TH | EN
TH | EN
หน้าแรกLifeเมอร์เซอร์ คาดการณ์ อุตสาหกรรมเคมี เทคโนโลยี ยาและเครื่องมือแพทย์ จะมีอัตราการขึ้นเงินเดือนสูงสุด

เมอร์เซอร์ คาดการณ์ อุตสาหกรรมเคมี เทคโนโลยี ยาและเครื่องมือแพทย์ จะมีอัตราการขึ้นเงินเดือนสูงสุด

มีการคาดการณ์ว่า อัตราการขึ้นค่าตอบแทนในปี 2566 จะปรับเพิ่ม 4.5% ซึ่งอัตราการเพิ่มนี้ใกล้เคียงกับอัตราที่เกิดขึ้นจริงในปีนี้ ท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อ ราคาพลังงาน และราคาน้ำมันปรับสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลการเติบโตของเศรษฐกิจที่ดีขึ้น และสถานการณ์โดยรวมที่กลับเข้าสู่ระดับก่อนหน้าวิกฤตโรคระบาด

เมอร์เซอร์ ธุรกิจให้บริการการให้คำปรึกษาชั้นนำของโลก เผยผลสำรวจ Total Remuneration Survey (TRS) ประจำปี 2565 โดยได้ทำการสำรวจกับองค์กร 636 แห่งใน 15 อุตสาหกรรมในประเทศไทย ระหว่างเดือนเมษายน – มิถุนายน 2565 เกี่ยวกับการปรับค่าตอบแทนพนักงานในปี 2565

จากแนวโน้มผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศไทยที่คาดการณ์ว่าจะปรับขึ้น 3.8% ในปี 2566 ซึ่งเป็นอัตราที่สูงที่สุดในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แนวโน้มการปรับขึ้นค่าตอบแทนของไทยที่ 4.5% นั้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศเอเชียแปซิฟิกเล็กน้อย (ไม่รวมอินเดีย ณ วันที่ 3 พฤศจิกายน 2565) ที่มีอัตราการปรับขึ้นเฉลี่ย 4.4% 

ทั้งนี้ อัตราค่ากลางของค่าตอบแทนที่ปรับสูงขึ้นขึ้นในภูมิภาคเอเชีย สะท้อนให้เห็นถึงการเติบโตของค่าตอบแทนในตลาดแรงงานในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่และประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยมีการประมาณการอัตราค่าตอบแทนที่ปรับตัวสูงถึงระดับ 7.1% ในประเทศเวียดนาม เทียบกับ 2.2% ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งต่ำที่สุดในภูมิภาค

เมลลา ดาราแคน หัวหน้าฝ่ายผลิตภัณฑ์ ของบริษัทเมอร์เซอร์ ประจําประเทศไทย กล่าวว่า “แม้จะมีความคาดหวังต่อแนวโน้มของเศรษฐกิจที่ดีขึ้น แต่นายจ้างส่วนใหญ่ยังมีความระมัดระวังในการวางแผนที่จะรับมือกับผลกระทบของอัตราเงินเฟ้อที่ปรับสูงขึ้น ในภาวะเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัว ดังนั้น แนวโน้มในการปรับเพิ่มอัตราค่าตอบแทนในปีหน้า อาจจะยังใกล้เคียงกับปีนี้

อย่างไรก็ตาม เมอร์เซอร์แนะนำให้ภาคธุรกิจพิจารณาและทบทวนกลยุทธ์การบริหารค่าตอบแทนของพนักงานในองค์กร เนื่องจากธุรกิจอาจจะพบกับภาวะการแข่งขันที่รุนแรงของตลาดแรงงานในอนาคต รวมถึงอาจจะประสบความท้าทายในการดึงดูดและรักษาบุคลากรที่มีทักษะความสามารถไว้”

คาด อุตสาหกรรมเคมี เทคโนโลยี ยาและเครื่องมือแพทย์ จะขึ้นเงินเดือนสูงสุด

การสำรวจพบว่า ไม่มีอุตสาหกรรมใดปรับลดอัตราการขึ้นเงินเดือน โดยคาดว่าอุตสาหกรรมเคมี อุตสาหกรรมเทคโนโลยี และอุตสาหกรรมยาและเครื่องมือแพทย์ จะมีอัตราการขึ้นเงินเดือนสูงสุดอยู่ที่ 4.9%, 4.8% และ 4.8% ตามลำดับ

การคาดการณ์การปรับอัตราการขึ้นเงินเดือนในครั้งนี้ นับว่าใกล้เคียงกับช่วงก่อนหน้าเกิดวิกฤติโรคระบาดที่ 5% ยกเว้นอุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมประกันชีวิต ซึ่งการคาดการณ์การปรับอัตราการขึ้นเงินเดือนอยู่ที่ 4.5% และ 4.0% ตามลำดับ แม้อุปสงค์ต่อภาคยานยนต์และประกันชีวิตจะเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังไม่กลับคืนสู่ระดับก่อนหน้าวิกฤตโรคระบาด

เมลลา กล่าวว่า “การปรับอัตราการขึ้นเงินเดือนนี้ เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับอัตราเงินเฟ้อ และการที่ค่าจ้างขั้นต่ำในประเทศไทยปรับขึ้นในช่วงกลางปีที่ผ่านมา ซึ่งช่วยให้แรงงานที่มีรายได้น้อยคลายความกังวลในด้านค่าครองชีพที่สูงขึ้น แม้การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนี้อาจส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อ เพราะทำให้มีเงินหมุนเวียนในมือประชาชนมากขึ้นและเพิ่มแรงกดดันให้ภาคธุรกิจ แต่แนวโน้มเศรษฐกิจโดยรวมของไทยยังคงสดใสเมื่อเทียบกับช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา”

ในแง่ของค่าตอบแทนผันแปร คาดการณ์การจ่ายโบนัสที่ 1.3 ถึง 2.5 เดือน โดยการจ่ายโบนัสสูงสุดอยู่ที่ 2.4 เดือนจากอุตสาหกรรมยาและเครื่องมือแพทย์

ปี 65 จะมีพนักงานลาออกเพิ่มสูงขึ้น

มากกว่าครึ่ง (53%) ของบริษัทผู้ตอบแบบสํารวจในประเทศไทย กล่าวว่าจะไม่มีนโยบายในการปรับเปลี่ยนกรอบอัตรากำลังพนักงาน ปี 2566 และ 1 ใน 5 หรือราว 22% ของนายจ้างที่ร่วมการสำรวจกล่าวว่าจะเพิ่มจำนวนพนักงาน ในขณะที่มีเพียง 4% ของนายจ้างระบุว่าจะลดจำนวนพนักงานลง

ในขณะเดียวกัน อัตราการลาออกของพนักงานในปี 2565 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับก่อนหน้าวิกฤติโรคระบาด ซึ่งมีอัตราสูงกว่า 11.9% เมื่อเทียบกับ 9.4% ในปีที่ผ่านมา ภาคธุรกิจต่าง ๆ

โดยที่อุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภค และอุตสาหกรรมยาและเครื่องมือแพทย์ คาดว่าจะมีอัตราการลาออกของพนักงานสูงที่สุด

จักรชัย บุญยะวัตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมอร์เซอร์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า “ในขณะที่เศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวจากวิกฤติโรคระบาด เราเห็นแนวโน้มการโยกย้ายงานที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากธุรกิจต่าง ๆ กลับมาจ้างงานและเพิ่มจำนวนบุคลากรที่มีความสามารถเพื่อให้ทันกับความต้องการของตลาด

ทั้งนี้ ธุรกิจไทยอยู่ในช่วงที่มีการแข่งขันที่สูงมาก และมีการแย่งชิงบุคลากรที่มีทักษะความสามารถสูง โดยมีการเสนอรายได้และสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้นเพื่อดึงดูดบุคลากร ประกอบกับช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา พนักงานประสบกับภาวะเหนื่อยล้าจากการทำงานและต้องการความเปลี่ยนแปลง

อย่างไรก็ตาม การที่ธุรกิจแข่งขันกันด้วยค่าจ้างแต่เพียงอย่างเดียวอาจจะไม่ใช่กลยุทธ์ที่ยั่งยืน ดังนั้น นายจ้างจึงควรพิจารณามุ่งเน้นการนําเสนอผลประโยชน์ในด้านอื่น ๆ ในองค์รวมให้แก่พนักงาน เช่น ความโปร่งใสของค่าจ้าง เส้นทางสู่ความก้าวหน้าในองค์กรที่ชัดเจน ตลอดจนแนวทางการทำงานรูปแบบใหม่ที่ส่งผลให้คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นผ่านสวัสดิการด้านสุขภาพในรูปแบบต่าง ๆ และระบบการทำงานที่ยืดหยุ่น”

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ