TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistสนามบินสามเหลี่ยมทองคำ เติมฝัน "เจ้าเหว่ย" มังกรลุ่มน้ำโขง

สนามบินสามเหลี่ยมทองคำ เติมฝัน “เจ้าเหว่ย” มังกรลุ่มน้ำโขง

มีความชัดเจนจากแขวงบ่อแก้วต้นเดือนมีนาคม 2565 สนามบินนานาชาติบ่อแก้ว หรือสนามบินสามเหลี่ยมทองคำ จะเปิดบริการอย่างเป็นทางการ และนี่จะเป็นสนามบินนานาชาติแห่งใหม่ของสปป.ลาว ที่ซุ่มก่อสร้างในช่วงโควิด-19 ระบาด ใช้เวลาประมาณ 18 เดือน ก็สร้างเสร็จ 

ก่อนหน้าโควิดมาเยือนนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติจะเดินทางไปเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ โดยเฉพาะการไปเสี่ยงโชคที่กาสิโนคิงส์โรมัน พวกเขาจะผ่านจุดผ่านแดนถาวรบ้านสบรวก ต.เวียง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย นั่งเรือข้ามแม่น้ำโขงไปขึ้นท่าเรือด่านสากลมังกร ฝั่งเมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว 

เฉพาะชาวจีนจะเดินทางมาท่องเที่ยวและทำธุรกิจที่เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำแต่ละปีไม่ต่ำกว่า 3 แสนคน มีทั้งขับรถมาจากนครคุนหมิง ข้ามพรมแดนจีน-ลาว ด่านบ่อเต็น แขวงหลวงน้ำทา ใช้ถนนสาย R3a เดินทางมายังแขวงบ่อแก้ว และเดินทางโดยเครื่องบินมาลงยังสนามบินนานาชาติแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย และเดินทางโดยรถยนต์มาที่ด่านสบรวก อ.เชียงแสน นั่งเรือข้ามแม่น้ำโขงไปยังเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ

ในอนาคตนักท่องเที่ยวชาวจีนสามารถบินตรงมายังสนามบินนานาชาติบ่อแก้วโดยไม่ต้องมาแวะที่เชียงราย ซึ่งสนามบินแห่งนี้ เป็นความฝันของเจ้าเหว่ย ประธานสภาบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำมานานแล้ว

เดิมที เจ้าเหว่ย ประธานกลุ่มบริษัทดอกงิ้วคำ ผู้ได้สัมปทานบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ วางแผนสร้างสนามบินนานาชาติ เรียกว่า “สนามบินสามเหลี่ยมทองคำ” ที่บ้านสีเมืองงาม และบ้านสีบุนเรือง เมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว ตั้งแต่ปี 2557 แต่มีชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากการเวนคืนที่ดินลุกฮือก่อการประท้วงต่อต้านอย่างต่อเนื่อง ปี 2560 เจ้าเหว่ย จึงพับแผนสร้างสนามบินแห่งนี้

ขณะเดียวกันทางการแขวงบ่อแก้วได้เปลี่ยนแผนปรับปรุงและขยายสนามบินห้วยซาย ซึ่งเป็นสนามบินของแขวงแทน ส่วนเจ้าเหว่ย ก็หันไปพัฒนาท่าเรือริมแม่น้ำโขง ยกระดับให้เป็นด่านสากลมังกร ตรงข้ามบ้านสบรวก อ.เชียงแสน โดยวางศิลาฤกษ์เมื่อเดือนมกราคม 2561

ในวิกฤติมีโอกาส ในโควิดระบาดก็มีการปัดฝุ่นสร้างสนามบินแบบเงียบ ๆ แต่อึกทึกในแวดวงรัฐบาลลาว ใครจะไปคิดว่า ช่วงล็อกดาวน์เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ ธุรกิจส่วนใหญ่หยุดชะงัก กรรมกรว่างงาน แต่การก่อสร้างสนามบินกลับดำเนินไปอย่างรวดเร็ว 

เค้าลางการสร้างสนามบินนานาชาติ เริ่มต้นขึ้นเมื่อ 4 มิถุนายน 2563 สอนไซ สีพันดอน รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีแผนการและการลงทุน เดินทางมาเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ เจ้าเหว่ยปูพรมแดงต้อนรับอย่างเอิกเกริก โดยรองนายกรัฐมนตรีลาว ได้ร่วมประชุมปรึกษาหารือกับเจ้าเหว่ย และคณะบริหารกลุ่มบริษัทดอกงิ้วคำ 

ในการปรึกษาหารือครั้งนั้น คณะกรรมการคุ้มครองเขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมทองคำ เห็นชอบให้กลุ่มบริษัทดอกงิ้วคำสร้างสนามบินนานาชาติ มูลค่า 150 ล้านดอลลาร์ เป็นสนามบินขนาดรันเวย์ยาว 2,500 เมตร กว้าง 60 เมตร สามารถรองรับเครื่องบินขนาดไม่เกิน 200 ที่นั่ง เช่น โบอิง 737-900ER, แอร์บัส 320 หรือ ATR-72 

หลัง สอนไซ สีพันดอน รองนายกรัฐมนตรี กลับนครหลวงเวียงจันทน์ คณะรัฐบาลลาวได้อนุมัติให้ดำเนินการก่อสร้างสนามบินนานาชาติที่เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ เมื่อ 21 มิถุนายน 2563 ถัดมา คณะบริหารเขตเศรษฐกิจฯ ได้เจรจาไกล่เกลี่ยเรื่องการจ่ายค่าเวนคืนที่ดินกับชาวบ้านผ่านไปได้ด้วยความราบรื่น 

วันที่ 20 กันยายน 2563 บริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างจากเมืองจีน จึงเริ่มลงมือก่อสร้างสนามบิน โดยไม่มีการแถลงข่าวใด ๆ จากคณะบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษฯ ประกอบกับช่วงนั้น โควิดระบาดหนักมีการล็อกดาวน์สามเหลี่ยมทองคำ ห้ามการเดินทางเข้า-ออก ยกเว้นคนงานจีนที่เดินทางมาสร้างสนามบิน

กระทั่งวันที่ 22 ธันวาคม 2564 ทีมงานประชาสัมพันธ์ของเขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมทองคำ จึงได้เผยแพร่ภาพสนามบินนานาชาติบ่อแก้วเป็นครั้งแรก โดยวันดังกล่าว ได้มีเครื่องบินของการบินลาว (Lao Airlines) และลาวเดินอากาศ (Lao Skyway) ได้ทดลองบินขึ้น-ลง เพื่อทดสอบรันเวย์ ระบบลงจอด และระบบสื่อสาร

สำหรับ เจ้าเหว่ย ประธานบริหารกลุ่มบริษัทดอกงิ้วคำ เป็นนักธุรกิจจีนที่ได้รับความไว้วางใจจากผู้นำรัฐบาลลาวเป็นอย่างมาก ช่วงเศรษฐกิจหยุดชะงักเพราะโควิด-19 เจ้าเหว่ยได้ถือโอกาสเดินทางไปสำรวจลู่ทางการลงทุนด้านการเกษตรและการท่องเที่ยว ที่แขวงเชียงขวาง และแขวงหัวพัน

ปี 2550 รัฐบาลลาว อนุญาตให้สัมปทานแก่กลุ่มบริษัทดอกงิ้วคำ ดำเนินโครงการเขตเศรษฐกิจเฉพาะสามเหลี่ยมทองคำ มีที่ตั้งอยู่ที่บ้านต้นผึ้ง เมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว ตรงข้ามกับ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย และ จ.ท่าขี้เหล็ก รัฐฉาน สหภาพเมียนมา โดยเจ้าเหว่ย เป็นประธานสภาบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ

เบื้องต้น กลุ่มบริษัทดอกงิ้วคำใช้เงินลงทุนประมาณ 3,000 ล้านดอลาร์สหรัฐ โดยเน้นการสร้างแหล่งบันเทิงครบวงจรที่รู้จักกันในนามกาสิโนคิงส์โรมัน มีกลุ่มเป้าหมายเป็นนักเสี่ยงโชคและนักท่องเที่ยวจากเมืองจีน

ตามสัญญาสัมปทานดังกล่าว กลุ่มบริษัทดอกงิ้วคำ ได้สิทธิในการเช่าที่ดิน จำนวน 827 เฮกตาร์ หรือราว 5,000 กว่าไร่ จากรัฐบาล สปป.ลาว เป็นเวลา 99 ปี ต่อมา ปี 2557 รัฐบาลลาวได้ลงนามในสัญญาสัมปทานฉบับปรับปรุง ได้ขยายพื้นที่สัมปทานออกไปเป็น 2,173 เฮกตาร์ หรือ 13,582 ไร่ ซึ่งในพื้นที่ส่วนขยายใหม่ มีโครงการก่อสร้างสนามบิน ,สนามกอล์ฟ, พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเกาะดอนซาวและเมืองเก่าสุวรรณโคมคำ ฯลฯ

ถ้ายังจำกันได้ ต้นปี 2561 กระทรวงการคลัง สหรัฐอเมริกา ประกาศขึ้นบัญชีดำและคว่ำบาตรกิจการที่เกี่ยวข้องกับเจ้าเหว่ย เจ้าของกิจการกาสิโนคิงส์โรมัน อ้างพัวพันยาเสพติด การค้ามนุษย์ และการค้าสัตว์ป่าคุ้มครองหายากใกล้สูญพันธุ์

เจ้าเหว่ย เปิดแถลงข่าวตอบโต้สหรัฐฯอย่างแข็งกร้าว สรุปใจความได้ว่า “การคว่ำบาตรฝ่ายเดียวต่อประเทศอื่น ก็เป็นพฤติกรรมที่ไม่มีเหตุผล และไร้สาระ มีจุดประสงค์อื่นเพื่อแสดงพฤติกรรมขยายอำนาจอิทธิพล พฤติกรรมนี้มันทำให้เกิดความเข้าใจผิดอย่างมหันต์ ต่อสังคม เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ” เนื่องจากเขตเศรษฐกิจแห่งนี้ ไม่ได้มีแต่กาสิโน หากยังมีเขตอุตสาหกรรม เขตเกษตรกรรม, โรงแรม, สนามกอล์ฟ ฯลฯ

สาเหตุที่สหรัฐฯ เฝ้าจับตามองบทบาทของเจ้าเหว่ยในสามเหลี่ยมทองคำ เพราะในอดีตเจ้าเหว่ยเคยเข้าไปประกอบธุรกิจกาสิโนที่เมืองลา เขตปกครองตนเองในรัฐฉาน สหภาพเมียนมา ซึ่งเป็นเมืองเล็ก ๆ ที่อยู่ติดพรมแดนจีน-เมียนมา ซึ่งอยู่ในการดูแลของกองกำลังติดอาวุธเมืองลา

ต่อประเด็นการคว่ำบาตรกาสิโนคิงส์โรมัน รัฐบาลลาวได้ให้การสนับสนุนเจ้าเหว่ย นักธุรกิจจีนฉายา “มังกรลุ่มน้ำโขง” เต็มที่ เนื่องจากเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ ได้จ่ายพันธะอากรให้แก่รัฐบาลลาวไปแล้ว 458 ล้านดอลลาร์ นับแต่ปี 2555 จนถึงกลางปี 2562 

การที่ เจ้าเหว่ย เร่งก่อสร้างสนามบินนานาชาติที่สามเหลี่ยมทองคำให้แล้วเสร็จ และจะเปิดบริการเดือนมีนาคม 2565 เพื่อรองรับการเปิดประเทศของ สปป.ลาว ตามแผนการท่องเที่ยวสีเขียวรัฐบาลลาวได้กำหนดไว้ 3 ระยะคือ ระยะที่ 1 (ม.ค.-มี.ค.2565) ,ระยะที่ 2 (เม.ย.-มิ.ย.2565) และระยะที่ 3 (ก.ค.2565 เป็นต้นไป)

ตามข้อมูลของเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ ปี 2561 มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไปในสามเหลี่ยมทองคำ 452,571 คน ช่วงกลางปี 2562 มีโรงแรมเปิดให้บริการแล้ว 13 แห่ง ห้องพักรวม 1,303 ห้อง 

2 ปี ที่มีการล็อกดาวน์เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ เพราะพิษโควิด-19 ทำให้กลุ่มบริษัทดอกงิ้วคำสูญเสียรายได้มหาศาลจากการท่องเที่ยว ดังนั้น การลงทุนสร้างสนามบินนานาชาติบ่อแก้ว จึงเป็นความหวังของเจ้าเหว่ย มังกรลุ่มน้ำโขง ที่จะปลุกฟื้นเศรษฐกิจสามเหลี่ยมทองคำ

สำหรับเมืองไทย สนามบินนานาชาติแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย อาจไม่ใช่ปลายทางของนักท่องเที่ยวจีนในอนาคต เที่ยวบินเช่าเหมาลำจากแผ่นดินใหญ่คงบินตรงมาที่บ่อแก้ว รวมถึงชาวจีนที่มากับขบวนรถไฟลาว-จีน สามารถท่องเที่ยวนครหลวงเวียงจันทน์ และหลวงพระบาง ก่อนนั่งเครื่องบินแวะมากาสิโนสามเหลี่ยมทองคำ

ขณะที่เจ้าเหว่ย ประธานกลุ่มบริษัทดอกงิ้วคำ กำลังฝันหวานถึงอนาคตการท่องเที่ยวหลังโควิด แต่สหรัฐฯ คงกระอักกระอ่วนใจและเฝ้าจับตามองสนามบินแห่งนี้อย่างใกล้ชิด 

ขอบคุณภาพจาก เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ Golden Triangle Special Economic Zone

คอลัมน์ Mekong Connect เขียนโดย ประชา บูรพาภิวัฒน์

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ