TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistสหรัฐต้อง Re-engagement กับกลุ่มประเทศอาเซียนใหม่

สหรัฐต้อง Re-engagement กับกลุ่มประเทศอาเซียนใหม่

การประชุมสุดยอดของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ครั้งที่ 38 และ 39 เมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ไม่ใช่เป็นการหารือระหว่างกลุ่มประเทศอาเซียน 10 ประเทศเท่านั้น แต่มีประเทศคู่เจรจาเข้าร่วมประชุมด้วย 1 ในนั้น คือ สหรัฐอเมริกา โดยผู้นำอย่างประธานาธิบดีโจ ไบเดน เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐ ครั้งที่ 9 นี้ด้วยตัวเอง

เป็นที่รู้กันดีว่าช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับสหรัฐอเมริกาไม่ค่อยดีนัก จากการที่โดนัลด์ จอห์น ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีคนที่ 45 ของอเมริกาไม่ให้เกียรติอาเซียน เพราะไม่เคยเข้าร่วมประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน-สหรัฐฯ เลยแม้แต่ครั้งเดียวตลอดช่วงของการดำรงตำแหน่ง และยังส่ง โรเบิร์ต โอ ไบรอัน ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติที่ไม่มีอำนาจในการตัดสินใจใด ๆ เข้ามาพบกับผู้นำอาเซียนอีกด้วย

สหรัฐฯ เข้าใจดีถึงการขยายอิทธิพลเข้ามามีบทบาทของสาธารณรัฐประชาชนจีนในภูมิภาคนี้ ดังนั้น การประชุมครั้งนี้ โจ ไบเดน จึงจำเป็นต้องเข้าร่วมประชุมเพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์อันดีกับกลุ่มประเทศอาเซียน เป็นการส่งสัญญาณว่า สหรัฐฯ ยังคงต้องการมีบทบาทในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และได้ประกาศจะให้ความช่วยเหลือด้านการเงิน 102 ล้านเหรียญสหรัฐแก่อาเซียน โดยเงินราว 40 ล้านเหรียญ จะถูกนำไปใช้แก้ปัญหาการระบาดของโรคโควิด-19 ในภูมิภาคอาเซียน ส่วนเงินที่เหลือจะนำไปใช้ในด้านอื่น ๆ ซึ่งสะท้อนถึงความสำคัญของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก และความเป็นศูนย์กลางของอาเซียน

ก่อนหน้านี้ สหรัฐฯ โดยโดนัลด์ ทรัมป์ ได้พูดถึงเรื่องโครงการ Blue Dot Network เป็นแนวคิดร่วมกันของสหรัฐฯ ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น เพื่อสนับสนุนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่โปร่งใสและยั่งยืนโดยองค์กรเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) จะเป็นผู้สนับสนุนทั้งทางด้านเทคนิคและด้านการดำเนินงาน แต่ยังไม่มีความคืบหน้า

ทุกคนเชื่อว่าโครงการ Blue Dot Network เกิดขึ้นเพื่อต่อกรกับแผนลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของจีน Belt Road Initiative (BRI) ที่มีศักยภาพครอบคลุม 6 ภูมิภาคประกอบไปด้วย เอเชียกลาง เอเชียตะวันออก (รวมตะวันออกกลาง) เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ แอฟริกาเหนือ และยุโรป จำนวนประชากรรวมทั้งสิ้นคิดเป็น 62.3% หรือประมาณ 4,400 ล้านคน 2 ใน 3 ของประชากรทั้งโลก เรียกว่าเกือบครึ่งหนึ่งของคนทั้งโลกรวมอยู่ในเส้นทางแห่งนี้จะสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ ด้วยเขตเศรษฐกิจพิเศษ 21 ล้านล้านดอลล่าร์ เป็นมูลค่า GDP ทั้งหมดสูงถึง 30% ของมูลค่า GDP โลก

นอกจากโครงการ Blue Dot Network แล้ว ผลจากการประชุม G7 ที่อังกฤษเป็นเจ้าภาพ เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มีผู้นำจากอังกฤษ แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา เข้าร่วมประชุม โจ ไบเดนยัง เสนอแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เรียกว่า โครงการ Build Back Better World (การซ่อมสร้างโลกให้กลับมาดีกว่าเดิม) หรือ B3W เป็นความร่วมมือกับภาคเอกชนจัดหาเงินทุนหลายแสนล้านดอลลาร์ในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานในประเทศที่มีรายได้น้อยถึงปานกลาง เพื่อเชื่อมโยงครอบคลุมทั่วโลก ตั้งแต่ลาตินอเมริกา แคริบเบียน แอฟริกา ไปจนถึงอินโดแปซิฟิกด้วยการนำเสนอทางเลือกที่มีคุณภาพสูงกว่าโครงการ Belt and Road Initiative (BRI)  เน้นโครงสร้างตามเกณฑ์ในการลดภาวะโลกร้อน และเน้นจับมือกับประเทศในระบอบประชาธิปไตย

สำหรับภูมิภาคอาเซียนตั้งอยู่ตรงกลางระหว่าง 2 มหาสมุทรที่สำคัญ ได้แก่ มหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก ถือว่ามีความสำคัญสำหรับสหรัฐมาก เพราะสหรัฐมีมียุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ที่รวมพื้นที่ชายฝั่งตะวันตกของอินเดียไปถึงมหาสมุทรแปซิฟิก ครอบคลุมเอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ไปจนถึงหมู่เกาะแปซิฟิก  และประกาศแนวคิด อินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง (Free and Open Indo-Pacific: FOIP) เป็นการวางยุทธศาสตร์ของสหรัฐ ร่วมกับประเทศพันธมิตร ในการปิดล้อมการขยายอิทธิพลของจีนในภาคพื้นมหาสมุทร ในขณะที่กลุ่มอาเซียนเอง ก็มีแนวคิดอินโด-แปซิฟิก ASEAN Outlook on the Indo-Pacific (AOIP) เป็นแนวทางไม่เลือกข้าง  ท่ามกลางการแข่งขันระหว่างสองยักษ์ใหญ่อย่างจีนและสหรัฐ ในเชิงภูมิรัฐศาสตร์โลก

ในสมัยของโจ ไบเดน สหรัฐยังกลับเข้าเป็นสมาชิกความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership: CPTPP ) ซึ่ง โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ยกเลิกไปก่อนหน้านี้ เพื่อคานอำนาจกับข้อตกลงการค้าเสรีที่ชื่อว่า Regional Comprehensive Economic Partnership (RCEP) หรือ ความตกลงพันธมิตรทางการค้าระดับภูมิภาค ซึ่งครอบคลุมประเทศในกลุ่มอาเซียน 10 ประเทศ รวมถึง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย และจีน

นับเป็นความพยายามของสหรัฐอเมริกา ที่จะกลับมาเจริญไมตรีกับกลุ่มประเทศอาเซียน โดยใช้วาระการประชุมสุดยอดอาเซียน ในครั้งนี้ แต่ความผิดพลาดใหญ่หลวงของสหรัฐฯ คือ การที่กลุ่มออคัส AUKUS ความร่วมมือระหว่างออสเตรเลีย (A) สหราชอาณาจักร (UK) และสหรัฐอเมริกา (US) มีเป้าหมายที่จะ “ส่งเสริมความมั่นคงและความรุ่งเรือง” โดยการปกป้องคุณค่าร่วมกันและส่งเสริมความมั่นคงและความรุ่งเรืองในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก” ด้วยการสหรัฐ จะช่วยออสเตรเลียสร้างเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งทั้งมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ รวมทั้งอินโดนีเซีย ไม่พอใจเรื่องดังกล่าว เพราะเชื่อว่าเหตุมันจะกระตุ้นมหาอำนาจอื่น ๆ ให้ความเคลื่อนไหวในเชิงรุกมากขึ้นในภูมิภาค โดยเฉพาะในทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นเขตปลอดนิวเคลียร์

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ