TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistจุดชี้เป็นชี้ตาย 'โครงการแลนด์บริดจ์'

จุดชี้เป็นชี้ตาย ‘โครงการแลนด์บริดจ์’

สัปดาห์ก่อน เศรษฐา ทวีสิน นายกฯและรมว.คลังไปประชุมครม.สัญจรที่ระนองจังหวัดต้นทางโครงการแลนด์บริดจ์ฝั่งอันดามัน นายกฯเศรษฐาโพสต์ให้คนระนองชวนฝันไว้ตอนหนึ่งว่า “…. ความตั้งใจของผม คือการยกระดับให้ภาคใต้เป็นประตูการค้านำเข้า-ส่งออกของไทย เชื่อมเอเชียกับเวทีการค้าโลกครับ โครงการ Landbridge ที่เชื่อมอ่าวไทยกับอันดามัน เป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด ทำให้ภาคใต้เจริญขึ้นมหาศาล เป็นศูนย์กลางการขนส่งที่เชื่อมโยงไปทั่วประเทศ

ขณะเดียวกัน มีตัวแทนจากชุมชนหลายกลุ่ม ยื่นหนังสือค้าน ไม่เอาโครงการแลนด์บริดจ์ เพราะเกรงว่าจะกระทบกับสภาพภูมิศาสตร์ของพื้นที่ ตลอดจนวิถีของชุมชน และอื่น ๆ …. 

แลนด์บริดจ์ หรือ ชื่อเต็ม ๆ ว่า โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน …เป็นมรดกที่รัฐบาลประยุทธ์ส่งผ่านมาถึงรัฐบาลปัจจุบัน หลายเดือนที่ผ่านมา นายกฯเศรษฐาหนีบโครงการแลนด์บริดจ์ไปนำเสนอกับรัฐบาลและกลุ่มทุนใหญ่ ๆ ใน จีน สหรัฐฯ ญี่ปุ่น ตะวันออกกลาง ยุโรป ฯลฯ เชิญชวนให้มาลงทุนใน อภิมหาโครงการข้ามคาบสมุทรจาก ระนองฝั่งทะเลอันดามันเชื่อมกับอ่าวไทย ฝั่งชุมพร ระยะทางราว 90 กิโลเมตร มูลค่าโครงการราว  1.1 ล้านล้านบาท (ณ ปลายปี 2566)

รัฐบาลได้วางเงื่อนไขว่า การลงทุนที่จะเกิดขึ้น เป็นไปในแบบร่วมทุนระหว่างภาครัฐกับเอกชน หรือ PPP (Public Private Partnership)  ผู้รับสัมปทานลงทุนก่อสร้างทั้งหมด แลกกับสัมปทานบริหารโครงการนาน 50 ปี ส่วนรัฐบาลจะดูแลเรื่องการเวนคืนที่ดิน และสร้างรางรถไฟ

ไทม์ไลน์โครงการที่ กระทรวงคมนาคมประกาศมาก่อนหน้านี้คิ๊กออฟด้วยการโรดโชว์โครงการ ระหว่างเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ถึงมกราคมปีนี้   จากนั้นเข้าสู่ คัดเลือกผู้ลงทุนระหว่างเดือน เมษายน – มิถุนายน 2568 ตัดเลือกผู้ลงทุน และลงนามในช่วงเดือน กรกฎาคม-สิงหาคม ปีเดียวกัน ส่วนจะเป็นไปตามนั้นหรือไม่อย่างไรนั้น ยังต้องลุ้นกันสุดตัว แม้นายกฯเศรษฐาประกาศว่าจะให้ (แลนด์บริดจ์) แล้วเสร็จในรัฐบาลนี้ก็ตาม

แลนด์บริดจ์ในมุมของรัฐบาล เป็นโครงยุทธศาสตร์ที่มีวิสัยทัศน์ว่า จะเป็นศูนย์กลางการค้าและการขนส่งของภูมิภาค และไปไกลถึงขั้น  ศูนย์กลางการค้าและการขนส่งอีกแห่งหนึ่งของโลกในอนาคต และตั้งความหวังว่า แลนด์บริดจ์จะเป็นตัวพลิกโฉมเศรษฐกิจไทย แต่ในมุมของฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย มองว่าเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่า และจะกระทบกับสภาพแวดล้อมในพื้นที่ขนาเใหญ่ จากการก่อสร้างทางหลวงพิเศษ ทางรถไฟ ท่อส่งน้ำมัน ฯลฯ

ที่ผ่านมา มีผลศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ 2 ชุด ๆ หนึ่งมาจาก สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และอีกชุดเป็น โครงการการศึกษาความเป็นไปได้ในการเชื่อมโยงเส้นทางขนส่งทางทะเลฝั่งอ่าวไทย และอันดามัน ประเทศไทย โดยสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒนฯ ร่วมกับ ศูนย์วิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งผลการศึกษาของ 2 ฝ่ายออกไปคนละทางชนิดสร้างดาวกันคนละดวง

ทางสนข.ชี้ว่าโครงการแลนด์บริดจ์มีความคุ้มค่าในการลงทุนโดยจะคืนทุนภายใน 24 ปี และจะสร้างงานไม่น้อยกว่า 280,000  ตำแหน่งและหนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวไม่น้อยกว่า 5.5 %  

จุดเด่นที่สนข.มองว่า โครงการแลนด์บริดจ์ มีความเป็นไปได้คือ ความได้เปรียบเชิงภูมิศาสตร์ไทยอยู่ตรงกลางของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การขนถ่ายตู้คอนเนอร์ผ่านแลนด์บริดจ์ ใช้เวลา 5 วัน สั้นกว่าขนส่งขนส่งผ่านช่องแคบมะละกาที่ใช้เวลา 9 วัน และในอีก 10 ปีคาดว่าจะมีเรือสินค้าผ่านช่องแคมะละการาว 128,000 ลำ (ปัจจุบัน 85,00 ลำ) ซึ่งเกินกว่าความจุของช่องแคบจะรองรับได้ ซึ่งจะเป็นโอกาสของแลนด์บริดจ์

หากผลการศึกษา ศึกษาร่วมระหว่าง สภาพัฒนฯกับศูนย์วิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์ กลับสรุปว่า เป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่าทั้งทางเศรษฐกิจและเงินลงทุน เนื่องจากเมื่อมีการประเมินปริมาณความต้องการขนส่งสินค้า (จากรูปแบบการเดินเรือในช่องแคบมะละกา พบว่ากลุ่มเป้าหมายที่อาจมาใช้โครงการแลนด์บริดจ์จะมีเฉพาะเรือบรรทุกสินค้าตู้ เพราะเป็นเรือที่มีการเดินเรือในรูปแบบที่มีการถ่ายลำระหว่างเรือในเส้นทางเดินเรือหลักกับเรือในเส้นทางเดินเรือรอง

จากนี้ไปรัฐบาลคงขยับโครงการแลนด์บริดจ์ไปตามไทม์ไลน์ที่กล่าวข้างต้น ควบคู่ไปการถกเถียงเรื่องคุ้มค่า หรือไม่คุ้มค่า ระหว่างฝั่งเอาแลนด์บริดจ์ กับฝั่งไม่เอาแลนด์บริดจ์ หากความเห็นต่างในประเด็นดังกล่าวคงไม่สามารถหยุดโครงการแลนด์บริดจ์ไป เพราะรัฐบาลประกาศเปิดตัวโครงการแลนด์บริดจ์ต่อประชาคมโลกไปแล้ว คงไม่ถอยให้เสียความเชื่อถือเสียยี่ห้อ คิดใหญ่ทำเป็นหมด 

แต่จุดที่จะชี้เป็นชี้ตายว่าโครงการแลนด์บริดต์จะได้เกิดหรือไม่ได้เกิดคือ รัฐบาลจะหาผู้ลงทุนได้หรือไม่ ? แม้ที่ผ่านมา นายกฯเศรษฐา ออกมาให้ข่าวช่วงเดินสายโรดโชว์ต่างประเทศว่ากลุ่มโน้นกลุ่มนี้สนใจ แต่จนถึงบัดนี้ยังไม่มีการเคลื่อนไหวต่อให้เห็นเป็นรูปธรรม 

ก่อนหน้านี้ หลังนายกฯเศรษฐานำโครงการแลนด์บริดจ์ไปเสนอกับกลุ่มธุรกิจในจีนระหว่างร่วมประชุมการ ริเริ่มหนึ่งแถบและเส้นทาง ( BRI ) ครั้งที่ 3 ที่ประเทศจีนเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว เว็บไซต์เชาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์สำรวจความเป็นผู้เชี่ยวชาญแขนงต่าง ๆ ต่อความเป็นไปได้ของ โครงการแลนด์บริดจ์ ของไทย ซึ่งมีมุมมองที่สะท้อนออกที่น่าสนใจเช่น

ต้นทุนในการขนถ่ายสินค้าข้ามแลนด์บริดจ์ จะแตกต่างจากการขนผ่านช่องแคมมะละกาในปัจจุบันอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่ หรือ ท่าทีของรัฐบาลจีนไม่ได้แสดงความสนใจโครงการนี้เท่าใดนัก  ฯลฯ

ล่าสุดสำนักข่าวอิศรา รายงานอ้างสื่อสิงคโปร์ที่ไปสัมภาษณ์ เอียน สโตรีย์ นักวิชาการจากสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ยูซอฟ อิสฮะก์ แห่งประเทศสิงคโปร์ นักวิชาการรายนี้มองว่าโครงการแลนด์บริดจ์มีโอกาสเกิดยากเ นื่องจากถึงเวลานี้ยังไม่มีชาติใดแสดงความสนใจโครงการนี้ รวมทั่งสายการเดินเรือใหญ่ ๆ เขาเชื่อว่าจีนจะไม่นำโครงการนี้เข้าร่วมในโครงการ หนี่งแถบหนึ่งเส้นทางเนื่องจากเศรษฐกิจจีนเริ่มสะดุด 

ความเงียบจากบรรดาประเทศที่นายกฯเศรษฐาไปเดินสายขายโครงการฯ ไม่ต่างจากดัชนีที่ชี้ว่า ณ ปัจจุบัน โอกาสแจ้งเกิด ของโครงการแลนด์บริดจ์ อยู่ต่ำกว่า ความเสี่ยง 

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

“เศรษฐา ทวีสิน” และเศรษฐกิจท้ายปี

“เศรษฐาโทเคน” จะสร้าง พายุหมุนทางเศรษฐกิจ?   

เข้าเกียร์ห้า ดันเศรษฐกิจระวังทางโค้งด้วย

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ