TH | EN
TH | EN
หน้าแรกSustainabilityแฟชั่นรักษ์โลกของคนรักโลก SHE KNOWS และ Maddy Hopper “แตกต่างอย่างลงตัว”

แฟชั่นรักษ์โลกของคนรักโลก SHE KNOWS และ Maddy Hopper “แตกต่างอย่างลงตัว”

Day One with Sustainability” หรือ “ก้าวแรกธุรกิจด้วยความยั่งยืน” กิจกรรมเพื่อสร้างสังคมที่ยั่งยืน โดยบริษัท เอปสัน (ประเทศไทย) จำกัด ที่พา The Story Thailand ไปทำความรู้จักกับนิวเจนผู้สร้างเทรนด์แฟชั่นรักษ์โลกอย่าง SHE KNOWS และ Maddy Hopper 

ยรรยง มุนีมงคลทร ผู้อำนวยการบริหาร บริษัท เอปสัน (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึง กิจกรรม “Day One with Sustainability” ซึ่งจัดขึ้นสำหรับประเทศไทยเป็นการเฉพาะว่า เอปสันต้องการมุ่งส่งต่อแนวคิดการดำเนินธุรกิจที่ตระหนักถึง “ความยั่งยืนทางธุรกิจควบคู่ไปกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม” ผ่านตัวแทนคนรุ่นใหม่ ซึ่งคือนักศึกษา และผู้ประกอบการเกิดใหม่ตั้งแต่ต้นทาง เพื่อการเติบโตที่มั่นคงและเป็นไปตามวิถีอนุรักษ์ที่สังคมและโลกของเรากำลังต้องการ

วิสัยทัศน์ของเอปสันในปี 2050 คือ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ หยุดใช้พลังงานใต้พื้นพิภพ และเปลี่ยนให้เป็นพลังงานหมุนเวียน ผ่านกระบวนการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ การให้ความร่วมมือกับองค์กรต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ลดผลกะทบต่อสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด รวมถึงการรักษาต้นทุนการใช้ทรัพยากรให้น้อยลงแต่มีประสิทธิภาพ อาทิ การผลิตเครื่องพิมพ์เลเซอร์ที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน์ไดออกไซด์ได้มากถึง 80% การผลิตชิ้นส่วนเครื่องพิมพ์ที่ทำจากพลาสติกรีไซเคิลถึง 30% รวมถึงกำหนดแผนปฏิบัติตามเป้าหมายการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Development Goals-SDGs) ขององค์กรสหประชาชาติ เพื่อให้การใช้ทรัพยากรของคนรุ่นปัจจุบัน ไม่ส่งต่อปัญหาหรือเบียดเบียนลูกหลานในอนาคต 

เอปสัน หนุนผู้ประกอบการใช้ความยั่งยืนปั้นธุรกิจ

เอปสันเผย ทั่วโลกยกปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงรุนแรงหนักเท่าวิกฤติเศรษฐกิจ

She Knows ในวันคิดต่าง …. เมื่อผู้หญิงคิดรักษ์โลก

เซน-ธัญลักษณ์ ตรีสุรมงคลโชติ และปันปัน-ปานไพลินพัฒนสกุล สองเพื่อนซี้ผู้ปั้นแบรนด์ SHE KNOWS จนขึ้นขวบปีที่ 4 ในปีนี้ เล่าถึงจุดเริ่มต้นจากการทำแบรนด์เสื้อผ้าแบบฟาสต์แฟชั่น (Fast Fashion) ชนิด “เน้นถูกทั้งราคาและวัตถุดิบ”

“เริ่มแรกคืออยากรวย อยากได้เงิน อยากขายได้เยอะ ๆ อย่างที่บอกเป็นฟาสต์แฟชั่น ค่าเย็บตัวนึง 5 บาท 10 บาท ขายตัวละ 200 บาท ซึ่งช่วงนั้นมีร้านป็อบอัพที่เปิดเฉพาะกิจตามห้าง เวลาจัดงานครั้งหนึ่งก็มาร่วมกัน 100-400 ร้าน ก็มีจังหวะหนึ่งที่ยื่นของให้ลูกค้าแล้วหันมาบอกเพื่อนว่า สงสารลูกค้า รู้เลยว่าเสื้อผ้าพวกนี้ใส่แล้วซักครั้งสองครั้งมันก็ขาดกลายเป็นขยะแล้ว เพราะเราใช้ผ้าถูกเพื่อลดต้นทุน และก็จ้างช่างค่าแรงต่ำจะเย็บได้ดีแค่ไหนกัน มันก็เป็นจุดเปลี่ยนความคิดว่า สินค้าราคาถูกแบบนี้มีให้ช็อปเป็นร้อยเป็นพันร้าน สู้สร้างแบรนด์แฟชั่นเป็นที่จดจำว่า มีคุณภาพดีและอิงกับเทรนด์รักษ์โลกดีกว่า จึงเป็นที่มาของ SHE KNOWS

แนวคิดของ SHE KNOWS คือ Green Fashion for All  ที่เน้นทางเลือกที่ดีต่อโลก ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และโดนใจผู้หญิงทุกไซส์ ตั้งแต่ 23-44 รวม 18 ไซส์ โดยเน้นรูปแบบการดีไซน์เสื้อผ้าที่ผู้หญิงธรรมดาสามารถสวมใส่ได้ทุกวัน 

เซน กล่าวว่า ด้วยวิสัยทัศน์ทางธุรกิจที่ต้องการแก้ปัญหาแฟชั่น 3 เรื่อง คือ สิ่งแวดล้อม แรงงาน และ ลูกค้า จากความที่ภาพของอุตสาหกรรมแฟชั่นขึ้นชื่อเรื่องการสร้างผลกระทบต่อโลกและสิ่งแวดล้อมสูง แบรนด์จึงเน้นแก้ปัญหา “สิ่งแวดล้อม” ที่ต้นเหตุโดยการเลือกใช้วัสดุซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย เช่น การใช้ใยฝ้ายออร์แกนิคในการผลิตเสื้อยืดนุ่ม ๆ ในคอลเล็กชั่นหลัก ซึ่งไม่ทำลายหน้าดินจากการใช้ปุ๋ยในการเร่งผลผลิต รวมถึงใช้น้ำในการเพาะปลูกน้อยกว่าใยฝ้ายปกติ หรือการตัดเย็บกางเกงยีนในไลน์สินค้า Rework by SHE KNOWS ที่ทำจากผ้ารีไซเคิลทั้งหมด ซึ่งย้อมในระบบปิดและไม่มีการปล่อยน้ำเสียลงแหล่งน้ำสาธารณะ  

“เราไม่ได้เปลี่ยนแบบปุบปับ เราค่อย ๆ เริ่มนับหนึ่งทีละอย่าง เช่น จากกล่องสินค้าก่อนหน้านี้เป็นพลาสติก เราก็เปลี่ยนมาเป็นกล่องกระดาษที่ส่งคืนได้ เสื้อยืดที่เดิมใช้ฝ้ายปกติ ซึ่ง 99% ของใยฝ้ายที่ใช้กันทุกวันนี้เป็นพิษทั้งหมด เราก็ค่อย ๆ เปลี่ยนมาเป็นออร์แกนิค ผ้ายีนส์เมื่อก่อนก็ไม่รักษ์โลกสักเท่าไหร่ ปัจจุบันก็หันมาใช้ผ้ารีไซเคิล เราปรับแก้ทีละจุดแล้วค่อย ๆ ขยายฐานลูกค้าออกไปเรื่อย ๆ”

ต่อมาเป็นเรื่อง แรงงาน แบรนด์เลือกผลิตงานแฮนด์เมดโดยช่างฝึมือไทย ซึ่งเน้นการจ่ายค่าแรงช่างในอัตราที่เพียงพอกับการเลี้ยงครอบครัวและดำรงชีวิตประจำวันแทนการจ่ายตามค่าแรงชั้นต่ำ แม้ต้องจ่ายด้วยค่าแรงที่สูงขึ้นแต่ผลลัพธ์ที่ได้กลับมา คือ คุณภาพของสินค้าที่ดีขึ้นและมีอายุการใช้งานนาน เป็นอีโคซิสเท็มที่ทั้งสามฝ่ายแฮปปี้ คือ เจ้าของแบรนด์ แรงงานช่าง และลูกค้า 

สุดท้าย คือ “ลูกค้า” ที่เราต้องบริหารจัดการต้นทุนให้ราคาสามารถจับต้องได้ คุณภาพสินค้าดีและมีไซส์ให้เลือกได้มาก เนื่องจากสินค้าแนวอนุรักษ์จะมีราคาค่อนข้างสูง อย่างกางเกงยีนต์ของเราจะเริ่มต้นที่ 1,488 บาท ขณะที่ตลาดจะเริ่มต้นที่ราคา 3,000- 4,000 บาท 

โดยทุก ๆ ปี SHE KNOWS จะมีการสรุปตัวเลขในปีที่ผ่านมาว่า ได้ใช้ผ้าที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมสูงกี่เปอร์เซนต์ ผ้าที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่ำกี่เปอร์เซนต์ ใช้ผ้ารีไซเคิลกี่เปอร์เซนต์ และพยายามที่จะเพิ่มเปอร์เซนต์การผลิตสินค้าที่ทำจากวัสดุรีไซเคิลให้มากขึ้น หรือลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้ต่ำลงอีกในแต่ละปี เช่น เข็มขัดที่ราว 66% เป็นหนังที่ทำจากต้นกระบองเพชรซึ่งย่อยสลายได้ แทนที่จะใช้หนังเทียมหรือพลาสติกทั้งหมดซึ่งย่อยสลายยาก หรือการฆ่าสัตว์เพื่อเอาหนัง เป็นต้น ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีอีกทางหนึ่ง  

“แม้เราจะยังเดินไปไม่ถึงสุดทางการสร้างสินค้ารักษ์โลกแบบ 100% แต่เราก็ตั้งใจทำให้แบรนด์นี้เป็นตัวเลือกที่ดีต่อโลกมากกว่าสำหรับทุกคน”

อุปสรรคและความท้าทาย

“ความที่ธุรกิจเรายังเล็ก ตอนนี้เราก็ยังเล็กอยู่ การซื้อวัสดุจึงยากไปหมดเพราะผู้จำหน่ายต่างต้องการจำนวนการสั่งซื้อปริมาณมาก ๆ แล้ววัสดุรักษ์โลกก็ค่อนข้างหายากและต้นทุนสูง จึงเป็นความท้าทายของธุรกิจที่ต้องหาสมดุลให้เจอว่า ถ้าเราอยากขายสินค้ารักษ์โลกในราคาเท่านี้ จะบริหารต้นทุนอย่างไรไม่ให้เป็นภาระของผู้บริโภคมากเกินไป รวมถึงสามาถแข่งขันกับแบรนด์อื่นทั้งที่รักษ์โลกและไม่รักษ์โลกเพื่อให้ธุรกิจได้ไปต่อ” 

ปันปัน ยอมรับว่า กำไรของแบรนด์นับว่าน้อยมาก แต่เราก็ยึดพันธกิจในการพยายามทำให้ดีที่สุดด้วยวัสดุที่ดีที่สุดเท่าที่จะหาได้ โดยไม่ทิ้งรูปแบบการดีไซน์ที่ต้องทันสมัยและเข้าถึงกลุ่มลูกค้ารุ่นใหม่ เพราะการสร้างธุรกิจให้ยั่งยืนและสินค้าเป็นที่แพร่หลายต้องเข้าให้ถึงคนจำนวนมาก แต่ความที่ทุนน้อยในตอนเริ่มต้น ไม่มีงบพอที่จะยิงโฆษณา หรือจ้างอินฟลูเอนเซอร์หรือบล็อกเกอร์มาโปรโมทเสื้อผ้า เพราะฉะนั้น คนที่จะโปรโมทหรือพีอาร์สินค้าของเราได้ดีที่สุด ก็คือ ลูกค้าของเราเอง โดยการบอกต่อแบบปากต่อปาก ใส่แล้วชอบก็กลับมาซื้ออีก ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นในการทำยอดขายจนถึง ณ ปัจจุบัน เรามีกลุ่มลูกค้าที่เป็นคนรุ่นใหม่อายุราว 19-29 ปี สามารถทำยอดขายได้ถึง 70% รวมถึงขยายผลไปยังกลุ่มผู้ใหญ่อายุราว 45-50 ปี ได้อีกด้วย

ปัจจุบัน แบรนด์ SHE KNOWS วางขายผ่านช่องทางออนไลน์คือ ลาซาด้า อินสตราแกรม และไลน์  Lazada Instagram และ Line โดยอยู่ในช่วงการเปิดตัวเว็บไซต์เพื่อขยายตลาดไปยังต่างประเทศ ด้วยความที่มีช่างฝีมือดี ค่าใช้จ่ายถูก คุณภาพคุ้มค่า ประกอบกับไซส์ซึ่งมีให้เลือกมากตั้งแต่ 23-44 ซึ่งน่าจะมีโอกาสเติบโตได้ในตลาดยุโรปและสหรัฐอเมริกา เพียงแต่ต้องขอเวลาในการวิจัยพัฒนาเกี่ยวกับผ้าและวัสดุที่รักษ์โลกให้มากขึ้น ให้งานมีความเสถียรกว่านี้ และมีดีไซน์ที่ตอบโจทย์ลูกค้าที่หลากหลาย

รองเท้าใส่สบายสไตล์รักษ์โลก Maddy Hopper

ชาญสิทธิ ญาวณิชย์ และ ภาคิน โรจนเวคิน เพื่อนร่วมชั้นเรียนมัธยมาตั้งแต่อัสสัมชัญจนเข้าสู่รั้วจุฬา ผู้ร่วมปั้นแบรนด์รองเท้ารักษ์โลก Maddy Hopper จากการตั้งคำถามว่า “รองเท้าที่ดีต้องเป็นยังไง?” และคำตอบที่ได้คือ “นุ่มสบาย เข้าได้กับทุกชุดที่ใส่ และใจดีกับโลกที่เราอยู่”

ชาญเล่าว่า Maddy Hopper เกิดมาเกือบสองปีพร้อม ๆ กับ โควิด จากความที่ไม่เจอรองเท้าที่ใช้สักทีก็เลยทำเองเสียเลย วินาทีแรกของการทำธุรกิจเริ่มจากการตั้งโจทย์สินค้าว่า ต้องเป็นรองเท้านุ่มสบายใส่ได้ทุกวัน วินาทีที่สอง คือ ความอยากเป็นผู้ประกอบการที่รับผิดชอบเรื่องสิ่งแวดล้อม ก็เลยตั้งโจทย์ต่อในเรื่องผู้บริโภค ความยั่งยืน และสิ่งแวดล้อม โดยมีเป้าหมาย คือ การสร้างอัตลักษณ์ของแบรนด์ที่รักษ์โลกและมุ่งแสวงหาความยั่งยืน 

แต่เมื่อความยาก คือ “ความรู้เรื่องธุรกิจรองเท้าเป็นศูนย์” จึงต้องเริ่มหาข้อมูลตั้งแต่การผลิตรองเท้าเป็นอย่างไร ต้องทำแบบไหน ถึงค่อยไปต่อว่า จะทำให้รองเท้าที่เราผลิตยั่งยืนขึ้นได้อย่างไร ต้องใช้วัสดุอย่างไร ดีไซน์ต้องทันสมัย เป็นสิ่งที่ต้องตั้งคำถามและหาคำตอบไปเรื่อย ๆ ตัวอย่างเช่น เมื่ออยากให้วัสดุที่ใช้ต้องเป็นมิตรกับโลก เราเลยเลือกใช้ผ้ารีไซเคิลที่ทำจากพลาสติกแทนที่จะถูกทิ้งเป็นขยะทะเล เอาเศษยางพาราที่เหลือจากทำเตียงมาทำแผ่นรองรองเท้าแบบหนาพิเศษ รวมถึงการดีไซน์สีและรูปทรงรองเท้าให้เข้ากับเสื้อผ้าได้ง่าย ใส่ได้ทุกที่ทุกโอกาส บรรจุภัณฑ์ก็เลือกใช้ถุงซักได้ใส่รองเท้าแทนกล่องกระดาษ

“ประเด็นเรื่องการรักษ์โลก ผมมองเป็นต้นทุน 2 ทาง หนึ่ง คือ ทุนในการรวบรวมผลิตภัณฑ์ที่ก่อให้เกิดคาร์บอนฟุตพริ้นต์ ก๊าซเรือนกระจก หรือ ขยะต่าง ๆ เพื่อเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลและย้อนกลับมาเป็นวัสดุให้เราใช้ในการสร้างงาน กับ สอง ทุนเรื่องเครื่องไม้เครื่องมือต่าง ๆ ที่จะทำให้สินค้านั้น ๆ รักษ์โลกมากขึ้น ซึ่งเป็นสาเหตุให้สินค้าแนวอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมีราคาแพง แต่มีกำไรน้อย อย่างไรก็ตาม ข้อดีของแบรนด์ที่เสียสละตัวเองในการทำเรื่องนี้ คือ ได้รับความสนใจจากสื่อ ได้พื้นที่ทางการตลาด หรืออย่างการสนับสนุนจากเอปสันที่เปิดพื้นที่ในการเล่าเรื่องของแบรนด์โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เมื่อผนวกกับการบริหารจัดการธุรกิจที่มีให้เกิดประสิทธิภาพในเรื่องการลดต้นทุน และกำหนดราคาที่จับต้องได้ ก็ช่วยให้ธุรกิจมีความยั่งยืนและมีกำลังพอที่จะแข่งขันกับรองเท้าแบรนด์อื่นในตลาดได้” 

การรับรู้ของตลาด ขับเคลื่อนธุรกิจเติบโต

“เราเริ่มจากการขายกันเอง ขายให้เพื่อน ออกงานป็อบอัพที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม จากนั้น จึงเริ่มส่งรองเท้าไปให้คนที่ไม่รู้จัก ให้อินฟลูเอนเซอร์บ้างเพื่อให้คนเห็นแล้วบอกต่อ เรียกว่า ปั้นแบรนด์ Maddy Hopper แบบไม่มีเงินจนได้เงินมาหมุนธุรกิจต่อ ขณะเดียวกันก็ต้องบริหารจัดการให้แบรนด์อยู่ได้ เพราะเกิดมาปุ๊บก็เจอโควิดปั๊บ”   

ส่วนกลุ่มเป้าหมายของ Maddy Hopper คือ ลูกค้าที่เป็นคนรักษ์โลกหรือไม่ จะแยกได้ค่อนข้างยาก แต่ถ้าแบ่งตามอายุก็จะอยู่ประมาณนักศึกษามหาวิทยาลัย หรือผู้ที่เพิ่งทำงานใหม่ไปจนถึงอายุราว 35 ปี เนื่องจากเป็นการทำตลาดผ่านออนไลน์เสียส่วนใหญ่ จนเมื่อได้มีโอกาสออกรายการทีวี จึงได้ลูกค้ากลุ่มใหม่เป็นคนอายุราว 50-60 ปี ทั้งหมดจึงขึ้นอยู่กับช่องทางการตลาดที่เราเลือกมากกว่าว่า ช่องทางนั้นไปตรงกับลูกค้ากลุ่มไหน 

“โดยปกติ ตัวชี้วัดทางธุรกิจทั่วไป เรามักคุยกันในเรื่อง ยอดขาย กำไร แต่ถ้าเป็นธุรกิจยั่งยืน เราจะมีตัวชี้วัดด้านความยั่งยืนเพิ่มขึ้นมา เช่น รองเท้า 1 คู่ สามารถสร้างปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่กระทบสิ่งแวดล้อมได้มากเท่าไหร่ และจะลดลงได้อย่างไร ซึ่งถึงตอนนี้ เรายังทำได้ไม่ใกล้เคียงกับสิ่งที่ตั้งใจเสียด้วยซ้ำไป ยังสร้างแรงกระเพื่อมได้ไม่มากเท่าที่ต้องการแต่ก็ถือว่าอยู่ในระดับที่น่าพอใจ อีกอย่างเรายังเป็นแบรนด์ที่เล็กอยู่และมีสินค้าเพียงรุ่นเดียว จึงอยากพัฒนาสินค้าที่ตอบโจทย์ลูกค้าได้หลากหลายขึ้น มีคุณภาพดีขึ้น รวมถึงพัฒนามาตรฐานหรือกระบวนการผลิตให้มีความยั่งยืน และสร้างตลาดในไทยให้แข็งแกร่งก่อน เพื่อในอนาคตจะเปิดตัวไปสู่ตลาดโลกมากขึ้น” 

มองไทยกับความยั่งยืน 

“แนวคิดธุรกิจบนความยั่งยืนเป็นเทรนด์โลกที่กำลังมา แต่เราไม่อยากทำให้เป็นแค่การสื่อสารทางการตลาดว่า “ทำ” แต่ไม่ได้หันกลับมามองว่า “สิ่งที่ทำนั้นดีพอรึยัง” ดังนั้น ผู้ประกอบการในอนาคตควรวางแนวคิดความยั่งยืนไว้ตั้งแต่วันแรกที่เริ่มคิดทำธุรกิจว่า สามารถสร้างธุรกิจที่มีความยั่งยืนได้อย่างไรบ้าง รวมถึงการศึกษาแบรนด์ต่างประเทศที่ทำมาก่อนเพื่อดูว่า เขาใช้กระบวนการผลิตอย่างไร ใช้วัสดุแบบไหน ศึกษาจากแบรนด์ไทยร่วมด้วย เราจะมองเห็นทั้งความผิดพลาดและทางออกที่มากขึ้นเรื่อย ๆ”  

ชาญ ให้ความเห็นว่า ไทยยังอยู่ในขั้นเริ่มต้น หลายแบรนด์เริ่มมองเรื่องความยั่งยืน สื่อก็เริ่มให้ความสนใจ รวมถึงลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากความแปรปรวนของสภาพอากาศ น้ำท่วม โลกร้อน เริ่มส่งแรงกดดันมาที่ภาคธุรกิจมากขึ้น ซึ่งน่าจะทำให้มีแบรนด์ใหม่ ๆ ผุดขึ้นมา โดยหวังว่า ความต้องการที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลให้ราคาของสินค้ารักษ์โลกถูกลง ลูกค้ามีทางเลือกเยอะขึ้น และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับแบรนด์อื่น ๆ มากขึ้น

“ผมไม่อยากยืนโดดเดี่ยวอย่างนี้ อยากให้มีคู่แข่งมาก ๆ เพราะคนไม่กี่คนทำแบรนด์รักษ์โลกแบรนด์เดียวสองแบรนด์มันไม่เกิดแรงกระเพื่อมอะไร อย่างมากก็ทำได้แค่เป็นตัวอย่าง ก็อยากให้มาช่วย ๆ กันมาก ๆ เพื่อที่ในอนาคตอย่างน้อยความต้องการสินค้ารักษ์โลกที่มากขึ้น จะทำให้วัสดุที่ใช้ในการผลิตถูกลง และทำให้ทุกคนเห็นว่า การทำธุรกิจที่ใส่ใจในสิ่งแวดล้อมก็สามารถสร้างผลกำไรที่ยั่งยืนได้” 

ส่งท้ายมุมมองเรื่องความยั่งยืน

ภาคิน กล่าวว่า Maddy Hopper เป็นความความตั้งใจของเราที่อยากทำแบรนด์รักษ์โลก เราอยากแสดงความรับผิดชอบ แต่เมื่อลงมือทำจริงกลับพบว่า ยังห่างไกลอีกมาก แต่ข้อดีคือ เรารับรู้มากขึ้นว่า ทุกย่างก้าวของการใช้ชีวิตประจำวัน เราได้สร้างผลกระทบต่อโลกและสิ่งแวดล้อมไปไม่มากก็น้อย ซึ่งถ้าทุกคนตระหนักในเรื่องเหล่านี้แล้วค่อยเปลี่ยนตัวเองทีละเล็กละน้อย เช่น ไม่ใช้ถุงพลาสติก เปลี่ยนมาใช้หลอดกระดาษแทนหลอดพลาสติก ก็จะเป็นการช่วยโลกให้ขับเคลื่อนไปสู่ความยั่งยืนมากขึ้น เพราะการทำให้โลกอยู่ได้ อยู่ง่าย แล้วก็อยู่สบายมากขึ้น สุดท้ายแล้วเป็นการทำเพื่อตัวของเราเอง รวมถึงยังช่วยขับเคลื่อนภาคธุรกิจให้ตื่นตัวในเรื่องราวเหล่านี้ ซึ่งอาจจะทำให้ได้เห็นสิ่งใหม่ ๆ เกิดขึ้นอีกมากมาย 

ขณะที่คุณชาญ เสริมว่า เทรนด์ธุรกิจความยั่งยืนมีทิศทางที่ดีขึ้นทั้งในแง่การรับรู้ของสังคมและกระตุ้นให้เกิดการปฎิบัติ ในอนาคตสินค้ารักษ์โลกน่าจะมีราคาถูกลง มีทางเลือกให้ลูกค้ามากขึ้นจนไปถึงจุดที่ “การรักษ์โลกไม่ใช่แค่เครื่องมือในการทำตลาด” แต่เป็นสิ่งที่ธุรกิจตั้งใจจะเดินไปในทิศทางนั้นจริง ๆ 

ปิดท้ายที่ คุณเซน จาก SHE KNOWS ที่ให้มุมมองว่า ธุรกิจที่ยั่งยืนไม่ใช่แค่สิ่งแวดล้อมแต่มันเกี่ยวข้องกับชุมชน ตัวอย่างง่าย ๆ เช่น กางเกงยีนส์ มันแป็นปัญหาตั้งแต่ตอนปลูกฝ้ายแล้วทำให้หน้าดินแห้ง พอมาทอและย้อมก็ปล่อยของเสียลงแหล่งน้ำเป็นมลพิษต่อผู้อาศัยใกล้เคียง ตอนตัดเย็บก็ถูกกดราคาค่าแรง ขายได้ 199-200 บาท ใส่ได้ไม่กี่ครั้งก็ขาดต้องเอาไปบริจาค ทุกคนอาจจะไม่รู้ว่าเสื้อผ้าบริจาคเยอะมากจนต้องส่งออกไปประเทศยากจนอื่น เช่น แอฟริกา ซึ่งก็ไปเป็นปัญหาที่ทำให้ช่างเย็บผ้าที่นั่นไม่มีงานทำเพราะสินค้ามือสองราคาถูกกว่า จะเห็นว่า อีโคซิสเท็มทางแฟชั่นนั้นใหญ่และกระทบไกล เพราะฉะนั้น ในฐานะผู้บริโภค เราสามารถส่งเสียงไปถึงธุรกิจว่า ฉันต้องการให้สินค้าคุณรักษ์โลก และรักษ์ชุมชนเพื่อร่วมกันปกป้องสิ่งแวดล้อม และเราในฐานะผู้ประกอบการก็อยากถ่ายทอดสิ่งนี้ออกไป เพื่อให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมในการรักษ์โลกอย่างยั่งยืนให้มากกว่าเดิม

ข่าวอื่น ๆ ทีน่าสนใจ

RISE เปิดตัวกองทุน SeaX Zero ตั้งเป้าขับเคลื่อนนวัตกรรมองค์กรเพื่อความยั่งยืน

บีโอไอเปิด 9 มาตรการใหม่ ขับเคลื่อนลงทุนไทยสู่เศรษฐกิจใหม่ ควบคู่ความยั่งยืน

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ