่ช่อง 3 ถึงแม้ไม่ได้สังกัดก็เช่นละครกับช่อง 3 เป็นส่วนใหญ่ สิ่งเหล่านี้ เราต้องสร้างความมั่นใจให้กับเขา”

ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว

สุรินทร์ เชื่อว่า ธุรกิจช่อง 3 ผ่านจุดต่ำสุดมากแล้ว ไตรมาสที่ 3 ปี 2563 เริ่มมีกำไร รายได้เพิ่มขึ้น ไตรมาสที่ 2 ปี 2563 ที่ผ่านมาถือว่าเป็นจุดต่ำสุดแล้ว

หน้าที่ผม คือ มาสร้างความแข็งแกร่งให้กับช่อง 3 ซึ่งวัดจากความนิยมของรายการ และผลลัพธ์ของธุรกิจ คือ ต้องทำให้มีกำไร แต่แรงหวี่ยง (Momentum) ดี ช่อง 3 เป็นบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ สิ่งที่ผู้ถือหุ้นจำเป็นต้องมี คือ ความเชื่อมั่น ซึ่งไม่ได้วัดจากสิ่งที่ผมพูด แต่วัดจากผลประกอบการ”

เศรษฐกิจไม่ดี แต่ช่อง 3 อยู่ในธุรกิจที่เป็น Exceptional อยู่ในธุรกิจขาลง คนลดงบโฆษณา ไม่ได้หมายความว่าเขาเลิกใช้ แต่เขาเลือกใช้ เขาลดงบโฆษณา ไม่ได้ตัดงบโฆษณา

“เราอาจจะได้งบโฆษณาที่เหมือนเดิมหรือดีขึ้นด้วยซ้ำ เขาจะไม่ตัดงบโฆษณาช่อง 3 มีเหตุผลเดียว ไม่ใช่เพราะเขาชอบผม แต่เพราะคอนเทนต์ผมดีกว่าที่อื่น เขาก็เลยอยากจะซื้อ ผมมีสิ่งต่าง ๆ ที่เสริมภาพลักษณ์ของสินค้าเขา สิ่งเหล่านี้ คือ คำตอบ”

แรงหวี่ยง (Momentum) ของช่อง 3 กลับมา คือ ได้คนดูกลับมา ได้ความเชื่อมั่นของนักลงทุน และได้ความเชื่อมั่นจากผู้บริหาร Media Agency ต่าง ๆ ที่อยากจะเอาเงินกลับมาลงทุนที่ช่อง 3 เป็น Priority มากกว่าที่จะไปที่ไหนก็ได้

“บุคลากรด้านข่าว จะเสริมในส่วนที่เราขาด ในทุกธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลงตลอด แต่ในวัฒนธรรมองค์กรของเรา เราไม่ค่อยเปลี่ยนแปลง เราเพิ่มคนเข้าไปจนกระทั่งเราค่อนข้างอุ้ยอ้ายพอสมควร ถ้าถึงสิ้นปี 2563 พนักงานจะไม่ถึงพันคน ส่วนงานไหนที่เราคิดว่าจำเป็นต้องเพิ่มเราก็เพิ่ม เราไม่ได้มีความกดดันในเรื่องต้นทุนของพนักงานแล้ว ความกดดันของเราอยู่ที่ความสามารถของเราในการที่จะทำให้รายการของเราเป็นที่ชื่นชอบของคนดู”

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ