TH | EN
TH | EN
หน้าแรกSustainabilityกสิกรไทยร่วมสนับสนุนกระทรวงมหาดไทย ซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

กสิกรไทยร่วมสนับสนุนกระทรวงมหาดไทย ซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ประเดิมรับซื้อ 3,140 ตันแรก จาก 4 จังหวัดนำร่อง

ธนาคารกสิกรไทย ร่วมผนึกกำลัง กระทรวงมหาดไทย สมาคมแม่บ้านมหาดไทย และ UN Thailand ประกาศความสำเร็จการซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตของ 4 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จาก 4 จังหวัด รับการส่งมอบคาร์บอนเครดิต 3,140 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า จากโครงการจัดการขยะอาหารจากครัวเรือนเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ บรรลุเป้าหมายประเทศไทยที่ยั่งยืน อันมีที่มาจากการลงนามร่วมกับ UN Thailand ประกาศเจตนารมณ์ “76 จังหวัด 76 คำมั่นสัญญา เพื่อการพัฒนา เพื่อความ เท่าเทียม เพื่อความยั่งยืน โลกนี้เพื่อเรา”   

เส้นทางกว่า 10 ปี ส่งต่อนโยบายผ่านมหาดไทย สู่ 7,849 อปท. 76 จังหวัดทั่วไทย

สุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เผยถึงเส้นทางกว่า 10 ปีของความพยายามในการพัฒนาโครงการถังขยะเปียกลดโลกร้อน ที่เกิดจากแรงบันดาลใจจากแนวคิด Change for Good ขององค์การสหประชาชาติ กอปรกับประสบการณ์การลงพื้นที่ชุมชน จังหวัดลำพูน ซึ่งพบว่ามีการแยกขยะในทุกกิจกรรมของชีวิต และมีการจัดการขยะเปียกโดยใช้ “เสวียน” คือการสานไม้ไผ่เป็นคอกบริเวณใต้ต้นไม้ เพื่อใส่เศษใบไม้ใบหญ้ารวมไปกับเศษอาหาร 

การจัดการขยะเปียกระบบเปิดแบบเสวียน ซึ่งมีข้อดีคือขยะเปียกกลายเป็นปุ๋ยโดยตรง แต่อาจเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของแมลงและยุงได้ จึงเกิดการคิดค้นออกแบบจนกลายเป็น “ถังขยะเปียกลดโลกร้อน” จากแนวคิดของ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่ง นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย จากนั้นจึงเกิดการขับเคลื่อนต่อร่วมกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ดร.ชนาธิป ผาริโน คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เข้ามาช่วยในเรื่องการพัฒนาระเบียบวิธีวิจัย (Methodology) ในการประเมินและรับรองผลการบริหารจัดการขยะเศษอาหารตามแนวทางการทำถังขยะเปียกในการช่วยลดสภาวะโลกร้อนโดยเทียบเท่าการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ให้ถูกต้องตามหลักวิชาการที่ยอมรับทั้งในระดับประเทศและระดับสากล ทำให้ อบก.สามารถรับรองคิดเป็นค่าคาร์บอนเครดิตได้  

โดยเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา UN Thailand ได้ร่วมได้ลงนามประกาศเจตนารมณ์ กับท่านผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด เพื่อเป็นแนวทางขับเคลื่อนให้นายอำเภอทั้ง 878 อำเภอ กำนันทั้ง 7,255 ตำบล และผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 7,849 แห่ง ร่วมกับทุกภาคีเครือข่าย และในวันนี้จังหวัดนำร่องทั้ง 4 จังหวัด คือ ลำพูน สมุทรสงคราม เลย และอำนาจเจริญ ได้ประกาศความสำเร็จได้รับการตรวจรับรองคาร์บอนเครดิตแล้วรวมเป็น 3,140 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า 

ดร.ชนาธิป ผาริโน คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“จาก 4 จังหวัดนำร่อง ในอนาคตอันใกล้จะมีอีก 22 จังหวัด รวมเป็น 26 จังหวัด รวมปริมาณคาร์บอนเครดิตที่จะจัดเก็บได้มากกว่า 2 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า เป็นการทำสิ่งที่ดีให้กับโลกของเรา และเมื่อทุกเส้นทางมารวมกันมันก็จะทำให้สิ่งที่ดีขยายวงกว้างทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพมากยิ่งขึ้น

กสิกรไทย ลุยเปลี่ยนอาคารหลัก เป็น Zero Waste to Landfill ส่งของเสียสู่หลุมฝังกลบเป็นศูนย์

ต้องขอขอบคุณธนาคารกสิกรไทยที่ประกาศจุดยืนเป็นสถาบันการเงินและผู้ให้บริการทางการเงินรายแรกของประเทศไทย ที่หยิบยื่นความสำเร็จของการที่จะจูงใจให้พี่น้องประชาชน ได้ภาคภูมิใจว่าการเป็นคนดีของโลกด้วยการคัดแยกขยะและจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน สามารถแปลงให้กลายเป็นทุน ในราคา 260 บาท/ตัน รวมมูลค่า 816,400 บาท กลับคืนสู่หมู่บ้าน เป็นกองทุนสวัสดิการชุมชนและสาธารณประโยชน์” สุทธิพงษ์ กล่าว

KBank ร่วมขับเคลื่อน Change for Good แบบ Win-Win ทุกภาคส่วน

กฤษณ์ จิตต์แจ้ง กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ธนาคารกสิกรไทยตระหนักและให้ความสำคัญต่อการเร่งแก้ไขผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านของประเทศไทยและประชาคมเพื่อไปสู่สังคมคาร์บอนเป็นศูนย์ จึงได้ประกาศความมุ่งมั่นในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Commitment) พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนการทำงานของธนาคาร และร่วมมือกับพันธมิตรภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมให้เกิดขึ้นจริงอย่างยั่งยืน

ความท้าทายของคำว่า Change for Good คือทำอย่างไรให้ยั่งยืน และเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ Win-Win สำหรับทุกภาคส่วน และนี่เป็นครั้งแรกที่ทางกสิกรไทยได้เห็นถึงพลังในการขับเคลื่อนของภาครัฐ ผ่านกระทรวงมหาดไทย ในโครงการที่ทรงพลังที่มีภาคประชาชนทั้งประเทศเป็นเจ้าของชัยชนะแรก ผ่านโจทย์การเปลี่ยนนิสัยในการจัดการขยะ และมีรายได้จากคาร์บอนเครดิตไปใช้ในกิจกรรมสาธารณประโยชน์ของชุมชน ถือเป็นชัยชนะตัวที่ 2

มท. ผนึกกำลัง UN Thailand และ KBank ประกาศความสำเร็จซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตครั้งแรกของไทย

ชัยชนะตัวที่ 3 ที่สำคัญมาก การลดค่าใช้จ่ายของชุมชน จากการเลิกใช้ปุ๋ยเคมีหันมาใช้ปุ๋ยหมักจากถังขยะเปียกลดโลกร้อน ในการปลูกผักสวนครัวไว้กินเป็นความมั่นคงทางอาหาร ไปจนถึงการลดค่าใช้จ่ายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดเก็บขยะ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบางแห่ง แทบไม่ต้องใช้รถเก็บขยะ เพราะชาวบ้านคัดแยกและจัดการขยะจนเหลือศูนย์ เกิดเป็นวงจรที่มีประสิทธิภาพ 

“มหาดไทยได้ทำสิ่งที่มีพลังเป็นอย่างมาก คือ การเปลี่ยนขยะเปียกทั้งประเทศให้มีมูลค่า โดยอาศัยเวลาและความมุ่งมั่น ผ่านการทำงานจริงของผู้นำที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเริ่มเป็นต้นแบบ ผู้นำส่วนท้องถิ่นร่วมขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติ เป็นการส่งเสริมการลดก๊าซเรือนกระจกในระดับครัวเรือนผ่านกลไกของรัฐและภาคประชาสังคมแบบบูรณาการ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการลดก๊าซเรือนกระจกอย่างเป็นรูปธรรม และที่สำคัญที่สุดคือ พฤติกรรมของคนในชุมชนที่เปลี่ยนไปเพื่อสิ่งที่ดีขึ้น 

ทางธนาคารกสิกรไทย จึงไม่ลังเลเลยที่จะเข้าร่วมโครงการนี้  โดยธนาคารรับซื้อทั้งหมด 3,140 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ที่ได้รับการรับรองจากองค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก รายได้ที่ชุมชนได้รับจากการขายคาร์บอนเครดิตในการดำเนินโครงการ จะกลับคืนสู่ประชาชนและครัวเรือนที่เป็นเจ้าของคาร์บอนเครดิต เพื่อใช้เป็นทุนในการดำเนินโครงการพัฒนาตามความเห็นชอบของประชาคมในพื้นที่ต่อไป 

กสิกรไทยขอแสดงความยินดีในชัยชนะและความสำเร็จ และขอสนับสนุนให้ชุมชนท้องถิ่นผลิตคาร์บอนเครดิตในลักษณะนี้ออกมามาก ๆ เพื่อที่ระบบนิเวศของตลาดซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตจะครบถ้วนสมบูรณ์และลดปัญหาโลกร้อนได้อย่างยั่งยืน”

กฤษณ์ จิตต์แจ้ง กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย

ความร่วมมือการขับเคลื่อนเพื่อบรรลุเป้าหมายประเทศไทยที่ยั่งยืน

กีต้า ซับบระวาล ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย กล่าวว่า  กิจกรรมในวันนี้ เป็นเหตุการณ์สำคัญและน่ายินดีเป็นอย่างยิ่งที่ UN Thailand ได้ร่วมเป็นสักขีพยาน ในการเข้าร่วมฉลองความสำเร็จของ 4 จังหวัดนำร่อง จาก 76 จังหวัดที่ได้ลงนามร่วมกับ UN ตามเจตนารมณ์ “76 จังหวัด 76 คำมั่นสัญญา เพื่อการพัฒนา เพื่อความ เท่าเทียม เพื่อความยั่งยืน โลกนี้เพื่อเรา”

การซื้อขายคาร์บอนเครดิตครั้งแรกนี้คือหมุดหมายสำคัญในการนำเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ไปสู่การปฏิบัติในระดับท้องถิ่นแบบทั้งองคาพยพ ทั้งภาครัฐ และภาคสังคม 14 ล้านครัวเรือนภายใต้การดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ว่าราชการจังหวัด 76 จังหวัด กระทรวงมหาดไทย ผู้บริหารธนาคาร และหน่วยงานสหประชาชาติ (United Nations) เพื่อลดการปลดปล่อยคาร์บอน 

กีต้า ซับบระวาล ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย

“สิ่งสำคัญ คือ การส่งเสริมประเทศให้มีต้นแบบตลาดซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตที่โปร่งใสเป็นรูปธรรม ด้วยการสนับสนุนอย่างจริงจังขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก และต้องขอขอบคุณธนาคารกสิกรไทยที่เป็นผู้นำในการสร้างความเปลี่ยนแปลง ตลาดการเงินร่วมกับนักลงทุน สู่บทบาทสำคัญ คือ “ตัวเร่งกระบวนการ” ในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้บรรลุเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน 

ธนาคารกสิกรไทย ยังเป็นที่กล่าวถึงในแวดวง UN ในฐานะสถาบันการเงินต้นแบบ โดยเป็นธนาคารพาณิชย์สัญชาติไทยแห่งแรก ที่ลงนาม “หลักการธนาคารที่รับผิดชอบขององค์การสหประชาชาติ” (UN Principles for Responsible Banking) ซึ่งแสดงถึงวิสัยทัศน์และคำมั่นสัญญาเรื่องความยั่งยืน และ UN หวังเป็นอย่างยิ่งที่จะมีสถาบันการเงินที่ดำเนินการตามแบบอย่างนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ”

การได้รับการรับรองคาร์บอนเครดิตนำมาซึ่ง แรงจูงใจทางเศรษฐกิจสำหรับชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อที่จะดำเนินการแยกขยะอย่างต่อเนื่องผ่านการมีส่วนร่วมของทุกครัวเรือนในชุมชน โดยคาดว่าภายในสิ้นปี 2566 จะสามารถขยายผลได้รับการรับรองคาร์บอนเครดิตครบทุกจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งทำให้สามารถใช้ประโยชน์จากการซื้อขายคาร์บอนเครดิตจากการจัดการของเสีย เพื่อบรรลุการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศภายใต้ข้อตกลงปารีส 

KBank Change for Good

โครงการถังขยะเปียก ลดโลกร้อน จากเศษอาหารสู่มูลค่าทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม

โครงการถังขยะเปียก ลดโลกร้อน เป็นโครงการที่ริเริ่มขึ้นโดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ให้ครัวเรือนทั่วประเทศไทย (ยกเว้นกรุงเทพมหานคร) โดยดำเนินการจัดทำถังขยะเปียกระบบปิดในครัวเรือน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และโรงเรียนในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนคัดแยกขยะอินทรีย์หรือขยะเปียก จัดการที่ต้นทาง ณ แหล่งกำเนิด 

จัดให้มีระบบเก็บรวบรวมเศษอาหารแยกออกจากขยะทั่วไปเพื่อลดการปนเปื้อน ลดปริมาณขยะ และทำให้ขยะที่ไปถึงสถานที่กำจัดมีคุณภาพมากขึ้น อีกทั้งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการย่อยสลายของขยะอินทรีย์ที่ไปสู่หลุมฝังกลบที่ไม่ถูกต้องตามหลักสุขาภิบาล ขยะเศษอาหารจะถูกแยกนำไปทิ้งในถังขยะเปียกระบบปิดที่แต่ละครัวเรือนได้จัดทำไว้ เพื่อหมักเป็นสารบำรุงดิน ทำให้สัดส่วนการนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์เพิ่มขึ้น  

การจัดเก็บข้อมูลถังขยะเปียกลดโลกร้อนเพื่อดำเนินการรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจก โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเก็บข้อมูลรายเดือนจากครัวเรือน โรงเรียนในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่จัดทำถังขยะเปียกครัวเรือนระบบปิด ผ่านทะเบียนข้อมูลครัวเรือน โดยมีกลไกอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก หรือ อถล. เป็นผู้ดำเนินการร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการสำรวจและเก็บข้อมูล 

ข้อมูลทั้งหมดจะถูกรวบรวมในระดับอำเภอสู่ระดับจังหวัดและไปสู่ระดับประเทศที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ผ่าน “ระบบสารสนเทศด้านการจัดการขยะมูลฝอยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (DLA Waste System) ซึ่งทางกรมการปกครองส่วนท้องถิ่นได้พัฒนาขึ้นเพื่อใช้ในการรวบรวมและประมวลผลข้อมูล

โครงการถังขยะเปียก ลดโลกร้อน มีกลไกภายในเป็นทีมงานระดับอำเภอในการเตรียมพร้อมรับการทวนสอบ (Internal Audit) และทวนสอบโดยผู้ประเมินภายนอก (Validation and Verification Body: VVB) ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากองค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก ให้ทำการตรวจสอบความใช้ได้ตามหลักเกณฑ์ของโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจในประเทศไทย หรือ T-VER โดยการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลจากระบบ DLA Waste ของพื้นที่นั้น ๆ ควบคู่ไปกับการสุ่มตรวจครัวเรือน  

โครงการถังขยะเปียกลดโลกร้อน ในพื้นที่ 4 จังหวัดนำร่อง สมุทรสงคราม เลย ลำพูน และอำนาจเจริญ ผู้ประเมินภายนอกได้กำหนดเป้าหมายสุ่มตรวจครัวเรือนทั้งสิ้น 538 ครัวเรือน โดยสัมภาษณ์ประชาชนที่ทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน เพื่อยืนยันข้อมูลครัวเรือนและการใช้งานถังขยะเปียก พบว่าทุกครัวเรือนที่ได้รับการทวนสอบมีการติดตั้งถังขยะเปียกครบถ้วนทุกครัวเรือน และมีการใช้งานอย่างถูกต้องเป็นประจำ 

องค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก ได้ให้ความเห็นชอบ รับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ได้จากการดำเนินการโครงการถังขยะเปียกลดโลกร้อน ในพื้นที่ 4 จังหวัดนำร่อง โดยมีปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลด/กักเก็บได้ 3,140 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ระยะเวลาคิดเครดิตที่ขอรับรอง 3 เดือน จากการขับเคลื่อนโครงการก่อนขอรับรองเครดิตเป็นเวลา 3 ปี ส่วนแนวทางการซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิต จะเป็นไปตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การจัดการมูลฝอย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2565 

โครงการถังขยะเปียกลดโลกร้อน ได้สรุปปัจจัยความสำเร็จของโครงการว่ามาจาก 6 ปัจจัย ได้แก่ ปัจจัยทางเทคนิค คือระบบ DLA Waste และระบบสารสนเทศอื่นๆ ของกระทรวงมหาดไทยที่ทำให้สามารถติดตามความก้าวหน้าของโครงการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปัจจัยทางด้านนโยบาย ที่มีกรอบและแนวทางที่ชัดเจน มีคณะทำงานที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนโครงการและเตรียมพร้อมในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการทวนสอบและการดำเนินการด้านการซื้อขายคาร์บอนเครดิต 

ปัจจัยด้านกลไกการบริหาร ที่เชื่อมโยงกันทุกระดับ ตั้งแต่กระทรวงไปจนถึงท้องถิ่น ปัจจัยต้นแบบ ที่เน้นให้ “ผู้นำ ทำก่อน” ปัจจัยขับเคลื่อนในระดับพื้นที่ และปัจจัยด้านการบูรณาการร่วมกับภาคีเครือข่าย ประกอบด้วยภาคราชการ ผู้นำทางศาสนา นักวิชาการ ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน(ผู้นำตามธรรมชาติ) สื่อมวลชน และภาคธุรกิจเอกชน

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

มท. ผนึกกำลัง UN Thailand และ KBank ประกาศความสำเร็จซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตครั้งแรกของไทย

SCGC ผนึก Avantium นำก๊าซ CO2 มาผลิตพอลิเมอร์คาร์บอนฟุตพริ้นท์เป็นลบ

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ