TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistโครงการแลนด์บริดจ์ กับ การขยายตัวของจีดีพีระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้

โครงการแลนด์บริดจ์ กับ การขยายตัวของจีดีพีระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ริเริ่ม กรอบแนวคิดการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน (Southern Economic Corridor: SEC) ครอบคุลม 4 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นกลุ่มจังหวัดที่มีจุดเด่นทางภูมิศาสตร์ เพราะตั้งอยู่ระหว่างทะเลอันดามันและอ่าวไทย มีชายแดนด้านตะวันตก ติดกับเมียนมา และเป็นทางออกทะเลสู่กลุ่มประเทศ BIMSTEC สามารถตอบโจทย์เป้าหมายการเป็นประตูการค้า ฝั่งตะวันตก (Western Gateway) ของประเทศไทยได้ รวมทั้งเชื่อมโยงกับพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

คาดหวังการสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและแข่งขันให้ภาคใต้ตอนบนดีขึ้นอย่างยั่งยืน จากการมีอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมของพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ อย่างน้อยร้อยละ 5 มีมูลค่าการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้มากกว่า 100,000 ล้าน

การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหลักทั้งทางบก อากาศ และน้ำ จะช่วยสนับสนุนการเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ รวมทั้งกระจายการพัฒนาจากพื้นที่เศรษฐกิจเดิมสู่พื้นที่เศรษฐกิจใหม่ ซึ่งเดิมทีการคมนาคมขนส่งทางบกมีเพียงทางหลวงแผ่นดินสายหลัก คือ หมายเลข 4 สายกรุงเทพมหานคร–จุดผ่านแดนถาวรสะเดาระยะทางประมาณ 805 กิโลเมตร บางช่วงเป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงเอเชียสาย 2 (AH2) และทางหลวงหมายเลข 41 สายสี่แยกปฐมพร–พัทลุง ระยะทางประมาณ 382 กิโลเมตร เป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงเอเชียสาย 18 (AH18) และเป็นทางหลวงที่มีปริมาณจราจรสูงสุดในเขตภาคใต้ ส่วนระบบรางมีสถานีขนส่งสินค้าทางรถไฟ ที่อําเภอพุนพิน สุราษฎร์ธานีและ อําเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช

ทางนํ้า มีท่าเรือเพื่อการท่องเที่ยวและท่าเรือเพื่อการขนถ่าย สินค้า กระจายอยู่ในเกือบทุกจังหวัด เช่น ท่าเรือระนอง (ใช้ไม่เต็มศักยภาพ) ท่าเรือขนอม ท่าเรือเขตแม่น้ำตาปี ท่าเรือสมุย ทางอากาศ มีท่าอากาศยานนานาชาติที่สุราษฎร์ธานี  ท่าอากาศยานภายในประเทศ เช่น นครศรีธรรมชาติ ชุมพร ระนอง และท่าอากาศยานเอกชนที่ เกาะสมุย สุราษฎร์ธานี

โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (Land bridge) ของกระทรวงคมนาคม ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งสำคัญ ที่จะช่วยให้การพัฒนาภาคใต้ ประกอบด้วย 2 โครงการย่อย คือ โครงการทางน้ำ จะมีการสร้างท่าเรือน้ำลึก 2 แห่งที่จังหวัดระนองและจังหวัดชุมพร เพื่อรองรับเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ โดยออกแบบให้เป็นท่าเรืออัจฉริยะ (สมาร์ท พอร์ต) 

ท่าเรือน้ำลึกชุมพรที่อยู่ฝั่งอ่าวไทย จะทำหน้าที่รองรับการขนส่งสินค้าทางเรือที่เข้ามาจากประเทศกลุ่มเอเชียตะวันออก อาทิ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ รวมทั้งฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก อาทิ ออสเตรเลีย สหรัฐ เพื่อส่งสินค้าไปยังท่าเรือแหลมฉบัง หรือส่งต่อไปยังฝั่งมหาสมุทรอินเดียผ่านท่าเรือน้ำลึกระนอง

ท่าเรือน้ำลึกระนองที่อยู่ฝั่งอันดามันจะเป็นประตูการค้าฝั่งอันดามันของประเทศเพื่อเชื่อมโยงไปยังท่าเรือกลุ่มประเทศบิม สเทค (BIMSTEC)

อีกโครงการทางบกแบ่งเป็นการสร้างมอเตอร์เวย์เพื่อเชื่อม 2 ท่าเรือน้ำลึก คู่ขนานไปกับรถไฟทางคู่สายใหม่ ช่วงพานทอง-หนองปลาดุก และรถไฟทางคู่สายใหม่ ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร รวมทั้งจะก่อสร้างระบบการขนส่งน้ำมันทางท่อขนาบไปในเส้นทางนี้อีกด้วย

โครงการแลนด์บริดจ์นี้ กำหนดรูปแบบเป็นการลงทุนร่วมกันระหว่างรัฐกับเอกชน (Public Private Partnership หรือ PPP)  แบบการประกวดราคานานาชาติ (International Bidding) มูลค่าโครงการอยู่ที่ประมาณ 2 แสนล้านบาท ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปี คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2567 และเปิดใช้งานได้ในปี 2569  คาดว่าจะมีอายุการให้สัมปทานไม่น้อยกว่า 50 ปี

สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ลงนามสัญญาจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ดีเคด คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท พีเอสเค คอนซัลแทนส์ จำกัด ศึกษาความเหมาะสมของโครงการ โดยให้มีการออกแบบเบื้องต้นก่อนประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และวิเคราะห์โมเดลการลงทุน นับตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม 2564 จนถึง วันที่ 1 กันยายน 2566

ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เผยว่า โครงการแลนด์บริดจ์จะช่วยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมและโครงข่ายโลจิสติกส์ในพื้นที่ภาคใต้ให้เชื่อมต่อกับพื้นที่ภาคตะวันออก ที่สำคัญโครงการนี้ทำให้ไม่จำเป็นต้องขุดคลองคอคอดกระ หรือคลองไทยอีก และมั่นใจว่าโครงการนี้สามารถขนส่งและกระจายสินค้าไปทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างไร้รอยต่อ และเป็นศูนย์กลางด้านการคมนาคมขนส่งของภูมิภาค 

นอกเหนือจากการประเมินว่าโครงการนี้จะทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) ในพื้นที่ภาคใต้เพิ่มสูงขึ้นจากเดิม 2% หรือคิดเป็นมูลค่า 2.4 หมื่นล้านบาท จะเพิ่มเป็น 10% หรือมูลค่าประมาณ 1.2 แสนล้านบาท ภายใน 10 ปีหลังจากโครงการเสร็จ

รมว.คมนาคม มีความจริงจังและคาดหวังในโครงการแลนด์บริดจ์เป็นอย่างมาก  เมื่อต้นเดือนตุลาคมนี้มีโอกาสได้ร่วมหารือกับ ตีแยรี มาตู (H.E.Mr. Thierry Mathou) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฝรั่งเศสประจำประเทศไทย และ H.E. Mr. Lorenzo Galanti เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิตาลีประจำประเทศไทย ในความร่วมมือในหลาย ๆ โครงการ หนึ่งในนั้น คือ โครงการแลนด์บริดจ์ด้วย เพราหวังว่าเมื่อโครงการแล้วเสร็จจะทำให้ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้มีความเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืน

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ