TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistความท้าทายของการผลักดัน Data-Driven Organization

ความท้าทายของการผลักดัน Data-Driven Organization

จากรายงานของ NewVantage Partners ซึ่งได้ทำแบบสอบถามความเห็นเกี่ยวกับ Data-Driven Organization พบว่ามีองค์กรเพียง 26.5% เท่านั้น ที่ประสบความสำเร็จในการผลักดันให้เกิด Data-Driven Organization สำหรับในประเทศไทยพบว่า มีองค์กรที่สนใจผลักดันให้เกิด Data-Driven Organization อยู่บ้าง แต่ยังไม่ค่อยเห็นความสำเร็จที่เป็นรูปเป็นร่างมากนัก ซึ่งความท้าทายในการผลักดันให้เกิด Data-Driven Organization นั้น ประกอบไปด้วย

1. การเปลี่ยนวัฒนธรรมการทำงานภายในองค์กร

ปัญหาเรื่องวัฒนธรรมภายในขององค์กรเป็นปัญหาหลักของการผลักดันให้เกิด Data-Driven Organization การผลักดันให้เกิด Data-Driven Organization ไม่ใช่เรื่องของฝั่ง IT เพียงอย่างเดียว เพื่อแก้ปัญหาคลื่นใต้น้ำภายในองค์กร การออกแบบโครงสร้างด้านบุคลากร และการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมต่อการทำงานจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น ควบคู่ไปกับการเพิ่มทักษะให้คนภายในองค์กร

2. ปัญหาคุณภาพของข้อมูล

ยุคก่อนที่จะมีการใช้ข้อมูลเพื่อขับเคลื่อนองค์กร ข้อมูลทั้งหลายถูกจัดเก็บเอาไว้บ้าง ไม่ถูกจัดเก็บบ้าง บางส่วนถูกจัดเก็บในรูปแบบกระดาษ บางส่วนเข้าระบบ และส่วนใหญ่ถูกจัดเก็บเอาไว้เพียงเพื่อให้สามารถนำมาใช้เป็นหลักฐานในบางกรณี แต่มิได้ต้องการนำข้อมูลไปใช้งานต่อ เมื่อถึงเวลาที่จะต้องนำข้อมูลมาใช้ข้อมูลจึงอยู่ในรูปแบบที่ไม่พร้อมใช้งาน 

3. ปัญหาด้านเทคโนโลยี

การลงทุนด้านเทคโนโลยีเป็นปัญหาเรื้อรังของทุกองค์กรอันเนื่องมาจากการทำงานที่แยกส่วนกันระหว่างฝ่าย IT และฝ่ายธุรกิจ ทำให้รูปแบบการลงทุนด้านเทคโนโลยีของทั้ง 2 ฝ่ายมีความแตกต่างกัน การแก้ปัญหาด้านเทคโนโลยีที่ดีที่สุด ต้องเริ่มจากการเพิ่มทักษะต่าง ๆ ให้ฝ่าย IT โดยไม่ยึดติดที่เทคโนโลยียี่ห้อใดยี่ห้อหนึ่ง และคัดเลือกเทคโนโลยีที่มีความยืดหยุ่น พร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ภายในองค์กร

4. การขาดบุคลากร

กระแส Digital Technology และ Big Data เข้ามาในประเทศไทยค่อนข้างเร็ว ทำให้ระบบการศึกษาปรับตัวไม่ทัน จึงเกิดปัญหาขาดบุคลากรในตลาดแรงงาน  เนื่องจากองค์กรต่าง ๆ กำลังมองหาคนที่มีประสบการณ์ทำงานมาแล้ว เพื่อให้แน่ใจว่าโครงการต่าง ๆ จะได้รับการพัฒนาอย่างเหมาะสม ทำให้เกิดการแข่งขันสูง ทำให้บุคลากรด้านเทคโนโลยีมีค่าตัวสูงตามความต้องการของตลาด

5. ข้อมูลกระจัดกระจาย

เพื่อให้การวิเคราะห์มีความละเอียด และครอบคลุมมากที่สุด ทรัพยากรข้อมูลที่นำมาใช้จึงเป็นข้อมูลที่มาจากหลากหลายแหล่งข้อมูล และเป็นไปได้ว่า การวิเคราะห์จะมีการใช้ข้อมูลที่มีโครงสร้าง หรือ Structured Data และ ข้อมูลที่ไม่มีโครงสร้าง หรือ Unstructured Data ซึ่งหากองค์กรไม่มีระบบการบริหารข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ การนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้งานจะมีอุปสรรคค่อนข้างมาก

6. เข้าไม่ถึงข้อมูล

การเข้าไม่ถึงข้อมูล เป็นปัญหาปลายเหตุ ที่เกิดจากการเก็บข้อมูลเอาไว้แยกส่วน และไม่มีการกำหนดผู้รับผิดชอบในการดูแลข้อมูล ผลลัพธ์ที่ได้ คือ การที่องค์กรมีการเก็บข้อมูลเอาไว้ แต่ไม่รู้ว่าใครเก็บ และไม่รู้ว่าข้อมูลอยู่ที่ไหน นอกจากนี้ยังมีปัญหาการหวงแหนข้อมูลอีกด้วย วิธีการแก้ปัญหา คือ การวางนโยบายในการกำกับดูแลข้อมูลที่ชัดเจน และมีการดำเนินโครงการ Data Governance

7. ผู้นำไม่เข้มแข็งพอ

ปัญหาผู้นำไม่เข้มแข็งพอ เป็นปัญหาที่ใหญ่ที่สุด และถ้าปัญหานี้ได้รับการแก้ไข ปัญหาอื่น ๆ มักจะมีแนวโน้มถูกคลี่คลายไปได้ด้วยเช่นเดียวกัน คำว่า “ผู้นำ” ในที่นี้มิได้หมายความว่าประธานกรรมการบริหาร หรือ CEO จะต้องมีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี  แต่ CEO มีหน้าที่ตรวจสอบ ให้ทิศทาง และคัดเลือกผู้มีหน้าที่รับผิดชอบแต่ละส่วน ไม่ว่าจะเป็น CIO, CTO หรือ CDO ก็ตาม 

8. ทีมงานไม่ให้ความร่วมมือ

เมื่อต้องการผลักดันให้เกิดการทำงานในรูปแบบใหม่ทั้งองค์กร ดังนั้นผู้มีส่วนร่วมจึงเป็นบุคลากรทั้งหมดขององค์กร แต่ถ้าทีมงานไม่ให้ความร่วมมือ ก็ยากที่จะเกิดความเปลี่ยนแปลง ดังนั้นองค์กรจะต้องมีทีมบริหารการเปลี่ยนแปลง ที่รับฟังปัญหาของทีมงาน และออกแบบวิธีการปรับเปลี่ยนที่ส่งผลเสียให้น้อยที่สุด

ความท้าทายเหล่านี้เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า องค์กรที่สามารถผลักดันให้เป็น Data-Driven Organization ได้ ถือเป็นการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานขององค์กรไปอีกขั้นหนึ่ง ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ อาจจะเป็นการเติบโตที่มากขึ้นขององค์กร ต้นทุนที่ลดลง ประสิทธิภาพการทำงานที่ดีขึ้น หรือแม้กระทั่งการมีผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ออกสู่ตลาด ในทางกลับกันหากองค์กรที่ไม่สามารถก้าวข้ามผ่านความท้ายเหล่านี้ไปได้ การทำงานก็จะยังคงอยู่ในรูปแบบเดิม ใช้ข้อมูลแบบเดิม มีวิธีวิเคราะห์แบบเดิม ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ จะดีหรือไม่ดี มิได้ขึ้นอยู่กับการปรับเปลี่ยนขององค์กรเพียงอย่างเดียว แต่อย่างน้อยที่สุด การที่องค์กรมีการปรับเปลี่ยนอยู่เสมอ ถือเป็นการลดความเสี่ยงที่องค์กรจะล้าหลัง ขับเคลื่อนช้า และไม่รู้จักปรับตัวให้เข้ากับโลกที่เปลี่ยนแปลงไปนั่นเอง

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ