TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusinessถอดรหัสความสำเร็จ The 1 มัดใจลูกค้ายุคดิจิทัลด้วย พลังของข้อมูล

ถอดรหัสความสำเร็จ The 1 มัดใจลูกค้ายุคดิจิทัลด้วย พลังของข้อมูล

ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่ดิจิทัลที่ข้อมูลกลายเป็นน้ำมันใหม่ (New Oil) ในการขับเคลื่อนธุรกิจ การเติบโตของข้อมูลอย่างล้นเหลือ จึงเป็นความท้าทายของผู้ที่เก็บและนำข้อมูลซึ่งประเมินว่าเติบโตชนิดเป็นพัน ๆ เท่า มาใช้ให้เกิดประโยชน์ทางธุรกิจได้อย่างไร

เดอะวัน (The 1) ภายใต้กลุ่มเซ็นทรัล คือ หนึ่งในองค์กรที่ประสบความสำเร็จในการนำกลยุทธ์ด้านข้อมูลมาใช้ในการขับเคลื่อนธุรกิจ (Data Driven) บนเทคโนโลยีคลาวด์แพลตฟอร์มของ อะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส (AWS) เพื่อเปลี่ยนโฉมธุรกิจสู่ ผู้นำดิจิทัลไลฟ์สไตล์และลอยัลตี้แพลตฟอร์มที่ยืนหนึ่งเรื่องการส่งต่อประสบการณ์ชีวิตยุคดิจิทัลที่ดีที่สุดให้กับลูกค้าในทุกมิติ (Customer 360) ผ่านช่องทางสื่อสารแบบออมนิแชนแนลที่หลากหลายทั้งออนไลน์และออฟไลน์”

เปิด 3 กลยุทธ์เพิ่มพลังขับเคลื่อนธุรกิจด้วยข้อมูล

รายงานของอเบอร์ดีน (Aberdeen) เปิดเผยว่า องค์กรที่มีกลยุทธ์ด้านข้อมูลและนำข้อมูลมาใช้ในการขับเคลื่อนธุรกิจ โดยเฉลี่ยแล้วจะมีการเติบโตทางรายได้สูงถึง 20-30 เปอร์เซนต์ โดยจะได้รับประโยชน์ทั้งในเรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพการปฎิบัติงาน การตัดสินใจที่รวดเร็วและแม่นยำ รวมถึงก่อให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมใหม่ ขณะที่องค์กรซึ่งไม่ได้นำข้อมูลมาใช้อย่างจริงจัง จะโตได้ราว 15 เปอร์เซนต์  

วัตสัน ถิรภัทรพงศ์ Country Manager อะเมซอนเว็บเซอร์วิสเซส (AWS) ประจำประเทศไทย ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มประมวลผลคลาวด์ กล่าวว่า องค์กรส่วนใหญ่กำลังเผชิญกับความท้าทายในการจัดการข้อมูลที่โตแบบก้าวกระโดดเฉลี่ย 10 เท่าในทุก ๆ 5 ปี จนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไม่ทัน ข้อมูลที่เก็บอย่างกระจัดกระจาย จนไม่สามารถเชื่อมโยงให้เกิดการใช้ประโยชน์ทางธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ การขาดบุคลากรในการทำงานกับเทคโนโลยีใหม่ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) หรือแมชชีนเลิร์นิ่ง และความกังวลเรื่องความปลอดภัยของข้อมูล

AWS มีแนวทางในการช่วยให้ลูกค้าประสบความสำเร็จในการวางกลยุทธ์ด้านข้อมูล (Modern Data Strategy) โดยยึดหลักการ 3 ประการ ได้แก่ 1) Modernize การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้ทันต่อทุกการเติบโตของข้อมูล ด้วยประสิทธิภาพในการย่อขยายการใช้งานได้ตามต้องการ (Scalability) มีความปลอดภัย เชื่อถือได้ 2) Unify คือ การรวบรวมข้อมูลที่กระจัดกระจายจากทุกที่มาร้อยเรียงให้เกิดประสิทธิภาพในการใช้งานได้อย่างไร้รอยต่อ และ 3) Innovate การประมวลผลข้อมูลด้วยเครื่องมือที่ชาญฉลาด เช่น เอไอ หรือ แมชชีนเลิร์นนิ่ง เพื่อสร้างนวัตกรรม ประสบการณ์ หรือกระบวนการทำงานใหม่ ๆ ที่ต่อยอดสู่การเพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจ

วัตสัน ถิรภัทรพงศ์ Country Manager อะเมซอนเว็บเซอร์วิสเซส (AWS) ประจำประเทศไทย

ทั้งหมดนี้ต้องอยู่บน AWS Well-Architected Framework ที่มีความยืดหยุ่น ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งคลาวด์เป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ Modern Data Strategy ได้สะดวกและดีที่สุด สำหรับในด้านความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของข้อมูล AWS ยังรองรับถึง 98 มาตรฐานความปลอดภัยระดับ และผ่านการรับรองจากหน่วยงานที่กำกับดูแลเรื่องความปลอดภัยทั่วโลกและบริการของ AWS ทั้ง 117 รายการที่จัดเก็บข้อมูลลูกค้ามีความสามารถให้เข้ารหัสข้อมูล

ทั้งนี้ AWS Well-Architected Framework จะมาเสริมแกร่งกลยุทธ์การจัดการข้อมูล อาทิ การสร้าง Scalable Data Lakes ที่เก็บส่วนกลางของข้อมูลทุกขนาดและทุกรูปแบบทั้งที่มีและไม่มีโครงสร้างเพื่อการเข้าถึงข้อมูลอย่างไร้รอยต่อ การสร้างนวัตกรรมจากการประมวลข้อมูลด้วยเครื่องมือ เช่น เอไอ หรือ แมชชีนเลิร์นนิ่งที่ออกแบบให้เลือกใช้งานได้หลายระดับ หรือ จะเป็นการใช้เครื่องมือเอไอ หรือแมชชีนเลิร์นนิ่งที่ AWS สร้างไว้ให้ล่วงหน้า (Pre-Built) สำหรับองค์กรที่ไม่ได้มีความเชี่ยวชาญในระดับต่างๆ กัน การใช้งานผ่านแพลตฟอร์มคลาวด์ที่ช่วยผ่อนภาระลูกค้าในการลงทุนด้านเซิร์ฟเวอร์ (Serverless) การดูแลโครงสร้างพื้นฐานและระบบความปลอดภัยในฝั่งฮาร์ดแวร์ให้ไปอยู่ในความรับผิดชอบของผู้ให้บริการคลาวด์แทน การส่งเสริมเรื่องธรรมาภิบาล (Governance) ซึ่งช่วยด้านการบริหารจัดการและการใช้ข้อมูลที่ดี รวมถึงการดูแลรักษาความปลอดภัยของข้อมูลและการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อให้องค์กรได้ใช้เวลาไปกับการมุ่งมั่นพัฒนาปรับปรุงขีดความสามารถด้านธุรกิจ และการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้ามากขึ้น 

“หลายองค์กรทั่วโลกมีการนำข้อมูลไปใช้ในการสร้างและพัฒนากลยุทธ์ธุรกิจ อาทิ ตลาดหุ้น (NASDAQ) บริษัทผู้ผลิตรถยนต์บีเอ็มดับเบิลยู (BMW) หรือ บริษัทผลิตเครื่องมือแพทย์ฟิลิปส์ (Phillips) สำหรับประเทศไทย เดอะวัน ในเครือเซ็นทรัลกรุ๊ป นับเป็นองค์กรในแวดวงค้าปลีกของไทยที่ประสบความสำเร็จในการใช้กลยุทธ์ด้านข้อมูลให้เกิดประสิทธิผลจริงบนแพลตฟอร์มคลาวด์ของ AWS”

The 1 บนเส้นทางที่เปลี่ยนผ่าน

คณินท์ ปิ่นสุวรรณ์  Head of Product & Operations จากเดอะวัน กล่าวว่า เดอะวันเริ่มต้นขึ้นเมื่อ 16 ปีที่แล้วจากแนวคิดในการสร้าง Loyalty Program เพื่อจูงใจให้เกิดการซื้อหรือใช้สินค้าและบริการอย่างต่อเนื่องโดยการสะสมแต้มผ่านเดอะวันการ์ด (The 1 Card) จนกระทั่งปี 2559 เป็นจุดตั้งต้นที่เดอะวันเริ่มปรับองค์กรสู่ความเป็น Data-Driven มากขึ้น โดยการนำข้อมูลที่เก็บมานานหลายปี มาศึกษาวิเคระห์เพื่อกำหนดกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนธุรกิจ ซึ่งจากการศึกษาข้อมูลเชิงลึกทำให้สามารถจำแนกและจัดกลุ่มลูกค้าได้ชัดเจนกว่าเดิม จนนำไปสู่การพัฒนาแพลตฟอร์มใหม่ ๆ ที่เหมาะสมกับพฤติกรรมการบริโภคหรือความต้องการใช้งานของลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น 

ตัวอย่างเช่น การเปลี่ยนโฉมธุรกิจจาก “เดอะวัน การ์ด” มาเป็น “เดอะวัน” ด้วยภาพลักษณ์องค์กรดิจิทัลที่พร้อมให้บริการผ่านช่องทางแบบออมนิแชนแนล (Omni-Channel) ครอบคลุมทั้งแฟลตฟอร์มออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อให้เหมาะกับฐานลูกค้าสมาชิกที่มีอายุน้อยลงและเป็นกลุ่มคนทำงานมากขึ้น การสร้างโปรแกรม “เดอะวัน เอ็กซ์คลูซีฟ (The1 Exclusive)” เพื่อมอบสิทธิประโยชน์และบริการที่ดีให้กับกลุ่มลูกค้าที่มียอดการจับจ่ายใช้สอยสินค้าและบริการสูงซึ่งมีอยู่ราวห้าหมื่นราย เป็นต้น

เติมเต็มไลฟ์สไตล์ยุคดิจิทัลสู่ Center of Life Platform

“จากจุดเริ่มต้นในการศึกษาข้อมูลจนค่อย ๆ ขยายผลออกมา ทำให้เราเริ่มกลับมาทบทวนว่า ธีมธุรกิจคืออะไร และเราอยากโตต่ออย่างไร จนสุดท้ายมาตกผลึกที่คำว่า การสร้างประสบการณ์ชีวิตในรูปแบบดิจิทัล (Digital Lifestyle Experience)  ต่อยอดไปเป็นวิสัยทัศน์สู่การเป็น “Center of Life Platform” เพื่อให้เดอะวันเป็นแพลตฟอร์มที่เป็นศูนย์กลางในการใช้ชีวิตจริง ๆ”

คณินท์ กล่าวว่า จากวิสัยทัศน์ Center of Life Platform ทำให้มองต่อถึง “การสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem)” ที่สามารถนำเสนอสินค้าและบริการซึ่งตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์เพื่อมัดใจลูกค้าให้อยู่กับ The 1 ตลอดไป 

คณินท์ ปิ่นสุวรรณ์ Head of Product & Operations จากเดอะวัน (ขวา) และ ธีรพล ไทยหิรัญ Head of Data & Insights (ซ้าย)

ปัจจุบันเดอะวันมีแอปพลิเคชันแล้ว มีช่องทางในการเข้าถึงลูกค้าแล้ว ตอบโจทย์ลูกค้าในเรื่องการช้อปปิ้ง อาหารการกินแล้ว และยังเดินหน้าขยายสินค้าและบริการในเรื่องอื่น ๆ อาทิ การเงิน การธนาคาร การทำงาน สุขภาพ การเดินทางท่องเที่ยว การใช้ชีวิตประจำวัน จึงเป็นที่มาที่ไปของการจับมือกับพาร์ทเนอร์ซึ่งเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมต่าง ๆ และเกิดโปรแกรมที่เรียกว่า “เดอะวัน บิสซิเนส โซลูชัน (The 1 Business Solution)” เพื่อให้ลูกค้าเมื่อเข้ามาอยู่ในระบบนิเวศไม่ว่าจะเป็นของ The 1 หรือพันธมิตร จะได้รับการบริการแบบไร้รอยต่อ โดยเดอะวันจะเป็นตัวกลางหลักในการเชื่อมการสื่อสารข้อมูลซึ่งกันและกันระหว่างลูกค้าสมาชิกและพันธมิตร

“ปัจจุบันเรามีพาร์ทเนอร์อยู่ใน Ecosystem ประมาณ 2,000 กว่าแบรนด์และจุดให้บริการกว่า 32,000 จุดที่สมาชิกของเดอะวันสามารถเข้าไปทำธุรกรรมในการใช้จ่าย แลก โอน หรือทำคะแนนสะสมแต้มได้”

คณินท์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ระบบนิเวศเป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นถึงประโยชน์ของการใช้ข้อมูลในการขับเคลื่อนธุรกิจ และเกิดผลสัมฤทธิ์ได้จริงทั้งกับลูกค้าสมาชิกและพาร์ทเนอร์ นอกจากนี้ ฐานข้อมูลของผู้ใช้งาน หรือ ยูสเคส (Use Case) ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการศึกษาข้อมูลเชิงลึก ยังมีประโยชน์ในการนำไปต่อยอดเพื่อสร้างแพลตฟอร์มหรือโซลูชันสำหรับรองรับโมเดลธุรกิจใหม่ หรือแม้กระทั่งการพัฒนาเครื่องมือใหม่ ๆ ในการจับคู่สินค้าและบริการให้ตรงใจสมาชิกแต่ละราย (Personalize) ก็สามารถสร้างโอกาสการขายให้กับธุรกิจได้มากขึ้น

เผชิญความท้าทายด้วยคลาวด์

การเกิดขึ้นของระบบนิเวศซึ่งส่งผลให้เกิดจำนวนข้อมูลที่มากขึ้น จำนวนลูกค้าและปริมาณการทำธุรกรรมก็เพิ่มขึ้น โจทย์เรื่องของ The 1 App ที่ผู้บริหารต้องการให้สมาชิกใช้งานบนช่องทางออนไลน์เพิ่มจำนวนมากขึ้น จากไม่ถึง 1 ล้านคนเป็น 5 ล้านคน ภายในระยะเวลา 1 ปี โดยไม่กระทบกับงบประมาณ เป็นต้น 

สิ่งเหล่านี้เริ่มกลายเป็น pain point ขององค์กร เนื่องจากการขยายระบบให้รองรับได้ทันนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะติดปัญหาการจัดซื้อเครื่องเพิ่ม ทั้งระยะเวลาในการอิมพลิเม้นท์ก็นาน ประสิทธิภาพการทำงานตกลงเพราะเวลาต้องการเพิ่มหรือขยายเพื่อรองรับธุรกรรมที่มากขึ้น ระบบขาดความยืดหยุ่น ไม่เท่าทันการใช้งาน (Provisioning) 

“เราต้องการประสิทธิภาพของระบบที่ดีแต่ผ่านไป 6 เดือนยังไม่สามารถสร้างให้เกิดขึ้นได้ พอหันกลับมามองฮาร์ดแวร์แพลตฟอร์ม เดอะวันอยู่กับเทคโนโลยีที่ใช้งานในองค์กรแบบ on-premise มากว่า 10 ปี คุยกับทีมว่าเราต้องย้ายไปใช้ระบบคลาวด์ โดยค่อย ๆ เลือกทำเป็นบางชิ้น คือ เอาชิ้นที่คิดว่าลดต้นทุนได้เร็วที่สุด ข้อมูลไม่อ่อนไหวมาก สำคัญต้องเป็นระบบที่ยืดหยุ่นย่อ-ขยายได้ 

คณินท์ กล่าวว่า การตลาดค้าปลีกสู้กันรุนแรง ต้องเร็ว ต้องเข้าถึง ซึ่งโครงสร้างพื้นฐาน แบบ on-premise ไม่เหมาะกับการรองรับธุรกรรมผ่านช่องทางดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นด้านต้นทุนที่ต้องอัดฉีดฮาร์ดแวร์เพิ่มเข้าไป ระยะเวลาเตรียมการที่นาน 

“เราคุยกับ AWS และตัดสินใจย้ายไปคลาวด์ พบว่าแก้ pain point ขององค์กรได้จริง เราไม่จำเป็นต้องลงทุนฮาร์ดแวร์เพิ่มเผื่อไว้รองรับเวลาที่มีธุรกรรมหรือปริมาณข้อมูลสูง ๆ สามารถย่อ-ขยายระบบได้โดยอัตโนมัติและใช้งานได้ทันทีผ่านคลาวด์ ระบบงานมีความทันสมัย (Modernize) มากขึ้น”

ปัจจุบัน นอกจากข้อมูล เดอะวันได้ย้ายแอปพลิเคชันและระบบบางอย่างขึ้นไปบนคลาวด์กว่า 90 เปอร์เซนต์แล้ว เช่น ระบบบริหารงานขาย (Salesforce) ระบบบิสซิเนส อินเทลลิเจ้นท์ (BI) เป็นต้น เหลือที่อยู่บน on-premise ราว 10 เปอร์เซนต์ ช่วยองค์กรจัดการต้นทุนได้มีประสิทธิภาพ เพราะเป็นการจ่ายตามการใช้งานจริง รวมถึงเมื่อเทียบราคากับการที่องค์กรต้องลงทุนระบบเอง คลาวด์ถือว่าถูกกว่า 

ธีรพล ไทยหิรัญ Head of Data & Insights จากเดอะวันกล่าวเสริมในฝั่งของทีมดาต้าว่า ตั้งแต่ปี 2559 ที่มีแนวคิดการขับเคลื่อนองค์กรด้วยข้อมูลและมีการเก็บข้อมูลมาเรื่อย ๆ พบว่า ข้อมูลมีความหลากหลายและเปลี่ยนแปลงไปตามแต่ละช่วงเวลาที่เกิดขึ้น ตั้งแต่ข้อมูลด้านธุรกรรม ตลอดจนพฤติกรรมการซื้อบนแอปพลิเคชันเดอะวัน ข้อมูลของพันธมิตรธุรกิจที่อยู่ในระบบนิเวศ เรียกได้ว่าข้อมูลกระจัดกระจายมาก การยูนิฟายด์หรือรวบรวมข้อมูล (Unify) ที่หลากหลายและมากมายขนาดนี้เป็นไปได้ยาก เทคนิคที่เดอะวันใช้แก้ปัญหาขณะนั้น คือ กำหนดกรณีการใช้งานทางธุรกิจ (Business Use Case) อาจจะสักห้าเรื่อง แล้วเลือกรวบรวมเฉพาะข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพื่อหาคำตอบ จากนั้นจึงขยายผลต่อออกไปให้กว้างขึ้น

แต่ด้วยปริมาณข้อมูลที่มากขึ้นเรื่อย ๆ น่าจะราวสัก 100 TB ในตอนนั้น แถมยังเริ่มมีแหล่งข้อมูล (Data Source) หลายแบบที่อยู่บนโครงสร้างที่องค์กรไม่เคยเก็บมาก่อนเกิดขึ้น ทำให้ถ้ายังอยู่กับ on-premise ต่อไปจะต้องใช้เม็ดเงินมหาศาล 

“เราจึงเริ่มคิดเรื่องการย้ายระบบ และได้ปรึกษากับทาง AWS ว่ามีเครื่องมือลักษณะที่เป็น pre-built คือ สร้างไว้ให้ลูกค้าหยิบไปใช้ได้เลยหรือไม่ ซึ่ง AWS ก็แนะนำให้ใช้บริการย้ายข้อมูลที่ชื่อว่า Data Migration Service เราก็เลยย้ายข้อมูลที่แบบมีและไม่มีโครงสร้างขึ้นไปบนคลาวด์ ซึ่งเมื่ออิมพลิเม้นท์ไประบบทั้งหมดผ่าน ก็เริ่มใช้บริการข้อมูลบนคลาวด์ของ AWS ตั้งแต่นั้นมา”

เมื่อเดอะวันได้ลอยัลตี้แพลตฟอร์มบนคลาวด์ที่มีประสิทธิภาพแล้ว จึงเริ่มคิดถึงการเชื่อมต่อแหล่งข้อมูลทั้งในและนอกกลุ่มเซ็นทรัลเข้ามาไว้ในที่เดียวกัน เพื่อเวลาที่ผู้ใช้งานเข้ามาในระบบ จะได้เข้าใจประสบการณ์ของลูกค้าที่มีต่อแบรนด์ (Customer Journey) แบบ 360 องศา ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้งานทั้งในฝั่งธุรกิจหรือฝ่ายวิเคราะห์สามารถสร้างยูสเคส หรือ ออกแบบโปรแกรมการตลาดที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (Data Driven Marketing) ได้ด้วยตัวเอง

“เป้าหมายสูงสุด คือ การทำเรื่อง Personalization เรามีความตั้งใจที่จะนำเอไอมาใช้ในการทำ Recommendation Engine หรือระบบแนะนำสินค้า บริการ หรือคอนเทนต์ที่ตรงกับความสนใจของลูกค้าแต่ละรายโดยอาศัยการศึกษาข้อมูลจากพฤติกรรมของลูกค้าเอง แต่เนื่องจากต้องใช้ทรัพยากรเยอะ จึงเลือกตัวช่วยอย่าง AWS Personalize ขณะเดียวกัน เรามีแผนที่จะไปต่อในการใช้บริการ AWS SageMaker ที่จะมาช่วยในการออกแบบและพัฒนาแมชชีนเลิร์นนิ่งบนคลาวด์”

ไปต่อกับวัฒนธรรมองค์กรแบบอะไจล์ (Agile)

คณินท์ กล่าวว่า การศึกษาข้อมูลมากขึ้น เริ่มรู้จักว่าลูกค้าคือใคร ต้องการอะไรมากขึ้น จึงเกิดแนวคิดว่า ควรปรับองค์กรให้เดินไปบนฐานข้อมูล รวมถึงปรับเปลี่ยนเดอะวันให้มีความกระชับและฉับไวในการทำงานมากขึ้น (Agile) โดยการจัดทีมทำงานในรูปแบบสควอด (Squad) ซึ่งภายในทีมจะประกอบด้วยคนจากทุกแผนก ทั้งทีมข้อมูล การตลาด ผลิตภัณฑ์ วิศวกร นักทดสอบ และทีมปฏิบัติงานต่าง ๆ ความเป็นสควอดจะช่วยให้คนที่อยู่ในทีมทำงานเสมือนเป็นบริษัทเล็ก ๆ ซ้อนอยู่ในองค์กรเดอะวัน แต่มีอำนาจในการตัดสินใจ พัฒนาผลิตภัณฑ์ และบริการใหม่ ๆ ได้ด้วยตัวเอง ซึ่งทำให้ทีมรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของในสิ่งที่เขาพัฒนาขึ้น 

“ส่วนสิ่งที่เราต้องซัพพอร์ตคือ การเลือกใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย อย่างเช่น การใช้คลาวด์ที่ช่วยให้เราตัดประเด็นเรื่องข้อจำกัดทางเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานออกไป แถมยังมีเครื่องไม้เครื่องมือให้ทดลองเพียงแค่ขอเปิดใช้บริการ เช่น เอไอ หรือแมชชีนเลิร์นนิ่ง เท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้ทีมได้เรียนรู้เรื่องของเทคโนโลยีที่ทันสมัยควบคู่ไปกับธุรกิจ สุดท้ายกลายเป็นการเปลี่ยนรูปแบบการทำงานขององค์กร เพราะสควอดทำให้องค์กรวิ่งได้เร็วขึ้นทั้งในฝั่งของการตลาดและเทคโนโลยีในการส่งต่อประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้าได้เรื่อย ๆ”

ปัจจุบัน เดอะวันมีสควอดอยู่ประมาณ 10 กว่าทีม ที่จะโฟกัสการทำงานแยกไปตามกลุ่มต่าง ๆ อาทิ กลุ่มลูกค้า กลุ่มธุรกิจ นอกจากนี้ ยังมีทีมทางด้านแพลตฟอร์ม โครงสร้างพื้นฐาน และทีมเทคโนโลยีที่มาสนับสนุนการทำงานของแต่ละสควอด เช่น ทีมที่ทำงานใกล้ชิด AWS จะช่วยสนับสนุนเรื่องการใช้แพลตฟอร์มหรือเครื่องมือต่าง ๆ เพื่อรวบรวมความต้องการที่เกิดขึ้นและพัฒนาสู่การใช้งานให้เกิดประสิทธิผลสูง เป็นต้น 

“โปรแกรมเดอะวัน เอ็กซ์คลูซีฟ มีฐานลูกค้าอยู่กว่า 50,000 ราย แต่ทำรายได้มหาศาล เป็นตัวอย่างที่เราได้ทำการศึกษาข้อมูลแล้วก็ดึงยูสเคสนี้ขึ้นมาเป็นตัวชูโรง จากนั้นจึงสร้างทีมมาทำการศึกษาข้อมูลเพื่อที่จะเข้าใจลูกค้ากลุ่มนี้ให้มากที่สุด และส่งต่อสินค้า บริการ หรือคอนเทนต์ที่ตรงใจพวกเขาที่สุด อย่างกลุ่มครอบครัวเราก็ไปเจอว่ามีความชอบในสินค้าและบริการที่ต่างจากกลุ่มอื่น เราก็สร้างทีมขึ้นมาโฟกัส จะเห็นว่าข้อมูลสามารถนำมาสร้างยูสเคสและชี้ให้องค์กรเห็นทิศทางในการทำธุรกิจเพื่อไปสู่กลุ่มเป้าหมายได้อย่างตรงจุด” 

ก้าวต่อไปของเดอะวัน

ธีรพล กล่าวว่า องค์กรต้องเดินต่อไปในเส้นทางการขับเคลื่อนด้วยข้อมูล ทีมดูแลข้อมูล หน้าที่สำคัญคือ การแสวงหาวิธีการหรือเครื่องมือที่จะทำให้ทีมบริหาร ทีมธุรกิจ ทีมวิเคราะห์ หรือนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล สามารถเข้าถึงข้อมูลที่เป็นหัวใจได้ง่ายและรวดเร็ว เพื่อเอาไปใช้ในการพัฒนาและจัดทำแผนธุรกิจที่มีประสิทธิภาพ  

ขณะที่ในฝั่งของธุรกิจและผลิตภัณฑ์ คณินท์ กล่าวว่า เดอะวันยังมีลูกค้าสมาชิกที่ไม่ได้อยู่บนช่องทางดิจิทัลอีกมาก ทำให้พลาดโอกาสในการได้รับบริการหรือสิทธิประโยชน์ ช่องทางดิจิทัลถือว่ามีประสิทธิภาพสูงในการส่งต่อข้อมูลปริมาณมหาศาล 

เป้าหมายถัดไปที่เดอะวันตั้งไว้ คือ หนึ่ง การผลักดันลูกค้าที่อยู่ในฝั่งออฟไลน์ให้กลายเป็นลูกค้าออนไลน์ให้ได้มากที่สุด ซึ่งตอนนี้ลูกค้าสมาชิกของเดอะวันมีทั้งหมด 19 ล้านราย ใช้งานผ่านแอปพลิเคชันออนไลน์แล้วประมาณ 6 ล้านราย สอง เมื่อลูกค้าเข้าสู่ระบบออนไลน์ ก็ต้องเพิ่มประสบการณ์ที่หลากหลายผ่านช่องทางดิจิทัลต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นแอปพลิเคชัน เว็บไซต์ เพื่อให้ได้รับข้อมูลอย่างถูกที่และถูกเวลาในกรณีที่สนใจอยากสั่งซื้อสินค้าหรือบริการ หรือเพิ่มธุรกรรมรูปแบบใหม่ในเชิงประสบการณ์การช้อปปิ้ง เป็นต้น

“ยกตัวอย่างเรื่องของ AWS Well-Architected Framework เรามีการคุยกับทาง AWS แล้ว เพราะเดอะวันใช้คลาวด์เยอะมาก แต่อาจเป็นการใช้งานแบบแยกส่วนเป็นก้อน ๆ นอกจากนี้ เราเองก็ให้ความสำคัญในเรื่องของธรรมาภิบาลข้อมูล (Governance) อย่างเข้มงวดมาโดยตลอด แม้ไม่มีผลกระทบเมื่อมีพีดีพีเอเข้ามา แต่ยังคงต้องประเมินผล วัดประสิทธิภาพความปลอดภัยและรักษาความสม่ำเสมอของระบบอย่างต่อเนื่อง เป็นต้น ทั้งหมดก็เพื่อให้องค์กรก้าวกระโดดสู่เป้าหมายต่อไปได้เร็วขึ้น”

คณินท์ สรุปว่า ในเชิงของผู้ใช้งานผ่านแอปพลิเคชันเดอะวันภายในหนึ่งถึงสองปีข้างหน้า เราอยากให้โตต่อจากหกล้านเป็นสิบล้าน สำหรับในส่วนของจำนวนลูกค้าสมาชิกเราเชื่อว่า ถ้านับเป็นตัวบุคคลเราตั้งเป้าจะมีสมาชิกกว่ายี่สิบห้าล้านรายในปี 2568 เพราะหนึ่งบัตรไอดีอาจมีคนใช้มากกว่าหนึ่งคน ซึ่งเป็นอีกโจทย์ว่าทำอย่างไรจะแยกคนกลุ่มนี้ออกมาให้ได้ ให้เขาแสดงตัวเองออกมา เหมือนลูกค้าในฝั่งออฟไลน์ซึ่งมีอยู่สิบสามล้านก็ต้องดึงดูดให้เข้าสู่ออนไลน์เพื่อที่เขาจะแสดงตัวตนออกมาเช่นกัน ตรงนี้จะเป็นข้อมูลให้เดอะวันสามารถนำไปต่อยอดในการพัฒนาธุรกิจและบริการที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตในแบบ Center of Life  Platform ให้กับลูกค้านั่นเอง

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ