TH | EN
TH | EN
หน้าแรกTechnologyฉากทัศน์อนาคตระเบียบโลก ในยุค AI ที่ปัญญาประดิษฐ์ทรงอิทธิพล

ฉากทัศน์อนาคตระเบียบโลก ในยุค AI ที่ปัญญาประดิษฐ์ทรงอิทธิพล

การปรากฎตัวของเทคโนโลยี Generative AI อย่าง ChatGPT ของ OpenAI ในช่วงปลายปี 2022 พร้อมบทบาทและขีดความสามารถที่ผู้คนทั่วโลกรับนำมาใช้อย่างแพร่หลายภายในระยะเวลาอันรวดเร็วในช่วงปี 2023 กลายเป็นตัวแปรสำคัญของอีกหนึ่งช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่าน (transformational moment) ของประวัติศาสตร์โลกที่บรรดานักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงทีมนักวิเคราะห์นวัตกรรมประยุกต์ (Applied Innovation) จาก โกลด์แมน แซคส์ (Goldman Sachs) ชี้ว่า จะส่งผลต่อวิถีตลาดและเปลี่ยนแปลงสมดุลอำนาจระหว่างประเทศ

ทั้งนี้ โกลด์แมน แซคส์ ได้เขียนรายงานฉบับยาวภายใต้หัวข้อ The generative world order: AI, geopolitics, and power (ระเบียบโลกภายใต้ภายใต้เทคโนโลยี Generative : AI, ภูมิรัฐศาสตร์ และอำนาจ) ชี้ว่า ความชาญฉลาดของจักรกล โดยเฉพาะปัญญาประดิษฐ (AI)  ที่มีความสามารถเพิ่มมากจนทัดเทียมหรือเทียบเท่าคนขึ้นมาจะส่งผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อการเติบโต ผลผลิต การแข่งขัน การป้องกันประเทศ และวัฒนธรรมของมนุษย์

และช่วงเวลา 2-3 ปีนับจากนี้ จะเป็นช่วงระยะของการเปลี่ยนผ่านที่เรียกว่า inter-AI ซึ่งเป็นการที่บรรดาผู้นำนานาประเทศทั่วโลก พยายามทำความเข้าใจว่าเทคโนโลยี Generative AI คืออะไร จะส่งผลต่อประเทศนั้น ๆ อย่างไร และจะใช้เทคโนโลยีที่ว่านี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและมีความเสี่ยงน้อยที่สุดได้อย่างไร

ในช่วงเวลาของความพยายามดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อระเบียบโลกในทุกด้านไม่ว่าจะเป็นทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวิถีชีวิต ทั้งภายในประเทศนั้น ๆ และระหว่างประเทศ จนเรียกว่าเป็นการพลิกโฉมที่ทำให้ปฎิสัมพันธ์และฉากทัศน์ ด้านการเมือง การค้า และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เปลี่ยนแปลงไปจากปัจจุบัน

1 ปี ChatGPT … Generative AI ที่ทำให้ทั้งโลกต้องหันมอง

เรียกได้ว่า ภายใต้เวทีแห่งการพัฒนาอย่างรวดเร็วและไม่หยุดยั้ง ผู้นำองค์กรและผู้นำทางการเมืองต่างพยายามถอดรหัสความหมายของคลื่นแห่งนวัตกรรมที่ฉับพลันและทรงพลังนี้ เพื่อสำรวจโอกาสใหม่ ๆ และนำพาตนเองฝ่าความเสี่ยงใหม่ ๆ ให้อยู่รอดปลอดภัย และรุ่งเรือง

งานนี้ ทีมบรรณาธิการ The Story Thailand ได้ประมวลสรุปใจความสำคัญของระเบียบโลกใหม่ที่อิทธิพลของเทคโนโลยี Generative AI ก้าวเข้ามามีบทบาทอย่างมากต่อ วิถีชีวิตของผู้คน ตั้งแต่ระดับหน่วยเล็ก ๆ ทางสังคม ไปจนถึงระดับใหญ่อย่างประเทศและโลก

2-3 ปีจากนี้คือเวลาแห่งการฉกฉวยโอกาส

รายงานระบุว่า หลังจากช่วงเปลี่ยนผ่านของ Inter-AI ที่แต่ละประเทศจะต้องรีบฉกฉวยโอกาสทำความเข้าใจเทคโนโลยี AI และนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ขณะเดียวกัน ในช่วงเวลาดังกล่าว ทีมนักวิเคราะห์ชี้ว่า โลกจะได้เห็นสิ่งที่เรียกว่าระเบียบโลกที่กำหนดโดยเทคโนโลยี generative หมายความว่า เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่นำโดย AI จะเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันและการทำงานอย่างไม่ต้องสงสัย ซึ่งบทบาทเหล่านั้น ทำให้มนุษย์ต้องสร้างกฎระเบียบ บรรทัดฐาน ค่านิยม และมาตรฐาน สำหรับการใช้เทคโนโลยีอย่างเข้มข้นมากขึ้น

กฎระเบียบและบรรทัดฐานเหล่านี้จะเป็นตัวกำหนดอนาคตของสังคมมนุษย์ที่มีเทคโนโลยี AI เป็นตัวขับเคลื่อนอย่างไม่ต้องสงสัย

สหรัฐฯ – จีน คือสองคู่แข่งหลัก

แน่นอนว่า ศูนย์กลางหลักของการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ยังคงเป็นสองมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกอย่างสหรัฐอเมริกาและจีน ซึ่งทั้งประเทศจะเป็นทั้งคู่แข่งและพันธมิตรในการร่วมมือกันปรับปรุงพัฒนาเทคโนโลยี Generative AI

กระนั้น เมื่อพิจารณาจากสถานการณ์ในปัจจุบัน สหรัฐฯ ดูจะมีความได้เปรียบเล็กน้อย ในขณะที่จีนมีปัญหากับการฝึกโมเดลภาษาขนาดใหญ่ หรือ large language model (LLM) ซึ่งเป็นรูปแบบสำคัญของการฝึกความฉลาดของ AI

ทั้งนี้ ทีมนักวิเคราะห์โกล์ดแมนแซคส์ชี้ว่า การแข่งขันด้านเทคโนโลยี Generative AI นี้ จะทำให้ภาพที่ปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์มีความสำคัญต่อการตัดสินใจขับเคลื่อนประเทศมากกว่าปัจจัยทางเศรษฐกิจ หมายความว่า มาตรการควบคุมการส่งออก การคว่ำบาตร ภาษีศุลกากร นโยบายอุตสาหกรรม การคัดกรองการลงทุน และมาตรการอื่น ๆ ที่ใช้เพื่อเพิ่มข้อได้เปรียบจะมีแรงขับมาจากปัจจัยเชิงภูมิรัฐศาสตร์มากกว่าปัจจัยทางเศรษฐกิจ

บทบาทที่มากขึ้นของประเทศอื่น ๆ

อย่างไรก็ตาม ด้วยประสิทธิภาพของเทคโนโลยี Generative AI ทำให้ประเทศอื่น ๆ นอกเหนือจากสหรัฐฯ รวมถึงประเทศเล็ก ๆ และประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ก้าวเข้ามาบทบาทสำคัญในการกำหนดอนาคตของการใช้ ประโยชน์เทคโนโลยี AI มากขึ้น

โดยผู้เล่นหลักที่น่าจับตามองได้แก่ สหราชอาณาจักร สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อิสราเอล ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ เกาหลีใต้ ไต้หวัน และอินเดีย โดยนักวิเคราะห์มองว่า ผู้เล่นเหล่านี้อาจก่อตั้งกลุ่มนวัตกรรม สร้างพันธมิตรและความร่วมมือกับรัฐที่มีอำนาจเหนือกว่า หรือกระทั่งจับมือร่วมมือระหว่างกันเพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกัน

เหตุผลเพราะ การพัฒนาเทคโนโลยีจะกำหนดผลกระทบทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยเทคโนโลยีที่นำพาความสามารถใหม่ ๆ จะนำไปสู่กรณีการใช้งานใหม่ ๆ ที่เกิดผลกระทบในวงกว้างมากขึ้น

ทีมนักวิเคราะห์ของโกล์ดแมนแซคส์ คาดหวังว่า Generative AI จะมีความหลากหลายมากขึ้น โดยคำนึงถึงข้อความ รูปภาพ เสียง และวิดีโอได้อย่างราบรื่น นอกจากนี้ โฟกัสจะเปลี่ยนไปโดยให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพและคุณค่าเป็นหลัก ซึ่งหมายความว่า เทคโนโลยีใหม่เหล่านี้ต้องมีค่าใช้จ่ายน้อยลงเพื่อให้คนเข้าถึงได้ทั่วถึง และมีความยั่งยืนมากขึ้น

ขณะเดียวกัน แนวโน้มของการพัฒนาจะเป็นแบบการร่วมกันทำมากกว่าแยกกันจัดการ เพราะจะช่วยให้สามารถวางแผนในระยะยาว ตลอดจนสามารถคาดการณ์ความเป็นไปได้ในอนาคตได้อย่างแม่นยำมากขึ้น

สำหรับประเด็นที่ต้องจับตามองในขณะนี้ก็คือ เทคโนโลยี Generative AI จะสามารถตามวิถีการเติบโตในการใช้งานของโลกไปในทิศทางใด จะตกอยู่ภายใต้การครอบงำขององค์กรการค้าขนาดใหญ่ หรือให้ความสำคัญกับการเปิดกว้างกระจายสู่คนตัวเล็กภายใต้แนวทางโอเพ่นซอร์ส (Open Source) มากขึ้น

AI จะเป็นกุญแจตัดสินการเติบโตทางเศรษฐกิจ

ทีมวิจัยของโกล์ดแมน แซคส์ ระบุว่า เทคโนโลยี AI มีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจมากที่สุดและชัดเจนที่สุด เมื่อเทียบกับแง่มุมอื่น ๆ โดย Goldman Sachs Research ประมาณการว่า กรณีพื้นฐานที่สุดที่จะเกิดขึ้นเมื่อมีการนำ AI มาใช้อย่างแพร่หลาย ก็คือ จะทำให้มีการเติบโตของผลิตผลต่อปีตลอดระยะเวลา 10 ปีนับจากนี้เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1.5% ในทุกปี ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของโลกเพิ่มขึ้นเกือบ 7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

แม้ว่าผลลัพธ์ที่ประเมินนี้จะไม่เป็นที่แน่ชัด แต่ตัวเลขที่คาดการณ์ของผลการจากการใช้เทคโนโลยี AI จะมากหรือน้อยนั้นจะขึ้นอยู่กับ 4 องค์ประกอบหลักด้วยก็คือ พลังงาน การประมวลผล ข้อมูล และแบบจำลอง (energy, compute, data, and model)

ระบบนิเวศ AI จำเป็นต่อการเป็นผู้นำ

การแข่งขันดุเดือดของ AI จะมุ่งเน้นไปที่ฮาร์ดแวร์ ข้อมูล ซอฟต์แวร์ และความสามารถพิเศษ โดยที่แต่ละประเทศในขณะนี้ต่างกำลังเร่งผลักดันเทคโนโลยีที่ว่านี้ต่อไป เพื่อพัฒนาให้ตนเองได้เป็นแชมป์ AI และค้นหากรณีการใช้งานที่เกี่ยวข้องมากที่สุด รวมถึงพื้นที่ที่ได้เปรียบสำหรับการนำ AI มาใช้

อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขของการเป็นผู้นำในเทคโนโลยี AI ไม่ได้มาจากความคิดริเริ่มที่นำโดยรัฐเป็นหลักเท่านั้น เพื่อให้ประเทศต่างๆ เป็นผู้นำในด้าน AI ประเทศนั้น ๆ ต้องมีทั้งกลยุทธ์ระดับประเทศที่ส่งเสริมและกำหนดทิศทางนวัตกรรม รวมถึงบริษัท AI และสถาบันวิจัยชั้นนำของโลกรวมอยู่ด้วย ซึ่งองค์ประกอบดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมระบบนิเวศ Generative AI จะมีส่วนช่วยเสริมศักยภาพให้กับองค์กรทั้งหลายรวมถึงมีแนวโน้มที่จะกำหนดบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ทรงอิทธิพลต่อโลกรุ่นต่อไป

ทีมนักวิเคราะห์คาดว่า ในอนาคตอันใกล้นี้ ปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์จะผลักดันการตัดสินใจทางเศรษฐกิจมากขึ้น นานาประเทศ นำโดย สหรัฐฯ และจีน กำลังใช้เครื่องมือทั้งเก่าและใหม่ภายใต้วิธีการทางเศรษฐกิจเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ทางการเมืองของตน โดยมีเทคโนโลยี AI เป็นตัวแปรสำคัญ

อนาคตของการกำกับดูแล AI

การพัฒนาเทคโนโลยี Generative AI จะเปลี่ยนอนาคตของการกำกับดูแลด้าน AI แม้ว่าทิศทางที่แม่นยำของระบบ AI เหล่านี้ยังคงไม่ทราบแน่ชัด แต่ทั่วโลกกำลังเริ่มเห็นว่าโมเดลเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่มีอยู่ในขณะนี้ นำเสนอโอกาสและความเสี่ยงมหาศาลอย่างไร

สำหรับรูปแบบการกำกับดูแลจะสามารถแบ่งเป็น 2 แนวทางคือ scale-up และ scale-down

โดย scale-up (closed-source) คือ การสร้างและการใช้งาน Generative AI จะต้องมีศูนย์ข้อมูลขนาดมหึมาที่เต็มไปด้วย GPU ที่ทรงพลังและมีราคาแพง ซึ่งทำให้เกิดจุดอับสัญญาณที่ชัดเจน สิ่งนี้จะกำหนดรูปแบบการกำกับดูแลและการบังคับใช้บรรทัดฐานในการพัฒนา AI รวมถึงการกำกับดูแลและกฎเกณฑ์ในหน่วยงานในจำนวนที่จำกัด เช่น จำกัดอยู่ที่บริษัทขนาดใหญ่ระดับประเทศเท่านั้น ดังนั้น อุปสรรคในการเข้าสู่ตลาด รวมถึงเงินทุน ความสามารถ และความสามารถในการทำงานภายในกรอบการกำกับดูแลจะกำหนดได้ง่ายกว่าและจะเอื้อต่อผู้ครอบครองตลาด

ขณะที่ scale-down (open source) คือแนวทางของการกระจายอำนาจ (Decentralized) ในการพัฒนา AI ออกไป ทำให้เกิดภูมิทัศน์นวัตกรรมที่หลากหลายมากขึ้น ช่วยให้มีผู้เล่นที่สามารถใช้โมเดลที่มีประสิทธิภาพได้จำนวนมากขึ้น โดยมีโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น เช่น เซมิคอนดักเตอร์ แม้ว่าแนวทางแบบโอเพ่นซอร์สจะมีความเสี่ยงของการนำไปใช้ในทางที่ไม่ถูกไม่ควร (misuse) แต่ก็จะช่วยลดความเสี่ยงของการกระจุกตัวของการเข้าถึงเทคโนโลยี AI รวมถึงทำให้เกิดโมเดลขนาดเล็กที่ตอบได้ตรงโจทย์ความต้องการได้มากขึ้น คาดเดาได้มากขึ้นและตรวจสอบได้มากขึ้น ซึ่งเพิ่มประสิทธิภาพของมาตรการความปลอดภัยของ AI

ทีมนักวิเคราะห์มองว่า แนวทางการกำกับดูแลดังกล่าวยังส่งผลต่อการพัฒนาและการใช้งาน ชิป หรือ เซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาเทคโนโลยี generative AI อีกทางหนึ่งด้วย โดยแน่นอนว่า แนวทางแบบ scale-up ที่รัฐมีอำนาจกำกับดูแลเบ็ดเสร็จจะส่งผลต่อความตึงเครียดในการเกิดสงครามชิป (Chip War)

สิ่งที่ต้องจับตาดูนับต่อจากนี้

อัตราความก้าวหน้าของการพัฒนาเทคโนโลยี AI ทั้งในแง่ของความเร็วและขนาด เกิดขึ้นจนถึงขึ้นที่เป็นไปไม่ได้ที่บุคคล บริษัท หรือประเทศใดจะคาดการณ์อนาคตของเทคโนโลยีนี้ได้อย่างชัดเจนว่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อวิถีชีวิตของสังคมมนุษย์ได้อย่างไร

กระนั้น อย่างน้อยที่สุด ทั่วโลกก็สามารถเห็นได้ว่า AI กำลังเปลี่ยนโฉมเทคโนโลยี การพาณิชย์ และภูมิศาสตร์รัฐศาสตร์ได้อย่างไร ซึ่งในช่วงระหว่างการเปลี่ยนผ่านนี้ เป็นโอกาสที่โลกจะได้กำหนดทิศทางของอนาคตในการนำ AI มาใช้งาน

ทั้งนี้ ทีมนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ภายในปี 2024 ทั่วโลกจะได้เห็นเหตุการณ์สำคัญหลายประการสำหรับอนาคตของ generative AI  ซึ่งรวมถึงการเลือกตั้งของสหรัฐฯ อินเดีย และไต้หวัน ซึ่งมีสัดส่วนประชากรราว 41% ของประชากรทั้งหมดของโลก

ขณะเดียวกัน ปีนี้จะยังคงเป็นอีกปีที่มีการแข่งขันพัฒนาเทคโนโลยี AI เป็นไปอย่างดุเดือด ควบคู่ไปกับการเร่งนำเอา AI มาใช้เพื่อสร้าง use cases ให้เกิดขึ้นมากมาย  ในทุกแง่มุม ไล่เรียงตั้งแต่ การป้องกัน การดูแลสุขภาพ การศึกษา และอื่น ๆ ทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน

นอกจากนี้ ภายในสิ้นปี 2024 ทั่วโลกจะเริ่มเห็นแนวคิดและแนวทางที่ดีขึ้นว่า AI จะเปลี่ยนการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ แรงงาน และความสมดุลของอำนาจอย่างไร

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ของ โกล์ดแมนแซคส์ ซึ่งประกอบด้วย Jared Cohen ประธานฝ่ายกิจการโลก (Global Affairs) และหัวหน้าร่วมของแผนกนวัตกรรมประยุกต์, George Lee  หัวหน้าร่วมของแผนกรวัตกรรมประยุกต์ Lucas Greenbaum, Frank Long, และ Wilson Shirley สรุปว่า

“เราเชื่อว่านี่เป็นเวลาที่จะประเมินจุดที่เราอยู่ และเพื่อระบุจุดเปลี่ยนที่จะกำหนดอนาคต AI ของเรา บทความนี้กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในด้าน generative AI ในปีที่ผ่านมาในด้านภูมิรัฐศาสตร์ เทคโนโลยี และตลาด เราอภิปรายถึงแนวโน้มที่กำลังเกิดขึ้น การอภิปรายใดบ้างที่ยังคงไม่แน่นอน และวิธีนิยามระเบียบโลกภายใต้ยุคเทคโนโลยี generative AI ซึ่งรวมถึงตำแหน่งการงานที่มากกว่าครึ่งจะไม่ใช้งานที่เคยมีอยู่ในปัจจุบัน

ขณะนี้ มาถึงจุดที่โลกไม่สามารถหันหลังกลับได้อีกต่อไป คำถามที่สำคัญที่สุดคือเราจะใช้ชีวิตอย่างไรในยุคเทคโนโลยีใหม่ที่มาพร้อมความฉลาดที่ทัดเทียมมนุษย์ ขณะนี้ คือเวลาที่เรามีพลังที่จะเลือกว่าอนาคตนั้นจะเป็นอย่างไร และต้องเลือกอย่างชาญฉลาดที่สุด เพราะช่วงเวลานี้จะไม่เกิดขึ้นอีก”

ที่มา The generative world order

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

สำรวจวงการเทคโนโลยีปี 2567 เส้นทางชัน กับโอกาสปรับเปลี่ยนเพื่ออยู่รอดและเติบโต

มองหลากมุม สังคมไทยต้องการการกำกับดูแลการใช้ AI อย่างมีจริยธรรมหรือไม่?

การ์ทเนอร์ เผยการคาดการณ์เกี่ยวกับ Gen AI สำหรับองค์กรและผู้ใช้ไอที ในปี 2567 

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ