TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistโครงการแลนด์บริดจ์ ฝันได้ ... ไปไม่ถึง

โครงการแลนด์บริดจ์ ฝันได้ … ไปไม่ถึง

โครงการแลนด์บริดจ์ ชุมพร-ระนอง เป็น 1 ใน 3 นโยบาย ในฝันของรัฐบาลเพื่อไทย นอกเหนือจาก ดิจิทัล วอลเลต และซอฟต์เพาเวอร์ ถึงขั้น เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีลงทุนเอาตัวเองเป็นทั้งพรีเซ็นเตอร์และเซลแมนระดับชาติเร่ขายโครงการอย่างเอาจริงเอาจัง ทั้งที่ไม่ใช่นโยบายหาเสียงของเพื่อไทยแต่แรก

โครงการแลนด์บริดจ์ที่รัฐบาลกำลังเร่ขายฝันให้ต่างชาติมาลงทุนไม่ใช่เป็นอภิมหาโปรเจกต์แรก ๆ ในภาคใต้ ก่อนหน้านี้มีโครงการแบบเดียวกันนี้เมื่อ 30 ปีที่แล้ว คือ โครงการขนอม -กระบี่ มีการเวนคืนที่ดินชาวบ้านนับหมื่นไร่ แต่ก็ไปไม่รอดถูกทิ้งกลางทาง ทุกวันนี้พื้นที่ที่รัฐเวนคืนจากชาวบ้านถูกบุกรุกทำสวนปาล์มกำลังเป็นข้อพิพาทระหว่างรัฐกับประชาชน

ก่อนหน้านี้ กลุ่ม Dubai Port World ผู้ให้บริการโลจิสติกส์และการขนส่งสินค้าชั้นนำของโลก ก็เคยศึกษาความเป็นไปได้โครงการผลการศึกษาระบุว่าไม่คุ้มกับการลงทุนและเรื่องก็เงียบหายไป

แนวความคิดที่จะเชื่อมระหว่างฝั่งอ่าวไทยและอันดามันมีมานานตั้งแต่สมัยโบราณยุคสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแล้ว เมื่อ 50-60 ปีก่อนก็มีโครงการขุดคอคอดกระ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นพื้นที่แคบที่สุด ไม่นานมานี้ก็มีคนบางกลุ่มพยายามผลักดันโครงการคลองไทยขึ้นมา

แต่ก็ไปไม่รอด ถูกต่อต้านจากกลุ่มไม่เห็นด้วยและชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ อย่างคอคอดกระฝ่ายต่อต้านเกรงว่าอาจจะเกิดการแบ่งแยกดินแดนตามมา ส่วนคลองไทยก็ติดปัญหาสิ่งแวดล้อม กระทบวิถีชีวิตความเป็นอยู่ชาวบ้านและเม็ดเงินลงทุนมหาศาล มากกว่าโครงการแลนด์บริดจ์หลายเท่า

ส่วนโครงการแลนด์บริดจ์ตอนนี้เสมือน “เรือธง” ของรัฐบาลในโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่มีวงเงินลงทุนสูงถึง 1 ล้านล้านบาท ระยะเวลาการก่อสร้าง 5 ปี (2568-2573) เป็นการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) โดยภาคเอกชนจะเป็นผู้ลงทุนทั้งโครงการในลักษณะท่าเรือเดียวเชื่อม 2 ฝั่ง (One Port Two Sides) ภาคเอกชนที่ลงทุนจะได้สิทธิบริหารจัดการเป็นระยะเวลา 50 ปี

โครงการประกอบด้วย ท่าเรือน้ำลึก 2 ฝั่งทะเลที่แหลมอ่าวอ่าง อ.ราชกรูด จ.ระนอง กับที่แหลมริ่ว อ.หลังสวน จ.ชุมพร พร้อมกับทางมอเตอร์เวย์ 6 ช่องจราจร ทางรถไฟขนาด 1.435 เมตร 2 ทาง และรัฐบาลยังมีพื้นที่ที่จะใช้สำหรับวางท่อขนส่งน้ำมันสำเร็จรูป/แก๊ส รวมไปถึงพื้นที่เชิงพาณิชย์หลังท่าเรือน้ำลึกทั้ง 2 แห่ง โดยจะใช้วิธีการถมทะเลด้วย

โครงการแลนด์บริดจ์ กลายเป็นภาระกิจหลักตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งนายกฯของเศรษฐา ได้นำคณะไปเดินสายโรดโชว์ทุกเวทีการประชุมระดับโลก ล่าสุดในการประชุม World Economic Forum ที่ดาวอส สวิตเซอร์แลนด์ ในเดือนนี้ก็ได้พบกับกับประธานกลุ่ม Dubai Port World และประธานกลุ่ม Adani Group กลุ่มบริษัทลงทุนรายใหญ่ของอินเดียที่เชี่ยวชาญในการพัฒนาท่าเรือและสนามบิน

รัฐบาลเชื่อมั่นว่าโครงการแลนด์บริดจ์จะช่วยลดความแออัดในเส้นทางการขนส่งผ่านช่องแคบมะละกาที่นับวันจะคับคั่งเพิ่มมากขึ้น ทั้งจากจำนวนเรือสินค้าและสินค้าที่ต้องขนส่งผ่านช่องแคบนี้ โดยจะสามารถลดระยะเวลาขนส่งสินค้าทางเรือ จากเดิมที่การใช้เส้นทางช่องแคบมะลากาใช้เวลา 9 วัน เพียงเหลือ 5 วัน เท่านั้น

เท่าที่สดับตรับฟังคนในแวดวงสายการเดินเรือให้ความเห็นว่าโครงการแลนด์บริดจ์จะประสบความสำเร็จหรือไม่ขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัย ด้านหนึ่ง คือ เรื่องราคา นั่นคือ ผู้ใช้บริการหรือสายเดินเรือต้องมีต้นทุนที่ถูกกว่าเดิมและปัจจัยด้านเวลาต้องรวดเร็วกว่าเดิม ตรงนี้ก็มีคนแย้งว่า โครงการแลนด์บริดจ์ไม่ได้ทำให้เร็วกว่าเดิมแน่ ๆ เพราะต้องขนถ่ายตู้จากท่าเรืออีกฝั่งขึ้นรถไฟเพื่อไปถ่ายลงเรืออีกฝั่ง นั่นหมายความว่าต้องมีต้นทุนเพิ่มเพราะต้องมีค่าขนถ่ายตู้หลายทอดรวมทั้งต้องมีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ตามมา

อย่างไรก็ตาม โครงการนี้เป็นโครงการขนาดใหญ่ก่อนที่รัฐบาลจะตัดสินใจเดินหน้า ต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบและชอบธรรมกับทุกฝ่าย โดยเฉพาะชาวบ้านในพื้นที่ซึ่งจะได้รับผลกระทบตามมามากมาย

จึงแปลกใจที่นายกฯเศรษฐา เดินหน้าโรดโชว์ทั้งที่ผลการศึกษายังไม่สมบูรณ์และยังมีความขัดแย้งระหว่างผลการศึกษาเบื้องต้นของสภาพัฒน์ฯ ที่จ้างคณะอาจารย์จุฬาฯ ที่ทำการศึกษาผลออกมาว่าโครงการแลนด์บริดจ์ไม่คุ้มกับการลงทุน แต่รัฐบาลกลับเชื่อและให้น้ำหนักกับผลการศึกษาของสนข.หน่วยงานของกระทรวงคมนาคม

เมื่อผลการศึกษายังไม่นิ่ง การเดินสายไปโรดโชว์ยิ่งจะทำให้นักลงทุนเกิดความสับสนว่าจะเชื่อผลการศึกษาของใคร แต่เชื่อว่าถ้านักลงทุนสนใจคงต้องศึกษาความเป็นไปได้ใหม่เพื่อความรอบคอบคงต้องใช้เวลาอีกเป็นปี

ยิ่งแปลกใจมากขึ้นไปอีก เมื่อเห็นไทม์ไลน์รัฐบาลเร่งจัดทำ พ.ร.บ.ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) และตั้งคณะกรรมการนโยบายและสำนักงานนโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ ในเดือนธันวาคม 2567 และตามมาด้วยการเปิดประมูลเพื่อคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในระหว่างเดือนเมษายน-มิถุนายนในปี 2568

อย่าลืมว่าโครงการแลนด์บริดจ์นี้เป็นโครงการขนาดใหญ่ ลงทุนมากถึง 1 ล้านล้านบาทแต่ดูเหมือนรัฐบาลจะเร่งรัดคัดเลือกเอกชนแบบลุกลี้ลุกลน ทั้งที่หลาย ๆ สิ่งหลาย ๆ อย่างยังไม่พร้อมและมีเสียงค้านจากผู้ที่เกี่ยวข้องมากมาย

อย่างน้อย ๆ รัฐบาลควรจะถามบริษัทเดินเรือสินค้ารายใหญ่ของโลกที่มีราว 10 กว่าราย จะมาใช้บริการหรือไม่ จะได้รู้ว่ามีลูกค้าหรือไม่ แต่ยังไงฟันธงได้เลยว่าโครงการแลนด์บริดจ์ยากจะถึงฝั่งฝัน

บทความอื่น ๆ ของผู้เขียน

คนแก่ล้น เกิดใหม่ไร้คุณภาพ วิกฤติใหม่ของไทย

เศรษฐกิจไทยปี 67 ความเสี่ยงรุมเร้า

เพื่อไทย VS แบงก์ชาติ คู่กัดตลอดกาล

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ