TH | EN
TH | EN
หน้าแรกInterviewอนาคตศาสตร์ "มอง" ความเป็นไปข้างหน้า "ทำ" ปัจจุบันให้พร้อม

อนาคตศาสตร์ “มอง” ความเป็นไปข้างหน้า “ทำ” ปัจจุบันให้พร้อม

แม้อนาคตจะเป็นสิ่งที่ไม่ว่าใครก็ไม่อาจล่วงรู้ได้ แต่สำหรับ ดร.การดี เลียวไพโรจน์ แห่ง Future Tales Lab ของบริษัท MQDC ผู้มุ่งมั่นศึกษา “อนาคตศาสตร์” ห้วงเวลาในภายภาคหน้าไม่ใช่ปริศนาความลับที่ไม่อาจคาดเดาได้ 

“พอเราทำอนาคตศาสตร์ เรามักจะมองในระยะเวลาที่ไกล แล้วเราก็ไม่มีความจำเป็นที่ต้องคิดว่า เราจำเป็นต้องเห็นทุกอย่างที่ชัด แม่นยำ แต่เราจะให้เห็นชัดมากพอที่จะตีความสู่ปัจจุบันว่า ถ้ามันมีโอกาส เราจะต้องทำอะไรบ้าง กับถ้ามันมีสิ่งที่ต้องเป็นข้อพึงระวัง มันจะมีอะไรบ้าง” ดร.การดี กล่าว

ทั้งนี้ การจะคาดการณ์สภาพสังคม เศรษฐกิจ และแนวโน้มทิศทางในอนาคต ให้เป็นไปได้อย่างถูกต้อง เป็นไปได้ หรือสมเหตุสมผลนั้น ดร.การดี ระบุว่า สิ่งสำคัญลำดับแรกสุด คือ การเก็บรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ซึ่งหมายรวมถึงความคิดเห็นของบรรดาบุคคลสำคัญของโลก ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ก่อนนำมาจัดลำดับ เพื่อประมวลและวิเคราะห์ถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตต่อไป

อย่างไรก็ตาม อนาคตศาสตร์เป็นการมองให้เห็นภาพเหตุการณ์ในภายภาคหน้าที่ค่อนข้างไกล คือ ไม่ใช่แค่ปีหน้า หรือปีถัดไป แต่เป็นอีก 50–100 ปีข้างหน้า ดังนั้นการพิจารณาสภาพการณ์จึงมักแบ่งออกเป็นช่วงเวลาที่ชัดเจน เพื่อความสะดวกในการอธิบายบรรยายรูปการณ์ในอนาคต ซึ่งดร.การดี ใช้ช่วงระยะเวลาที่ 10 ปี และยกตัวอย่างอนาคตศาสตร์ที่ตนเองศึกษามา 3 ช่วง คือปี 2021-2030, ปี 2031-2040 และปี 2041-2050 

โดยแต่เดิม ดร.การดีและทีมงานเคยศึกษาอนาคตศาสตร์จนเสร็จเรียบร้อยแล้วก่อนหน้านี้ แต่ด้วยบริบทของสภาพสังคมในปัจจุบันทำให้ต้องมีการมาพิจารณาทบทวนอีกครั้ง และแต่ละช่วงเวลาจะมุ่งเน้นศึกษาใน 7 ประเด็น คือ 1) บุคคลและสังคม (Individual & Society), 2) เทคโนโลยีและอุปกรณ์รอบตัว (Tech & Device around US), 3)การผลิตและการบริการ (Service & Manufacturing), 4) เมืองและที่อยู่อาศัย (City and Where we live), 5) เศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์ (Economy & Geopolitics), 6) สิ่งแวดล้อมและถิ่นที่อยู่ (Environment & Habitat) และ 7) ธุรกิจอวกาศ (Space Economy)

“เราต้องมีการ refresh ว่า แล้วเราอนาคตนั้นเป็นอย่างไร ต้องเรียนว่าสิ่งที่เราเคยทำตอนปี 2015-2016 มีผิดพลาดเยอะ แต่ส่วนมากจะผิดพลาดในเรื่องของไทม์ไลน์ที่เราคาดการณ์ อย่างเช่น เราคาดการณ์ไว้ว่าจะเกิดขึ้นปี 2030 แต่แท้จริงแล้วกลับเกิดอยู่ภายในปี 2021 โดยที่มีจุดเปลี่ยนสำคัญ คือ วิกฤติโควิด-19 และดิจิทัลเทคโนโลยี ที่เป็นเหมือนปัจจัยที่ทำให้เกิดอัตราเร่งอย่างรวดเร็วและเร็วขึ้น ทำให้จากที่เราเคยคิดว่าเรามีเวลาอีก 5 ปีในการเตรียมตัว วันนี้เรารู้สึกว่าเราไม่มีเวลาแล้ว It’s a do or die thing” ดร.การดี กล่าว

ทั้งนี้ เมื่อใช้อนาคตศาสตร์ในการมองอนาคตตลอดช่วง 30 ปีข้างหน้า ดร.การดี ระบุว่า 10 ปีแรกนับจากนี้ คือ ช่วงเวลาแห่งการดิ้นรนขวนขวาย หรือ The decade of struggling เพราะว่าจากโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดการปรับระบบที่ไม่ได้เป็นทางเลือกแต่เป็นทางรอด ซึ่งถ้ายังไม่เปลี่ยน คือ ตาย และล้าหลัง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของชีวิต และการทำงาน 

“เรามองว่า ในช่วง 10 ปีนี้ ระบบเดิมที่รุ่นเจน X อย่างเราได้วางเอาไว้ จะต้องถูกรีเซ็ท และกลายเป็นของล้าสมัย (outdate) เป็นจุดที่จะต้องยอมรับของรุ่นพวกเราว่า ล้าหลังแล้ว ระบบราชการ ระบบ authority ที่เราเรียกว่า legacy systemถึงเวลาที่จะต้องบังคับให้ล้าหลังได้แล้ว ลากมายาวเกินพอแล้ว” ดร.การดี กล่าว

สำหรับภาพรวมในยุคนี้ มนุษย์จะแวดล้อมไปด้วยระบบอัจฉริยะ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) มีอุปกรณ์เครื่องมือที่ช่วยการเก็บและการจัดทำฐานข้อมูล ทุกสิ่งทุกอย่างแวดล้อมจะคำนึงถึงความเป็นส่วนบุคคลมากขึ้น ลักษณะของเมืองใหญ่จะกระจายตัวเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของแต่ละประเทศ อาวุธที่สำคัญที่สุด คือ การครอบครองข้อมูล เทคโนโลยีด้านการพลังงานจะมีการแข่งขันอย่างดุเดือด และเป็นยุคที่มีการลงทุนต่าง ๆ เพิ่มขึ้น 

นอกจากนี้ ดร.การดี กล่าวว่า ท่ามกลางสภาพสังคมที่ดิ้นรนขวนขวาย ปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นในช่วง 10 ปีนี้ก็คือ ความเหลื่อมล้ำ หรือการเข้าไม่ถึงโอกาสที่เท่าเทียมกันในระดับโลก ประเทศที่รวย แม้ว่าจะเกิดและเผชิญกับวิกฤติเหมือนกัน แต่วิธีการแก้จะไม่เหมือนกัน ประเทศที่รวยจะสามารถเข้าถึงวัคซีนได้ ใช้เงินกู้จะสามารถมีเครดิตได้ ในขณะที่ประเทศที่จน ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในนั้น มีความสามารถในการจัดการที่ต่ำกว่า ซึ่งในส่วนนี้ประเทศไทยค่อนข้างน่าเป็นห่วงอยู่เหมือนกัน 

ขณะเดียวกัน สภาพสังคมดังกล่าวทำให้ต้องการ คน หรือ บุคลากรที่เก่งจริง ๆ เท่านั้น ดังนั้นคนที่มีค่าเฉลี่ยกลาง ๆ หรือคนที่เก่งกลาง ๆ จะไม่มีที่ยืนสักเท่าไร ต้องเก่งหรือเก่งมากเท่านั้น หรือถ้าคิดว่าไม่อาจเก่งมาก ก็จะต้องรู้จักปรับตัวให้ได้มากและปรับตัวให้ได้เร็ว คือ ถ้ารักจะเป็นเป็ด ก็ต้องเป็น “เป็ด” ชั้นดี พวกทำงานอย่างเดียวก็ไม่ได้ ทำงานหลายอย่างไม่เก่ง จะไม่มีที่ยืน 

ส่วนในแง่สิ่งแวดล้อม สิ่งที่ศึกษาไว้ค่อนข้างมากเป็นไปในทางบวกที่คนจะหันเข้าพาพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและเป็นช่วงที่คนเริ่มเห็นความเป็นไปได้และให้ความสำคัญในการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ อย่างการเที่ยวอวกาศหรือ Space tourism 

Asymmetric development

สำหรับอีก 10 ปีถัดไป เป็นช่วงที่ความเหลื่อมล้ำจาก 10 ปีก่อนหน้าแสดงผล ซึ่ง ดร.การดี ให้นิยามว่าเป็นยุค Asymmetric development คือ การพัฒนาที่บิดเบี้ยว ไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และพัฒนาช้าเร็วไม่เท่ากัน ขณะที่ภาพรวมของสังคมส่วนใหญ่ ก้าวล่วงเข้าสู่สังคมของคนสูงอายุมากขึ้น โดยมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วยทลายข้อจำกัดของร่างกาย เพียงแต่ปัจจัยด้านความเหลื่อมล้ำทำให้คนทุกคนเข้าถึงโอกาสไม่เท่ากัน 

นอกจากนี้ ความเหลื่อมล้ำยังทำให้เกิดปัญหาทางสังคมในด้านอื่น ๆ ตามมา โดยในกรณีนี้ รัฐบาลจำเป็นจะต้องมีการปรับตัวขนานใหญ่ ในแง่ของการเมือง คือ การให้คำจำกัดความของ “ประชาธิปไตย” ที่ให้ทุกคนมีสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลและเทคโนโลยีอย่างเท่าเทียม ต้องมีการวางโครงสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานแบบยกระดับสูงสุดเพื่อทำให้เมืองมีความทนทาน ต่อทุกสภาวะการเปลี่ยนแปลง 

ยิ่งไปกว่านั้น การเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลานี้ที่น่าจับตามอง คือ ความก้าวหน้าของเครื่องพิมพ์ 3 มิติ และเครื่องพิมพ์ 4 มิติ ที่จะทำให้การผลิตสินค้าต่าง ๆ เป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น บวกกับช่วง 10 ปีนี้ จะมีวัตถุดิบที่ล้ำหน้า (advanced material) เพื่อความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สิน ทำให้สินค้า บริการ และสิ่งของอุปโภคบริโภคมีประสิทธิภาพมากขึ้น 

ส่วนในประเด็นเรื่องของสิ่งแวดล้อม เรื่องของน้ำและอากาศสะอาดจะเป็นสิ่งที่ยากมากขึ้นเรื่อย ๆ ดร.การดี มองว่า ทรัพยากรที่บริสุทธ์เหล่านี้จะกลายเป็นจุดที่ก่อชนวนสงครามมากกว่าทรัพยากรอื่น ๆ อย่างเช่น น้ำมัน อย่างที่เคยเกิดขึ้นในอดีต และเรื่องของอวกาศ เมื่ออิงตามการคาดการณ์ของเทคโนโลยีแล้ว ดร.การดี คิดว่าน่าจะมีการสร้างที่อยู่อาศัยขนาดเล็กเริ่มเกิดขึ้นบนนอกโลก อาจจะเป็นในเรื่องของสถานีอวกาศ (space station) หรืออื่น ๆ ในแง่ของการทดลอง 

ขณะที่ในช่วง 10 ปีสุดท้าย หรืออีก 20 ปีข้างหน้า จะเป็นช่วงที่พัฒนาต่าง ๆ ผ่านวิกฤติต่าง ๆ ซึ่งมีทั้งมุมบวก และมุมลบ สังคม เศรษฐกิจและการเมืองจะเป็นการขับเคลื่อนด้วยข้อมูล ทำให้พัฒนาการทางด้านอัลกอริธึม หรือ โรบอทจะมีมากยิ่งขึ้น โดยมาเป็นลักษณะของ โคบอท หรือ Co-worker as a robot และสังคมจะให้ความสัคญกับการเรียนที่เป็นทักษะพื้นฐานในฐานะความมนุษย์กับการอยู่ร่วมกันในสังคมในฐานะมนุษย์เพิ่มมากขึ้น เพราะเทคโนโลยีทำให้การใช้ชีวิตสะดวกสบายมากขึ้นแล้ว 

ในด้านของการผลิต ดร.การดี มองว่า เทคโนโลยีเครื่องพิมพ์ 5 มิติ ทำให้การผลิตเพิ่มมุมมองในแง่ของศิลปะและความสวยงามเข้าไปด้วย และเทคโนโลยีทางการเงินจะเริ่มมีบทบาทสำคัญอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะในอินเดียที่จะกลายเป็นศูนย์กลางทางการเงิน เหมือนกับ นิวยอร์ก ลอนดอน และฮ่องกง เนื่องจากระบบการเงินในอนาคตไม่ได้เป็นแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน 

อย่างไรก็ตาม ความน้อยลงของพื้นที่อยู่อาศัย จะทำให้มีข้อจำกัดมากยิ่งขึ้น การดูแลเรื่องของสภาพน้ำและสภาพอากาศเป็นสิ่งสำคัญมากที่สุด ขณะเดียวกันทำให้เป็นเหตุผลว่าทำไมหลายประเทศทั่วโลกต่างหันมาพัฒนาเรื่องของอวกาศอย่างมีนัยสำคัญ ดร.การดี มองว่า การพัฒนาด้านอวกาศ อาจมีความหมายถึงเพื่อการอยู่รอด เพราะว่าอนาคตถัดไปหลังจากนี้ อาจจะเป็นไปได้ที่จะไปถึงเรื่องของการอพยพไปนอกโลก หรือ space migration นั่นเอง

อศินา พรวศิน – สัมภาษณ์
นงลักษณ์ อัจนปัญญา – เรียบเรียง

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ