TH | EN
TH | EN
หน้าแรกSustainability4 ต้นแบบแห่ง 'ตำบลนนทรี' รับมือ Climate Change

4 ต้นแบบแห่ง ‘ตำบลนนทรี’ รับมือ Climate Change

บริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ด้วย ‘4 วิธีการเติมน้ำใต้ดิน’

ตำบลนนทรี ตั้งอยู่บริเวณด้านบนสุดของ อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี ทิศเหนืออยู่ติดแนวเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ พื้นที่บริเวณทิศเหนือจึงเป็นพื้นที่สูงเชิงเขา มีร่องน้ำจากภูเขาหลายลูก และมีน้ำผิวดินจำนวนมากในฤดูฝน แต่ด้วยลักษณะพื้นที่ที่สูงชันบริเวณต้นน้ำทำให้น้ำไหลหลากอย่างรวดเร็วลงสู่พื้นที่ราบด้านทิศใต้เข้าสู่แม่น้ำบางประกง 

ชาวชุมชนตำบลนนทรีประสบปัญหาน้ำไหลหลากและมีน้ำท่วมเกือบทุกปีในช่วงฤดูฝน แต่ไม่มีแหล่งกักเก็บน้ำที่สามารถกักน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการน้ำในช่วงฤดูแล้ง และไม่เพียงพอต่อการทำเกษตร ทั้งที่เป็นชุมชนที่มีการรวมกลุ่มของเกษตรกรในการทำเกษตรอินทรีย์หลายกลุ่ม และแต่ละกลุ่มมีรูปแบบการบริหารจัดการที่เข้มแข็ง เมื่อไม่มีน้ำ ทุกอย่างก็หยุดชะงัก

ผศ.ดร.โพยม สราภิรมย์ ผู้อำนวยการ สถาบันทรัพยากรน้ำใต้ดิน มหาวิทยาลัยขอนแก่น อธิบายถึงผลกระทบที่เกษตรกรตำบลนนทรีกำลังประสบจากปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ นั่นคือ ปัญหาปริมาณน้ำแปรปรวน ปีที่มีน้ำมากก็มากจนท่วม แต่ปีที่มีน้ำน้อยก็แล้งจนไม่พอใช้ 

“ต่อไปนี้การบริหารจัดการน้ำในฤดูฝนและฤดูแล้งสำคัญมาก การสะสมน้ำเป็นเรื่องจำเป็น และต้องเก็บน้ำในปีน้ำมากไปใช้ในปีน้ำน้อย ซึ่งอาจแล้งไปถึง 3-4 ปี เราต้องเพิ่มศักยภาพระบบการกักเก็บน้ำ ทั้งในเชิงปริมาณ เชิงพื้นที่ เมื่อเรามองไปในพื้นที่แล้วไม่เจอแหล่งน้ำ สิ่งที่เราต้องทำคือต้องหาน้ำใต้ดิน และต้องมีการเติมน้ำใต้ดิน ซึ่งจำเป็นต้องมีการจัดการโดยมนุษย์ เพราะการเติมน้ำตามธรรมชาติมีขีดจำกัด”  

การจัดการการเติมน้ำสู่ชั้นน้ำใต้ดิน หรือ Managed Aquifer Recharge (MAR) เป็นชื่อเรียกอย่างเป็นทางการของการจัดการให้มีการเติมน้ำสู่แหล่งน้ำใต้ดินนอกเหนือจากธรรมชาติ เพื่อรักษาระดับน้ำใต้ดิน กักเก็บและนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ในช่วงเวลาหรือในพื้นที่ที่ต้องการ เป็นหนึ่งในองค์ความรู้และแนวทางการแก้ปัญหาภัยแล้งที่มีประสิทธิภาพ และได้รับความนิยมแพร่หลายทั่วโลก อาทิ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย อิสราเอล จีน และเกาหลีใต้ 

ทางสถาบันทรัพยากรน้ำใต้ดินฯ ได้ทำการศึกษาและนำ 4 วิธีการเติมน้ำใต้ดิน มาใช้ในพื้นที่ลุ่มน้ำปราจีนบุรี ตั้งแต่ปี 2561 โดยปรับใช้ตามความเหมาะสมของพื้นที่ ได้แก่ รูปแบบที่ 1 – สระขั้นบันได เหมาะสำหรับพื้นที่ที่มีความลาดชันสูง มีน้ำหลากมาก สามารถกักเก็บน้ำได้มาก และเติมน้ำได้อย่างรวดเร็ว รูปแบบที่ 2 – สระน้ำ เหมาะกับพื้นที่ที่มีน้ำหลากไหลผ่าน น้ำท่วมขัง เก็บกักน้ำได้มาก รูปแบบที่ 3 – บ่อวง เหมาะกับพื้นที่ขนาดเล็กที่มีความลาดชัน เป็นร่องน้ำหรือมีทางไหลของน้ำที่ชัดเจน และรูปแบบที่ 4 – หลังคา เหมาะกับพื้นที่ชุมชน หรือครัวเรือนที่มีพื้นที่จำกัด น้ำที่เติมลงไปเป็นน้ำสะอาดจึงสามารถใช้ในครัวเรือนได้

จากกลุ่มเกษตรกรอินทรีย์ สู่วิสาหกิจชุมชนเกรด A

พิมลรัตน์ ลำทอง ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรแปลงใหญ่อินทรีย์ตำบลนนทรี เล่าถึงจุดเริ่มของการนำองค์ความรู้การเติมน้ำใต้ดินมาใช้เป็นครั้งแรกในตำบลนนทรี ว่าเกิดขึ้นในพื้นที่แปลงรวมของกลุ่ม ซึ่งเป็นพื้นที่ 19 ไร่ ซึ่งป้าสมจิตร ลำทอง คุณแม่ของเธออุทิศให้ทางกลุ่มใช้เป็นสาธารณประโยชน์ 

“เราเป็นกลุ่มเกษตรกรที่มีสมาชิกจาก 16 หมู่บ้านของตำบลนนทรี รวมกลุ่มกันเพื่อผลิตพืชอินทรีย์ แต่เราประสบปัญหา คือ หน้าฝนน้ำมากไหลหลากทิ้งโดยที่ไม่มีการกักเก็บน้ำ จะปลูกผักได้ก็ต้องรอหลังฤดูฝน แต่ในหน้าแล้งก็ขาดแคลนน้ำ การสร้างรายได้จากการปลูกผักก็กระท่อนกระแท่นมาโดยตลอด จนในปี 2561 มีโครงการเกษตรแปลงใหญ่ของกรมส่งเสริมการเกษตรเข้ามาสนับสนุน เราจึงรวมกลุ่มเกษตรกรมาปลูกผักในพื้นที่นี้ซึ่งมีสระน้ำอยู่แต่มีน้ำน้อยมาก”

จนกระทั่งในปี 2563 ทางโครงการโอบอุ้มลุ่มน้ำไทยภายใต้ความร่วมมือระหว่างสถาบันทรัพยากรน้ำใต้ดิน มหาวิทยาลัยขอนแก่น และกลุ่มธุรกิจ TCP ได้ลงศึกษาพื้นที่ตำบลนนทรี โดยลงพื้นที่แปลงใหญ่ของกลุ่มเป็นที่แรก ผ่านการศึกษาและประเมินความเหมาะสม 11 ขั้นตอน เป็นพื้นที่เกษตรอินทรีย์ สะอาดปลอดภัยไร้สารเคมี และสภาพทางธรณีวิทยาเหมาะสม จึงได้รับการสนับสนุนการขุดบ่อเติมน้ำใต้ดิน 

วิธีการเติมน้ำใต้ดินที่ริเริ่มนำมาใช้กับวิสาหกิจชุมชนเกษตรแปลงใหญ่อินทรีย์ ตำบลนนทรี ได้แก่ ระบบการเติมน้ำผ่านสระ พัฒนาเพิ่มจากสระที่มีอยู่โดยขุดลึกลงไป ในระดับที่น้ำผิวดินสามารถเชื่อมโยงกับระดับน้ำใต้ดิน ทั้งสระขนาดใหญ่และขนาดเล็กที่เรียกว่า ‘บ่อจิ๋ว’ และรูปแบบการเติมน้ำผ่าน ‘บ่อวง’ รวมถึงมีการขุดร่องน้ำ เพื่อเป็นช่องทางในการรวบรวมน้ำผิวดินเวลาที่ฝนตกลงและต่อท่อให้ไหลลงในบ่อจิ๋วและบ่อวงเก็บไว้ให้มากที่สุด

“พอเรามีน้ำทำให้การทำงานของกลุ่มเราเติบโตขยายตัว ได้จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนเกษตรแปลงใหญ่อินทรีย์ ตำบลนนทรี ในปี 2565 ที่ผ่านมา เราได้รับการประเมินให้เป็นเกษตรแปลงใหญ่ “เกรด A” และได้รับงบประมาณสนับสนุนการดำเนินงานจากกรมวิชาการเกษตร จำนวน 3 ล้านบาท 

ผลผลิตของเราที่ได้จากการเติมน้ำใต้ดิน มีทั้ง ถั่วฝักยาว พริก เห็ด และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเห็ด แตงกวา ผักกูด พืชผักสวนครัวตามฤดูกาล เป็นระบบการผลิตแบบอินทรีย์ตามความตั้งใจเดิมของพวกเรา สามารถสร้างรายได้ 2,500-3,000 บาท/วัน จากการจำหน่ายที่ตลาดสีเขียวในพื้นที่ ซึ่งทางกลุ่มสามารถกำหนดราคาที่เป็นธรรมสำหรับเกษตรกรและผู้บริโภคได้” พิมลรัตน์ กล่าว

ปัจจุบันพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่แห่งนี้รับบทบาทหลายอย่าง ตั้งแต่การเป็นศูนย์เรียนรู้การเติมน้ำใต้ดิน เป็นศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์ แหล่งผลิตก้อนเชื้อเห็ดและผลิตภัณฑ์จากเห็ดอินทรีย์ เป็นแหล่งผลิตปุ๋ยและดินปลูกอินทรีย์ แหล่งรวบรวมผลผลิตเกษตรอินทรีย์สู่ตลาด แหล่งผลิตและกระจายพันธุ์พืชสู่ชุมชน และเป็นแปลงทดลองของหน่วยงานต่าง ๆ

รื้อป่ายูคามาปลูกแตงโมเงินล้าน ด้วยระบบเติมน้ำผ่านสระขั้นบันได

ลึกเข้าไปในพื้นที่ติดชายเขาแนวเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ กนก นภัสสุริยธนธร เจ้าของพื้นที่กว่า 50 ไร่ผืนนี้ เล่าว่าในอดีตไม่สามารถใช้ประโยชน์ที่ดินในการทำเกษตรได้นอกจากการปลูกป่ายูคาลิปตัส เพราะในฤดูฝนน้ำก็ไหลหลากลงไปท่วมด้านล่างและไหลทิ้งไป พอถึงฤดูแล้งก็ไม่มีน้ำ 

ธนกร สุริยธนธร กำนันตำบลนนทรี สามีของเธอ จึงตัดสินใจสละพื้นที่แห่งนี้ให้เป็นพื้นที่ทดลอง เมื่อทางสถาบันทรัพยากรน้ำใต้ดินได้เข้ามาให้ความรู้ด้านการเติมน้ำใต้ดิน โดยหวังว่าจะเป็นประโยชน์ให้กับลูกบ้านได้ใช้น้ำ ทางสถาบันฯ ออกแบบเป็นระบบสระน้ำแบบขั้นบันได 3 ระดับมีคันกั้น ช่วยชะลอความแรงของน้ำที่หลากลงมาจากภูเขา และกักเก็บน้ำไว้บางส่วน แม้ในตอนแรกยังไม่มั่นใจว่าจะสามารถนำน้ำมาใช้ประโยชน์ได้เมื่อไหร่

“ตอนที่เราขุดสระ รวมพื้นที่ 7 ไร่ ในเดือนเมษายน ปี 2563 ดินแห้งมาก ฝุ่นขโมง ไม่มีน้ำเลย จนน้ำเราเต็มบ่อในช่วงเดือนกันยายน – ตุลาคม เราก็รอดูว่าน้ำจะแห้งมั้ย สรุปแล้วน้ำที่เราเติมไว้ไม่แห้ง เราก็เลยเปลี่ยนมาเป็นพืชหมุนเวียนในปี 64 ปลูกแตงโม ซึ่งปลูกได้ปีละ 3-4 รอบ ของปีนี้ รอบแรกเก็บเกี่ยวไปแล้วต้นปี ทดลองปลูกได้ 160 ตัน พื้นที่ 41 ไร่ รายได้เฉลี่ย 1,200,000 บาท จากเดิมที่ปลูกยูคาลิปตัสได้รายได้ 200,000 บาทต่อปี” กนกนภัส กล่าว

ระบบสระขั้นบันไดจุดนี้สามารถเก็บน้ำรวมความจุ 69,971 ลบ.ม.นอกจากน้ำที่ไหลไปยังพื้นที่ชุมชนด้านล่าง พื้นที่ใกล้เคียงยังได้ประโยชน์จากจุดเติมน้ำระบบสระขั้นบันไดแห่งนี้ด้วย เมื่อน้ำใต้ดินได้รับการเติมและยกระดับขึ้น ก็ทำให้สระน้ำในรัศมีใกล้เคียงพลอยได้รับการยกระดับน้ำใต้ดินขึ้นมาด้วย มีการเปลี่ยนจากการปลูกยูคาลิปตัสและมันสำปะหลัง ไปปลูกผักและผลไม้และสามารถขายส่งร้านอาหารในสนามกอล์ฟในพื้นที่ได้ บางสวนก็มั่นใจขนาดลงทุนปลูกทุเรียน  

ดร.เกวลิน พลเกิ้น รองผู้อำนวยการ สถาบันทรัพยากรน้ำใต้ดิน มหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สาเหตุที่ทางสถาบันทำระบบสระขั้นบันไดเต็มรูปแบบ เนื่องจากประเมินแล้วว่ามีปริมาณน้ำที่ไหลลงจากภูเขาปริมาณมหาศาล ระบบสระขั้นบันได้จะช่วยชะลอน้ำและกักเก็บน้ำไว้บางส่วน และปล่อยให้ไหลออกไปให้ชาวบ้านข้างล่างมีน้ำใช้ในฤดูฝนโดยไม่ท่วมพื้นที่เหมือนอย่างเคย และในฤดูแล้งสระน้ำบริเวณใกล้เคียงกันนี้ก็มีระดับน้ำในสระสูงขึ้นจากที่เคยแห้ง จนทำให้เกษตรกรมีความมั่นใจ กล้าลงทุนปลูกพืชผัก ผลไม้มูลค่าสูง 

นอกจากประโยชน์ต่อคนแล้ว ระบบการเติมน้ำยังส่งผลต่อป่าและสัตว์ป่า โดยนอกจากระบบสระขั้นบันไดแล้ว ทางโครงการยังทำเป็นประตูน้ำที่ปิดเปิดได้ เพื่อให้สามารถการกักน้ำไว้ที่ตีนเขา ทำให้ในป่ายังมีน้ำยังความชุ่มชื้นเขียวอยู่ตลอด มีแหล่งน้ำผุดและหนองน้ำให้สัตว์ป่าได้กินน้ำ ไม่ลงมาบริเวณสวนไร่นาของชาวบ้าน

ไร่องุ่นอิงชูและสวนทุเรียนอินทรีย์ “สองเขา”

ไพจิตร จอมพันธ์ ผู้นำเกษตรกรผู้หันหลังให้เงินเดือนหลักแสนในการทำงานต่างประเทศ 17 ปี ลาออกจากงานกลับบ้านเกิดในปี 2561 และเริ่มบุกเบิกที่ดิน 2 ไร่ ทดลองปลูกองุ่นในระบบปลอดสารพิษ ไม่ใช้ยาฆ่าแมลง ปุ๋ยเคมี หรือสารเคมีใด ๆ โดยเด็ดขาด ดูแลโดยใส่ปุ๋ยคอกทั้งหมด ไพจิตรยังนำองค์ความรู้ต่าง ๆ จากการทำงานมาช่วยพัฒนาระบบการเกษตรในพื้นที่ใกล้กันกับไร่องุ่นอิงชู มีสวนทุเรียนของ ป้าบุญลือ จอมพันธ์ พี่สาวของไพจิตร

ป้าบุญลือ ดูแลสวนทุเรียนพื้นที่ 14 ไร่ มาเป็นเวลามากกว่า 15 ปีแล้ว นอกจากทุเรียนมากกว่า 120 ต้น ยังมีมังคุด ส้มโอ ลองกอง และมะม่วง ซึ่งแต่ก่อนป้าบุญลือใช้วิธีลากสายยางเพื่อรดน้ำเองทุกต้นทีละต้น และไม่ได้ทำแค่ดูแลสวน ป้าบุญลือยังเลี้ยงควายด้วย ขี้ควายที่ได้ก็นำมาใส่เป็นปุ๋ยให้ต้นทุเรียน จึงเป็นที่มาของชื่อ สวนทุเรียน “สองเขา” ซึ่งหมายถึงเขาควายนั่นเอง อย่างไรก็ตาม สวนทุเรียนของป้าบุญลือก็ประสบปัญหาสำคัญคือ ปริมาณน้ำไม่เพียงพอในหน้าแล้ง มีทุเรียนยืนต้นตายให้เห็นเป็นหลักฐาน

ปัจจุบัน ไพจิตร รับหน้าที่ประธานคณะทำงานเครือข่ายชุมชนต้นแบบเติมน้ำใต้ดิน ตำบลนนทรี และพัฒนาพื้นที่ศูนย์การเรียนรู้การเติมน้ำใต้ดินไร่องุ่นอิงชู ให้มีจุดเติมน้ำใต้ดินถึง 6 จุดด้วยกัน ทั้งระบบเติมน้ำผ่านสระ ระบบเติมน้ำผ่านหลังคา และระบบเติมน้ำผ่านบ่อวง โดยมีทั้งที่ลงทุนขุดเองและได้รับการสนับสนุนจากโครงการ TCP โอบอุ้มลุ่มน้ำไทย 

“เราได้ความรู้จากโครงการนี้ ต่อไปก็สามารถสร้างเองได้ไม่ขุดเสียพื้นที่เปล่า ในพื้นที่ละแวกเดียวกันเรามีจุดเติมน้ำถึง 6 จุด โดยมีสระใหญ่ที่ความลึก 9 เมตร ที่ได้รับการสนับสนุนจากโครงการ และสระโคกหนองนาที่ได้มาจากการให้ดินที่ได้จากการขุดให้ผู้ประกอบการรับถมที่ดิน บ่อแต่ละบ่อจะห่างกันรัศมีประมาณ 500 เมตร ความลึกเท่า ๆ กัน โยงใยถึงกัน ทำให้บ่ออื่น ๆ มีน้ำไปด้วย เวลาสูบน้ำไปใช้ ในเวลาไม่นานน้ำใต้ดินจะไหลกลับเข้ามาในบ่อ ถึงน้ำจะไม่มากในหน้าแล้ง แต่ไม่เคยแห้งไปเลย ยังมีใช้ตลอด”

จากเดิมที่ป้าบุญลือลากสายยางรดน้ำทีละต้น เมื่อมีน้ำเพียงพอ ไพจิตรได้ใช้ความรู้จากที่เคยทำงานด้านเกษตรมาในต่างประเทศ จัดทำระบบน้ำอัตโนมัติปิดเปิดด้วยโทรศัพท์มือถือ ติดตั้งสปริงเกอร์เป็นโซนครอบคลุมทั้งสวน ซึ่งในช่วงแล้งจัดจำเป็นต้องมีการรดน้ำเพิ่มในช่วงกลางวันเพื่อรักษาความชื้น จึงมีโครงการติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์ของกรมพลังงานภายในปีนี้ เพื่อใช้เป็นพลังงานในการสูบน้ำ เป็นการต่อยอดการพัฒนาที่เริ่มต้นจากการ “มีน้ำ” เพียงพอ

วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรอินทรีย์ ตอบโจทย์การรับรองมาตรฐานสากล 

ในร่มเงาของสวนเกษตรอินทรีย์ผสมผสาน มีทั้งไม้ยืนต้นหลากหลาย และพืชสวนความสูงหลายระดับเต็มพื้นที่ มีบ้านไม้สองชั้น ที่ต่อหลังคาให้ครอบคลุมพื้นที่กว้างขวางหน้าบ้านและหน้าบ้านใช้เป็นที่ทำการกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรอินทรีย์ ตำบลนนทรี และสหกรณ์เกษตรอินทรีย์ปราจีนบุรี และยังเป็นสถานที่รวบรวมผลผลิตเพื่อส่งสู่ตลาดเป้าหมายอีกด้ว

ระตะนะ ศรีวรกุล อดีตข้าราชการพยาบาล ที่หลังจากลาออกจากการเป็นพยาบาลก็ยังไม่หยุดทำงานด้านสุขภาพมาโดยตลอด ทั้งการรณรงค์และลงมือทำการเกษตรอินทรีย์เพื่อสุขภาพของเกษตรกรและผู้บริโภค ระตะนะเป็นเจ้าของบ้านและสวนแห่งนี้ และพื้นที่หลังคากว้างขวางของบ้านหลังนี้เองคือ ระบบเติมน้ำผ่านหลังคา โดยมีรางน้ำรวบรวมน้ำต่อท่อลงไปเก็บที่บ่อวง และติดตั้งระบบกระจายน้ำไปรอบสวน นอกจากนี้ยังมีระบบเติมน้ำผ่านสระอยู่ที่พื้นที่แปลงนาซึ่งทำการปรับปรุงจากสระขนาดจิ๋วที่เคยมีหน่วยงานมาขอลงงบประมาณในการขุดไว้ถึง 5 สระ แต่ไม่สามารถใช้การได้ 

ระตะนะ เล่าว่า ลำพังการใช้งานกับสวนเกษตรอินทรีย์ใช้แค่น้ำจากบ่อวงจากการเติมน้ำผ่านหลังคาก็เพียงพอแล้ว ส่วนสระที่ทุ่งนาจากที่ไม่เคยใช้ประโยชน์ได้ น้ำแห้งสนิท เมื่อทางสถาบันทรัพยากรน้ำใต้ดินฯ และ TCP เข้ามาพัฒนาการเติมน้ำใต้ดินเพียง 1 สระ ปรากฎว่ามีน้ำเยอะมากและไม่แห้ง สระใกล้เคียงก็เริ่มมีน้ำ จึงตัดสินใจถมไปสองสระ และที่เหลือปรับปรุง 2 สระจิ๋ว ให้เป็นสระเดียวกันและขุดลึกลงไปให้ถึงระดับน้ำข้างล่าง

“อาชีพหลักดั้งเดิมของเราตั้งแต่ปู่ย่าตายาย คือ การทำนา และเริ่มทำสวนเกษตรอินทรีย์ได้ประมาณ 9 ปี เริ่มจากเล็ก ๆ น้อย ๆ รายได้เดือนละ 2-3 ร้อย ก็เพิ่มขึ้นมาเรื่อย ๆ โดยเน้นปลูกพืชผักอายุยืนยาว เช่น ผักแต้ว ชะมวง พริก มะเขือ กล้วย มะละกอ ส้มโอ ทุเรียน มีผักกูดและจิงจูฉ่าย เป็นซิกเนเจอร์ เมื่อเรามีน้ำ ก็สามารถบำรุงรักษาเก็บขายได้ตลอดทั้งปี” 

การขายผลผลิตมีทั้งจัดการผลผลิตร่วมกันผ่านสหกรณ์เกษตรอินทรีย์ปราจีนบุรี ซึ่งมีการทำเอ็มโอยูกับโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ ในการส่งพืชผักผลไม้เพื่อนำไปทำอาหารสำหรับผู้ป่วยในโรงพยาบาล มูลค่าปีละ 6 ล้านบาท และส่งขายสมุนไพรชิ้นแห้งให้กับมูลนิธิเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ มูลค่าปีละ 5 – 8 ล้าน บาท เพื่อนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ในแบรนด์อภัยภูเบศร์ โดยต้องเป็นผลิตผลภายใต้การรับรองระบบเกษตรอินทรีย์เทียบเท่ามาตรฐานสากล ซึ่งในอนาคตยังต้องการขยายกำลังการผลิตอีกมาก

นอกจากนี้ สหกรณ์ฯ ยังมีร้านค้าสหกรณ์ที่เป็นช่องทางการขายผลิตผลโดยตรง มีการขายส่งให้ร้านเลม่อนฟาร์ม ขายผ่านตลาดสีเขียว และจำหน่ายทางช่องทางออนไลน์อีกด้วย และนี่คือสิ่งที่การเติมน้ำใต้ดิน ช่วยยกระดับการสร้างรายได้ เพราะเมื่อมีน้ำก็สามารถบำรุงรักษาพืชผัก ผลไม้ สมุนไพร ให้ได้น้ำสม่ำเสมอ มีผลิตผลส่งขายตลอดทั้งปี พืชผักอยู่ได้ ปลากลับมาในหนอง ระบบนิเวศน้ำและสิ่งแวดล้อมฟื้นฟูขึ้นอย่างเห็นได้ชัดจากการเติมน้ำใต้ดิน

“ที่สำคัญที่สุดพอระบบนิเวศดี ป่าดี น้ำดี ทุกคนสามารถปลูกผัก ทำเกษตร ขายได้เงิน ทุกคนในชุมชนก็รักกัน เวลาทำอะไรสาธารณะ เราก็พร้อมใจทำด้วยกัน ทอดผ้าป่า ทาสีวัด ฝีมือพวกเรา ซื้อสีเอง ลงแรงกันเอง อาหารการกินต่าง ๆ ช่วยกันหาไป คือ กระบวนการกลุ่มเป็นเรื่องสำคัญ เสริมพลังให้คนเข้มแข็ง รักกัน มีความสามัคคี ทำอะไรก็ทำได้” ระตะนะ สรุปส่งท้ายถึงสิ่งที่ชุมชนได้รับการยกระดับจากการเติมน้ำใต้ดิน

ร่วมผลักดัน ‘แผนแม่บทการจัดการเติมน้ำใต้ดิน’ ทางเลือกในการจัดการน้ำอย่างยั่งยืนโดยชุมชน 

ผศ.ดร.โพยม สราภิรมย์ ผู้อำนวยการสถาบันทรัพยากรน้ำใต้ดิน มหาวิทยาลัยขอนแก่น หน่วยงานสำคัญที่นำองค์ความรู้ด้านการจัดการเติมน้ำสู่ชั้นน้ำใต้ดิน หรือ Managed Aquifer Recharge (MAR) ซึ่งเป็นองค์ความรู้ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล มาใช้กับประเทศไทยตั้งแต่ปี 2552 ทางสถาบันได้ทำงานขยายองค์ความรู้ด้านการเติมน้ำใต้ดินมาควบคู่กับปรากฏการณ์ Climate Change ที่เริ่มชัดเจนขึ้น และในปี 2561 ได้ริเริ่มโครงการพัฒนาและจัดการน้ำอย่างยั่งยืนด้วยการเติมน้ำใต้ดินพื้นที่ลุ่มน้ำบางปะกง ภายใต้โครงการ TCP โอบอุ้มลุ่มน้ำไทย

ผลงานการดำเนินโครงการเติมน้ำใต้ดินในระดับตื้น ในพื้นที่ ต.นนทรี จ.ปราจีนบุรี ตั้งแต่ปี 2563 – 2565 สามารถจัดทำระบบเติมน้ำใต้ดินถึง 49 จุด และเติมน้ำได้มากกว่า 5.4 ล้านลูกบาศก์เมตร มีพื้นที่ได้รับประโยชน์จากการเติมน้ำใต้ดินทั้งทางตรงและทางอ้อมรวมกว่า 31,000 ไร่ (ร้อยละ 74 ของพื้นที่ตำบล) จากพื้นที่กว่า 42,000 ไร่ มีมูลค่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากโครงการฯ 34.17 ล้านบาท ก่อให้เกิดผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุน SROI คือ 1 ต่อ 17.09 บาท

“นอกจากการดำเนินงานในเชิงพื้นที่ต้นแบบ ทางสถาบันฯ ยังพยายามผลักดันให้เกิด แผนแม่บทการจัดการเติมน้ำใต้ดินของประเทศไทย เพื่อให้มีความชัดเจนขึ้น ว่าหน่วยงานภาคส่วนไหนควรทำอะไร เช่น บทบาทองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงเกษตรฯ จะสนับสนุนอย่างไร กรมทรัพยากรน้ำบาลดาลควรทำอะไร เช่น จัดลำดับให้ชัดเจนว่าพื้นที่ที่ควรทำเรื่องน้ำใต้ดินอยู่ตรงไหน และกระจายงบประมาณลงไป ชุมชนจะได้ประโยชน์จริงและสามารถบริหารจัดการเองได้ นอกจากนี้ ทางสถาบันฯ ยังได้พัฒนา ระบบสนับสนุนการตัดสินใจในการเติมน้ำใต้ดิน (Decision Support System – DSS) ซึ่งประชาชนสามารถเข้าไปใช้ระบบฐานข้อมูล ในการตัดสินขุดสระ หรือสร้างระบบเติมน้ำใต้ดินของตัวเองได้”

ทั้งนี้ โครงการพัฒนาและจัดการน้ำอย่างยั่งยืนด้วยการเติมน้ำใต้ดินพื้นที่ลุ่มน้ำบางปะกง อยู่ภายใต้โครงการ TCP โอบอุ้มลุ่มน้ำไทยที่กลุ่มธุรกิจ TCP ได้ดำเนินการสนับสนุนเงินทุน 100 ล้านบาทตามแผนการดำเนินงาน 5 ปี (พ.ศ. 2562 – 2566) ในพื้นที่ลุ่มน้ำยม ลุ่มน้ำบางปะกง และลุ่มน้ำโขง ครอบคลุม 7 จังหวัด ให้ได้เข้าถึงแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคมากกว่า 15 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือกว่า 3 เท่าของปริมาณน้ำที่กลุ่มธุรกิจ TCP ใช้ในตลอดกระบวนการ ตามกลยุทธ์ “ปลุกพลังห่วงใยสิ่งแวดล้อม”

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ