TH | EN
TH | EN
หน้าแรกSustainability8 องค์กรไทย 8 รางวัล ASOCIO Award 2022 กับโซลูชันเพื่อการก้าวสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัลด้วยความยั่งยืน

8 องค์กรไทย 8 รางวัล ASOCIO Award 2022 กับโซลูชันเพื่อการก้าวสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัลด้วยความยั่งยืน

ในยุคที่โลกทุกภาคส่วนต้องปรับตัวเพื่อการเปลี่ยนแปลงสู่โลกดิจิทัล สิ่งสำคัญคือความตระหนักในพันธกิจด้านความยั่งยืนของสังคมและสิ่งแวดล้อม ที่มีผลต่อความยั่งยืนขององค์กรเช่นเดียวกัน สมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย ATCI (The Association of Thai ICT Industry) คือองค์กรแรกของประเทศไทย ที่เป็นจุดเชื่อมโยงผู้ประกอบการทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และมีวิสัยทัศน์ในการสนับสนุนอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศของไทยให้เติบโต และแข็งแรง ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล 

ATCI เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสมาพันธ์ ASOCIO (The Asian-Oceanian Computing Industry Organization) องค์กรภูมิภาค ซึ่งมีสมาชิกเป็นผู้ประกอบการอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและบริการจาก 24 ประเทศในภาคพื้นเอเซีย-โอเชียเนีย ครอบคลุมภาคธุรกิจด้านไอทีกว่า 10,000 บริษัท และในทุก ๆ ปี จะมีการมอบรางวัล ASOCIO Awards ให้กับองค์กรของประเทศสมาชิกที่มีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและดิจิทัลเทคโนโลยี เช่น Blockchain, IoT, AI, Robotics, Big Data, Cyber Security & Cloud based solutions มาใช้ในการพัฒนาการให้บริการด้านต่าง ๆ และการบริหารขององค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพจนประสบผลสำเร็จ  

สุภัค ลายเลิศ นายกสมาคม ATCI กล่าวถึงความสำเร็จในปี 2022 ที่ผ่านมา ซึ่ง 8 องค์กรของไทยทั้งภาคเอกชนและภาครัฐได้ประสบความสำเร็จในการใช้ IT อย่างโดดเด่น โดยได้รับ ASOCIO Award 2022 ถึง 8 รางวัล ว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดี และภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง จากความสำเร็จขององค์กรไทยทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในเวที ASOCIO ที่สามารถนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาประยุกต์ใช้ให้เกิดประสิทธิภาพกับการบริหารองค์กรและการให้บริการลูกค้าจนเป็นที่ยอมรับ และได้รับรางวัลจากองค์กรระดับนานาชาติซึ่งรางวัลในครั้งนี้ถือเป็นแรงผลักดันให้องค์กรทั้งภาครัฐฯ และภาคเอกชนในประเทศไทย ได้มีการเติบโตในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ และนำมาปรับใช้เพื่อพร้อมก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างแท้จริง

ASOCIO มีเกณฑ์การคัดเลือกโดยเน้นในเรื่องผลกระทบที่มีต่อคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ของคน เรื่องของสังคม ดังนั้นโซลูชันต่าง ๆ ที่ได้รับรางวัลล้วนมีความสำคัญและมีผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนค่อนข้างมาก จะสังเกตเห็นได้ว่าทาง ASOCIO ไม่ได้ให้รางวัลเฉพาะตัวผลิตภัณฑ์อย่างเดียว แต่ให้รางวัลในการนำไปประยุกต์ใช้ด้วย ซึ่งเป็นตัวที่บ่งบอกถึงความยั่งยืนของธุรกิจนั้น หรือศักยภาพในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเปลี่ยนแปลงในหน่วยงานในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประยุกต์ใช้ในระดับภูมิภาค หรือระดับโลกได้ด้วย ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในอุตสาหกรรมนั้น ๆ

ที-เน็ตกับนวัตกรรมด้าน Cybersecurity 

ดร.โกเมน พิบูลย์โรจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ที เน็ต จำกัดกล่าวถึงการที่ ทีเน็ต ได้รับรางวัลประเภท Cybersecurity Award ว่าที เน็ตเป็นบริษัทสัญชาติไทย พนักงานเป็นคนไทยทั้งหมด ให้บริการเป็นที่ปรึกษา IT Security ทำงานตามมาตรฐาน ISO 27001 โดยอยู่ในวงการนี้มาเป็นเวลา 12 ปี นอกจากงานให้คำปรึกษา ยังมีงานวิจัยและงานแปลมาตรฐาน ได้แก่ มาตรฐานการรักษาความมั่นคงปลอดภัย ISO/IEC 27001:2022 ฉบับภาษาไทย ซึ่งแปลและเรียบเรียงโดยผู้เชี่ยวชาญของบริษัท มียอดดาวน์โหลดกว่า 4,000 ครั้ง 

นอกจากนี้ในอดีต ทีเน็ต ได้ทำเรื่องเครื่องจับสัญญาณโทรศัพท์ เพื่อใช้ในการแก้ปัญหาการจุดระเบิดด้วยสัญญาณโทรศัพท์ในภาคใต้ ในตอนนั้นได้รับรางวัลสิ่งประดิษฐ์แห่งชาติดีเยี่ยม จากนั้นทำในเรื่องการป้องกันการโกงและการป้องกันการทุจริตในการสอบ ป้องกันแก้ไขปัญหา โดยส่งสัญญาณรบกวนการส่งสัญญาณจากเครื่องมือโกงสอบในสนามสอบของตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่ราชการต่าง ๆ

ปัจจุบัน ทีเน็ต มีนวัตกรรมสำคัญคือ โดรน แจมเมอร์ เครื่องป้องกันอากาศยานไร้คนขับ เป็นเครื่องป้องกันไม่ให้โดรนบินเข้ามาในพื้นที่ควบคุมเฝ้าระวัง โดยใช้สัญญาณรบกวนการบังคับโดรนครอบคลุมทุกย่านความถี่ที่มีใช้ในประเทศไทย ระยะทำการไกลที่สุด หนึ่งเดียวในประเทศไทยตอนนี้ และล่าสุด ทีเน็ต ได้พัฒนา โดรน ดีเทคเตอร์ เพื่อใช้ในการตรวจจับว่ามีโดรนบินเข้ามาในพื้นที่เฝ้าระวังในรัศมี 1 กม. และสามารถใช้ โดรน แจมเมอร์ ยิงสัญญาณป้องกันได้ 

นวัตกรรม โดรน ดีเทคเตอร์ นี้ ทำให้ทีเน็ตได้รางวัล ASEAN ICT Awards 2021 ได้รับรางวัล Gold หมวด Research and Development และมีการนำไปใช้ในการทำงานร่วมกับหลายภาคส่วน เช่น การนำไปใช้ทำงานร่วมกับกองทัพเรือ เป็นโครงการนำร่องในการ เฝ้าระวังพื้นที่ตามแนวชายแดน แม่น้ำโขง ตรวจจับ รวบรวมเบาะแสโดรนของพวกขบวนการขนส่งของผิดกฎหมาย 

และแน่นอนว่า ทีเน็ตไม่หยุดนิ่งในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด ปัจจุบันพัฒนานวัตกรรมโดรนขนส่งอัตโนมัติ ซึ่งในปัจจุบัน โดรนมักจะใช้บินในพื้นที่เฉพาะ เช่น โดรนที่ใช้ในการพ่นยา หรือถ่ายภาพ แต่ในอนาคตหากมีใบอนุญาตด้านการขนส่ง อาจจะสามารถจะใช้โดรนในการส่งยาส่งเลือด ส่งเวชภัณฑ์ แต่ปัจจุบัน ยังมีข้อจำกัดด้านความเสี่ยงบางประการอยู่ 

EGAT กับภารกิจสู่ความยั่งยืนด้วย Energy & Digital Transformation

นพพล การเงิน ผู้อำนวยการ โรงไฟฟ้าพระนครใต้การไฟฟ้าฝ่ายผลิต ซึ่งได้รับ ASOCIO Award 2022 ประเภท Environmental, Social & Governance Award หรือ ESG ได้อธิบายว่า ภารกิจหลักของกฟผ. คือ การสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานควบคู่ไปกับพันธกิจในการมุ่งสู่ Carbon Neutrality กฟผ. ซึ่งเป็นภาคพลังงานได้มีการเปลี่ยนแปลงทิศทางการใช้พลังงานค่อนข้างมาก คือ การเพิ่มสัดส่วนของการผลิตพลังงานหมุนเวียน ให้มากขึ้น และ ยังมีการการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต 

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้นำโซลูชันการจัดการสินทรัพย์ระดับองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วย AI มาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของโรงไฟฟ้ากฟผ. ตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมา ซึ่งปัจจุบันได้ขยายการใช้โซลูชันการจัดการสินทรัพย์ที่ขับเคลื่อนด้วย AI ไปยังโรงไฟฟ้าและเขื่อนทุกแห่งแล้ว โดยเทคโนโลยี AI ที่พัฒนาร่วมกับ IBM นี้ จะช่วยในเชิงคาดการณ์ พยากรณ์ ความเสียหายของอุปกรณ์และการบริหารสินทรัพย์ในทุกโรงไฟฟ้า 

“กฟผ. ใช้เวลาในการปรับใช้เทคโนโลยีเพียงปีกว่า ๆ ถือว่าเร็วกว่าในหลาย ๆ ประเทศ ซึ่งถ้าเราประเมินความเสียหายของอุปกรณ์ได้แม่นยำ ถูกต้อง รวดเร็ว การที่โรงไฟฟ้าเขื่อนจะหยุดจ่ายกระแสไฟฟ้า ก็มีโอกาสที่จะเกิดน้อย ทำให้กระบวนการผลิตประสิทธิภาพทั้งหมดโดยรวมดีขึ้น การจะปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่บรรยากาศลดน้อยลง ลดการส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม” นพพล กล่าว 

ในด้านการปรับเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียน นอกจากตัวเขื่อนเองที่เป็นแหล่งพลังงานหมุนเวียนประเภทหนึ่งอยู่แล้ว ทาง กฟผ. ยังได้เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียน เพื่อตอบโจทย์การเปลี่ยนผ่านสู่การผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานสะอาด โดยการพัฒนาการใช้พลังงานไฮโดรเจน หรือพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งมีส่วนหนึ่งที่ได้เริ่มดำเนินการไปแล้ว คือ Solar Floating เพื่อผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ โดยเริ่มติดตั้งไปแล้วที่เขื่อนสิรินธร และกำลังจะขยายไปยังเขื่อนอุบลรัตน์ 

ในอนาคตอันใกล้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตมีแผนนำเทคโนโลยีเข้าไปปรับใช้ในกระบวนการผลิตในอีกหลายด้าน

“โดรนเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ กฟผ. สนใจ จะนำไปใช้ในการบินเพื่อตรวจสอบความเสียหายของสายส่ง และในส่วนของเทคโนโลยี AI ที่นำมาใช้ในการทำนายความเสียหายของอุปกรณ์ จะมีการต่อยอดให้ลึกขึ้น ทำนายได้แม่นยำขึ้น ได้ระยะยาวมากขึ้น เพื่อให้สามารถควบคุมการวางแผนการผลิต การจัดซื้อของ การจัดการต่าง ๆ ช่วยให้ลดต้นทุนไปด้วย ส่งผลดีต่อประชาชนทั้งทางตรงและทางอ้อม ทำให้ค่าใช้จ่ายโดยรวมของประเทศลดลง”

นอกจากนี้ ในด้านการพัฒนาบุคลากร ปัจจุบัน กฟผ. ได้มีการใช้แอปพลิเคชันต่าง ๆ มากขึ้น เพื่อให้พนักงานสามารถเข้าถึงได้แบบเรียลไทม์ ศึกษาด้วยตัวเอง นั่นคือ มีทั้ง energy transformation และ digital transformation ทำให้ภารกิจด้านการรักษาความมั่นคงด้านพลังงาน และพันธกิจการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ไปสู่เป้าหมายร่วมกันทั้งโลกได้ในที่สุด

โคนิเคิล EdTech Startup กับภารกิจเสริมสร้างองค์กรแห่งการเรียนรู้

บริษัท โคนิเคิล จำกัด เทคสตาร์ตอัพอายุ 8 ปี ผู้ให้บริการโซลูชัน ด้านการพัฒนาบุคลากรและองค์กรด้วยแนวคิด Everyday Learning Experience ปัจจุบันโคนิเคิลได้รับความไว้วางใจจากองค์กรทั่วประเทศกว่า 150 องค์กร รวมทั้งการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ปัจจุบันมียอดผู้ใช้งานกว่า 1 ล้านคน และเป็นเจ้าของรางวัล ASOCIO Award 2022 ประเภทEdTech Award 

นภสินธุ์ เสือดี Product  Excellence Lead กล่าวว่า พันธกิจของโคนิเคิลคือมุ่งมั่นพัฒนาโซลูชันที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาคน เพราะเชื่อว่าการพัฒนาคนที่ดีจะส่งผลกระทบที่ดีต่อสังคมต่อไป บริษัทต้องการสร้างผลกระทบให้กับคนทำงานในเมืองไทย สร้างคนที่มีศักยภาพ ช่วยเหลืองานบริหารบุคคลและองค์กร ให้ไปสู่เป้าหมายในการพัฒนาคนโดยใช้แอปพลิเคชันในการเรียนรู้ในองค์กร ไม่ว่าจะเป็นการเรียนในห้องเรียน การเรียนออนไลน์ โดยเป็นการเรียนแบบสนุกมากขึ้นมีเกม และยังมีการเชื่อมต่อกับระบบการบริหารทรัพยากรบุคคลในองค์กร และมีเครื่องมือที่ทำให้ทำงานได้ง่ายขึ้น 

ปี 2565 โคนิเคิลขยายสโคปงานเป็นการพัฒนาบุคคลที่ลุ่มลึกขึ้น มีระบบการบริหารสมรรถนะ และการประเมินบุคลากร มีระบบการสื่อสารในองค์กร ในแบบที่สนุก ง่าย และปลอดภัย และเรากำลังทำตัว Knowledge Management Platform รวมถึง Social Learning ต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังมุ่งเน้นให้บริการองค์กรทุกขนาด ไม่ใช่เฉพาะขนาดใหญ่ ตอนนี้โคนิเคิลมีลูกค้าเป็นองค์กรขนาดใหญ่ค่อนข้างมาก และบริษัทกำลังมุ่งเน้นการพัฒนากลุ่มลูกค้าระดับ SME หรือองค์กรขนาดเล็กด้วยเช่นกัน

NDID ระบบการพิสูจน์ตัวตนและยืนยันตัวตนปลดล็อกสู่โลกธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์

บริษัท เนชั่นแนล ดิจิทัล ไอดี จำกัด (NDID) ได้รับรางวัลประเภท Outstanding User Organization Award NDID เป็นบริษัทน้องใหม่ที่ก่อตั้งมาได้เพียง 4 ปี  จากความร่วมมือของกระทรวงการคลังและกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อรับผิดชอบภารกิจการทดสอบระบบการพิสูจน์และการยืนยันตัวตน มีการจัดตั้งโดยการร่วมทุนกับสมาคมพลังงานไทย สมาคมธนาคารภาครัฐ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม ตลาดหลักทรัพย์รวมแล้วประมาณอีก 60 บริษัท  

บุญสันต์ ประสิทธิ์สัมฤทธิ์ ผู้จัดการใหญ่ กล่าวว่า NDID จดทะเบียนบริษัทเมื่อ 4 ปีที่แล้ว สิ่งที่ทำไปแล้ว คือการพิสูจน์ตัวตน เช่น เปิดบัญชีโดยไม่ต้องไปที่สาขาของธนาคาร สามารถใช้ระบบนี้ยืนยันและเปิดบัญชีได้เลย จากเดิมการเปิดบัญชีแรกต้องไปที่ธนาคาร บัญชีที่ 2 ถึงจะเปิดออนไลน์ได้ แต่ต้องเป็นธนาคารนั้น ๆ ที่เคยไปแล้ว แต่ด้วยระบบ NDID ทำให้สามารถเปิดบัญชีได้โดยไม่ต้องไปที่ธนาคาร

“ในวันนี้ Transaction ที่เราเปิดบัญชีไปแล้ว น่าจะเกือบล้านบัญชีได้แล้ว ภารกิจของเราในวันนี้ขยายเพิ่มขึ้นนอกจากการเปิดบัญชีเปิดบัญชีหลักทรัพย์ จัดการกองทุนรวม ประกันชีวิต การให้สินเชื่อ ยังมีการลงทะเบียนนักศึกษาอย่างเช่นมหาวิทยาลัย เชียงใหม่ เป็นต้น”

ทั้งนี้ การดำเนินการพิสูจน์ตัวตน เป็นการเชื่อมต่อระหว่างสมาชิกด้วยกัน ระบบไม่ได้เกี่ยวข้องกับข้อมูลส่วนบุคคลใด ๆ ทั้งสิ้น ระบบ NDID เป็นเพียงการเชื่อมโยงระหว่าง ผู้ที่ต้องพิสูจน์ยืนยันตัวตน หรือ RP – Relining Party กับ ผู้ที่ให้บริการพิสูจน์ยืนยันตัวตน คือ IDP – Identity Provider ซึ่งบริษัทที่จะให้บริการนี้ได้ ต้องผ่านการตรวจสอบอย่างค่อนข้างเข้มข้น เช่น ธนาคาร เป็นต้น

“ล่าสุด มีบริษัทโทรคมนาคมเข้ามาร่วมด้วย คือ AIS ในวันนี้เรามีพันธมิตรเป็นสมาชิกทั้งหมดกว่า 100 บริษัท” 

Easy Rice พลิกวงการอุตสาหกรรมข้าวด้วยนวัตกรรม AI

บริษัท อีซี ไรช์ ดิจิทัล เทคโนโลยี จำกัด ได้รับ ASOCIO Award 2022 ประเภท Start-Up Award ภูวินทร์ คงสวัสดิ์ CEO and Co-founder ได้อธิบายถึงการนำเทคโนโลยี AI ในการตรวจสอบอาหารหลัก เป็นโซลูชันในการแก้ปัญหาคอขวดของอุตสาหกรรมอาหารหลักในประเทศไทย ที่ยังคงใช้ “คน” ที่มีความเชี่ยวชาญในการคัดเลือก

“ในการตรวจสอบคุณภาพหรือตีราคาเพื่อรับซื้อโดยการใช้คนดูข้าวทีละเมล็ด ๆ ข้อเสียอันดับแรก คือ human error เกิดขึ้นได้  อันดับสอง คือ เราไม่สามารถดูข้าวที่รับซื้อเป็นตันได้ ต้องทำการ sampling แต่จำนวนตัวอย่างที่สุ่มมาไม่เป็นไปตามหลักสถิติ ตัวอย่างข้าวปริมาณน้อยนิด ไม่สามารถเป็นตัวแทนของคุณภาพของข้าวทั้งหมดได้ และข้อที่สาม อุตสาหกรรมข้าวมีพันธกิจในการทำให้อาหารเพียงพอต่อประชากรโลก ประเทศไทย เวียดนาม หรืออินเดีย ต่างแข่งขันกันในเรื่องการพัฒนาสายพันธุ์ข้าว แต่การจะนำพันธุ์ข้าวเข้าสู่อุตสาหกรรม ยังมีข้อจำกัด คือ การใช้คน ไม่สามารถแยกระหว่างพันธุ์เก่าและพันธุ์ใหม่ได้  เกิดปัญหาการปลอมปน ทำให้คุณภาพและรสชาติไม่เป็นไปตามความต้องการของตลาด”

อีซีไรซ์ ทำการฝึก AI เพื่อทำการคัดเลือกทั้งในด้านคุณภาพและสายพันธุ์ข้าว โดยได้รับความร่วมมือจากกรมการข้าว ในการนำ “สายพันธุ์หลัก” ที่ปรับปรุงสายพันธุ์เพื่อเป็นแม่พันธุ์โดยเฉพาะ และมีความบริสุทธิ์สูง มาใช้สอน AI จนกระทั่งได้ความแม่นยำถึง 95% และมีการพิสูจน์ว่าแม่นยำจริง ซึ่งวิธีการตรวจสอบจะประกอบด้วย การตรวจสอบกับพันธุ์หลัก และการตรวจสอบดีเอ็นเอข้าว ซึ่งเครื่องมือของอีซี่ไรซ์ ช่วยลดระยะเวลาการตรวจสอบดีเอ็นเอข้าว จากเดิมใช้เวลา ประมาณ 14 วัน สามารถตรวจสอบแล้วรู้ผลเลย เปรียบเสมือน ATK Test สำหรับอุตสาหกรรมข้าว 

เทคโนโลยี AI ของอีซีไรช์ จึงเป็นโซลูชันที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานใหม่ของอุตสาหกรรมข้าวไทย ทำให้ Sample Size ในการตรวจสอบมีตัวอย่างที่มากขึ้น และทำให้กระบวนการตรวจสอบมีคุณภาพและประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ลดค่าใช้จ่าย ทำให้ต้นทุนต่ำลง ทำให้การตรวจสอบคุณภาพสามารถเข้าถึงแม้กระทั่งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนขนาดเล็ก หรือกลุ่มเกษตรกร 

“บริษัทเราเชื่อว่า การทำให้เทคโนโลยีเข้าถึงผู้ปลูกหรือผู้ผลิตมากขึ้น ทำให้เกิดปรับปรุงคุณภาพของอาหาร ส่งผลดีต่อประชากรโลก สิ่งที่เทคโนโลยีของเราทำ คือดูเรื่องของกายภาพ และดูเรื่องของสารอาหารด้วย ปัจจุบันนี้เรามีการ feedback ไปยังชาวนาว่าควรจะปลูกข้าวยังไง เพื่อให้มีสารอาหารที่ดีขึ้น นี่คือสิ่งที่เราทำอยู่ เราเริ่มจากอาหารหลักคือข้าว แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเกษตรกรไม่มีกำลังซื้อเทคโนโลยีนี้ได้ตั้งแต่แรก  

สิ่งที่เราทำคือ เราพยายามวิจัยและพัฒนา โดยเริ่มต้นกับอุปกรณ์ที่ราคาถูก แต่ทำให้มีมาตรฐานมากพอ โดยมีความแม่นยำถึง 95% และเราควักเนื้อก่อน โดยอุดหนุน 30 เครื่อง ให้กับ 30 วิสาหกิจชุมชน เราเชื่อว่าเมื่อเราทำให้วิสาหกิจชุมชนมีผลิตภาพที่มากขึ้น มีรายได้ที่มากขึ้น เขาจะมีเงินมาจ่าย service ของเราเอง อันนี้คือเรื่องที่เราลงทุน ยังตอบไม่ได้ว่าราคาที่ขายจะอยู่ที่เท่าไหร่ เราต้องพิสูจน์เรื่องมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เราทำให้เกษตรกรได้เสียก่อน จากพืชผลราคาเท่าเดิมมันเพิ่มขึ้นไปอีกเท่าไหร่ นั่นคือ Value ที่เราเพิ่มให้กับเขา” 

“หมอพร้อม” ​กับรางวัล HealthTech Award ความภาคภูมิใจของภาครัฐ

นอกเหนือจากภาคเอกชนแล้ว ASOCIO ยังมอบรางวัลให้หน่วยงานภาครัฐ โดยกระทรวงสาธารณสุขได้รับ ASOCIO Award 2022 ประเภท HealthTech Award นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้ภาพรวมการนำเอาเทคโนโลยี มาเป็นโซลูชันที่ใช้ในการส่งเสริม-แก้ไขปัญหาระบบสุขภาพ อย่าง “Mor Prom” Digital Health Platform หรือ หมอพร้อม และแนวทางในการพัฒนาต่อยอดในอนาคต 

“ในช่วงแรกอาจจะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า หมอพร้อม พร้อมจริงหรือไม่ แต่แอปพลิเคชันได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความสะดวกในการเข้าสู่ระบบ และการเข้าถึงข้อมูลการรับรองการฉีดวัคซีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งระยะหลัง ที่เราต้องการเดินทางไปต่างประเทศ แล้วเกิดปัญหา อย่างเช่น สายการบินต้องการดูข้อมูลว่าฉีดวัคซีนครบหรือเปล่า เราสามารถคลิกเข้าไปใน หมอพร้อม เพื่อแสดงประวัติวัคซีน มี certificate ในการฉีดวัคซีน เป็นประโยชน์ที่ชัดเจน 

ในด้านสุขภาพทั่วไป การติดต่อด้านสุขภาพ โดยมีการเชื่อมโยงกับโรงพยาบาล ประวัติต่าง ๆ ที่จำเป็น จะปรากฏอยู่ในหมอพร้อม อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นเรื่องของความลับ กฎหมายที่เกี่ยวข้องทางหมอพร้อมก็มีระบบที่ดำเนินการเรื่องนี้ได้อย่างดี  และการที่คนไทยเข้าถึงหมอพร้อมได้ 20-30 ล้านคน ก็น่าจะเป็นประโยชน์ในต่อยอดต่อไป ทำให้ประชาชนได้เข้าถึงระบบสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นระบบส่งเสริม ป้องกัน การดูแลตัวเอง และจะต้องเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลของกระทรวงต่อไป”

กระทรวงสาธารณสุขได้มีแผนการดำเนินงานด้านการจัดการข้อมูลที่มีปริมาณมาก (Big Data) ในระบบฐานข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข โดยจัดการใน 3 ส่วนด้วยกัน คือ ข้อมูลสาธารณสุขส่วนบุคคลของประชาชนทั่วไป สอง คือ ข้อมูลสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ และสามเป็นเรื่องข้อมูลสำหรับผู้บริหาร ที่จะใช้ในการตัดสินใจและบริหารจัดการ จึงจำเป็นต้องมีแพลตฟอร์มที่จะดูแลจัดการข้อมูลเหล่านี้ โดยมีแผนในการพัฒนาร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในปี 2567

“สิ่งที่สำคัญในเรื่องของ Data ซึ่งเก็บไว้เยอะ นอกจากการจัดการใน 3 ส่วนที่บอกไว้แล้ว จุดหมายปลายทาง คือ สิทธิของประชาชในการได้รับข้อมูลของเขากลับไปเพื่อใช้ในการดูแลตนเอง เช่น ตัวเขาเองมีโรคประจำตัวต้องดูแลตัวเองอย่างไร รักษาโดยใช้ยาอะไร คนหน้างานก็ทำงานง่าย คนที่บริหารจัดการเชิงนโยบาย ก็เห็นภาพว่าปัญหา หรือสถานการณ์ด้านสาธารณสุขของคนไทยเป็นอย่างไรบ้าง นำมาใช้ในการตัดสินใจได้” 

กรมสรรพสามิตกับระบบ e-Excise บริการอิเล็กทรอนิกส์จุดเดียว

ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวถึงการที่กรมสรรพสามิตอีกหนึ่งหน่วยงานภาครัฐที่ได้รับรางวัล ASOCIO Award 2022 ประเภท Digital Government  ว่ามาจากปัจจัยสำคัญคือ การสร้างโซลูชั่นเพื่อปรับปรุงกระบวนการทำงานให้ตอบโจทย์ pain point ของประชาชน

“งานของเราเป็น ปรับกระบวนการทำงานภายใน เราไม่ได้แค่เปลี่ยนจากกระดาษเป็นดิจิทัลหรือ Digitize แต่เราทำ Digitalize เปลี่ยนกระบวนการทำงานด้วย ทุกวันนี้ ระบบ e-Excise บริการอิเล็กทรอนิกส์จุดเดียว ที่กรมสรรพสามิตพัฒนาขึ้นมาสามารถรวบรวมกระบวนการทั้งหมดนี้ ไม่อยู่ที่จุดเดียวผู้เสียภาษีสามารถใช้ Single sign on จุดเดียว ลดกระบวนการอนุญาตทั้งหลาย ที่เคยใช้เวลานาน 30 วัน เหลือแค่ไม่เกิน 3 วัน  

ระบบ e-Excise  พัฒนามาจาก Pain Point ที่ผู้เสียภาษี หรือหน่วยงานต่าง ๆ ที่มาติดต่อกับกรมสรรพสามิต ต้องใช้เวลานานในการรอการอนุมัติ ตั้งแต่มาส่งเอกสาร ยื่นแบบ มาชำระภาษี มาคืนภาษี กระบวนการยาวเหยียด และสมัยก่อนต้องมาเป็นกระดาษ ส่งจากสรรพสามิตพื้นที่ในต่างจังหวัด มาที่กรมสรรพสามิต เพื่อให้กรมอนุมัติแล้วแจ้งกลับไป กระบวนการตรงนี้หายไปหมด ทำให้เราสามารถช่วยเหลือประชาชนได้” 

กรมสรรพสามิต มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ในอีกหลายส่วนงาน ยกตัวอย่าง เช่น การแก้ปัญหาการตรวจสอบสุราหรือบุหรี่ปลอม ปัจจุบัน ประชาชนสามารถตรวจสอบได้จากแสตมป์สรรพสามิต ซึ่งสามารถแสกนคิวอาร์โค้ด เพื่อตรวจสอบได้ว่า ว่าบุหรี่ซองนี้นำเข้ามาเมื่อไหร่ เสียภาษีเมื่อไหร่ 

ล่าสุด กรมสรรพสามิตมีมาตรการส่งเสริมแรงจูงใจให้ประชาชน เปลี่ยนมาใช้รถยนต์อีวี โดยให้เงินชดเชย 150,000 บาทต่อคัน  โดยใช้ผ่านผู้ประกอบการ ซึ่งการชดเชยในจุดนี้ กรมสรรพสามิตได้ใช้กระบวนการทางดิจิทัล มาใช้ในการตรวจสอบและเชื่อมโยงกับกรมการขนส่งทางบก และเชื่อมโยงกับบริษัทนำเข้ารถยนต์อีวี ทำให้กระบวนการอนุมัติง่ายขึ้น 

“เน็ตเบย์” กับนวัตกรรมเพื่อการก้าวทันการเปลี่ยนแปลงในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล

บริษัท เน็ตเบย์ จำกัด (มหาชน) ได้รับรางวัล ASOCIO ICT Awards 2022 ประเภท Outstanding Tech Company Award ในฐานะที่เป็นผู้นำในการให้บริการแพลตฟอร์มเทคโนโลยีธุรกิจดิจิทัลเพื่อองค์กร ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยระบบธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ที่บริษัทนำเสนอในรูปแบบการให้บริการแก่หน่วยงานต่าง ๆ ระหว่างธุรกิจและรัฐบาล (B2G) ระหว่างธุรกิจและธุรกิจ (B2B) และระหว่างเอกชนและสาธารณะ หรือผู้บริโภค (B2C) โดยเป็นไปในรูปแบบ SaaS (Software as a Service) อย่างเต็มรูปแบบ คือการให้บริการที่ครอบคลุมตั้งแต่ระบบศูนย์ประมวลผล (Data Center) ระบบประมวลผลสำรอง (Disaster Recovery Center) 

ด้วยระบบซอฟต์แวร์ปฏิบัติการที่ใช้รองรับระบบธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (Platform as a Service) ระบบเครือข่ายและการป้องกันความปลอดภัยของข้อมูล ทำให้ลูกค้าผู้ใช้บริการ สามารถเข้าถึงการบริการระบบสารสนเทศโดยไม่จำเป็นต้องมีงบลงทุนที่สูง (Cheaper) มีความรวดเร็วในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์จากจุดเดียว มีระบบงานที่สามารถใช้งานได้ในเวลาอันรวดเร็ว (Faster) เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและลดความยุ่งยาก (Better) ของหน่วยงานในการจัดหาระบบงาน ออกแบบระบบงาน พัฒนา ติดตั้ง และบำรุงรักษา​ สามารถช่วย ให้ธุรกิจของลูกค้าก้าวทันความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และความซับซ้อนของโลกธุรกิจยุคเศรษฐกิจดิจิทัลได้ทันท่วงที

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

กระทรวงดิจิทัลฯ ชูเป้าปี 66 เดินหน้าทรานฟอร์มทุกหน่วยงานสู่รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์

กรมอนามัย จับมือ Robinhood รณรงค์ให้คนไทย สั่งหวานน้อย

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ