TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistการบินไทย ยังต้องเป็นสายการบินแห่งชาติตลอดไป

การบินไทย ยังต้องเป็นสายการบินแห่งชาติตลอดไป

เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายนที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้การรายงานความก้าวหน้าเรื่องแผนฟื้นฟูบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่ตึกไทยคู่ฟ้า หลังจากนั้นได้กล่าวยืนยันว่า การบินไทยยังเป็นสายการบินแห่งชาติของไทยตลอดไป 

จากข้อมูลที่ ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้รายงานความคืบหน้าว่า การบินไทยสามารถลดต้นทุนค่าใช้จ่าย 44,800 ล้านบาทต่อปี แบ่งเป็นค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร 16,000 ล้านบาท ด้านประสิทธิภาพฝูงบินและการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง 12,000 ล้านบาท การเจรจาปรับปรุงสัญญาเช่าเครื่องบินและซ่อมบำรุงเครื่องยนต์ 11,300 ล้านบาท ด้านการปรับปรุงประสิทธิภาพการจัดซื้อจัดจ้าง 1,100 ล้านบาท ด้านการปรับปรุงกระบวนการปฏิบัติการบิน 719 ล้านบาท ด้านการเพิ่มประสิทธิภาพฝ่ายช่าง 802 ล้านบาท และด้านอื่น ๆ 3,200 ล้านบาท

นอกจากนั้นยังมีการยกเลิกบัตรโดยสารของกรรมการบริษัท ยกเลิกการจ่ายภาษีให้พนักงาน ค่าพาหนะผู้บริหาร การอัพเกรดตั๋วพนักงาน ตั๋วประจำปีสำหรับพนักงานเกษียณ ค่ารักษาพยาบาลของพนักงานและพนักงานเกษียณ และค่าชดเชยวันหยุด 

ขณะเดียวกันได้มีการปรับโครงสร้างเงินเดือนและลดค่าใช้จ่ายเงินเดือนอีก 5% – 9% ปรับตารางเวลาทำงานวิธีการคำนวณค่าล่วงเวลา ปรับลดสิทธิตั๋วพนักงาน ปรับให้ไปใช้สิทธิประกันสังคม และลดวันหยุดและวันหยุดพักผ่อนประจำปี

ยังมีแผนจะปรับลดเครื่องบิน จำหน่ายจำนวน 42 ลำ ยกเลิกสัญญาเช่าและเช่าซื้อจำนวน 16 ลำ และแผนงานขยายธุรกิจ Master Franchise ร้าน Puff & Pie ไปทั่วประเทศ ซึ่งมีกลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มให้ความสนใจประมาณ 10 ราย และมีการเปิดให้ยื่นซองประมูลเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน เช่นกัน 

ในปี พ.ศ.2565 การิบนไทยยังต้องการเม็ดเงินจำนวน 25,000 ล้านบาท มาเสริมสภาพคล่องและใช้จ่ายบริหารงานทำธุรกิจ เช่น จ่ายคืนค่าตั๋วโดยสารของลูกค้าจำนวน 12,000 ล้านบาท ค่าชดเชยให้พนักงานการบินไทยในการเข้าร่วมสมัครใจลาออกจำนวน 4,000 ล้านบาท และค่าเช่าเครื่องบินอีก 2,800 ล้านบาท และเป็นค่าบริหารจัดการทั่วไป นอกจากนี้ ยังจะขอสินเชื่อใหม่จากรัฐบาลวงเงิน 25,000 ล้านบาท เพื่อทำให้การบินไทยกลับเข้าไปซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้

จากข้อมูลข้างต้นอาจสร้างความมั่นใจให้เห็นว่าแนวทางที่ดำเนินการน่าจะมีอนาคตที่สดใส แต่หากมองกลับมาที่หนี้สินที่มียังมีอยู่ นักธุรกิจและผู้เชี่ยวชาญในวงการเงินมีข้อกังขาเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้แบบไม่มีอนาคตของการบินไทย เนื่องจากหนี้สินกว่า 180,000 ล้านบาท ของการบินไทยที่มีกระทรวงการคลังเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ สหกรณ์ออมทรัพย์ 85 แห่ง รวมทั้งสถาบันการเงิน บริษัทเช่าเครื่องบิน และผู้ถือหุ้นรายย่อย 1 แสนคน ได้ยื่นฟื้นฟูกิจการกับศาลล้มละลายกลาง 

ในการเจรจาการปรับโครงสร้างหนี้การบินไทยขอลดมูลค่าหนี้คงค้าง (แฮร์คัต) ลง 70% แต่เจ้าหนี้ไม่ยินยอม โดยอ้างว่ารัฐไม่สามารถลดหนี้ได้เพราะจะเกิดความเสียหาย แต่ขยายระยะเวลาชำระหนี้ออกไป 6 ปี เท่ากับว่าหนี้สิน 180,000 ล้านบาทยังคงอยู่เช่นเดิม เพิ่มเติมคือดอกเบี้ยที่เดินไปเรื่อย ๆ ในทุก ๆ วัน

นอกจากนี้ ยังไม่มีการลดทุนเพื่อลดการขาดทุนสะสม การบินไทยมียอดขาดทุนสะสม 160,000 ล้านบาท มีทุนจดทะเบียน 26,900 ล้าน เมื่อนำทุนไปชำระขาดทุนสะสมยังมียอดขาดทุนสะสมอีก 130,000 บาท ดังนั้นต้องมีการลดทุนก่อนจะมีการเพิ่มทุนจากผู้ถือหุ้นใหม่ ถ้าไม่ลดทุนมันไม่ยุติธรรมสำหรับผู้มาถือหุ้นใหม่ 

ทั้ง 2 กรณีนี้ถือว่าผิดวิสัยการดำเนินธุรกิจโดยทั่ว ๆ ไปที่ทำกัน และคาดว่าจะเป็นอุปสรรคที่ทำให้การบินไทยไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้ท่ามกลางธุรกิจอุตสาหกรรมสายการบินที่ยังไม่มีความแน่นอน

ผลประกอบกาของการบินไทยในปี พ.ศ.2563 มีรายได้รวมทั้งสิ้น 48,311 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายรวมทั้งสิ้น 96,430 ล้านบาท ส่งผลให้ผลขาดทุนจากการดำเนินงาน 48,119 ล้านบาท และมีผลขาดทุนสุทธิ จำนวน 141,180 ล้านบาท โดยการบินไทยมีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นครั้งเดียวและส่วนใหญ่เป็นตัวเลขทางบัญชีที่ไม่มีผลกระทบกับกระแสเงินสด จำนวน 91,978 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วย

– ผลขาดทุนจากการด้อยค่าของเครื่องบินและสินทรัพย์สิทธิการใช้และอุปกรณ์การบินหมุนเวียน จำนวน 82,703 ล้านบาท
– ผลขาดทุนสำหรับการป้องกันความเสี่ยงของกลุ่มรายการของฐานะสุทธิ จำนวน 5,227 ล้านบาท
– สำรองเงินชดเชยพนักงานในโครงการร่วมใจจากองค์กร Mutual Separation Plan (MSP A) จำนวน 3,098 ล้านบาท
– ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ จำนวน 895 ล้านบาท
– ผลขาดทุนจากการด้อยค่าซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 จำนวน 261 ล้านบาท
– กำไรจากการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนเงินลงทุนในบริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) จำนวน 206 ล้านบาท

จากข้อมูลทั้งหมดข้างต้น บางทีก็อยากจะถาม ประยุทธ์ จันทร์โอชาว่า “ทำไม การบินไทย ต้องเป็นสายการบินแห่งชาติตลอดไป” 

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

การ์ทเนอร์ เผย 4 เทคโนโลยี ส่งผล Digital Commerce ในอีกสองปีข้างหน้า

หัวเว่ย มุ่งเป็นพาร์ทเนอร์เพื่อเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ