TH | EN
TH | EN
หน้าแรกSustainability“กสิกรไทย” วาง 6 ยุทธศาสตร์ด้าน ESG มุ่งสู่เป้าหมายธนาคารแห่งความยั่งยืน

“กสิกรไทย” วาง 6 ยุทธศาสตร์ด้าน ESG มุ่งสู่เป้าหมายธนาคารแห่งความยั่งยืน

“ความยั่งยืน” กำลังเป็นประเด็นสำคัญ ที่ทำให้องค์กรต่าง ๆ หันมาให้ความสำคัญ ไม่พ้นแม้แต่สถาบันการเงิน ธนาคารกสิกรไทย เป็นหนึ่งในสถาบันการเงินที่มีนโยบายด้านความมั่นคงในระดับแนวหน้าของเมืองไทย ซึ่งเป็นเรื่องราวที่น่าศึกษาและทำความเข้าใจว่าสถาบันการเงินมีมิติแห่งความยั่งยืนอย่างไร

กฤษณ์ จิตต์แจ้ง กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) บอกกับ The Story Thailand ว่า นโยบายด้านความยั่งยืนของธนาคารกสิกรไทย หรือ KBank เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2557 คณะกรรมการของธนาคารฯ มีการพิจารณาทบทวนเป็นประจำทุกปี เพื่อให้ทุกหน่วยงานนำไปปฏิบัติอย่างจริงจัง สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่เสมอ มีการวางโครงสร้างการบริหารงานด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้ทำหน้าที่เป็นฟันเฟืองหลักในการขับเคลื่อนนโยบาย ด้วยการกำหนดเป้าหมายและผลักดันสู่การปฏิบัติในสายงานต่าง ๆ ตลอดจนมีตัววัดผลที่ชัดเจน

นโยบายนี้เป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการทำงานและการดำเนินธุรกิจ บนหลักการธนาคารแห่งความยั่งยืน (Bank of Sustainability) ภายใต้การกำกับดูแลกิจการที่ดี การบริหารความเสี่ยง และการบริหารจัดการต้นทุนที่เหมาะสม เพื่อเสริมสร้างสมดุลทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ด้วยยุทธศาสตร์การดำเนินธุรกิจที่ทำให้บรรลุเป้าหมายในการเจริญเติบโตและสร้างผลตอบแทนอย่างยั่งยืนในระยะยาว อำนวยประโยชน์สูงสุดให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย และเพื่อให้นโยบายด้านความยั่งยืนประสบความสำเร็จ ทางธนาคารได้กำหนดเป็นยุทธศาสตร์ กระจายเป็นกลยุทธ์ และแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน

เราได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาเพื่อความยั่งยืน หรือยุทธศาสตร์ด้าน ESG ที่ครอบคลุมมิติสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ประกอบไปด้วย 6 ยุทธศาสตร์หลักและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนในแต่ละมิติ” กฤษณ์เล่าให้ฟัง

เริ่มต้นจากมิติสิ่งแวดล้อม ธนาคารต้องการจะเป็นผู้พิทักษ์และรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างสังคมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero society) โดยมี 2 ยุทธศาสตร์รองรับ

ยุทธศาสตร์ที่ 1 ส่งเสริมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์จากการดำเนินงานของธนาคารและช่วยในการประหยัดต้นทุนของธนาคาร (Own operations : Zero emission with cost-efficiency) โดยมีกิจกรรมที่สำคัญ ๆ ประกอบไปด้วย การเปลี่ยนจากการใช้น้ำมันมาเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพและเปลี่ยนเป็นรถยนต์ไฟฟ้า ส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน การปรับกระบวนการปฏิบัติงานให้เหมาะสมเพื่อรับรองประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจ เช่น พลังงาน น้ำ ของเสีย การเดินทางเพื่อธุรกิจ กระดาษ การใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและกระบวนการทำงานสีเขียว เป็นต้น

ยุทธศาสตร์ที่ 2 ส่งเสริมให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในพอร์ตโฟลิโอสินเชื่อของธนาคาร (Decarbonize financed portfolio emissions) มีกิจกรรมที่สำคัญ อาทิ การพัฒนา glidepath และการจัดลำดับความสำคัญของภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่มีคาร์บอนสูง เพื่อประกอบการพิจารณาในการให้สินเชื่อหรือสนับสนุนทางการเงิน การพัฒนาแผนการมีส่วนร่วมของลูกค้าเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ การเพิ่มการเงินสีเขียวและการลงทุนด้านความยั่งยืนในช่วงเปลี่ยนผ่าน การริเริ่มสิ่งใหม่ที่นอกเหนือไปจากโซลูชันทางการเงินเพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น แพลตฟอร์มซื้อขายคาร์บอน แพลตฟอร์มสีเขียว และการเชื่อมต่อพันธมิตรในระบบนิเวศสีเขียว เป็นต้น นอกจากนี้ทางธนาคารยังมีโครงการที่จะกำหนดปริมาณผลกระทบจากความเสี่ยงต่อสภาพอากาศด้วย

ต่อมาเป็น มิติทางสังคม ธนาคารฯ มีความต้องการที่จะเป็นพลเมืองที่รับผิดชอบเพื่อสร้างสังคมที่ยั่งยืน โดยมี 3 ยุทธศาสตร์สำคัญ ได้แก่

ยุทธศาสตร์ที่ 3 สร้างการเข้าถึงบริการทางการเงิน ตลอดจนการให้ความรู้ทางการเงินและไซเบอร์ แก่ลูกค้า คู่ค้า และประชาชนโดยทั่วไป ด้วยการดำเนินการดังต่อไปนี้

หนึ่ง การปรับปรุงกระบวนการพิจารณาการให้สินเชื่อโดยพิจารณาจากความเสี่ยง การประเมินความสามารถในการชำระเงิน การบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งความรวดเร็วในการติดตามการชำระคืนหนี้และการฟื้นฟู สอง การร่วมมือกับพันธมิตรในด้านต่าง ๆ อย่างใกล้ชิดมากขึ้น สาม การสร้างขีดความสามารถของลูกค้าสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน

ยุทธศาสตร์ที่ 4 ความปลอดภัยและข้อมูลความเป็นส่วนตัวลูกค้า ด้วยการรักษาทรัพย์สินของลูกค้า ให้บริการที่มีความปลอดภัย และดูแลเอาใจใส่และตอบสนองอย่างทันท่วงที โดยมีกิจกรรมหลัก ๆ ประกอบไปด้วย การสร้างขีดความสามารถของลูกค้าสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน การให้บริการและสถานที่ทำงานที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ เสริมสร้างการบริหารความเสี่ยงของบุคคลภายนอก และการขยายการตรวจสอบและการตอบสนอง

ยุทธศาสตร์ที่ 5 การเคารพต่อสิทธิมนุษยชน ประกอบไปด้วย การขยายการตรวจสอบและการตอบสนองต่อประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน และการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับพนักงาน ลูกค้า คู่ค้าทางธุรกิจ และพันธมิตรทางธุรกิจ ตามกฎหมายและมาตรฐานสากล ตลอดจนหลักการชี้แนะขององค์การสหประชาชาติสำหรับธุรกิจและสิทธิมนุษยชน เป็นต้น

สุดท้าย มิติทางเศรษฐกิจ ธนาคารกสิกรไทยมุ่งหวังจะเป็นธนาคารที่รับผิดชอบเพื่อสร้างผลตอบแทนอย่างยั่งยืน มียุทธศาสตร์ที่ 6 การบริหารความเสี่ยงและกำกับดูแลการปฏิบัติงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ด้วยการปฏิบัติตามประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลตลอดห่วงโซ่คุณค่า ด้วยการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของประเทศ เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เป็นต้น และการปฏิบัติตามมาตรฐานสากล ตลอดจนกรอบและแนวทางปฏิบัติด้านความยั่งยืน เช่น DJSI, CDP, TCFD, PCAF, UNPRB, UNGC, GRI เป็นต้น สุดท้ายคือ การเสริมความแข็งแกร่งให้กระบวนการพิจารณาในการให้สินเชื่อด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล

มุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการพึ่งพาพลังงานฟอสซิล

“หนึ่งในเรื่องความยั่งยืนที่สังคมโลกให้ความสำคัญคือการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิล ซึ่งถือเป็นพันธะสัญญาของประชาคมโลก” กฤษณ์ เล่าให้ฟังและบอกรายละเอียดการดำเนินงานในด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและแนวทางบริหารจัดการลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิลว่า

“เราเริ่มทำโดยการทยอยเปลี่ยนเป็นรถไฟฟ้า EV และเปลี่ยนน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องยนต์ดีเซลและเบนซินไปเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพ ธนาคารให้ความสำคัญกับการใช้อุปกรณ์ประหยัดพลังงาน ใช้ไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนด้วยการติดตั้งแผงโซล่าร์เซลล์ และซื้อใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate: REC) การซื้อคาร์บอนเครดิต ส่วนก๊าซเรือนกระจกที่เหลือจะชดเชยด้วยการซื้อคาร์บอนเครดิตจากโครงการปลูกป่าหรือโครงการดักจับและกักเก็บคาร์บอน โดยครึ่งแรกของปี 2022 ธนาคารกสิกรไทยสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 13.52% (เทียบกับปีฐาน 2020) หรือคิดเป็น 160.95% ของเป้าหมายที่วางไว้”

นอกจากนี้ธนาคารยังทยอยดำเนินการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกสุทธิในพอร์ตโฟลิโอสินเชื่อของธนาคารให้เป็นศูนย์ (Financed emission) ด้วยการดำเนินงานดังนี้ เช่นในประเด็นของ “MATERIALITY” ดำเนินการคำนวณปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของแต่ละอุตสาหกรรมในพอร์ตโฟลิโอของธนาคารตามสัดส่วนเงินที่ให้สินเชื่อแก่อุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อจัดลำดับอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างมีนัยสำคัญ

ในหัวข้อของ “FEASIBILITY” ดำเนินการศึกษาระเบียบวิธีการประเมินของแต่ละอุตสาหกรรม ซึ่งขึ้นอยู่กับความพร้อมของข้อมูลที่ใช้ในการคำนวณและการอ้างอิง Scenario ต่างๆ (Availability of Methodology) และความพร้อมของข้อมูลลูกค้า (Availability of Counterparty Data)

ทางด้านหัวข้อ “ABILITY TO DELIVER” ธนาคารมุ่งเน้นพิจารณาความสามารถในการเปลี่ยนผ่านของแต่ละอุตสาหกรรม ความซับซ้อนในการดำเนินงาน และบริบทของแต่ละอุตสาหกรรม เพื่อนำมาเป็นปัจจัยในการจัดลำดับอุตสาหกรรม

หัวข้อสุดท้าย “SECTOR PRIORITIZATION” มุ่งจัดลำดับอุตสาหกรรมเพื่อวางกลยุทธ์ในการเปลี่ยนผ่านพอร์ตโฟลิโอไปสู่ Net Zero ซึ่งต้องอาศัยการปรึกษาพูดคุยกับลูกค้าเพื่อกำหนดแนวทางร่วมกัน

นอกจากนี้ ธนาคารได้มีการวางแผนการลดยอดสินเชื่อคงค้างในโรงไฟฟ้าถ่านหินจนหมดภายในปี 2573

เป้าหมายความยั่งยืนของ KBank

กฤษณ์ เล่าว่า ธนาคารกสิกรไทยมีความเชื่อว่า การทำธุรกิจบนหลักธนาคารแห่งความยั่งยืนจะช่วยสร้างผลตอบแทนในระยะยาวและช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

“หลักการธนาคารแห่งความยั่งยืนเป็นวิสัยทัศน์ในการดำเนินธุรกิจที่เป็นเอกลักษณ์ของธนาคารกสิกรไทยเพราะทุกอย่างจะทำด้วยวัตถุประสงค์นี้ โดยเรามุ่งมั่นที่จะเป็นธนาคารชั้นนำด้าน ESG ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมี ESG เป็นหลักสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อเสริมสร้างสมดุลทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อส่งมอบบริการทางการเงินที่มีคุณภาพ มาตรฐานสากล และสร้างความยั่งยืนแก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญ เพื่อเพิ่มอำนาจให้ทุกชีวิตและธุรกิจของลูกค้า (To Empower Every Customer’s Life and Business) ให้ยั่งยืนเช่นเดียวกัน”

“เราสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ลูกค้า พันธมิตร ผู้ถือหุ้น และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย ด้วยการกำหนด นโยบาย (Policy) ที่คณะกรรมการธนาคารมีการทบทวนและปรับปรุง เพื่อให้สอดคล้องกับความมุ่งมั่นที่จะปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ที่ธนาคารประกาศไว้ การวางโครงสร้างองค์กร (Governance) ที่มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานด้าน ESG ให้บรรลุตามนโยบายและเป้าหมายอย่างเป็นรูปธรรม การวางกลยุทธ์ (Strategy) ด้วยการนำแนวคิดธนาคารแห่งความยั่งยืนเป็นวิสัยทัศน์ในการดำเนินธุรกิจ และกำหนดให้การดำเนินงานด้าน ESG เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ K-Strategy การกำหนดเป้าหมายทั้งระยะสั้น ระยะยาว ที่มีตัวชี้วัดที่ชัดเจนผ่านบาลานซ์สกอร์การ์ด รวมทั้ง การประกาศความมุ่งมั่น (Commitment)  มุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ที่สะท้อนเจตนารมณ์แน่วแน่ของธนาคาร”

นอกจากนี้ ด้านกระบวนการทำงาน (ESG Process) ธนาคารฯ มีกระบวนการประเมินความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม ครอบคลุมเครดิตเชิงพาณิชย์ของลูกค้าผู้ประกอบการขนาดกลางขึ้นไปและเครดิตประเภทสินเชื่อโครงการ การเปิดเผยข้อมูล (Reporting) โดยใช้มาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลในระดับประเทศและระดับสากล ได้แก่ 56-1 One Report ของกลต. GRI Standards Taskforce on Climate-related Disclosures – TCFD เป็นต้น และการประเมินผล (Benchmarking) โดยเปรียบเทียบการดำเนินงานด้านความยั่งยืนกับมาตรฐานระดับโลก เช่น DJSI, CDP, Bloomberg Gender Equality Index เป็นต้น

ผู้บริหารธนาคารกสิกรไทยกล่าว่า สภาพแวดล้อมของการดำเนินธุรกิจทั่วโลกได้เปลี่ยนแปลงมุ่งสู่วิถีแห่งความยั่งยืนมากขึ้น สะท้อนผ่านพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยที่ผู้บริโภคนำประเด็นความยั่งยืนมาประกอบการตัดสินใจ นักลงทุนใช้เกณฑ์ ESG ประกอบการพิจารณาลงทุนมากขึ้น นอกจากนี้ หน่วยงานกำกับดูแลทั้งในและต่างประเทศมีการออกมาตรการด้าน ESG ที่ภาคธุรกิจต้องปฏิบัติตามอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น หากธุรกิจปรับตัวไม่ทันจะทำให้ต้นทุนในอนาคตสูงขึ้น ต้องใช้เงินลงทุนมากขึ้น ค่าใช้จ่ายในการพัฒนาสินค้าและบริการสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขัน แต่หากปรับตัวได้ทันก็จะสามารถคว้าโอกาสไว้ได้

“ธนาคารกสิกรไทยได้ประกาศ KBank ESG Strategy 2566 วางยุทธศาสตร์เรื่องการขับเคลื่อนธุรกิจบนหลักการ ESG โดยกำหนดกลยุทธ์การทำงานที่เป็นระบบ เน้นการวัดผล และพัฒนาการดำเนินงานตามหลักการและมาตรฐานสากล พร้อมมุ่งสู่การเป็นผู้นำด้าน ESG ของกลุ่มธนาคารในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นำพาลูกค้าและธุรกิจไทยเดินหน้าสู่ระบบเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน”

ทั้งนี้ การที่ธนาคารเป็นต้นน้ำของระบบเศรษฐกิจ จึงถือเป็นภารกิจที่จะต้องทำเรื่องนี้ต่อไปให้มากขึ้น ด้วยมาตรฐานที่สูงขึ้น และขอชวนทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม เพราะความยั่งยืนเป็นงานที่ไม่สิ้นสุดและทำคนเดียวไม่ได้ โดยธนาคารพร้อมจะเป็นผู้สร้างความร่วมมือให้เกิดขึ้น ผ่านการประสานศักยภาพทั้งด้านเทคโนโลยี พันธมิตร และความร่วมมือกับภาคส่วนสำคัญต่าง ๆ  ใน ecosystem เพื่อช่วยให้ลูกค้า สังคม และประเทศ เดินหน้าสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน

เรียบเรียงโดย วันทนา อรรถสถาวร

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

หลัก “เศรษฐกิจหมุนเวียน” ใกล้ตัวกว่าที่คิด

พาโล อัลโต้ เน็ตเวิร์กส์ เปิดตัว PAN-OS 11.0 Nova ช่วยองค์กรพร้อมรับมือปัญหาภัยคุกคามซีโรเดย์

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ