TH | EN
TH | EN
spot_imgspot_imgspot_img
หน้าแรกColumnistเพื่อนบ้านฟื้น...ทำไมไทยยังฟุบ

เพื่อนบ้านฟื้น…ทำไมไทยยังฟุบ

สัปดาห์ที่ผ่านมาระหว่างที่ ”นายกฯเศรษฐา ทวีสิน” เดินทางเยือนต่างประเทศ สภาพัฒน์ฯ ได้รายงานอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจตัวเลขจีดีพีไตรมาสแรกปี 2567 โตแค่ 1.5% ต่ำกว่าไตรมาส 4/2566 ที่ขยายตัว 1.7% ถือว่ายังต่ำ หากจะขับเคลื่อนประเทศให้พ้นกับดักรายได้ปานกลางแม้กระทั่งโต เพื่อให้เพียงพอกับการรองรับกับตลาดแรงงาน

การขยายตัวมาจากการอุปโภคบริโภคของภาคเอกชน ที่ขยายตัว 6.9% ต่อเนื่องจาก 7.4% ในไตรมาสก่อนหน้า ความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 18 ไตรมาส ขณะที่ การใช้จ่ายของรัฐบาลลดลง 2.1% ต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนที่ลดลง 3.0% การลงทุนภาครัฐลดลง 27.7% ลดต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 4

การบริโภคภาคเอกชนกลายเป็นเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ขณะที่ตัวอื่น ๆ พากันเดี้ยงโดยเฉพาะการใช้จ่ายและลงทุนภาครัฐ ผลมาจากงบประมาณล่าช้ากว่ากำหนดจากปัญหาที่ต้องเสียเวลาในการจัดตั้งรัฐบาล

เมื่อตัวเลขจีดีพีไตรมาสแรกโตต่ำ ทำให้ต้องปรับลดจีดีพีปี 2567 ลงมาเหลือแค่ 2.5% ทั้งที่งบประมาณปี 2567 ก็ออกมาแล้ว มีเงินลงทุนเหลือเฟือ ประกอบกับไตรมาส 4 จะมีงบปี 2568 ออกมาอีก แต่จีดีพีไทยก็ยังไม่อาจฟื้นตัวเติบโตเกินกว่า 3% ได้

หากดูไส้ใน จะเห็นว่าปัจจัยบวกมากจากภาคการบริโภคเอกชนเป็นหลักที่โตต่อเนื่องถึง 6.9% ขณะที่ท่องเที่ยวเป็นบวกเกือบ 25% เนื้อนาบุญได้แผ่มาถึงธุรกิจเกี่ยวเนื่องไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร ที่พัก ขยายตัวสูงถึง 11.8% การขนส่ง +9.4%

แต่ที่เป็นปัจจัยลบ คือการลงทุนภาครัฐและการใช้จ่ายภาครัฐ เฉพาะการลงทุนติดลบกว่า 27% และ การส่งออกติดลบ 2% ส่วนภาคการผลิตของไทย ยังมีปัญหาเชิงโครงสร้าง โดยภาคเกษตรผลผลิตลดลง 3.5% ของจีดีพี จากปัญหาสภาพอากาศแปรปรวนและภาวะโลกร้อน ภาคอุตสาหกรรมติดลบ 3% ของจีดีพี ส่วนก่อสร้างติดลบ 17.3% จากการที่งบประมาณของทางราชการล่าช้า และยังไม่ฟื้นจากสถานการณ์โควิด

จะเห็นว่า ภาคการท่องเที่ยวยังคงสวมบท ”นางแบก” เศรษฐกิจไทย ขณะที่ ”นายแบก” อย่างส่งออกอาการยังทรุด ธุรกิจท่องเที่ยวแม้จะเติบโตดีแต่มีสัดส่วนแค่ 11% ของจีดีพีเท่านั้น อีกทั้งมีความอ่อนไหวต่อวิกฤติต่าง ๆ ได้ง่าย และถือว่าเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับรายได้จากการส่งออกที่มีสัดส่วน 54% ของจีดีพี

ล่าสุด ดัชนีการท่องเที่ยวปี 2567 จัดทำโดย WEF ไทยอยู่อันดับ 47 ของโลก อันดับ4 ของอาเซียน รองจากสิงคโปร์ มาเลย์และอินโดฯ ตัวชูโรงอย่างเรื่องท่องเที่ยวเราก็แพ้เพื่อนบ้านในอาเซียน

สำหรับสาเหตุการส่งออกที่ยังทรุดตัวต่อเนื่อง เพราะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าของไทยยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ อีกส่วนหนึ่ง เพราะสินค้าส่งออกของเราไม่ใช่สินค้าดาวรุ่ง และเป็นสินค้าที่ตลาดไม่ต้องการ ไม่มีนวัตกรรม ไม่ใช่อุตสาหกรรมไฮเทค เป็นสินค้าที่คู่แข่งที่แรงงานถูกกว่าแข่งขันได้

แม้ว่าสภาฯพัฒน์ บอกเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยโตต่ำเป็นเพราะปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์ วิกฤติจากสงคราม มีผลทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกสูงขึ้น เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าอ่อนแอ แต่ปัญหาใหญ่จริง ๆ น่าจะเป็นปัจจัยภายในของเรา ที่ซุกอยู่ใต้พรมไม่เคยมีการแก้ไขอย่างจริงจัง

ไม่ว่าจะเป็นปัญหาหนี้ของภาคธุรกิจและหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น สะท้อนจากในไตรมาส 4 ปี 2566 อยู่ที่ระดับ 91.3% ต่อจีดีพี หรือ 16.36 ล้านล้านบาท เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญ เพราะมีผลทำให้กำลังซื้อในประเทศลดลง

ภาคการผลิตอุตสาหกรรม ที่เคยเป็นเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยก็ถูกท้าทาย เมื่อผลผลิตอุตสาหกรรมหดตัวต่อเนื่อง 18 เดือน ไตรมาส 1 ปี 2567 หดตัวเฉลี่ย 3.65% และอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ย 60.45% เท่านั้น จะว่าไปแล้ว ภาคการผลิตเราผลิตได้ไม่เต็มกำลัง ตั้งแต่วิกฤติต้มยำกุ้งเป็นต้นมา ทำให้การลงทุนใหม่ ๆไม่มี

อย่างที่ทราบกันดี การผลิตที่ลดลงส่วนหนึ่งเพราะตลาดส่งออกไม่ดี ยกเว้นสินค้าเกษตรตัวเดียวที่ดี แต่ก็มีปัญหาราคาค่อนข้างต่ำ ส่วนสินค้าส่งออกตัวอื่นๆที่ไม่ดีเป็นปัจจัยมาจากสภาวะเศรษฐกิจโดยรวมถดถอย ตลาดส่งออกหลักทั้งสหภาพยุโรป (อียู), สหรัฐ, จีนและญี่ปุ่น รวมกว่า 40% ไม่ดีขึ้น

ส่วนตลาดอาเซียนเฉลี่ย 24% เป็นอีกตลาดใหญ่ของไทย ก็โดนสินค้าจีนเข้าไปแย่งตลาด ยิ่งกว่านั้น ตลาดจีนนำเข้าจากไทยเฉพาะสินค้าเกษตร เท่านั้น

ด้านการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ก็ลดลงเพราะไทยมีประชากรเพียง 70 ล้านคน และเป็นสังคมสูงอายุ ทำให้ตลาดในประเทศมีขนาดไม่ใหญ่พอ กำลังซื้อไม่มากพอที่จะจูงใจนักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุน ไม่เหมือนอินโดนีเซีย หรือเวียดนามที่ประชากรเยอะ เศรษฐกิจเริ่มโต

มองดูตัวเราแล้ว หันมามองเพื่อนบ้านในอาเซียนที่เป็นคู่แข่งทางการค้าและการลงทุนของไทยต่างทะยอยรายงานตัวเลขจีดีพีไตรมาสแรกปีนี้ พบว่า จีดีพีไทยโตต่ำที่สุดในกลุ่ม คู่แข่งอย่างเวียดนามโต 5.7% ฟิลิปปินส์โต 5.7% อินโดนีเซียโต 5.1% มาเลเซียโต 4.2% สิงคโปร์โต 2.7% และไทยโต 1.5% เท่านั้น

เวียดนามและฟิลิปปินส์ ครั้งหนึ่งเป็นคนป่วยแห่งเอเซีย ตอนนี้ฟื้นไข้เติบโตจากการส่งออกเป็นตัวขับเคลื่อน ส่วนอินโดนีเซียมีความได้เปรียบในเรื่องตลาดที่ใหญ่ประชากรกว่า 270 ล้านคน ทำให้ฟื้นตัวจากการบริโภคภายในประเทศ

เมื่อเทียบทั้งเอเซีย ไต้หวันโตมากสุด 6.5 % จีนที่เจอวิกฤติอสังหาฯ ก็ยังโต 5.3% เกาหลี 3.4% ขณะที่ญี่ปุ่น -0.2% จากการชะลอตัวของภาคส่งออกและการบริโภค

อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจญี่ปุ่นแม้จะติดลบแต่ก็กำลังฟื้นตัว ส่วนไทยยังไม่มีวี่แววจะได้เห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์

บทความอื่น ๆ ของผู้เขียน

ย้อนรอย 6 เดือน ‘เศรษฐา ทวีสิน’ คนไทยได้อะไร

“คนไทยไร้ทักษะ”​ วิกฤติใหญ่ของชาติ

ท่องเที่ยวไทย… ต้องตีโจทย์ให้แตก

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ