TH | EN
TH | EN
หน้าแรกInterviewบทบาท True Digital Park กับการสร้าง Tech Ecosystem ให้ประเทศไทย

บทบาท True Digital Park กับการสร้าง Tech Ecosystem ให้ประเทศไทย

หลายคนมักเปรียบเทียบ “ทรู ดิจิทัล พาร์ค” เป็นเหมือน “ซิลิคอน วัลเลย์” ในฐานะพื้นที่ที่เป็นศูนย์รวมสตาร์ตอัพ บริษัทเทคโนโลยี และนักลงทุน แต่ผู้บริหารหนุ่มซึ่งร่วมบุกเบิกโครงการนี้กลับเห็นต่าง

“เราต่างจากซิลิคอน วัลเลย์ ซึ่งเริ่มต้นจากมหาวิทยาลัย แต่เราเกิดจากความคิดของคอร์ปอเรตที่ต้องการช่วยพัฒนาประเทศ จากนั้นหาพาร์ทเนอร์ที่มีวิสัยทัศน์แบบเดียวกันช่วยกันสร้างองค์ประกอบขึ้นมา แล้วไปดึงหน่วยงานภาครัฐและมหาวิทยาลัยเข้ามาร่วมมือกัน”

”ส่วนด้านรูปลักษณ์เรามีไอเดียต้นแบบจาก สเตชั่น เอฟ ที่ดัดแปลงมาจากสถานีรถไฟเก่า ซึ่งผมมีโอกาสได้ไปดูงาน และบังเอิญได้เจอกับเจ้าของโครงการซึ่งทำธุรกิจโทรคมนาคมเหมือนทรู เขาเล่าให้ฟังว่ามันคืออะไร”

วันนี้โครงการ ทรู ดิจิทัล พาร์ค เปิดบริการมาเป็นเวลากว่า 3 ปีแล้ว นับจากเริ่มเฟสแรกในปี 2562 และเสร็จสมบูรณ์เมื่อเปิดเฟสสองช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2565 ที่ผ่านมา The Story Thailand จึงหาโอกาสพูดคุยกับ ฐนสรณ์ ใจดี กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทรู ดิจิทัล พาร์ค จำกัด ผู้บริหารโครงการ “ทรู ดิจิทัล พาร์ค” ถึงประสบการณ์ที่ผ่านมาและแผนอนาคตที่จะก้าวต่อไป

พาร์คไฮเทคของเอกชนรายแรก

“ช่วง 6-7 ปีก่อน มีกระแสเรื่องสตาร์ตอัพเข้ามาในประเทศไทย กลุ่มทรูมีความคิดว่าจะทำอย่างไรให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของ tech startup เพราะเชื่อว่ากลุ่มสตาร์ตอัพจะเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า”

ฐนสรณ์เปิดเรื่องที่มาของโครงการนี้ว่าเกิดจากวิสัยทัศน์ของ ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด และประธานกรรมการ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด ที่อยากจะสร้างให้ประเทศไทยมีระบบนิเวศที่เอื้อต่อการเติบโตของสตาร์ตอัพที่สมบูรณ์แบบ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาดิจิทัลของประเทศ

ปี 2561 เขาเข้ามามีส่วนทำให้แนวคิดชัดเจนว่าจะต้องทำโครงการเป็น innovation hub กับ startup ecosystem ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

“จากการศึกษาเราพบว่าในต่างประเทศจะเน้นด้าน location อย่างเช่น Station F ของฝรั่งเศส Silicon Valley ของสหรัฐอเมริกา หรือ The LaunchPads ของสิงคโปร์ ดังนั้น ทรู ดิจิทัล พาร์ค ควรจะเป็น destination location โดยเปิดให้สตารตอัพสามารถเข้ามาใช้ประโยชน์ได้เต็มที่ เพื่อสร้างโอกาสในการเติบโตของสตาร์ตอัพ”

ดังนั้นที่นี่ ที่ ทรู ดิจิทัล พาร์ค (True Digital Park) จึงเป็นพื้นที่เพื่อการพัฒนาด้านเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นจากการผลักดันของเอกชนโครงการแรกของประเทศไทย ในขณะที่โครงการอื่น ๆ ล้วนเกิดจากหน่วยงานภาครัฐทั้งสิ้

เขาบอกว่าการเป็นโครงการเอกชนเต็มตัวมีข้อดีคือสามารถปรับเปลี่ยนนโยบายได้ง่ายและคล่องตัวกว่า “เราคิดอะไรได้ก็ทำเพิ่ม อะไรที่ไม่เวิร์กก็ลดหรือเลิกไป”

ออกแบบพื้นที่เพื่อ Ecosystem 

ที่ดินขนาด 43 ไร่ ย่านถนนสุขุมวิท 101 ซึ่งเป็นที่ตั้งโครงการนี้ เดิมถูกวางแผนพัฒนาเป็นโครงการอาคารชุดพักอาศัยขนาดใหญ่ในชื่อ วิสซ์ดอม วันโอวัน ของบริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ภายหลังเปลี่ยนเป็นโครงการพัฒนาเชิงพาณิชย์แบบผสมที่รวมเอาพื้นที่พักอาศัย พื้นที่สำนักงาน และพื้นที่ธุรกิจไลฟสไตล์ ไว้ด้วยกัน

ภายในโครงการแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก คือ ทรู ดิจิทัล พาร์ค อีสต์ กับ ทรู ดิจิทัล พาร์ค เวสต์ เป็นทั้ง work space และ lifestyle space ที่บริหารพื้นที่โดย บริษัท ทรู ดิจิทัล พาร์ค จำกัด ส่วน วิสซ์ดอม โซไซตี้ ที่เป็น living space มีคอนโดมิเนียม 3 อาคาร รวม 1,900 ยูนิต ตั้งอยู่ด้านหลังของโครงการ บริษัท แมกโนเลียฯ บริหารเอง

“เราเช่าพื้นที่จากโครงการของแมกโนเลียฯ เอามาบริหารจัดการเพื่อพัฒนาเป็น startup ecosystem ตามวิสัยทัศน์ของผู้บริหารกลุ่มทรู”

ทรู ดิจิทัล พาร์ค อีสต์ เป็นเฟสแรกเริ่มเปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2562 ประกอบด้วยกลุ่มอาคารสำนักงาน 3 อาคาร บนฐานอาคารขนาดใหญ่เดียวกัน เป็น work space ออกแบบตามแนวคิด open innovation ด้วยการรวมผู้ที่มีส่วนใน ecosystem มาไว้ในที่เดียว

โดยเฟสแรกตั้งแค่ชั้น 5 ขึ้นไปมีพื้นที่ทั้งหมด 45,000 ตารางเมตร ส่วนที่เป็น ecosystem และส่วน co-working มีขนาดเกือบ 10,000 ตารางเมตร ส่วนออฟฟิศขนาดเล็กและขนาดกลางประมาณ 5,000 ตารางเมตร ส่วนพื้นที่ออฟฟิศขนาดใหญ่ราว 20,000 ตารางเมตร

“ส่วนที่เป็น ecosystem จะมีแล็ปที่เป็นโชว์เคสของบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่อย่าง Google, Huawei, Ricoh รวมถึงมหาวิทยาลัยด้วย มี event space ที่สามารถปรับเปลี่ยนให้จัดตรงไหนก็ได้ มี co-working space ขนาดประมาณ 400-500 ที่นั่ง สำหรับขาจรนั่งทำงาน มีออฟฟิศขนาดกลางและเล็กที่ใช้ facility ร่วมกัน รองรับสตาร์ตอัพขนาดเล็กที่ต้องการทำงานแบบประจำ รวมทั้งมีออฟฟิศขนาดใหญ่สามารถรองรับคนได้ 100-200 คน ตอบโจทย์คอร์ปอเตและสตาร์ตอัพขนาดใหญ่”

ผู้บริหารโครงการเผยว่า แนวคิดสำคัญของการบริหารจัดการพื้นที่ต่าง ๆ ยึดหลักความยืดหยุ่นสามารถปรับเปลี่ยนขนาดพื้นที่และการใช้สอยได้หลากหลายเพื่อรองรับความต้องการจากหลายกลุ่ม ตั้งแต่คนเดียว กลุ่มขนาดเล็ก ผู้ประกอบการทั้งขนาดเล็กและขนาดกลาง จนถึงบริษัทขนาดใหญ่ เป้าหมายเพื่อทำให้เกิดการรวมตัวกันของคนที่ทำงานด้านเทคโนโลยี

“เราพบว่าสตาร์ตอัพจำนวนหนึ่งใหญ่ไม่พอที่จะมี facility เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของพนักงาน แต่มาอยู่ที่นี่เรามีสิ่งอำนวยความสะดวกให้พร้อมโดยสตาร์ตอัพไม่ต้องลงทุนสูง”

“โดยเฉพาะพื้นที่ออฟฟิศจะมี full service ภายในมีเฟอร์นิเจอร์พร้อม ภายนอกเป็นพื้นที่ส่วนกลางมีสิ่งอำนวยความสะดวกหลายอย่าง ทั้งห้องประชุมที่มีอุปกรณ์ต่าง ๆ พร้อม มีบริการน้ำชากาแฟ มีเจ้าหน้าที่คอยดูแลบริการแบบโรงแรม ผู้เช่าแค่หิ้วกระเป๋าเข้ามาก็ทำงานได้เลย”

สำหรับพื้นที่ฐานอาคาร 4 ชั้น เป็น lifestyle space มีศูนย์การค้าแบบคอมมูนิตี้มอลล์ ที่มีทั้งร้านอาหาร ร้านค้า ธนาคาร ซูเปอร์มาร์เก็ต พื้นที่ออกกำลังกาย และพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ เพื่อรองรับวิถีชีวิตตลอด 24 ชั่วโมงของผู้ที่มาใช้บริการและผู้ที่ทำงานอยู่ใน ทรู ดิจิทัล พาร์ค

ส่วน ทรู ดิจิทัล พาร์ค เวสต์ ซึ่งเป็นเฟสสองที่เพิ่งเปิดให้บริการในไตรมาสที่ 3 ปี 2565 สร้างเป็นอาคารสูง 16 ชั้น เน้นพื้นที่ event space เป็นสำคัญ โดยมีพื้นที่เอนกประสงค์ขนาดใหญ่รองรับทั้งการทำงาน การศึกษา และเป็นพื้นที่เชิงการเรียนรู้ครบวงจร มีฮอลล์ที่จุคนได้สูงสุด 500 คน สำหรับการจัดกิจกรรมและการประชุมขนาดกลาง และมีห้องประชุมแบบส่วนตัวที่ให้ความรู้สึกเหมือนประชุมอยู่บ้าน รวมทั้งมีพื้นที่ค้าปลีก และพื้นที่ส่วนสำนักงาน

พื้นที่ส่วนที่เป็น ecosystem ของเฟสสองเกือบ 45,000 ตารางเมตร ชั้น 1 เป็นพื้นที่ส่วนรีเทล ขนาด 5,000 ตารางเมตร ชั้น 2 และ 3 รวมกันประมาณ 6,000 ตารางเมตร เป็นพื้นที่แล็บกับห้องสมุด ที่เหลือประมาณ 3,000 ตารางเมตร เป็น event space ชั้น 4 พื้นที่กว่า 4,000 ตารางเมตร เป็นพื้นที่สำหรับจัด sandbox ชั้น 5 พื้นที่ 5,000 ตารางเมตร เป็นส่วนออฟฟิศขนาดเล็ก ที่เหลืออีกกว่า 20.000 ตารางเมตร เป็นส่วนพื้นที่ออฟฟิศ

“ในเฟสสองนี้เราขยายพื้นที่ activity space ให้ใหญ่ขึ้นและหรูขึ้น เพราะถึงเวลาแล้วที่เราเชื่อว่าสามารถจะจัด tech event ระดับภูมิภาคได้ โดยเรามีใบอนุญาต MICE จัดอีเวนท์เป็นทางการได้”

เขากล่าวว่าพื้นที่ของสองงฝั่งทั้งอีสต์และเวสต์รวมกันสามารถรองรับกิจกรรมที่จุคนได้จำนวนนับพันคน โดยการกระจายกิจกรรมออกไปตามพื้นที่ต่าง ๆ ของทั้งสองอาคาร

ส่วนคอนโดมิเนียม 3 อาคาร แม้ ทรู ดิจิทัล พาร์ค จะไม่ได้บริหารจัดการ แต่ก็เป็นส่วนประกอบสำคัญของ ecosystem เพราะคนที่มาทำงานที่นี่ หรือตั้งบริษัทที่นี่ ทั้งคนไทยและต่างชาติ จำนวนมากเช่าซื้ออาคารพักอาศัยในโครงการ

“คอนโดมิเนียมที่อยู่ด้านหลัง ทรู ดิจิทัล พาร์ค จึงเป็นคอมพลีเมนต์ ตอนที่ปรับโครงการมาเป็น ecosystem เราจึงต้องสร้างเงื่อนไขให้สอดรับกัน พอสร้างส่วนพักอาศัยเสร็จ สร้างพาร์คเสร็จก็จับคู่กันได้พอดี”

“อีกส่วนคือบริษัทข้ามชาติที่ต้องการนำทีมงานต่างชาติเข้ามาทำงาน เช่นมีบริษัทรายหนึ่งต้องการนำดีเวลอปเปอร์ชาวเวียดนามเข้ามาทำงานกับเรา ก็มาพักที่คอนโดฯ ในโครงการ ซึ่งเราก็ออกแบบเป็นแพ็กเก็จนำเสนอว่าถ้าเข้ามาใช้พื้นที่ในพาร์ค เราก็จัดการให้ได้ทุกอย่างทีเดียว ทั้งออฟฟิสและที่พักอาศัย”

กว่าจะเป็น Startup Ecosystem 

“วิสัยทัศน์ของเราต้องการเป็น under one single roof startup ecosystem ที่ใหญ่ที่สุดและสมบูรณ์ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่พร้อมทั้งสถานที่ องค์ความรู้ เงินทุน และองค์ประกอบอื่นๆ ที่เอื้อต่อระบบนิเวศของสตาร์ตอัพอยู่ในที่เดียวกัน”

ฐนสรณ์ กล่าวว่า การสร้างให้เกิดระบบนิเวศที่สมบูรณ์ตามวิสัยทัศน์ดังกล่าว ไม่ใช่เพียงการมีสถานที่ที่เพียบพร้อมเท่านั้น ยังต้องมีองค์ประกอบอื่น ๆ อีกหลายประการ

“ถ้ามองเผิน ๆ พาร์คเป็นแค่อาคารสำนักงาน แต่ความเป็นจริงไม่ใช่ คำว่า startup ecosystem นั้นกว้าง เมื่อวิเคราะห์ออกมาจะพบว่าสตาร์ตอัพต้องการพบปะผู้คน อยากได้เงินลงทุน อยากได้คอนเนคชั่น และอยากเติบโต ถ้าจะให้บริษัทสตาร์ตอัพประสบความสำเร็จ และประเทศได้ประโยชน์ เราต้องคิดว่าที่นี่ควรจะมีองค์ประกอบอะไรบ้าง”

องค์ประกอบแรก คือ ภาครัฐจะต้องเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง เขาจึงเริ่มต้นด้วยการเข้าไปพูดคุยกับองค์กรภาครัฐ เช่น สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) เพื่อหาว่าจะมีความร่วมมืออะไรได้บ้าง 

“เวลานั้น NIA อยากจะสร้าง Cybertech District เนื่องจากเราเป็น tech อยู่แล้ว จึงคิดว่าน่าจะสร้าง ecosystem ที่นี่ในรัศมี 3-5 กม.ให้เป็น tech ไปด้วย จึงพูดคุยกับเจ้าของอาคารและชุมชนในเรื่องการสร้างชุมชนทันสมัยที่ดึงดูดคนรุ่นใหม่และชาวต่างชาติเข้ามาอยู่ในพื้นที่นี้ โดยมี ทรู ดิจิทัล พาร์ค เป็นศูนย์กลาง ซึ่งทาง NIA จะช่วยโปรโมทให้เป็น Bangkok Cybertech District”

ด้าน BOI สนับสนุนในเรื่องสิทธิพิเศษทางภาษีสำหรับบริษัทที่จะเข้ามาอยู่ในพาร์ค ส่วนดีป้า ซึ่งโฟกัสเรื่อง EEC มาเปิดศูนย์บริการที่พาร์คเพื่อรองรับคนที่อยากจะไป EEC

นอกจากนี้ ทางพาร์คได้ร่วมมือกับ BOI และ NIA ทำโครงการ Smart Visa เพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานหรือดำเนินธุรกิจในประเทศไทยกับ ทรู ดิจิทัล พาร์ค ด้วยบริการแบบ one stop service เพื่อดึงดูดคนทำงานและนักลงทุนจากทั่วทั้งโลก

“โครงการแบบนี้จะตอบโจทย์บริษัทขนาดเล็ก ที่พาร์คมีหลายสิบคนที่ผ่านโปรแกรมนี้ ตัวอย่างมีบริษัทเล็ก ๆ จากออสเตรเลียได้วีซ่าจากโปรแกรมนี้แล้วมาจัดตั้งบริษัทในประเทศไทย โดยเราให้คำปรึกษาตั้งแต่ต้นจนสามารถตั้งบริษัทได้สำเร็จ”

องค์ประกอบที่สอง คือ สตาร์ตอัพอยากมีคนที่จะขายงานและทำงานร่วมกันได้ ทรู ดิจิทัล พาร์ค จึงไปจับมือกับบริษัทเทคโนโลยีต่าง ๆ  ที่มีศักยภาพในการสนับสนุนด้านเทคโนโลยีแก่สตาร์ตอัพ รวมถึงให้งานกับสตาร์ตอัพได้ เข้ามาช่วยกันสร้าง ecosystem 

“เรามี Google เข้ามาเปิด Academy Bangkok บริษัทใหญ่ของจีนอย่าง Huawei เปิด Lab center บริษัท Ricoh และ Mitsubishi Robotic ของญี่ปุ่นก็เปิด Lab เช่นเดียวกัน และมีบริษัทสตาร์ตอัพรายใหญ่ต่าง ๆ รวมทั้งบริษัทดิจิทัลในเครือซีพี เช่น True Digital Group และ Ascend Group ทั้งหมดรวมกว่า 40-50 บริษัท”

สิ่งที่จะต้องทำอีกอย่างคือการให้โอกาสในเรื่องเงินทุนโดยดึงบรรดา VC ทั้งของไทยและต่างประเทศ รวมทั้ง corporate VC เข้ามาลงทุนกับสตาร์ตอัพ

“เราคุยกับ VC ว่านอกจากมาลงทุนแล้ว VC ต้องสอนสตาร์ตอัพในการดำเนินธุรกิจด้วย เรามีโปรแกรม VC Clinic สตาร์ตอัพสามารถจองเวลาและนั่งคุยรับตำปรึกษาจาก VC ได้ ซึ่งที่ผ่านมาทำให้เกิดการลงทุนขึ้นราว 30 ราย”

อีกองค์ประกอบ คือ ผู้ช่วยทำให้สตาร์ตอัพเติบโต พาร์คได้ร่วมกับ incubator สร้างโครงการบ่มเพาะธุรกิจและให้คำปรึกษาแก่สตาร์ตอัพเพื่อให้เกิดรูปแบบธุรกิจที่มีประสิทธิภาพ และร่วมมือ accelerator สนับสนุนในการเร่งการเติบโตและเพิ่มมูลค่าธุรกิจแก่สตาร์ตอัพ

นอกจากนี้ก็ยังสนับสนุนด้านบริการให้การปรึกษาแก่สตาร์ตอัพหลายด้าน ทั้งด้านบัญชี การเงิน การบริหารธุรกิจ ทั้งแบบบริการฟรีและแบบมีค่าใช้จ่าย

“เมื่อองค์ประกอบต่าง ๆ พร้อม การรับรู้เกี่ยวกับ ทรู ดิจิทัล พาร์ค ก็เปลี่ยนไปเป็นว่าถ้าเป็นบริษัทเทคโนโลยีจะต้องเข้ามาอยู่ที่นี่ร่วมกับบริษัทเทคโนโลยีอื่น ๆ“

ทั้งคนไทยและเทศต่างรู้จัก

“ปี 2562 ถึงต้นปี 2563 เรามีกิจกรรมตลอดปี จนเกิดโควิต-19 ระบาด เปลี่ยนมาเป็นกิจกรรมแบบออนไลน์ มีการทำ sandbox ตั้งโจทย์เพื่อช่วยแก้ปัญหาให้คอร์ปอเรต พอการระบาดลดลงก็กลับมาจัดอีเวนต์ สลับไปมาตามสถานการณ์ บางงานก็จัดในลักษณะไฮบริดระหว่างออฟไลน์กับออนไลน์”

ผู้บริหาร ทรู ดิจิทัล พาร์ค เล่าถึงการทำงานที่ยากลำบากในช่วงเริ่มต้นโครงการเมื่อต้องเผชิญโรคระบาดใหญ่ แต่ตลอดช่วงเวลาดังกล่าวก็พยายามสร้างกิจกรรมต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง จนมีการรับรู้บทบาทในฐานะ startup ecosystem ขึ้นมา

“ช่วงการระบาดของโควิดกิจกรรมที่เปลี่ยนไปเป็นแบบออนไลน์ หรือแบบ hybrid online มีคนเข้าร่วมจำนวนมากอย่างงาน Startup Thailand 2021 จนโควิดซาลงเราเริ่มกลับมาจัดงาน onsite เต็มรูปแบบกันเมื่อต้นปี 2565 ที่ผ่านมา”

เมื่อถามว่าหลายปีที่ลงแรงไปเกิดผลลัพธ์ตามที่ตั้งเป้าไว้แค่ไหน ผู้บริหารหนุ่มตอบแบบไม่ลังเลว่า 

“วันนี้เราทำให้คนรู้ว่าที่นี่เป็นศูนย์รวมด้านเทคโนโลยี ตอนนี้ทั้งคนไทยและต่างประเทศรู้แล้วว่าถ้าจะทำบริษัทเทคโนโลยีต้องมาที่นี่ โดยเฉพาะในเมืองไทยบรรดาบริษัทด้านเทคโนโลยีรู้จัก ผู้ที่จะทำสตาร์ตอัพก็เข้ามาหาเราเพราะทรู ดิจิทัล พาร์ค เริ่มเป็นที่รู้จักพอสมควรแล้ว”

นอกจากนี้ ยังมีผู้จัดอีเวนต์ด้านเทคโนโลยี หรืออีเวนต์ของคนรุ่นใหม่ให้ความสนใจเข้ามาคุยกับทางพาร์คมากขึ้นด้วย

“เรื่องที่เซอร์ไพรส์คือผมเพิ่งไปที่มาเลเซียและเวียดนาม ปรากฏว่าพวกเขารู้จัก ทรู ดิจิทัล พาร์ค เราเป็นที่รู้จักไปถึงไต้หวันและประเทศจีน แม้แต่ซาอุดิอารเบียก็มีผู้รู้จักเรา”

ส่วนผลงานในด้านผู้ใช้บริการ เขาเปิดเผยว่าเฉพาะเฟสหนึ่ง ปัจจุบันมีฐานสมาชิกประมาณ 7,000 คน ที่มีการลงทะเบียนเข้ามาใช้ประโยชน์จากพื้นที่ของพาร์ค ส่วนพื้นที่รีเทลมีทราฟฟิกประมาณ 10,000 คนต่อวัน ส่วน event space ที่มีการจัดอีเวนต์ทุกสัปดาห์ มีคนเข้าร่วมไม่น้อยกว่า 1,000 คน เฉลี่ยมีผู้คนเข้ามาใช้ประโยชน์ที่พาร์คมากกว่าวันละ 10,000 คน

“บริษัทสตาร์ตอัพจากที่มีในฐานข้อมูลราว 1,500 ราย ปัจจุบันเข้ามาเช่าพื้นที่จำนวนเกือบ 200 ราย โดยมีอีกไม่น้อยที่เข้ามาทำกิจกรรมร่วมกัน มาพูดคุยกับ VC หรือเข้ามาทำ sandbox ซึ่งเป็นโปรแกรมที่จัดขึ้นมาร่วมกับพาร์ทเนอร์เพื่อช่วยแก้ปัญหาให้กับองค์กรธุรกิจ”

ขยายเครือข่าย-กระจายพื้นที่

“เรามีไอเดียที่จะนำแนวคิดของ ทรู ดิจิทัล พาร์ค ไปทำยังหัวเมืองใหญ่ ๆ แต่คงจะขนาดเล็กลง โดยกำลังอยู่ในขั้นทดลองกับหลายพื้นที่ บางแห่งอยู่ในมหาวิทยาลัย บางแห่งอยู่ในศูนย์การค้า”

ผู้บริหารพาร์คเปิดเผยว่ากำลังร่วมมือกับบริษัท ทรู สเปซ ซึ่งเป็นเจ้าของโคเวิร์คกิ้งสเปซขนาดเล็กประมาณ 500 ตารางเมตร ศึกษาและออกแบบรูปแบบการพัฒนาพื้นที่ต่างจังหวัดให้มีองค์ประกอบคล้ายกับ ทรู ดิจิทัล พาร์ค เช่น มีออฟฟิศเล็ก ๆ มีโคเวิร์คกิ้งสเปซ มีโปรแกรมที่สามารถคอนเนคและลิงก์กลับมาที่ ทรู ดิจิทัล พาร์ค ได้

“ทั้งนี้ ทรู สเปซ จะทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมให้กับมหาวิทยาลัย เพื่อดึงดูดคนเข้ามาอยู่ใน ecosystem ด้วย”

อย่างไรก็ตาม เขามีความเห็นว่าการขยายพื้นที่ของ ทรู ดิจิทัล พาร์ค เป็นไปได้หลายแนวทาง อาจจะเป็นแบบมีหลาย location ก็ได้ หรือการมีโปรแกรมมากขึ้นก็ได้ 

“เรามีการร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ที่พยายามจะสร้างเครือข่ายที่ไร้ขอบเขต เช่นกรณี ทรู สเปซ ก็มีการพยายามทำ MOU กับบริษัทหลายราย หรือกรณีอาคารที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับ ทรู ดิจิทัล พาร์ค เราอาจไปจับมือเพื่อทำโครงการบางส่วนร่วมกันก็ได้ ก็เป็นการขยายสเกลออกไปได้”

“ผมจิตนาการว่าถ้าเราทำตึกสองฝั่งให้เป็น tech space เมื่อคนเดินข้ามไปมา สักวันมันก็ลามออกไปเรื่อย ๆ ไปทางด้านบางนา ไปทางด้านพระโขนง แบบเดียวกับที่สยามสแควร์เป็นจุดเริ่มของย่านแฟชั่นสำหรับวัยรุ่นแล้วขยายออกไป ก็เป็นไปได้ว่าเริ่มต้นจากเราแล้วขยายออกไปเป็นย่านเทคโนโลยีสักวันหนึ่ง”

Ecosystem งานที่ไม่มีวันเสร็จ

“การทำงานของเรายังมุ่งโฟกัสไปที่สตาร์ตอัพเพราะเรายังมีความเชื่อว่าบริษัทขนาดเล็กจะเป็นส่วนสำคัญในการเปลี่ยนโฉมหน้าของประเทศไทย โดยเฉพาะพวก tech startup เราไม่เชื่อว่าคอร์ปอเรตจะอยู่ได้ด้วยตัวเองเพียงลำพัง จำเป็นต้องมีกลไกเล็ก ๆ เข้ามาช่วยขับเคลื่อนเพราะมีความคล่องตัวมากกว่า”

ดังนั้น หลังจากเปิดเฟสสองแล้ว ทรู ดิจิทัล พาร์ค จะมีการเพิ่มบทบาทในการส่งเสริมงานวิจัยเทคโนโลยีเชิงลึกมากขึ้นโดยจะใช้พื้นที่ชั้น 2 ขนาด 5,000 ตารางเมตร ทำเป็น excellence center open lab ที่เปิดโอกาสให้ผู้สนใจเข้ามาสัมผัสกับผู้เชี่ยวชาญได้จริง เพิ่มเติมจากแล็บปิดที่มีอยู่แล้ว เขาคาดว่าจะเริ่มได้ภายในต้นปี 2566 

“เมื่อก่อนเราได้แค่ทำตามเทรนด์เพราะไม่รู้ what next การมี R&D จะบอกให้เรารู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต” ซึ่งเขาบอกว่าสิ่งนี้จะได้มาจากความต้องการองค์กรธุรกิจ สถาบันการศึกษา และโปรเจ็คต์ต่าง ๆ

นอกจากนี้พื้นที่ชั้น 4 ยังเตรียม 1,000 ตารางเมตร สำหรับทำเรื่องโปรแกรม sandbox โดยเฉพาะเพื่อให้สตาร์ตอัพมาจัดกิจกรรม hackathon ได้เป็นระยะเวลาที่ยาวขึ้น

“ระยะสั้นเราพยายามจะทำให้สตาร์ตอัพ คอร์ปอเต หรือประเทศไทย มีเทคโนโลยีเชิงลึกมากขึ้น แต่ในอนาคตการสร้างบริษัทขนาดเล็กหรือสตาร์ตอัพ อาจจะเปลี่ยนรูปแบบไป มันไม่มีสูตรตายตัว”

ส่วนอีเวน์ของ ทรู ดิจิทัล พาร์ค ด้วยความพร้อมด้านสถานที่ที่มีมากขึ้น เขาและทีมงานมีการเตรียมการที่จะจัด tech event ของตัวเองที่ชื่อว่า The Grand Forum เพื่อดึงดูดสตาร์ตอัพระดับภูมิภาคเข้ามาอีกด้วย

ผู้บริหารหนุ่มบอกกับ The Story Thailand ว่างานสร้าง ecosystem มีความเหมือนกับสตาร์ตอัพตรงที่ทำเท่าไรก็ไม่เสร็จ เขาและทีมงานจะต้องคิดค้นและปรับปรุงการทำงานเพื่อรองรับความต้องการของฝ่ายต่าง ๆ อยู่ตลอดเวลา 

”มีคอนเซ็ปต์หนึ่งของตึก ทรู ดิจิทัล พาร์ค ที่ออกแบบให้ดูเหมือนที่นี่ยังทำไม่เสร็จ เช่นเป็นปูนเปลือย แนวคิดคือ startup หมายถึงยังไม่เสร็จ ที่ที่มันอยู่ก็ต้องไม่เสร็จ ต้องทำไปเรื่อย ๆ ไม่มีวันเสร็จ”

อีกด้านของทีมงานพาร์ค

ในฐานะที่ ทรู ดิจิทัล พาร์ค เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มทรู ซึ่งมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในสตาร์ตอัพ ทำให้ The Story Thailand อดถามไม่ได้ว่าที่ผ่านมาถูกตั้งข้อสงสัยเรื่องความเป็นกลางหรือไม่

“คงหนีไม่พ้นที่จะมีใครตั้งข้อสงสัยในเรื่องนี้ แต่จำนวนมากเชื่อว่าเราทำงานด้วยความเป็นกลางจริง”

หัวเรือใหญ่ของ ทรู ดิจิทัล พาร์ค ตอบทันทีแบบไม่ลังเล และชี้ให้เห็นว่าถ้าดูรายชื่อสตาร์ตอัพที่มาอยู่ที่นี่ จะเห็นชัดเจนว่าไม่ใช่บริษัทที่มีการลงทุนกับซีพี หรือดูจากผลงานที่ผ่านมา อย่างเช่นการจัด sandbox แต่ละครั้งมีบริษัทต่าง ๆ เข้ามาร่วมกันมากมาย ไม่ใช่มีเพียงในกลุ่มซีพีเท่านั้น

เขายืนยันว่าผู้ที่ได้ประโยชน์จากการลงทุนโครงการนี้ส่วนใหญ่เป็นคนนอก “ชัดเจนว่าไม่ใช่พาร์ค ไม่ใช่ซีพี แต่เป็นบรรดาบริษัทสตาร์ตอัพไทย หรือ VC จากสิงคโปร์ ที่ได้ประโยชน์”

“ที่นี่เกิดจากมายด์เซ็ตของผู้บริหารเครือซีพีที่จะ contribute จากเครือออกไปแล้วทุกคนได้ประโยชน์ ประเทศได้ประโยชน์ คนในประเทศได้ประโยชน์ และสุดท้ายบริษัทในเครือได้ประโยชน์”

สำหรับหน่วยงานภายใต้กลุ่มทรูที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการส่งเสริมสตาร์ตอัพ หลังจากมีพื้นที่นี้เกิดขึ้นส่วนใหญ่ก็เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งและใช้ประโยชน์จาก ecosystem เช่นกัน

“ไม่ว่าจะเป็น True Incube center หรือ True Lab หรือแม้แต่ทีม investment ของเครือซีพีก็มานั่งทำงานที่นี่”

เขายกคำพูดที่มีผู้กล่าวไว้ว่า “ถ้าจะทำ innovation ภายในคอร์ปอเรตนั้นเป็นเรื่องยาก ต้องแยกส่วนออกมาทำภายนอกจะเกิดได้ง่ายกว่า” ซึ่งเป็นสาเหตุที่หลายบริษัทแยกบางส่วนออกมานั่งทำงานที่นี่ เพื่อใช้ประโยชน์จากที่นี่ ไม่เฉพาะแค่เครือพีซีเท่านั้น

“ส่วนของเราประโยชน์ที่ได้คือผลตอบแทนจากการบริหารพื้นที่และการจัดงานอีเวนท์”

เขาอธิบายว่า “ทรู ดิจิทัล พาร์ค เป็นบริษัท property เรามีภารกิจที่จะต้องทำให้ตัวเองอยู่รอดได้ด้วยการบริหารพื้นที่ในโครงการ หลังจากนั้นจึงไปตอบสนองความต้องการของคนอื่นที่อยู่รอบตัวเรา”

จึงต้องมีการสร้างสมดุลทั้งสองด้าน โดยรักษาบทบาทในภารกิจทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวตามวิสัยทัศน์ของผู้บริหารกลุ่มทรู

อย่างไรก็ตาม เขาย้ำว่าคุณค่าหลักของ ทรู ดิจิทัล พาร์ค คือการสร้าง tech ecosystem ให้กับประเทศ ส่วนการให้พื้นที่ในการสร้างกิจกรรมแก่สตาร์ตอัพและบริษัทต่าง ๆ เป็นคุณค่าเสริม

“บทบาทของเราเน้นการช่วยพัฒนาองค์กรขนาดเล็กให้เติบโตขึ้นเพื่อจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ ที่นี่เราจึงจำกัดว่าผู้ที่จะเข้ามาเช่าพื้นที่ในพาร์คจะต้องเป็นบริษัท tech innovation และมีแนวคิดเรื่อง sustainability ไม่ใช่ใครก็ได้” 

ฐนสรณ์ ยืนยันว่า “เราไม่ได้เลือกเพราะความเย่อหยิ่ง แต่ถ้าไม่กำหนดไว้วันนี้ก็คงจะไปเป็นแบบนี้ แม้แต่คนที่ทำงานอยู่ในองค์กรของเราก็อยากให้มีความสนใจด้านนี้ด้วย ไม่ใช่ว่ารับใครก็ได้เข้ามาทำงาน”

อศินา พรวศิน – สัมภาษณ์
สมชัย อักษรารักษ์ – เรียบเรียง

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ