TH | EN
TH | EN
หน้าแรกStartupพันธกิจ ARINCARE เชื่อมโยงระดับชุมชนสร้าง Healthcare Ecosystem

พันธกิจ ARINCARE เชื่อมโยงระดับชุมชนสร้าง Healthcare Ecosystem

อุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพ หรือ Healthcare ไม่ได้มีเพียงมูลค่าที่มาจากสถานรักษาพยาบาลเท่านั้น ยังคงมีธุรกิจร้านยาที่เป็นอีกฟันเฟืองของอุตสาหกรรมนี้ ปัจจุบันตัวเลขเฉลี่ยของคนไทยทั่วประเทศที่เข้าซื้อยารับประทานเองจากร้านยาที่มีเภสัชกรมีถึง 180 ล้านครั้งต่อปี และแนวโน้มรายยาในต่างจังหวัดเปิดใหม่เพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่มากกว่าร้านยาในกรุงเทพฯ การขยายตัวของธุรกิจกลุ่มนี้ชี้ให้เห็นชัดเจนขึ้นว่า การเข้าถึงระบบการรักษาในสถานพยาบาลเริ่มมีช่องโหว่ที่กว้างขึ้น การเติมเต็ม Healthcare ecosystem ให้เกิดขึ้นจึงเป็นความท้าทายของสตาร์ตอัพกลุ่ม Health tech 

ARINCARE คือหนึ่งในสตาร์ตอัพไทยที่หวังให้คนไทยเข้าถึงการดูแลรักษาสุขภาพได้ง่ายขึ้นในค่าใช้จ่ายที่ลดลง ด้วยการใช้เทคโนโลยีสร้างระบบการบริหารจัดการร้านยาที่ครอบคลุมตั้งแต่ การจัดการภายในร้านยา การจัดเก็บข้อมูลการซื้อยาของลูกค้า รวมไปถึงการมีระบบจัดการระหว่างร้านยาและบริษัทยา และล่าสุดต่อยอดขยายให้เกิดการเชื่อมต่อกันเป็นระบบนิเวศที่น่าสนใจ คือ การส่งเสริมให้คนทุกระดับเข้าถึงบริการ Telepharmacy โดยมีพาร์ทเนอร์รายใหญ่อย่างกลุ่มรพ.จุฬารัตน์และบริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ PTG เข้าร่วมปิดดีลลงทุนใน Series B ที่ 4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

Make Healthcare Affordable

ธีระ กนกกาญจนรัตน์ ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อรินแคร์ จำกัด (ARINCARE) กล่าวกับ The Story Thailand ว่า ปัจจุบัน ARINCARE ก้าวเข้าสู่ปีที่ 7 ตั้งแต่วันแรกภารกิจหลักของเราคือช่วยให้คนไทยเข้าถึงการดูแลรักษาสุขภาพได้ง่ายขึ้นในค่าใช้จ่ายที่ลดลง โดยมี 3 บริการหลัก ได้แก่ การสร้างระบบบริหารจัดการให้เกิดขึ้นในร้านยา (Pharmacy management platform) การบริหารจัดการระหว่างร้านยาและบริษัทยา (Supply Chain Service) เป็นการให้บริการแบบ B2B และการให้บริการระหว่างร้านยากับประชาชนที่ต้องการเข้าถึงคำแนะนำของเภสัชกร (Telepharmacy Service) ซึ่งเป็นบริการต่อยอดจากสถานการณ์โควิด-19 เป็นการให้บริการที่เข้าถึงผู้ใช้บริการแบบ B2C

ARINCARE มุ่งเน้นในการดำเนินธุรกิจต่อจากนี้ คืออยากเป็นบริษัทที่เติบโตอย่างยั่งยืนและสร้างคุณค่าให้เกิดขึ้นกับสังคม โดยปี 2566 ต้องทำภารกิจ Connecting เพื่อสร้าง Healthcare ecosystem เกิดขึ้นในระดับชุมชนของไทย ซึ่งตลาดยารักษาโรคของไทยติดอันดับ 2 ตลาดยาที่ขนาดใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากอินเดียและอินโดนีเซีย ซึ่งคนไทยมีการตื่นตัวเรื่องสุขภาพมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ก่อนมีโควิด-19 ระบาด โดยตลาดยาในประเทศไทยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มโรงพยาบาลโดยทั้งรัฐและเอกชนมีมูลค่าตลาดรวมที่ 1.49 แสนล้านบาทต่อปี และกลุ่มร้านยามีมูลค่าที่ 3.6 หมื่นล้านบาทต่อปี 

ทั้งนี้ร้านยาในปี 2565 ที่ผ่านมามีจำนวนอยู่ที่ 18,000 ร้าน เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ที่มีจำนวนร้านยาประมาณ 14,000 ร้าน ทั้งนี้เทรนด์ที่พบในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา คือ ร้านยาในต่างจังหวัดมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นมากกว่าในกรุงเทพฯ เนื่องจากเภสัชกรกลับบ้านเกิดเพื่อเปิดร้านยามากขึ้น และความต้องการของผู้บริโภคในกลุ่มรักสุขภาพ ใส่ใจการดูแลตัวเองด้วยอาหารเสริมมีจำนวนเพิ่มขึ้น รวมถึงกลุ่มสูงวัยที่มีอัตราเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2563จนถึงปัจจุบัน ทำให้การเข้าถึงร้านยาเป็นสิ่งที่จำเป็นมากยิ่งขึ้นเช่นกัน

“เราไม่ได้มองว่าร้านยาในไทยขาดแคลน เพียงแต่กลุ่มธุรกิจนี้ไม่มีเครื่องมือที่จะใช้ในการบริหารจัดการภายในให้เกิดมูลค่าและส่งต่อคุณค่าไปยังสังคมได้เต็มที่”

สตาร์ตอัพเฮลธ์เทคต้องการแหล่งทุนที่เข้าใจ Healthcare

ธีระ มองว่าภาพรวมบทบาทสตาร์ตอัพกลุ่มสุขภาพ (Health Tech) ในตลาดดูแลสุขภาพ (Healthcare) ของไทยนั้นยังคงต้องการแรงสนับสนุนจากแหล่งเงินทุนที่เข้าใจการเติบโตของธุรกิจกลุ่มนี้ โดยอุตสาหกรรม Healthcare ของไทยตอนนี้ยังคงมีช่องโหว่ที่น่าสนใจและท้าทายให้สตาร์ตอัพกลุ่ม Health Tech หลายรายได้แก้โจทย์นี้ แต่ด้วยธุรกิจ Healthcare ไม่ใช่กลุ่มที่ทำธุรกิจแล้วสามารถมีกำไรกลับมาได้ทันทีเหมือนธุรกิจอื่นๆ โดยจะต้องใช้เวลาในการทำตลาดเพราะเป็นธุรกิจอ่อนไหว ถึงแม้ว่าหลายคนมอง Healthcare เป็นธุรกิจเติบโต แต่เมื่อถามว่า คุณจะลงทุนด้วยไหม ปัจจัยเรื่องระยะเวลาในการทำกำไรจึงเป็นเหตุผลในการตัดสินใจของนักลงทุนพอสมควร 

ARINCARE ใช้เวลาในการสร้างความเข้าใจให้กับกลุ่มเภสัช ร้านยา และผู้ใช้บริการ ซึ่งใช้เวลา 5-6 ปีเพื่อสร้างการขับเคลื่อนเรื่องดิจิทัลเทคและส่งผลถึงรายได้จนมีกำไรกลับมา จึงมองว่า Health Tech ในอุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพของไทย ต้องการทุกมุมเพราะยังขาดแคลน ซึ่งขณะเดียวกันในโลกของการลงทุนสวนทางกัน ในการลงทุนเรามองที่การคืนทุนกลับมาก่อน ซึ่งผู้ลงทุนอาจรอไม่ไหวเพราะธุรกิจนี้ต้องใช้เวลา ดังนั้นการมองหาพาร์ทเนอร์ที่เข้าใจมุมการลงทุนลักษณะนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก มองที่ความตั้งใจสร้างคุณค่าให้เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมก่อนและเรื่องการคืนทุนได้มาหลังจากเกิดคุณค่าในสังคมแล้ว

รพ.จุฬารัตน์-PTG พาร์ทเนอร์ร่วมสร้าง Healthcare ecosystem

ธีระเล่าว่าพาร์ทเนอร์ที่ร่วมในการร่วมระดมทุน Series B ด้วยเงินทุนมูลค่า 4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยหนึ่งในนั้นมีกลุ่มโรงพยาบาลจุฬารัตน์ หรือ CHG เป็นผู้ร่วมลงทุนหลัก และบริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ PTG โดยเราตั้งเป้าขยายร้านยาที่ใช้บริการแพลตฟอร์ม ARINCARE ประมาณ 3,000 ร้าน หรือคิดเป็นสัดส่วน 20% ของจำนวนร้านยาทั้งหมดในประเทศไทย เป็น 6,000 ร้าน ก่อนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (mai) ในปี 2569

ส่วนการทำงานร่วมกับกลุ่มรพ.จุฬารัตน์ คือการเชื่อมต่อกับเภสัชกรที่อยู่ในชุมชนสามารถทำงานร่วมกับทีมแพทย์ของรพ.จุฬารัตน์และการเชื่อมต่อกันในบริการ Supply Chain Service ระหว่างร้านยาและโรงพยาบาลและการใช้ดิจิทัลเฮลธ์แคร์ระหว่างเภสัชกร โรงพยาบาลและประชาชนทั่วไปในระดับชุมชน 

ทั้งนี้ ARINCARE มองว่าจุดแข็งของกลุ่มรพ.จุฬารัตน์ คือกลุ่มผู้ใช้บริการประกันสังคม ซึ่งพื้นที่จุดแข็งคือโซนกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออก และจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งเรามองว่ากลุ่มประกันสังคมเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขบางประเภทค่อนข้างยาก เช่น การขอคำปรึกษาจากแพทย์เพื่อวินิจฉัยเบื้องต้นนั้น อาจทำได้ยาก ต่างจากกลุ่มที่ใช้ประกันสุขภาพแบบกลุ่มหรือประกันสุขภาพส่วนตัวที่สามารถขอคำปรึกษาเบื้องต้นได้จากโรงพยาบาลผ่านทางดิจิทัลเฮลธ์ต่างๆ ที่แต่ละแห่งมีให้บริการ แต่กลุ่มที่ใช้ประกันสังคมเป็นหลักยังคงต้องเดินทางเพื่อเข้ารับการรักษาเมื่อมีอาการเบื้องต้นที่โรงพยาบาล โดยรพ.จุฬารัตน์มองในมุมเดียวกับ ARINCARE ที่ต้องการให้เรื่องดิจิทัลเฮลธ์มีความแพร่หลายและเข้าถึงได้ในทุกระดับ

ส่วนความร่วมมือกับ PTG เราจะเป็นตัวเชื่อมต่อให้คนในชุมชนได้เข้าถึงบริการ Telepharmacy Service ผ่านจุดให้บริการกลางในบริเวณของสถานีน้ำมันของ PTG ซึ่งกลยุทธ์การทำตลาดของ PTG มีความชัดเจนในการขยายสาขาสถานีน้ำมันไปในระดับตำบล สามารถเข้าถึงระดับชุมชน ซึ่งปัจจุบันบางชุมชนคนที่ใช้โทรศัพท์มือถือที่ใช่สมาร์ทโฟนยังคงมีอยู่ ทำให้กลุ่มนี้เข้าถึงการใช้งานดิจิทัลเฮลธ์ค่อนข้างยาก ดังนั้นการมีจุดบริการส่วนกลางด้านเทเลฮลธ์ในชุมชนจะช่วยให้กลุ่มนี้เข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขในการปรึกษาปัญหาสุขภาพเบื้องต้นได้

ระดมทุนต่อเนื่องอาจไม่ตอบโจทย์ 

ธีระ มองว่า สตาร์ทอัพไทยอาจใช้โมเดลการเติบโตแบบเดียวกับในต่างประเทศยาก แน่นอนว่าทุกคนที่ตั้งสตาร์ตอัพขึ้นมาอยากโตเร็ว แต่ด้วยตลาดทุนสตาร์ตอัพในเมืองไทยอาจไม่ส่งเสริมให้เกิดแบบเดียวกับสตาร์ตอัพในต่างประเทศ ซึ่งจะเห็นว่าสตาร์ตอัพที่สร้างความสำเร็จได้แล้วไม่สามารถนำโมเดลไปใช้ที่ต่างประเทศได้ ดังนั้นการเปลี่ยนมุมมองการทำธุรกิจให้เป็นการเติบโตแบบยั่งยืนจึงเป็นอีกทางออกที่จะทำให้ธุรกิจอยู่ได้ตลอด เช่น การหาพาร์ทเนอรร่วมลงทุน หรือการเข้าตลาดหลักทรัพย์ เป็นต้น

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ