TH | EN
TH | EN
หน้าแรกTechnologyเมืองอัจฉริยะ – ศูนย์ดิจิทัลชุมชน กลยุทธ์เติมเต็มคุณภาพชีวิตดีแบบยั่งยืน

เมืองอัจฉริยะ – ศูนย์ดิจิทัลชุมชน กลยุทธ์เติมเต็มคุณภาพชีวิตดีแบบยั่งยืน

เรามักได้ยินคำว่า ‘เมืองอัจฉริยะ’ (Smart City) และ ’ศูนย์ดิจิทัลชุมชน’ (Digital Community Center) ในพื้นที่จังหวัดเดียวกันหลายครั้ง แม้ว่าแนวคิดของเมืองอัจฉริยะ คือการพัฒนาเมืองให้สอดรับกับการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในชุมชนเมือง และต้องการส่งเสริมให้มีการลงทุนในพื้นที่จากแหล่งเงินทุนเอกชน ทั้งในและต่างประเทศ ขณะที่ศูนย์ดิจิทัลชุมชนคือการส่งเสริมให้คนในชุมชนบนพื้นที่ห่างไกล ได้เข้าถึงแหล่งความรู้ผ่านอินเทอร์เน็ตและผลักดันให้เกิดการสร้างอาชีพบนโลกออนไลน์ ทำไมจึงเกิดความต่างขั้วของสิ่งที่ชุมชนต้องการในพื้นที่จังหวัดเดียวกัน

ทั้งนี้ แม้ว่าประเทศไทยมีอินเทอร์เน็ตใช่อย่างแพร่หลายกว่า 10 ปีที่ผ่านมา หลังจากมีการให้บริการ 3G อย่างเป็นทางการในปี 2551 และปัจจุบันไทยมีพื้นที่ให้บริการอินเทอร์เน็ตโดยรวมมากถึง 99% ไม่ว่าจะเป็นบริการ 3G 4G และ 5G แต่ 1% ของพื้นที่ซึ่งไม่มีอินเทอร์เน็ตรองรับ ยังคงมีชุมชนอาศัยอยู่ การยกระดับคุณภาพชีวิตและลดความเหลื่อมล้ำด้วยการเข้าถึงเทคโนโลยีและความรู้สมัยใหม่ผ่านอินเทอร์เน็ต จึงยังคงเป็นภารกิจสำคัญของหน่วยงานในกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอีเอส ที่จะต้องหากลยุทธ์เชื่อมโยงผู้คนจาก 2 สังคมเพื่อเข้าหากัน

กว่าจะมาเป็น ‘ศูนย์ดิจิทัลชุมชน’

หากย้อนกลับไปเมื่อปี 2550 กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ไอซีที ได้จัดทำ ‘ศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน’ เพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำให้ชุมชนในพื้นที่ห่างไกลทั่วประเทศ ได้มีโอกาสในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเอง โดยส่วนใหญ่ศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน ตั้งอยู่ในสถานที่ที่ชุมชนสามารถเข้าถึงโดยสะดวก เช่น วัด มัสยิด ที่ทำการหมู่บ้าน สหกรณ์ องค์กรปกครองส่งท้องถิ่น โรงเรียน ห้องสมุด ค่ายทหาร เป็นต้น มุ่งหวังให้ประชาชนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงบริการสาธารณะของรัฐได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม

ต่อมาในปี 2559 มีการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สดช.เพื่อทำหน้าที่จัดทำร่างนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จึงมีการปรับบทบาทจากศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนไปสู่ศูนย์ดิจิทัลชุมชนโดยเน้นพื้นที่ไม่มีอินเทอร์เน็ตรองรับการใช้งานเป็นหลัก

ทั้งนี้ ศูนย์ดิจิทัลชุมชน ในมุมของ สดช.หน่วยงานในสังกัดกระทรวงดีอีเอส มองว่าเป็นศูนย์บริการของชุมชนที่มีการบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ทั้งส่วนกลางและพื้นที่ สามารถให้บริการประชาชนแบบเบ็ดเสร็จ เป็นจุดให้บริการ อุปกรณ์ในกรณียังไม่มีใช้และเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต รวมถึงเป็นจุดรับบริการภาครัฐ

อีกทั้งสามารถให้ความรู้ด้านการทำธุรกิจและประกอบอาชีพ ผ่านระบบออนไลน์ของชุมชนและพื้นที่ของชุมชน ในการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคม โดยเน้นบริการ ด้านการศึกษา การเกษตร การดูแลสุขภาพ การค้าขาย การบริการท่องเที่ยว สิทธิและสวัสดิการสังคม เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ที่ 3 สร้างสังคมคุณภาพที่ทั่วถึงเท่าเทียมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล

ภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันโครงการศูนย์ดิจิทัลชุมชนประกอบด้วย 2 ส่วนหลัก ได้แก่ 1. โครงการยกระดับศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนสู่ศูนย์ดิจิทัลชุมชน ระยะเวลาดำเนินการระหว่างปี 2564 – 2567 แหล่งเงินงบประมาณมาจากงบประมาณแผ่นดิน โดยให้บริการแล้วจำนวน 500 แห่ง ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 77 จังหวัดทั่วประเทศ โดยมีสถานที่ติดตั้งในพื้นที่ของสถานศึกษา และองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น และศาสนสถาน

“สำหรับศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนเดิมนั้น ตอนนี้มีการจัดตั้งผู้ดูแลศูนย์แล้ว 250 แห่ง จากเดิมที่มีการให้จิตอาสาในพื้นที่ช่วยกันดูแล ขณะที่ 250 แห่งที่ไม่มีผู้ดูแลนั้นได้มีการของบประมาณเพื่อนำมาใช้ในส่วนนี้แล้ว สำหรับข้อดีของการมีผู้ดูแลประจำศูนย์คือ สามารถจัดตารางการเข้าใช้งานของประชาชนในพื้นที่ได้ อีกทั้งสามารถแนะนำการใช้งานและให้คำแนะนำเบื้องต้นได้ รวมถือการจัดทำกิจกรรมกลุ่มเพื่อประชาสัมพันธ์ในพื้นที่ให้เกิดการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต” เลขาธิการสดช. กล่าว

2. โครงการพัฒนาระบบนิเวศศูนย์ดิจิทัลชุมชนอย่างยั่งยืน ภายใต้แผนปฏิบัติการยุทธศาสตร์ที่ 5 ของแผนการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2560 – 2564) แหล่งเงินงบประมาณจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือ กทปส. โดยมีกรอบวงเงินงบประมาณรวม 5,530 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการปี 2566-2570 ประกอบด้วย 2 กิจกรรมสำคัญคือ จัดให้มี ศูนย์ดิจิทัลชุมชนจำนวน 1,722 แห่ง โดยดำเนินการจัดเช่าใช้อุปกรณ์และจ้างบุคลากรประจำศูนย์ในพื้นที่ครบอบคลุม 77 จังหวัด

ทั้งนี้ ได้จัดประเภทของขนาดพื้นที่การจัดตั้งศูนย์และอุปกรณ์รองรับการใช้งาน ตามจำนวนความต้องการของประชาชนในพื้นที่ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1. ศูนย์ที่จัดตั้งในโรงเรียนหรือสถานศึกษา 1,066 แห่ง คอมพิวเตอร์ All in One สำหรับงานประมวลผลต่อแห่งจำนวน 12 เครื่อง

2. ศูนย์ที่จัดตั้งในโรงเรียนสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ 500 แห่ง แบ่งเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ 77 แห่ง คอมพิวเตอร์ All in One สำหรับงานประมวลผลต่อแห่งจำนวน 31 เครื่อง และโรงเรียนขนาดเล็ก 423 แห่ง คอมพิวเตอร์ All in One สำหรับงานประมวลผลต่อแห่งจำนวน 12 เครื่อง และ 3. ศูนย์ที่จัดตั้งในโรงเรียนสังกัดตำรวจตระเวนชายแดน 156 แห่ง แบ่งเป็นโรงเรียนตชด.ขนาดใหญ่ 5 แห่ง คอมพิวเตอร์ All in One สำหรับงานประมวลผลต่อแห่งจำนวน 31 เครื่อง และโรงเรียนตชด. ขนาดเล็ก 151 แห่ง คอมพิวเตอร์ All in One สำหรับงานประมวลผลต่อแห่งจำนวน 12 เครื่อง

“สำหรับการจัดตั้งศูนย์ดิจิทัลชุมชนใหม่จำนวน 1,722 แห่ง เราเลือกพื้นที่โรงเรียนเพราะต้องการให้เกิดการใช้งานต่อเนื่อง โดยให้กลุ่มแรกที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตคือนักเรียน และโรงเรียนจะต้องแบ่งปันพื้นที่ให้คนในชุมชนได้เข้ามาใช้งานในช่วงเวลาที่โรงเรียนไม่ใช้ การติดตั้งอุปกรณ์นั้น มีการเพิ่มเติมในส่วนของการขายสินค้าบนออนไลน์ ประชาชนในพื้นที่สามารถเข้ามาใช้กล้องถ่ายรูป ถ่ายวิดีโอสั้น และสามารถใช้คอมพิวเตอร์ในการตัดต่อคลิปวิดีโอสั้นได้” เลขาธิการสดช. กล่าว

อย่างไรก็ตาม ศูนย์ดิจิทัลชุมชนยังได้รับรางวัลชนะเลิศด้านสังคมและจริยธรรมของเทคโนโลยีสารสนเทศ (Ethical Dimensions of the Information Society) ในการแข่งขันทั้งหมด 1,270 โครงการจากทั่วโลกในงาน “WSIS Project Prizes 2021” ของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) ในการประชุม “World Summit on the Information Society Forum” (WSIS Forum 2021)

‘เมืองอัจฉริยะ’ ฐานสำคัญดึงนักลงทุนต่างชาติ

เมืองอัจฉริยะ คือ เมืองที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยและชาญฉลาด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการให้บริการและการบริหารจัดการเมือง ลดค่าใช้จ่ายและการใช้ทรัพยากร โดยเน้นการมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจและภาคประชาชนในการพัฒนาเมือง ภายใต้แนวคิดการพัฒนาเมืองน่าอยู่ ทันสมัยให้ประชาชนในเมืองอยู่ดี มีสุข อย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ เมืองอัจฉริยะที่ได้รับตราสัญลักษณ์ในปัจจุบันมีทั้งสิ้น 30 เมืองใน 23 จังหวัดทั่วประเทศไทย โดยมูลค่าการลงทุนที่กระทรวงดีอีเอสคาดการณ์หลังจากมีการพัฒนาเมืองต่อเนื่องอยู่ที่ประมาณ 60,000 ล้านบาท แบ่งเป็นสัดส่วนจากนักลงทุนจากภาครัฐ 20,000 ล้านบาท หรือ 33% และ 40,000 ล้านบาท หรือ 67%

โดยมีการกระตุ้นการลงทุนในเมืองอัจฉริยะผ่านกลไกการจัดทำนโยบายการนำร่อง การสร้างระบบนิเวศน์ให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลและการประยุกต์ใช้งานเมืองอัจฉริยะ การพัฒนาบุคลากรและกำลังคน ตลอดจนให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี (BOI) ให้แก่ผู้ประกอบการเมืองอัจฉริยะ โดยยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี (ไม่จำกัดวงเงิน) หากตั้งในพื้นที่พัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี (EEC : Eastern Economic Corridor) ซึ่งหากมีการลงทุนมากกว่า 5 ปี สามารถลดหย่อนภาษี 50% และยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับเครื่องจักร เป็นต้น

ทั้งนี้ ประเภทของเมืองอัจฉริยะจะถูกแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ เมืองเดิม เมืองที่มีประชากรอยู่อาศัยที่ได้รับการพัฒนาให้เป็นเมืองน่าอยู่ มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาใช้ตามบริบทความต้องการของเมือง โดยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของเมือง สาธารณูปโภค ที่อยู่อาศัย พื้นที่พักผ่อนแหล่งงาน พาณิชยกรรมรวมถึงการจัดพื้นที่ของเมืองอย่างเหมาะสมกับอัตลักษณ์ของเมือง และเมืองใหม่ เป็นเมืองที่ได้รับการพัฒนาพื้นที่ขึ้นใหม่ให้เป็นเมืองทันสมัย มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาใช้ตามบริบทความต้องการของเมือง โดยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสาธารณูปโภค ที่อยู่อาศัย พื้นที่พักผ่อน แหล่งงาน พาณิชยกรรมรวมถึงการจัดพื้นที่ของเมืองอย่างเหมาะสม

สำหรับ 7 ด้านหลักที่เมืองอัจฉริยะไทยต้องมี ได้แก่ 1. Smart Energy เมืองที่สามารถบริหารจัดการด้านพลังงานได้อย่างมี ประสิทธิภาพ สร้างความสมดุลระหว่างการผลิตและการใช้ พลังงานในพื้นที่เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานและลด การพึ่งพาพลังงานจากระบบโครงข่ายไฟฟ้าหลัก 2. Smart Mobility เมืองที่มุ่งเน้นพัฒนาระบบจราจรและขนส่งอัจฉริยะ เพื่อขับเคลื่อนประเทศโดยเพิ่มประสิทธิภาพและ ความเชื่อมโยงของระบบขนส่งและการสัญจร ที่หลากหลาย เพิ่มความสะดวกและความปลอดภัยใน การเดินทางและขนส่ง รวมถึงเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

3. Smart Economy เมืองที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มใน ระบบเศรษฐกิจและบริหารจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น เมืองเกษตรอัจฉริยะ เมืองท่องเที่ยวอัจฉริยะ เป็นต้น 4. Smart Governance เมืองที่พัฒนาระบบข้อมูล (Big Data) และระบบบริการภาครัฐ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนเพื่อมีส่วนได้ส่วนเสียใน การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของภาครัฐ โดยมุ่งเน้น ความโปร่งใส และการมีส่วนร่วมและมีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องผ่าน การประยุกต์ใช้นวัตกรรมบริการ

5. Smart People เมืองที่มุ่งพัฒนาองค์ความรู้ ทักษะ และสิ่งแวดล้อมที่เอื้อ ต่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต ลดความเหลื่อมลำทางสังคม และเศรษฐกิจ ตลอดจนเปิดกว้างสำหรับความคิด สร้างสรรค์และการมีส่วนร่วมของประชาชน 6. Smart Living เมืองที่มีการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกโดยคำนึงถึง หลักอารยสถาปัตย์ (Universal Design) ให้ประชาชน มีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีมีความปลอดภัย และมีความสุขในการดำรงชีวิต

และ 7. Smart Environment เมืองที่คำนึงถึงผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อมและสภาวะการเปลี่ยนแปลง สภาพภูมิอากาศโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ เช่น การจัดการนํ้า การดูแลสภาพอากาศ การบริหารจัดการของเสียและการเฝ้าระวัง ภัยพิบัติ ตลอดจนเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ

ส่วนหลักเกณฑ์การพัฒนาเมืองอัจฉริยะมี 5 ส่วนหลัก ได้แก่ 1. กำหนดพื้นที่เป้าหมาย ระบุวิสัยทัศน์ เป้าหมายวัตถุประสงค์ ประเภทและลักษณะเมืองอัจฉริยะ กำหนดขอบเขตเมืองชัดเจน รองรับประชากรหรือมีแผนรองรับประชากร 10,000 คนหรือผู้ใช้งาน 1,000 คนต่อตารางกิโลเมตรต่อวัน เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนและภาคเอกชน 2. แผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน มีแผนงานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานชัดเจนทั้งดิจิทัลและกายภาพที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ เป้าหมายวัตถุประสงค์ ประเภทและลักษณะของเมืองที่ขอรับการพิจารณา ระบุรูปแบบการลงทุน ระบุงบประมาณและแหล่งเงินทุน รวมถึงมีวิธีดำเนินการที่ชัดเจน

3. แผนพัฒนาข้อมูลและความปลอดภัย จำเป็นต้องมีแนวทางการพัฒนาระบบ จัดเก็บและบริหารข้อมูลของเมือง (City Data Platform) มีการจัดทำ Data Catalog เพื่อรวบรวมข้อมูล มีการจัดทำ Data Exchange เพื่อแลกเปลี่ยนและนำข้อมูลไปต่อยอด มีการจัดทำ Data Governance เพื่อรักษาความมั่นคงปลอดภัยและความเป็นส่วนบุคคลของข้อมูล 4. บริการระบบเมืองอัจฉริยะ 7 ด้าน หรือต้องมีอย่างน้อย 2 ด้าน คือ ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านอัจฉริยะ มีเป้าหมายอย่างน้อย 1 เป้าหมายต่อด้าน  มีรายละเอียดแผนการดำเนินงาน มีตัวชี้วัดชัดเจนเพื่อการติดตามประเมินผล

5. การบริหารจัดการอย่างยั่งยืน ระบุแนวทางการลงทุน และการบริหารจัดการอย่างยั่งยืน โดยภาครัฐ รัฐร่วมเอกชน ภาคเอกชน หรืออื่นๆ ระบุงบประมาณ และแหล่งเงินทุน ระบุกลไกการบริหารจัดการ ผู้รับผิดชอบข้อเสนอแผนการ พัฒนา เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนและภาคเอกชน

ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า (depa) กล่าวว่า การส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในระดับท้องถิ่นดำเนินการในหลากหลายมิติ ตั้งแต่การสนับสนุนพื้นที่ให้พัฒนาแผนเมืองอัจฉริยะของตนเอง สามารถระบุพื้นที่พัฒนาเมืองโดยมีขอบเขตชัดเจน มองเห็นศักยภาพและปัญหา อีกทั้งสามารถเตรียมความพร้อมเรื่องระบบบริการทั้ง 7 Smarts ได้ตรงตามบริบทของพื้นที่และวางโครงสร้างพื้นฐานทั้งทางกายภาพและด้านดิจิทัล รองรับระบบบริการเมือง รวมถึงบริหารจัดการข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ โดยคำนึงถึงความยั่งยืน และเกิดประโยชน์สูงสุดกับภาคประชาชน

“depa ยังมีการส่งเสริมคนรุ่นใหม่ที่มีใจต้องการพัฒนาภูมิลำเนามาเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองน่าอยู่ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ผ่านโครงการนักดิจิทัลพัฒนาเมืองรุ่นใหม่ หรือ เอสซีเอ (SCA : The Smart City Ambassadors) ที่มุ่งเน้นให้เกิดการพัฒนาเมืองอัจฉริยะอย่างเป็นรูปธรรมด้วยความสามารถและมุมมองของคนรุ่นใหม่กลับไปพัฒนาบ้านเกิดของตนเอง โดยผู้ที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับการยกระดับทักษะดิจิทัลและทักษะสำคัญในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ” ผศ.ดร.ณัฐพล กล่าว

การพัฒนาเมืองให้มีความอัจฉริยะ โดยเลือกเอาจุดดีที่สามารถพัฒนาด้วยเทคโนโลยีได้ และสามารถบอกต่อเพื่อสร้างมูลค่าในการลงทุน ผสานกับการใช้เทคโนโลยีลบจุดด้อยของบางพื้นที่ชุมชนเพื่อสร้างการเข้าถึงความรู้ เกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง เป็นกลยุทธ์ที่สำคัญในการสร้างเมืองอย่างยั่งยืนและทยอยลดความเหลื่อมล้ำอย่างค่อยเป็นค่อยไปของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

GULF – Singtel – AIS เดินหน้าก่อสร้างดาต้าเซ็นเตอร์ขนาด 20MW

ดีอีเอส ปั้นสมาร์ทซิตี้ 30 เมือง ดึงนักลงทุนปักหมุดไทยกว่า 6หมื่นล้านบาท

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ