TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistนโยบายรัฐบาลในมุมมอง ESG

นโยบายรัฐบาลในมุมมอง ESG

ในวันจันทร์นี้ (11 ก.ย.) นายกรัฐมนตรีจะมีการแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภา ซึ่งมีเนื้อหารายละเอียดเป็นเอกสารที่เผยแพร่ออกมา 43 หน้า (ฉบับไม่เป็นทางการ) ที่ประกอบด้วย กรอบระยะสั้น กรอบระยะกลางและระยะยาว รวมถึงการแสดงตารางความสอดคล้องระหว่างนโยบายในการบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรีกับหน้าที่ของรัฐและแนวนโยบายแห่งรัฐของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และยุทธศาสตร์ชาติ

จึงถือโอกาสนี้ ทำการสรุปคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี โดยจำแนกออกเป็นด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และด้านธรรมาภิบาล รวมทั้งสิ้น 23 นโยบาย ในมุมมองของ ESG (Environmental, Social and Governance) ดังนี้

10 นโยบายด้านเศรษฐกิจ

โดยในกรอบระยะสั้น รัฐบาลจะกระตุ้นการใช้จ่าย ด้วยการเติมเงิน 10,000 บาทผ่าน Digital Wallet เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายรอบ รัฐบาลก็จะได้รับผลตอบแทนคืนมาในรูปแบบของภาษี และการดำเนินนโยบายนี้ จะใช้เป็นการวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัลให้กับประเทศ สร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้กับประชาชน เพิ่มประสิทธิภาพและสร้างความโปร่งใสให้กับกลไกการชำระเงินของระบบเศรษฐกิจและรัฐบาล

การแก้ปัญหาหนี้สินทั้งในภาคเกษตรภาคธุรกิจและภาคประชาชน โดยจะลดภาระพี่น้องเกษตรกรด้วยการพักหนี้เกษตรกรตามเงื่อนไขและคุณสมบัติที่เหมาะสม รวมถึงมาตรการช่วยประคองภาระหนี้สินและต้นทุนทางการเงินสำหรับภาคประชาชนที่ครอบคลุมถึงผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)

การลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชนโดยจะสนับสนุนให้เกิดการบริหารจัดการราคาพลังงานทั้งค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซหุงต้ม และค่าน้ำมันเชื้อเพลิงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมในทันที พร้อมกันกับการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการใช้พลังงานของประเทศ โดยวางแผนความต้องการและสนับสนุนการจัดหาแหล่งพลังงานอย่างเหมาะสม

การสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว ด้วยการอำนวยความสะดวก ปรับปรุงขั้นตอนการขอวีซ่า และการยกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมวีซ่าสำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยวในกลุ่มประเทศเป้าหมาย ผลักดันการพัฒนาการบริหารจัดการทุกขั้นตอนการบริการที่เป็นประตูสู่ประเทศไทย และเพิ่มปริมาณเที่ยวบินให้สามารถนำนักท่องเที่ยวมาได้มากขึ้น

ในกรอบระยะกลางและระยะยาว รัฐบาลจะเสริมขีดความสามารถให้กับประชาชน ผ่านการสร้างรายได้ด้วย

การทูตเศรษฐกิจเชิงรุก เพื่อเปิดประตูการค้าสู่ตลาดใหม่ ๆ โดยการออกไปพบผู้นำประเทศต่าง ๆ ในกลุ่มสหภาพยุโรป กลุ่มประเทศในตะวันออกกลาง อินเดีย แอฟริกา และอเมริกาใต้ รวมทั้งการเร่งการเจรจากรอบความร่วมมือทางการค้าระหว่างประเทศ (FTA)

การส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ ด้วยการจัดทำ Matching Fund ระหว่างรัฐบาลและเอกชน เพื่อลงทุนพัฒนา Start-up ที่มีศักยภาพให้เติบโตและแข่งขันได้ในระดับโลก รวมทั้งการพัฒนาต่อยอดเขตเศรษฐกิจพิเศษและระเบียงเศรษฐกิจทั้ง 4 ภาค ตลอดจนการพัฒนาพื้นที่และเมืองให้เกิดการกระจายความเจริญและกิจกรรมทางเศรษฐกิจไปสู่ภูมิภาค

การพัฒนาเศรษฐกิจการค้าที่ถูกกฎหมายตามแนวชายแดนเพื่อสร้างเงิน สร้างงาน สร้างรายได้ให้กับประชาชน และเป็นการบริหารสถานการณ์ภูมิศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศ สนับสนุนให้เกิดเสถียรภาพและผลประโยชน์ร่วมกันอย่างเหมาะสม

การสร้างรายได้ในภาคการเกษตร โดยใช้หลักการ ตลาดนำ-นวัตกรรมเสริม-เพิ่มรายได้ ใช้การบริหารจัดการแปลงเกษตรด้วยนวัตกรรมเกษตรแม่นยำ (Precision Farming) การวิจัยพัฒนาพันธุ์ เพื่อเพิ่มผลผลิตและเพิ่มมูลค่าผลตอบแทนต่อไร่ให้สูงขึ้น ตลอดจนการหาตลาดให้สินค้าเกษตรได้ขายในราคาที่เหมาะสม

การฟื้นชีวิตอุตสาหกรรมประมง ให้กลับมาเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของประชาชน ด้วยการแก้ไขข้อกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายให้เหมาะสม อันเป็นการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลให้อยู่กับประเทศอย่างยั่งยืน

การเปิดรับแรงงานต่างด้าวและกลุ่มผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ เพื่อตอบสนองความต้องการทรัพยากรบุคคลและแรงงานทั้งภาคการผลิต ภาคการบริการ ภาคการพัฒนาเทคโนโลยี ที่แรงงานกลุ่มดังกล่าวยังมีความจำเป็นในการสนับสนุนการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

7 นโยบายด้านสังคม

ประกอบด้วย

การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งของประเทศ ทั้งทางถนน ทางน้ำ ทางราง และทางอากาศ เพื่อเปิดประตูค้าขายและเปิดโอกาสของประเทศไทยให้เพิ่มขึ้น และเป็นการสร้างประโยชน์จากสินทรัพย์ของประเทศและของประชาชน เพื่อตอบสนองต่อความต้องการสินค้าและบริการรูปแบบใหม่ของโลก

การให้ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ เพื่อสร้างโอกาสในการมีอาชีพ รายได้ และความมั่นคงในชีวิต โดยจะเร่งดำเนินการให้ประชาชนมีสิทธิในที่ดิน มีชีวิตที่มั่นคง พิจารณาเอกสารสิทธิการใช้ประโยชน์ให้เป็นโฉนด เพื่อให้สามารถนำไปต่อยอดให้เข้าถึงแหล่งทุนได้ นำมาพัฒนาที่ดินเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในระยะยาว

การสนับสนุนการสร้างพลังสร้างสรรค์ของประเทศให้สร้างมูลค่าและสร้างรายได้ ผ่านการส่งเสริม 1 ครอบครัว 1 ทักษะ Soft Power รวมทั้งการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และพัฒนาต่อยอดศิลปวัฒนธรรม และส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น ตลอดจนการส่งเสริมและพัฒนาด้านกีฬาอย่างเป็นระบบ

การปฏิรูปการศึกษาและสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต ส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนาทั้งในด้านสังคม ด้านวิทยาศาสตร์ประยุกต์ และการวิจัยขั้นแนวหน้า ให้ความสำคัญต่อความมีคุณภาพของครูทั้งประเทศ รวมไปถึงการดูแลสุขภาพกายและสุขภาพใจของนักเรียน และเน้นดำเนินการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

การสร้างความมั่นคงปลอดภัยทั้งภายในและภายนอกที่สอดคล้องกับสภาวะของโลก โดยสนับสนุนให้มีการปรับโครงสร้างของหน่วยงานความมั่นคงให้มีความทันสมัยและสามารถตอบสนองต่อการคุกคามและภัยความมั่นคงรูปแบบใหม่ และการพัฒนากองทัพให้เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาศักยภาพของประเทศพร้อมกับประชาชน

การสร้างและพัฒนาระบบสาธารณสุขให้มีประสิทธิภาพ สามารถรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินและโรคอุบัติใหม่ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต รวมทั้งสร้างความมั่นคงทางวัคซีนของประเทศในระยะยาว ตลอดจนการเข้าถึงบริการสาธารณสุขผ่านบัตรประชาชนใบเดียว สามารถเข้ารับบริการได้ทุกที่ทั่วประเทศไทย

การสร้างความเท่าเทียมของคนทุกกลุ่ม ทั้งกลุ่มเปราะบาง คนพิการ ผู้สูงอายุ และกลุ่มชาติพันธุ์ ด้วย ‘สวัสดิการโดยรัฐ’ โดยการผลักดันให้มีกฎหมายสนับสนุนสิทธิและความเท่าเทียมของกลุ่มความหลากหลายทางเพศ การสนับสนุนให้มีความร่วมมือระหว่างประชาชนที่มีความแตกต่างทางความคิด ศาสนา และอุดมการณ์ให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข

3 นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม

ประกอบด้วย

การส่งเสริมการปลูกไม้ยืนต้นให้เหมาะสมกับประเภทและลักษณะของพื้นที่และส่งเสริมให้เจ้าของที่ดินหรือชุมชนโดยรอบได้รับประโยชน์จากการเพิ่มพูนของระบบนิเวศ การขายคาร์บอนเครดิตอย่างยุติธรรม และได้รับการยอมรับจากระดับสากล

การส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่มีสิ่งแวดล้อมที่สะอาดสำหรับทุกคน โดยการส่งเสริมและเร่งฟื้นฟูความสมบูรณ์ของดินและน้ำ การรักษาความสมดุลของระบบนิเวศและอนุรักษ์ความหลากหลายพันธุ์สัตว์ป่า การแก้ไขปัญหาความเสื่อมโทรมและมลภาวะ โดยเฉพาะเรื่องฝุ่นควัน PM2.5 รวมทั้งวางแผนรับมือและป้องกันวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

การสานต่อนโยบาย Carbon Neutrality ที่เป็นการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ และใช้การพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อเปิดประตูบานใหญ่สู่การค้าโลก ภายใต้กฎกติกาใหม่ที่ให้ความสำคัญต่อการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

3 นโยบายด้านธรรมาภิบาล

ประกอบด้วย นโยบายเร่งด่วนใน

การแก้ปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญ โดยจะหารือแนวทางในการทำประชามติที่ให้ความสำคัญกับการทำให้ประชาชนทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมออกแบบกฎ กติกาที่เป็นประชาธิปไตย ทันสมัยและเป็นที่ยอมรับร่วมกัน รวมถึงการหารือแนวทางการจัดทำรัฐธรรมนูญในรัฐสภา เพื่อให้ประเทศสามารถเดินต่อไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง

การเปลี่ยนบทบาทของรัฐจากผู้กำกับดูแลเป็นผู้สนับสนุน จากเดิมที่เต็มไปด้วยกฎ ระเบียบ และข้อบังคับ มาเป็นการปลดล็อกข้อจำกัด เช่น การปลดล็อกกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับสุราพื้นบ้าน เพื่อสร้างโอกาสในการสร้างรายได้และเจริญเติบโตให้กับประชาชน

การบริหารในรูปแบบของการกระจายอำนาจ (ผู้ว่า CEO) เพื่อสร้างประสิทธิภาพในการบริหารงานในแต่ละจังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ การใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในการให้บริการมาเพิ่มประสิทธิภาพ สร้างความโปร่งใส ขจัดช่องโหว่ในการทุจริต ลดค่าใช้จ่าย และปรับปรุงการทำงานของภาครัฐให้เป็นรัฐบาลดิจิทัล เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกมากยิ่งขึ้น

เมื่อพอจัดหมวดหมู่นโยบายในลักษณะนี้ได้ ไว้อีก 6 เดือนหลังจากการทำงานไประยะหนึ่งแล้ว จะถือโอกาสติดตามการดำเนินงาน โดยนำการประเมินตามเกณฑ์ ESG หรือ ESG Rating มาใช้ ก็น่าจะเป็นประโยชน์แก่ประชาชนไม่มากก็น้อย

บทความอื่น ๆ ของผู้เขียน

ระบบ IT: จิกซอว์สำคัญของความยั่งยืน

สร้างแต้มต่อให้ SME ด้วย ESG Profile

7 เทรนด์เปลี่ยนเกมความยั่งยืน

7 Green Habits: สร้างอุปนิสัยสีเขียวเพื่อโลก

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ