ถ้าผู้เขียนเกิดเป็นหนังสือ แล้วมีบุคคลท่านนี้เป็นเจ้าของ คงต้องกรีดร้องอย่างโหยหวน
ท่านทั้งขีด ทั้งกา ทาสีสารพัด ยังไม่พอ มีติดโพสต์อิทตามหน้าต่าง ๆ ตรงมุมนั้น มุมนี้อีก
ทว่าลึกๆ ต้องดีใจนะเพราะ “เป็นการอ่านที่ได้ประโยชน์…สุด ๆ” สำหรับนักบริหารผู้รักการอ่านเป็นชีวิตจิตใจชื่อ เกษมสันต์ วีระกุล
ด้วยปัจจุบันเป็นประธานกรรมการ บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน) ต้องดูแลธุรกิจบนกองกระดาษระดับประเทศ พวกเราเคยสงสัยกันมั้ย? เขาผู้นี้อ่านหนังสือยังไง?
แต่ละเล่ม เขาจะอ่านอย่างตั้งใจ และด้วยความรวดเร็ว ใกล้มือ จะมีอุปกรณ์เครื่องเขียนสำรับหนึ่งไว้ ต้องใช้คำว่า “สำรับ” จะได้เห็นภาพตรงกัน ส่วนคำว่า “เซ็ท” น่าจะไม่พอกับสิ่งที่มีในนั้น
ปากกาสารพัดแบบและหลากหลายสี เอาไว้ขีดเส้นใต้ เอาไว้ไฮไลท์ เอาไว้ทำเครื่องหมายต่างๆ ยังมีกระดาษโน้ตโพสต์อิทอีกหลายสี หลายปึก (ย้ำหลายปึกมาก) พร้อมที่จะถูกดึงออกมา แล้วเขียนความคิดที่เกิดขึ้นในขณะอ่านตอนนั้น แปะลงไป หน้าตารูปร่างของหนังสือที่ผ่านการอ่านของดร. เกษมสันต์ จึงดูเหมือนมีหู และมีปีก
เกษมสันต์ เล่าว่า เวลาหยิบหนังสือแต่ละเล่มมา จะตั้งคำถามนี้ก่อน “อ่านเพื่ออะไร”
จากนั้น ค่อยลงมืออ่านหมดตั้งแต่หน้าแรกทุกตัวอักษรจนจบ เขาจะขีดเส้นตรงทฤษฎีต่าง ๆ จะเขียนโน้ตไว้ข้าง ๆ (เท่าที่พื้นที่ว่างในหนังสือมี) จะใส่เครื่องหมาย *** (ดอกจัน) เพื่อระบุว่า ตรงนี้เป็นคำคม โดนใจ ตรงนี้ใช้ปลุกขวัญกำลังใจพนักงานได้
ส่วนโพสต์อิทก็เอาไว้ลอกคำที่ชอบ แล้วแปะไว้ให้ตรงกับย่อหน้า หรือบรรทัดนั้น ๆ
ผู้เขียนเหลือบไปเห็นโพสต์อิทชิ้นหนึ่งในหนังสือของเขา ในนั้นมีชื่อบุคคลหนึ่ง เลยถามว่า ทำไมชื่อคนนี้ถึงอยู่ในโพสต์อิทตรงนี้ เขาบอกว่า อ่านไปแล้ว เห็นว่า เนื้อหาตรงนี้เหมาะสำหรับผู้จัดการคนนี้ เลยจะให้ข้อมูลตรงนี้เขา
การอ่านของ เกษมสันต์ จึงไม่ใช่เป็นการอ่านเพื่อตัวเองได้รู้มากขึ้น หรือจรรโลงใจไปกับตัวอักษร หรือเพลิดเพลินไปกับการเขียน การขีด กาดอกจัน แต่เป็นการอ่านที่ต้องการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ในฐานะนักบริหารคนหนึ่งที่ใช้เวลาการอ่านเป็นการพัฒนาตัวเอง และพัฒนาทีมไปด้วยกัน
กำลังสงสัยว่า ถ้า เกษมสันต์ E-Reader แล้วเวลาขีดเขียนบนจอ เขาจะเพลินแบบในหนังสือมั้ย?
วิทยา แสงอรุณ
คอลัมนิสต์อิสระ ผู้รักการอ่าน และการเขียน