TH | EN
TH | EN
หน้าแรกSustainabilityหลัก "เศรษฐกิจหมุนเวียน" ใกล้ตัวกว่าที่คิด

หลัก “เศรษฐกิจหมุนเวียน” ใกล้ตัวกว่าที่คิด

นักเดินทางที่เดินทางผ่านสนามบินอิสตันบูลตอนนี้ กำลังเจอเรื่องน่าตื่นตาตื่นใจ มันคือภาพบุคคลที่ทำจากเศษขยะ ที่มีตั้งแต่เศษผ้า เศษกระดาษ และขยะอิเล็กโทรนิกส์

ภาพบุคคลพวกนั้นเป็นผลงานของ เดนิซ ซากดิก (Deniz Sağdıç) ศิลปินประเทศตุรกี ที่ต้องการสะท้อนว่าใคร ๆ ก็นำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาใช้ได้

ว่าแต่ หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) คืออะไรหรือ?

แนวคิดนี้ไม่ใช่ของใหม่ เพราะเกิดขึ้นในโลกตะวันตกตั้งแต่ปี 1966 เริ่มจากหนังสือของ เคนเน็ธ อี โบลดิ้ง (Kenneth E. Boulding) ที่เสนอว่าเราควรหมุนเวียนการใช้วัสดุและพลังงานให้คุ้มค่า แต่คำ ๆ นี้เกิดขึ้นครั้งแรกในหนังสือของ อัลเลน วี นีส (Allen V Kneese) ที่ตีพิมพ์ในปี 1988 ชื่อ “The Economics of Natural Resources” ที่พูดถึงกระบวนการที่เกี่ยวข้องตลอดวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพตลอดวงจรชีวิตของมัน

หลังจากนั้นก็เริ่มมีนักเศรษฐศาสตร์นำแนวคิดนี้มาใช้อธิบายหลักการทางเศรษฐกิจที่ให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า สหภาพยุโรปเปิดวิสัยทัศน์เรื่องนี้ในปี 2014 และประกาศแผนอย่างเป็นรูปธรรมในปี 2020 เพื่อให้ภาคธุรกิจแข่งขันโดยไม่สร้างผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศ

ในทุกวันนี้ธุรกิจไทยหลายแห่งได้นำแนวคิดนี้มาใช้อย่างจริงจัง ในการประชุม APEC 2022 ก็มีนิทรรศการและแนวปฏิบัติหลายอย่างที่สะท้อนแนวคิดนี้ เช่น การทำห้องข่าวสีเขียวที่นำกระดาษและขยะพลาสติกมารีไซเคิล

ผู้บริโภคในยุโรปและสหรัฐจำนวนมากต่างให้ความสำคัญกับสินค้าที่ผลิตจากกระบวนการที่สะท้อนแนวคิดนี้

โดยหลักการแล้ว หลักเศรษฐกิจหมุนเวียนคือการหมุนเวียนใช้ทรัพยากรธรรมชาติในห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) และเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการของเสีย วัตถุดิบ สินค้าที่หมดอายุ และพลังงาน ให้กลับไปเป็นทรัพยากรที่หมุนเวียนอยู่ในระบบด้วยกระบวนการที่เหมาะสม และทุก ๆ คนทำได้ ไม่ใช่แค่ภาคธุรกิจ

และนั่นเป็นแรงบันดาลใจให้เดนิซ ซากดิก ศิลปินประเทศตุรกี สร้างผลงานขึ้นมาในสตูดิโอของเธอ เดนิซมีเศษขยะมากมายให้เลือกใช้ รวมทั้งเศษสายไฟจากอุปกรณ์อิเล็กโทรนิกส์ที่เธอต้องเอามาแยกเป็นชิ้นเล็ก ๆ ก่อนนำมาตัดแปะทับไปบนภาพกระดาษ (ที่ขยายจากภาพบุคคลดังที่นำมาจากอินเทอร์เน็ต) เหมือนทำภาพโมเสค ความต้องการของเธอ คือ อยากกระตุ้นให้ทุกคนเห็นถึงคุณค่าของสิ่งแวดล้อมและทรัพยากร

ในการให้สัมภาษณ์ต่อนักข่าวของ DW เธอบอกว่านักเดินทางบางคนมองไกล ๆ คิดว่ามันคือภาพสีน้ำมัน พอมาใกล้ก็ตื่นเต้น บางคนดึงวัสดุของเธอกลับไปเป็นที่ระลึก จนเธอต้องมาแปะกาวบนงานที่ต้องใช้เวลา 3-6 อาทิตย์กว่าจะเสร็จ 1 ชิ้น

“ฉันอยากให้ทุกคนเห็นว่าศิลปะไม่ใช่ว่าจะต้องใช้แต่วิธีเดิม ๆ ฉันอยากพัฒนาศิลปะรูปแบบใหม่ ที่ทำให้ทุกคนเห็นว่าการทำอาหารก็เป็นศิลปะได้ การจับกล้องหรือแม้แต่วิธีที่เราปฏิบัติต่อสิ่งต่าง ๆ ก็เป็นศิลปะได้”

พบกับบทสัมภาษณ์และบางส่วนของภาพเธอได้ในลิงก์นี้ https://www.dw.com/en/expressive-upcycling-portraits-in-trash/video-63966487

Photo Credit: https://www.dw.com/en/expressive-upcycling-portraits-in-trash/video-63966487

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ