TH | EN
TH | EN
หน้าแรกTechnologyดีอีเอส-ดีป้า คลอด 5 เมืองอัจฉริยะ น่าอยู่ประเทศไทย

ดีอีเอส-ดีป้า คลอด 5 เมืองอัจฉริยะ น่าอยู่ประเทศไทย

ประชุมนัดแรกคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและบริหารโครงการเมืองอัจฉริยะ พิจารณาข้อเสนอแผนการพัฒนาเมือง มีมติเห็นชอบ 5 เมืองอัจฉริยะน่าอยู่ประเทศไทยที่จะได้รับมอบตราสัญลักษณ์เมืองอัจฉริยะ ประกอบด้วย ภูเก็ตเมืองอัจฉริยะ ขอนแก่นเมืองอัจฉริยะ แม่เมาะเมืองน่าอยู่ สามย่านสมาร์ทซิตี้ และเมืองอัจฉริยะวังจันทร์วัลเลย์ พร้อมสานต่อความร่วมมือกับเมืองที่ยื่นเสนอแผนการพัฒนาเมือง ตั้งเป้าประกาศเมืองอัจฉริยะปีนี้ไม่น้อยกว่า 7 เมือง

ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและบริหารโครงการเมืองอัจฉริยะ ครั้งที่ 1/2564 โดยมีผู้บริหารระดับสูง รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายด้าน พร้อมด้วย ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า ในฐานะเลขานุการคณะอนุกรรมการฯ เข้าร่วมประชุมพิจารณาข้อเสนอแผนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบ 5 เมืองที่จะได้รับมอบตราสัญลักษณ์เมืองอัจฉริยะ ประกอบด้วย ภูเก็ตเมืองอัจฉริยะ ขอนแก่นเมืองอัจฉริยะ แม่เมาะเมืองน่าอยู่ สามย่านสมาร์ทซิตี้ และเมืองอัจฉริยะวังจันทร์วัลเลย์

ดร.ณัฐพล เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา สำนักงานเมืองอัจฉริยะประเทศไทย ภายใต้การดำเนินงานของ ดีป้า และในฐานะเลขานุการคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและบริหารโครงการเมืองอัจฉริยะ มุ่งผลักดันให้เกิดเมืองอัจฉริยะประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง แต่การทำงานไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะ ดีป้า ไม่เพียงบอกว่าเมืองอัจฉริยะเป็นอย่างไร แต่ต้องคอยทำงานคู่กับเจ้าของพื้นที่อย่างใกล้ชิด ปรับแนวคิดให้ประชาชนในท้องถิ่นรู้จักมองความเป็นอยู่ปัจจุบันอย่างเข้าใจ และสามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตได้อย่างเป็นรูปธรรมและเกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน

ดีป้า ทำงานอย่างหนักในการเดินสายทั่วประเทศไทย เพื่อสร้างความตระหนักรู้และถ่ายทอดแนวคิดการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในทุกภูมิภาค ซึ่งสิ่งที่ยากไม่ใช่การให้ประชาชนรู้จักกับเทคโนโลยี แต่เป็นการสร้างความเข้าใจในบริบทของแต่ละเมืองให้แก่เจ้าเมือง ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการพัฒนาเมือง รวมถึงประชาชนในพื้นที่ เพื่อนำไปสู่การเลือกใช้แนวทางที่เหมาะสมและตอบโจทย์กับเมืองมากที่สุด

ทั้งนี้ การจะขับเคลื่อนไปสู่เมืองอัจฉริยะนั้น นอกจากความเข้าใจในบริบทเมืองแล้ว ยังต้องมีความพร้อม โดยเมืองอัจฉริยะที่ได้ผ่านการพิจารณาและได้รับตราสัญลักษณ์เมืองอัจฉริยะในครั้งนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเมืองที่ยื่นขอรับการพิจารณาเป็นเมืองอัจฉริยะเท่านั้น ซึ่ง ดีป้า จะสานต่อความร่วมมือกับแต่ละเมืองที่ยื่นเสนอแผนการพัฒนาเมือง โดยตั้งเป้าที่จะประกาศเมืองอัจฉริยะไม่น้อยกว่า 7 เมืองภายในปี 2564

สำหรับเมืองอัจฉริยะทั้ง 5 เมืองที่ผ่านการพิจารณาในครั้งนี้ ประกอบด้วย

  1. ภูเก็ตเมืองอัจฉริยะ ตั้งเป้าสู่เมืองท่องเที่ยวที่ยั่งยืน มุ่งหวังการเป็นเมืองศูนย์กลางการท่องเที่ยว การศึกษา นวัตกรรมบริการระดับมาตรฐานนานาชาติ และการพัฒนาที่ยั่งยืนกับแผนพัฒนาเมืองอัจฉริยะทั้ง 7 Smarts* ที่ครอบคลุมทั้งจังหวัด
  2. ขอนแก่นเมืองอัจฉริยะ กับแผนพัฒนาเมืองอัจฉริยะ 7 Smarts ครอบคลุมทั้งจังหวัด เพื่อพัฒนาขอนแก่นสู่มหานครน่าอยู่ มุ่งสู่เมืองนวัตกรรม ศูนย์กลางเชื่อมโยงอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงบนพื้นฐานของความยั่งยืน
  3. แม่เมาะเมืองน่าอยู่ ในพื้นที่จังหวัดลำปาง กับแผนพัฒนาเมืองอัจฉริยะ 3 Smarts มุ่งเป็นเมืองน่าอยู่เชิงนิเวศน์ (Eco Town) เพื่อสนับสนุนการทำงานของวิสาหกิจชุมชนและวิสาหกิจเริ่มต้น ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรในพื้นที่
  4. สามย่านสมาร์ทซิตี้ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร กับแผนพัฒนาเมืองอัจฉริยะ 7 Smarts ตั้งเป้าพัฒนาพื้นที่เพื่อสร้างคุณค่าแก่สังคมอย่างยั่งยืน
  5. เมืองอัจฉริยะวังจันทร์วัลเลย์ ฐานสนับสนุนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม และเมืองแห่งมาตรฐานคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมในระดับสากลของประเทศไทย บนพื้นที่ อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง กับแผนพัฒนาทั้ง 7 Smarts

ดร.ณัฐพล กล่าวเพิ่มเติมว่า การประกาศมอบตราสัญลักษณ์เมืองอัจฉริยะถือเป็นการรองรับการพัฒนาประเทศและสร้างกลไกการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยการส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ให้เมืองที่ได้รับตราสัญลักษณ์เป็นเมืองที่น่าอยู่ มีเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมที่เติบโตอย่างสมดุล ตามแนวทางการขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 และยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี เกิดการกระจายความเจริญอย่างเท่าเทียมในทุกภูมิภาค ผ่านการออกแบบตามหลักการพัฒนาระบบเมืองอัจฉริยะ 7 Smarts โดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง บูรณาการ และพัฒนาการบริหารจัดการด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มุ่งเน้นประสิทธิภาพและความยั่งยืน

ทั้งนี้ คณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ที่มี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน รับทราบถึงมติที่ประชุมในครั้งนี้แล้ว

7 Smarts หรือ ลักษณะของการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ 7 ด้าน ประกอบด้วย 1. สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment) 2. เศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy) 3. ขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility) 4. พลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) 5. พลเมืองอัจฉริยะ (Smart People) 6. การดำรงชีวิตอัจฉริยะ (Smart Living) และ 7. การบริหารภาครัฐอัจฉริยะ (Smart Governance)

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ